สัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี อาเบะ ชินโซะ ก็ชนะการเลือกหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตยอีกสมัย ทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังคงเป็นของเขาต่อไป กลายเป็นการครองตำแหน่งที่ยาวนานเอาเรื่อง แม้ฝ่ายตรงข้ามในพรรคจะพยายามสู้แค่ไหนแต่ดูเหมือนสายสัมพันธ์ที่เขาวางไว้ในพรรคจะแข็งแกร่งอย่างมาก ไหนจะเจอปัญหาเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับที่ดินโรงเรียนโมริโทโมะก็ยังทำอะไรไม่ได้ รู้สึกตัวอีกที อาเบะ ชินโซะ ก็หยั่งรากในวงการการเมืองการปกครองญี่ปุ่นไว้อย่างแน่นหนา
ตลอดเวลาเกือบ 6 ปีที่ผ่านมา แนวทางสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นคือ ‘ศรสามดอก’ ที่ได้ชื่อว่า Abenomics นั่นคือ การผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน การใช้งบประมาณภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว แต่มีอีกประเด็นหนึ่งที่ทางอาเบะพยายามนำเสนอมาตลอดคือ Womenomics หรือการสนับสนุนให้ผู้หญิงได้มีโอกาสเติบโตในการทำงาน โดยเฉพาะในระดับบริหารองค์กร อาเบะมองว่าผู้หญิงคือหนึ่งปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และตอนเปิดตัวก็ดูน่าสนใจมาก เพราะในคณะรัฐมนตรีของอาเบะเองก็มีรัฐมนตรีหญิงถึง 7 รายจาก 18 ราย ฟังดูแล้วก็น่าจะมีอนาคตสดใส แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 6 ปี ก็ต้องมาดูกันว่า Womenomics ที่ได้รับการเสนอจากทีมงานที่ปรึกษารัฐบาล Goldman Sachs จะได้ผลแค่ไหนกัน
แนวทาง Womenomics ของอาเบะคือการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าสู่ภาคแรงงานให้มากขึ้น พัฒนาคุณภาพของศูนย์เลี้ยงเด็กเพื่อให้โอกาสผู้หญิงได้ทำงาน จ้างพนักงานภาครัฐหญิงให้มากขึ้น สนับสนุนภาคเอกชนในการจ้างผู้หญิง รวมถึงให้เงินสนับสนุนกรณีมีเจ้าหน้าที่ระดับบริหารหญิง รวมไปถึงมีแผนอนุญาตให้จ้างแม่บ้านต่างชาติในบางพื้นที่ได้ด้วย ทั้งหมดก็เพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมของผู้หญิง เพื่อที่จะสามารถทำงานได้อย่างสะดวกไม่ต้องห่วงอะไร
เวลาผ่านไปห้าปีกว่า เมื่อมาดูผลของการสนับสนุนแบบคร่าวๆ ก็ดูดีครับ เพราะในแต่ละปี ปริมาณผู้