นับตั้งแต่เริ่มพอจะจำความได้ ผมก็ได้ยินมาตลอดว่าไทยเป็นประเทศ ‘กำลังพัฒนา’ จนปัจจุบันผ่านมา 20 กว่าปีนับแต่ผมได้ยินคำนี้ครั้งแรก ประเทศไทยก็ยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาอยู่ ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วเมื่อไหร่เมืองไทยจะเลิก ‘กำลังพัฒนา’ แล้วเป็นประเทศ ‘พัฒนาแล้ว’ ที่รวยๆ คูลๆ แบบหลายๆ ประเทศในโลกเขาบ้าง
ช่วงที่ผ่านมาพอดีได้มีโอกาสอ่านหนังสือ Catch up : Developing Countries in the World Economy (Oxford University Press, 2013) ซึ่งมีข้อมูลน่าสนใจที่ช่วยตอบคำถามข้างต้นได้ เลยถือโอกาสนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง
ปี 1950 คือจุดแบ่งโลก ‘พัฒนาแล้ว’ กับโลก ‘กำลังพัฒนา’
ความจริงแล้วกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในปัจจุบัน ในอดีตอันไกลโพ้นเคยเจริญกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่กระจุกตัวอยู่ในซีกโลกตะวันตก ย้อนกลับไปใน ค.ศ. 1000 กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบัน ได้แก่ จีน อินเดีย ประเทศในอเมริกาใต้ อาฟริกา และประเทศในเอเชียทั้งหมด (ยกเว้นญี่ปุ่น) มีผลผลิตรวมกันคิดเป็นกว่า 83% ของผลผลิตรวมทั้งโลก เฉพาะในภูมิภาคเอเชียก็มีผลผลิตรวมกันถึงกว่า 63% ของทั้งโลกแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวจีนและอินเดียถือเป็นอาณาจักรใหญ่และเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก
ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบันซึ่งประกอบไปด้วยประเทศในยุโรปทั้งหมด รัสเซีย สหรัฐอเมริกาและแคนาดา รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ มีผลผลิตรวมกันคิดเป็นเพียง 16.7% ของผลผลิตทั้งโลกเท่านั้นในปี ค.ศ. 1000
แม้กระทั่งในช่วงต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี ค.ศ. 1820 เอเชียก็ยังเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาจักรจีนซึ่งในปี ค.ศ. 1820 มีผลผลิตคิดเป็น 1 ใน 3 ของผลผลิตทั้งโลก อาณาจักรจีนยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจถึงขนาดที่ว่าในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จักรพรรดิเฉียนหลงของจีนได้ตอบจดหมายไปยังพระเจ้าจอร์จที่ 3 ของอังกฤษที่ส่งทูตมาเพื่อเจรจาการค้าว่า
“จักรวรรดิสวรรค์ของเรามีของทุกสิ่งเพียบพร้อม ไม่มีสิ่งใดขาดตกบกพร่องในดินแดนนี้ ด้วยเหตุนี่เราจึงไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าของพวกป่าเถื่อนข้างนอกมาแลกกับสิ่งที่เรามี แต่เนื่องจากชา ผ้าไหม และเครื่องกระเบื้องซึ่งอาณาจักรของเราผลิตนั้น เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับประเทศในยุโรปรวมถึงตัวท่าน เราจึงอนุญาตให้ทำการค้ากันได้ต่อไป”
จดหมายจากจักรพรรดิเฉียนหลงถึงพระเจ้าจอร์จที่ 3 (1793)
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นครั้งแรกในอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ทำให้ผลผลิตจากประเทศในซีกโลกตะวันตกเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลให้ในปี ค.ศ. 1950 กลุ่มประเทศโลกตะวันตกมีผลผลิตรวมกันคิดเป็นกว่า 72.9% ของผลผลิตทั้งโลก ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในปัจจุบันมีผลผลิตรวมกันคิดเป็นเพียง 27.1% โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่เหลือผลผลิตเพียง 4.6% ของผลผลิตทั้งโลกเท่านั้น
และ ณ จุดนี้เอง ที่เกิดการแบ่งโลกกำลังพัฒนากับโลกพัฒนาแล้วขึ้นอย่างสมบูรณ์ กลุ่มประเทศในยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ได้กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสมบูรณ์ ในขณะที่ประเทศที่เหลือกลายเป็นประเทศ ‘กำลังพัฒนา’
ประเทศกำลังพัฒนาเริ่มไล่ตาม 1960-ปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) เป็นต้นมา กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเริ่ม ‘ไล่ตาม’ กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วขึ้นมาในทางเศรษฐกิจ โดยผลผลิตของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นจาก 26.6% ในปี 1962 มาเป็นกว่า 49.4% ในปี 2008 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในประเทศเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 14.9% มาเป็นกว่า 38% ในช่วงปี 1960-2008
การพัฒนาขึ้นมาของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในช่วงต้นนั้น ส่วนหนึ่งถูกผลักดันด้วยความพยายามของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการช่วยให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียพัฒนาขึ้น ซึ่งเป็นความพยายามหนึ่งของสหรัฐฯ ที่พยายามขยายอิทธิพลสู่การเป็นมหาอำนาจทางการเมืองโลกเหนือสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น
ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในกระแสการพัฒนาที่นำโดยสหรัฐฯ นี้ด้วย เพราะนับตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ซึ่งการเมืองไทยมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจสู่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไทยก็จับมือเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างแข็งขัน และในเชิงเศรษฐกิจก็มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลายอย่าง องค์กรและสถาบันทางเศรษฐกิจหลายอย่างที่จำเป็นต่อการพัฒนาและก้าวสู่การเป็นระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้เอง บวกกับการที่ประชากรไทยเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ ก็ยิ่งส่งเสริมให้ไทยสามารถเติบโตได้บนฐานของแรงงานค่าจ้างถูก ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นจากเพียง 2.7 พันล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ. 2503 มาเป็นกว่า 387 พันล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ. 2556
ไทยเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศที่คาดว่าจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2035 (The Next-14)
ผู้เขียนหนังสือ Catch Up ได้เลือกประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และมีศักยภาพอย่างมากที่จะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2035 มาทั้งสิ้น 14 ประเทศ ประกอบไปด้วย อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี เม็กซิโก จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลย์เซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ตุรกี อียิปต์ แอฟริกาใต้ และไทย
ผู้เขียนระบุว่ามี 3 ปัจจัยสำคัญที่ทั้ง 14 ประเทศนี้มีร่วมกันซึ่งทำให้ทั้งหมดสามารถพัฒนาและเติบโตได้เร็วมาจนถึงทุกวันนี้ ได้แก่
หนึ่ง ปัจจัยพื้นฐาน (initial condition) ดี โดยสองปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดคือ การมีโครงสร้างพื้นฐาน (physical infrastructure) ที่ดี และการมีระบบการศึกษาที่ดีและทั่วถึง สองปัจจัยดังกล่าวนี้เป็นเงื่อนไขขั้นต่ำสุดสำหรับการก้าวไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมเต็มตัว ประเทศที่ขาดปัจจัยพื้นฐานสองตัวนี้ จะไม่สามารถก้าวไปบนถนนแห่งการพัฒนาได้
สอง การมีสถาบันที่เอื้อให้เกิดการพัฒนา (enabling institutions) ซึ่งหมายถึงการมีองค์กรที่จำเป็นสำหรับช่วยในกระบวนการพัฒนา เช่น การมีธนาคารประจำชาติเพื่อสร้างความมีเสถียรภาพในด้านการเงิน หรือการมีธนาคารเพื่อการพัฒนาซึ่งยอมปล่อยกู้ระยะยาว เป็นต้น
สาม การมีรัฐบาลที่เป็นตัวกระตุ้นหรือเป็นผู้นำในกระบวนการพัฒนา ในทุกประเทศที่กล่าวมา รัฐบาลล้วนมีบทบาทสำคัญในกระบวนการพัฒนา ตั้งแต่การควบคุมและแก้ไขกลไกตลาดให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเป็นผู้ก่อตั้งองค์กรที่จำเป็นในช่วงต้นของการพัฒนา รวมถึงการมีวิสัยทัศน์และนโยบายที่ช่วยให้ภาคเอกชนสามารถพัฒนาเทคโนโลยี และนำเข้าเทคโนโลยีที่เหมาะสมได้ในกรณีที่ยังไม่สามารถพัฒนาได้เอง
และทั้ง 3 ปัจจัยนี้ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ด้วย สำหรับการก้าวข้ามจากประเทศ ‘กำลังพัฒนา’ ไปสู่ประเทศ ‘พัฒนาแล้ว’
แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะทำได้ดี และท่านผู้อ่านก็คงดีใจ คิดว่านักวิชาการฝรั่งเขาจัดให้ไทยเป็นหนึ่งใน ‘The Next-14’ อีกไม่เกิน 20 ปีประเทศไทยก็คงได้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว บิ๊กๆ คูลๆ อย่างเขาบ้าง
แต่ว่าหนังสือเล่มนี้ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ก่อนที่เราจะมีรัฐบาลที่เผอิญว่าไม่ได้มาด้วยวิธีการปกติปกครองประเทศอยู่ถึงทุกวันนี้
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เราสูญเสียโอกาสที่จะได้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาอย่างรถไฟความเร็วสูง ในขณะที่การศึกษา ปัจจุบันเราก็เป็นรองกระทั่งเวียดนามแล้วหากดูจากผลสอบ PISA (ปัจจัยที่ 1) ในขณะเดียวกันสถาบันหลายอย่างในไทยก็ไม่สามารถทำงานได้สำเร็จอย่างที่ควร ยกตัวอย่างเช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ทำงานเทียบกันไม่ได้เลยเมื่อเทียบกับหน่วยงานแบบเดียวกันของสิงคโปร์ หรือแม้แต่ กสทช. ที่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้กิจการโทรคมนาคมไทยพัฒนาได้เท่าที่ควร (ปัจจัยที่สอง) รวมไปถึงรัฐบาลของเรา ซึ่งมีนโยบายไม่สนับสนุน start-up อย่างที่เราเห็นในกรณี UBER ก็คงพอจะสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าตอนนี้เรามีรัฐบาลที่ดีพอที่จะเป็นผู้นำการพัฒนาหรือไม่ (ปัจจัยที่ 3)
ทั้งหมดทั้งปวง ด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ผมเลยไม่ค่อยแน่ใจนักว่าในอีก 20 ปี ประเทศไทยจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้แบบที่นักวิชาการฝรั่งว่า ผมเกรงว่าสุดท้าย ณ วันหนึ่งในอนาคต 20 ปีข้างหน้า เราก็จะกลับมาบอกกับตัวเองว่า อย่างน้อยครั้งหนึ่งเราก็เคยเป็น ‘The Next-14’ ของโลก เหมือนที่ครั้งหนึ่งเราเคยฝันว่าจะเป็น ‘เสือตัวที่ห้าของเอเชีย’
เพียงแต่ว่าทั้งสองความฝัน เราไม่เคยไปถึงมันเท่านั้นเอง