ทำไมทำบุญแล้วต้องกรวดน้ำ ไม่ถอดรองเท้าใส่บาตรพระได้ไหม ชาวพุทธนั่งสมาธิเพื่ออะไร แล้วการนั่งสมาธิมันจะได้ญาณวิเศษตามที่บางคนอ้างไว้จริงหรือเปล่า
เหล่านี้คือคำถามที่เกิดขึ้นจากญาติโยม ที่ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ พระนักคิดนักเขียนจากวัดสร้อยทอง มักพบเจอบ่อยๆ ผ่านการสื่อสารกับญาติโยมบนโลกโซเชียลมีเดีย
จากพื้นที่บนเฟซบุ๊กสู่วันนี้ที่เราได้รู้ว่า พระมหาไพรวัลย์ ได้เขียนหนังสือเล่มใหม่ออกมามีชื่อว่า ‘ไปจำมาจากไหน ทำไมไม่เชื่อหลวงพี่’ ก็ทำให้เราสงสัย (ตามชื่อหนังสือ) ว่า เอ๊ะ แล้วตกลงมีความเชื่อแบบไหนในพระพุทธศาสนาที่เราต้องตรวจสอบและตั้งคำถามถึงความเป็นเหตุเป็นผลกันบ้างนะ
เพื่อที่จะคลายความสงสัย เราจึงเดินทางไปวัดสร้อยทอง เพื่อขอสนทนากับหลวงพี่ไพรวัลย์เพื่อพูดคุยถึงหนังสือเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องซีเรียสๆ อย่างสถานะของพระพุทธศาสนาในสังคมไทยยุคปัจจุบัน
เท่าที่ผ่านมา เห็นว่าหลวงพี่เองก็ใช้เฟซบุ๊กพูดคุยกับผู้คนเยอะเหมือนกัน เลยอยากรู้ว่า ญาติโยมส่งข้อความมาถามหลวงพี่ในเรื่องอะไรบ้าง
จริงๆ มันก็เป็นเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา สิ่งที่ถูกถามบ่อยคือความเชื่อในความต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ชาวบ้านพากันไปกินฉี่จั๊กจั่น กินโคลนลาวา หรือรอยพญานาคต่างๆ ที่เกิดขึ้น เคยมีคนมาถามด้วยว่า ทำไมเวลาเราเห็นภาพคนเสียชีวิต ต้องมีคนไปคอมเมนต์ด้วยคำว่า “อโหสิกรรม” ตกลงแล้ว คำนี้มันหมายถึงอะไร
อย่างอโหสิกรรมจริงๆ แล้วมันควรใช้อย่างไร
ตามหลักทางพุทธศานาจริงๆ คำว่า อโหสิ แปลว่าการเลิกแล้วต่อกัน หรือ การที่คนฝ่ายหนึ่งยินดีที่จะไม่ถือโทษ คือ กรรมที่ไม่ต้องมีพันธะผูกพันต่อกันภายในอนาคตข้างหน้าอีก แต่เมื่อคำนี้มันถูกนำมาใช้จริงๆ มันไม่ได้มีความหมายตามแบบเดิมของมันอย่างที่ควรจะเป็น คนใช้เฉพาะแค่คนตายหรือกับศพ แล้วคนก็เอามาใช้กัน ด้วยไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะขอขมาลาโทษหรือสำนึกผิดต่อกัน แต่มันมาจากความรู้สึกกลัวต่อคน กลัวความอาฆาตจากผีและวิญญาณ
คนไทยเองก็อินกับเรื่องผีหรือวิญญาณพอสมควร มีคนถามหลวงพี่ในเรื่องทำนองนี้เยอะไหมครับ
เยอะนะ โดยความรู้พื้นฐานของหลายๆ คนมีเข้าใจในเบื้องลึกของที่มาความเป็นตัวตนในวิถีชีวิตน้อยเกินไป เราเกิดมาก็รู้จักเรื่องผีหรือวิญญาณแล้ว แต่เรามักไม่เข้าใจว่า คำว่าเหล่านี้มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้น หรือถูกทำให้มีเฉพาะแค่ในพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะยังมีศาสนาอื่นๆ ที่บรรพบุรุษของพวกเขานับถือกันมาอยู่แล้ว
คือในพุทธศาสนาไม่ปรากฎคำว่าผีเลยนะ มีแค่คำว่า วิญญาณ แถมคำว่า วิญญาณยังกว้างและคนละความหมายกับผีในแบบที่เราเข้าใจ โดยวิญญาณในแบบพระพุทธเจ้าอาจหมายถึงการรู้แจ้งทางอารมณ์ก็ได้ มันไม่ได้หมายถึงตัวของจิตที่มันล่องลอย หรือพลังงานสสารที่ลอยล่อง
อย่างที่หลวงพี่พูดถึงเรื่องผีขึ้นมาเมื่อกี้ ที่ผ่านมาเคยมีคนมาปรึกษาเรื่องการกลัวผีไหม
เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีโยมคนหนึ่งถามอาตมาว่า เขากำลังจะย้ายเข้าไปอยู่บ้านหลังหนึ่ง แต่มีเสียลือว่าบ้านหลังนั้นมีผีนางไม้ เขาก็รู้สึกไม่สบายใจเลยทักมาถามอาตมาว่า ควรทำยังไงดี อาตมาก็แนะนำไปว่า เราไม่จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่มองไม่เห็น บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของเรา อาตมาก็พยายามอธิบายเอาไปด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์
หมายถึงศาสนาพุทธมันก็คือวิทยาศาสตร์แบบหนึ่ง
โดยลำพังศาสนาพุทธเองมันก็มีหลายอย่างที่อธิบายได้ยาก แต่คำถามคือเราจะทำยังไงให้พุทธศาสนามันไปด้วยกันได้กับยุคสมัยนี้ ยุคสมัยที่คนไม่ได้เชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติแบบเดิมแล้ว คนต้องการศาสนาที่อธิบายได้ เข้าใจง่าย และอยู่ใกล้ตัว
อาตมามองว่ามันก็คือหน้าที่ของเรา ที่จะทำยังไงก็ได้เพื่อให้พุทธศาสนามันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าสิ่งซึ่งสามารถอธิบายด้วยเหตุผลได้ อาตมาพยายามจะเอาทุกเรื่องสิ่งลี้ลับ อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ ที่เราเคยถูกปลูกฝังมาอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผล
แล้วหลวงพี่อยากสื่อถึงประเด็นแบบไหนออกไปผ่านหนังสือเล่มนี้
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นมาจากเรื่องเล็กน้อยแต่สำคัญต่อวิถีชีวิตคนพุทธ และเป็นสิ่งที่ทำตามกันมา บางเรื่องเป็นความเชื่อ บางเรื่องเป็นพิธีกรรม ซึ่งพอเราเชื่อตามๆ กันมารุ่นต่อรุ่น ตัวความหมายหรือจุดประสงค์จริงๆ ที่มันเป็นเหตุเป็นผลมันก็หายไป หนังสือเล่มนี้พยายามไปขุดคุ้ยหาสิ่งเหล่านั้น ยกตัวอย่าง เรื่องทำบุญไม่กรวดน้ำได้ไหม หรือการกรวดน้ำเคยถูกพูดถึงในพระไตรปิฎกหรือเปล่า
สิ่งที่คุณเคยเข้าใจว่าถูกต้องดีงาม เช่น การปล่อยนกปล่อยปลาในบางกรณี มันสร้างบุญสร้างกุศลจริงหรือเปล่า หรือในสภาพจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม
ปัจจัยอะไรที่ทำให้สิ่งที่มันเคยเชื่อกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล มันกลายเป็นสิ่งที่คนไม่ตั้งคำถามอีกต่อไป
คนส่วนใหญ่ปฏิบัติตามความเชื่อมากกว่าความจริง เราแสวงหาความเชื่อมากกว่าความจริง พอเราอยู่กับความเชื่อนานๆ แทนที่มันจะส่งเสริมให้เราใช้ปัญญามากขึ้น แต่มันกลับไปกดทับความเป็นเหตุเป็นผลของเรา เวลาเราพูดถึงศรัทธา เราก็มักคิดว่ามันไม่ต้องไปหาเหตุผล คือคิดว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้และไม่ต้องการคำอธิบาย
การที่เราอยู่ในสังคมซึ่งต้องการที่พึ่งพาทางจิตใจมากๆ มันเป็นปัจจัยที่นำไปสู่สิ่งเหล่านี้ด้วยไหมครับ
อันนี้มันก็เป็นปัญหา ในหนังสือก็เขียนเรื่องนี้โดยตั้งคำถามว่า สรุปแล้ว ความเชื่อนั้นแค่เราเชื่อแล้วสบายใจ มันเพียงพอรึเปล่า เพราะเราอาจลืมไปว่า มันอาจส่งผลกระทบต่อคนอื่นด้วย
มีเรื่องหนึ่งคือ คนไทยที่โยนเหรียญลงไปในบ่อเต่า เพราะเชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์ที่อายุยืน แล้วการโยนเหรียญลงไปมันจะเป็นการขอโชค ขอความอายุยืนจากเต่าได้ อะไรก็ตามแต่ ปรากฎว่าเต่าก็ไปกินเหรียญเข้าไปจากความเชื่อนี้แหละ สุดท้ายมันก็ตาย มันคือการฆ่าสัตว์ในทางอ้อม
บางคนอาจจะมองว่าก็เชื่อแบบนี้ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน
แม้แต่ตัวเราเอง ความเชื่อบางอย่างมันก็ทำให้ตัวเราเองเดือดร้อนด้วยนะ แต่เราอาจจะไม่รู้ตัว มีชาวบ้านที่ลูกเขาป่วย แล้วเขาพยายามจะพาวิธีการมารักษาลูก หาหมอก็ไม่หาย จนเขาเองก็ไปเชื่อร่างทรงคนหนึ่ง ร่างทรงทักว่ามีไม้ตะเคียนอยู่ข้างใต้บ้าน เพราะฉะนั้นต้องขุดเอาไม้ตะเคียนขึ้นมา ปรากฎว่าพวกเขาก็ไม่จ้างรถมาทุกบ้านและขุดลง ขุดเท่าไหร่ก็ไม่เจอ สุดท้ายก็เดือดร้อนกันทั้งเรื่องบ้านและเรื่องอาการป่วยของลูกที่ไม่หาย
โดยที่สุดแล้ว คนต้องการที่พึ่งนั่นแหละ แต่วิธีการเข้าถึงที่พึ่งมันไม่ถูกหลักปัญหาสำคัญของความเชื่อคือ มันไม่มีหลัก พอไม่มีหลักปุ๊ป ก็คิดว่าฉันเชื่ออะไรก็ได้ บูชาอะไรก็ได้ ขอแค่ให้รู้สึกสบายใจ แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น คนไม่มองว่า การคิดแบบนี้ บางทีไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว มันยังเป็นการหลอกตัวเองด้วย
เห็นคำนำในหนังสือของหลวงพี่ มีคำว่า “ศาสนาไทย” อยู่ด้วย อยากรู้ว่าหมายถึงอะไร
ศาสนาไทยเป็นคำที่นักวิชาการคนอื่นเคยใช้มาก่อนแล้วนะ มันเป็นศาสนาที่ผสมปนเปกับสิ่งอื่นๆ จนแยกไม่ออก ถ้าเปรียบเทียบเป็นภาษาเหนือก็คงเหมือนกับแกงโฮะ คือเอาหลายๆ อย่างมารวมกัน ศาสนาไทยก็คล้ายแกงโฮะ มันถูกยำ ถูกผสมด้วยความเชื่อ ลัทธิอื่นๆ มากมาย อาตมามองว่ามันกำลังเป็นศาสนาแบบใหม่ที่คนไทยกำลังนับถืออยู่
เอาเข้าจริงๆ แล้วก็น่าจะมีญาติโยมที่มีคำถามอะไรเกี่ยวกับพุทธศาสนาเยอะเหมือนกัน แต่ก็คงมีหลายคนที่หาช่องทางในการหาคำตอบไม่ได้
ความผูกพันของพระกับวิถีชีวิตชาวบ้านก็เปลี่ยนไปนะ เดี๋ยวนี้วัดเองก็พยายามตอบสนองความต้องการชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ แทนที่พระจะเป็นคนคอยตักเตือนชาวบ้านให้อยู่ในร่องรอยตามหลักความคิดแบบพุทธบริษัท แต่พระกลับไปสนใจประโยชน์ที่ตัวเองจะได้จากชาวบ้านด้วยเหมือนกัน
อาจมีพระบางรูปที่คิดว่า คนงมงายก็ดีแล้ว เพราะมันดึงคนเข้าวัดได้ง่าย จนลืมเรื่องการสอนศาสนาพุทธให้ตรงตามหลักปฏิบัติที่ถูกต้อง ในวันนี้ วัดหลายแห่งกลับกลายเป็นสถานที่ส่งเสริมเรื่องไสยศาสตร์เสียเอง มันก็ไม่แปลกที่ชาวบ้านจะไม่สามารถหาความรู้ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์จากพระได้
แล้วพวกเราควรอยู่กับความเชื่อยังไงดี
ในมุมของอาตมา เราต้องตั้งคำถามว่าความเชื่ออะไรก็ตามที่เราเชื่อหรือยึดถือนั้น มันทำให้เรากลายเป็นคนแบบไหน เป็นคนที่ดีขึ้น มีเหตุผล ใช้ปัญญาความคิดมากกว่าเดิมไหม หรือทำให้เรากลายเป็นคนที่งมงายไปเลย
แต่ก็มีบางคนก็เชื่อและยึดมั่นไปมากๆ แล้วจนไม่ได้เห็นความจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามอีก
มันก็มีแหละ มันก็เลยต้องมีคนที่เสนออะไรหลายๆ อย่าง อาตมามองว่า ทุกวันนี้สังคมเรามีข้อมูลมากมายให้เราเลือกรับได้ ขึ้นกับตัวเราปิดกั้นสิ่งเหล่านั้นรึเปล่า
หลวงพี่คิดว่า ศาสนาพุทธในสังคมไทยทุกวันนี้ เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้ตั้งคำถามได้แค่ไหน
ในตัวของศาสนาพุทธเอง มันถูกขับเคลื่อนด้วยองค์กรทางศาสนานั้น ค่อนข้างเปิดพื้นที่สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์น้อยมาก ถ้าจะพูดตรงๆ คือยังล้าหลังเยอะมาก มันไม่ได้มีความที่จะไปกันในกับสังคมในยุคสมัยใหม่ รวมถึงปัญหาทางศีลธรรมที่มันไปไกลมากแล้ว นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนคิดว่า ศาสนามันไปไม่ได้กับชีวิตคนในประจำวัน
ธรรมะเป็นของดีนั่นแหละ แต่วิธีการที่จะป้อนธรรมะให้ถึงคนสมัยใหม่ที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจน และมันรับฟังตัวของคนที่ตั้งคำถามมากกว่าที่จะไปตัดสินหรือชี้วัดคนที่มาตั้งคำถาม
คนในทุกวันนี้ต้องการธรรมะในรูปแบบของการรับฟัง ว่ามันจะสามารถเยียวยาและเข้าใจความทุกข์ของเขาได้ยังไงบ้าง ซึ่งธรรมะในรูปแบบนี้มันยังไม่อยู่ค่อนข้างน้อย
เวลาพูดถึงธรรมะในมิติการเยียวยาจิตใจคน ฟังอย่างนี้ก็เหมือนไลฟ์โค้ชประมาณหนึ่งเลย
จริงๆ พระพุทธเจ้าท่านก็มีสถานะแบบนั้น เวลาท่านเข้าไปหาใคร ท่านก็พยายามจะรับฟังความทุกข์ของคน ท่านก็ปล่อยให้คนที่เผชิญกับความทุกข์ได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองก่อนที่ท่านจะแสดงธรรม
แต่ทุกวันนี้ รูปแบบการแสดงธรรมในยุคสมัยใหม่มันไม่ได้เป็นในลักษณะนี้เท่าไหร่ เราไม่ได้มีลักษณะนี้ ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของการสานเสวนา หรือการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน
ธรรมะที่เป็นรูปแบบพิธีการในทุกวันนี้ พระกลายเป็นฝ่ายที่สอนอย่างเดียว เทศน์อย่างเดียว พูดอย่างเดียว ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้หรอกที่การพูดเพียงครั้งเดียวให้คนที่มีปัญหาร้อยแปดพันเก้าเข้าใจในสิ่งที่พระพูด เพราะฉะนั้น คนก็เลยรู้สึกเบื่อหน่ายกับการฟังเทศน์ และคิดว่ามันห่างไกลเกินไป
พระเองก็ต้องเรียนรู้สังคมไปพร้อมๆ กันว่า พวกเขามีวิธีคิดและรูปแบบการมองโลกแบบไหนเกี่ยวกับปัญหาในแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น และไม่ใช่ว่า เราจะเอาธรรมะเพียงอย่างเดียวไปตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะมันเป็นการละเลยข้อเท็จจริงที่ซับซ้อนหลายๆ อย่าง
การอธิบายธรรมะในสมัยนี้มันไม่ใช่การเข้าไปตัดสินคน หรือตัดสินว่าเรื่องนี้ผิดเรื่องนี้ถูก เรื่องนี้เป็นบุญ เรื่องนี้เป็นบาป แต่ต้องทำความเข้าใจว่าแต่ละคนมีเหตุผล มีทางเลือกในรูปแบบเฉพาะของตัวเขาเอง
ธรรมะในรูปแบบอ่อนๆ ที่เราคุ้นชินกันคือ ธรรมะสำหรับการตัดสิน เราก็จะได้ยินในรูปแบบนี้ตลอด
แต่คนรุ่นใหม่เขาเริ่มเบื่อกับธรรมะในลักษณะนี้ที่มักอ้างเรื่องบุญ อ้างเรื่องบาป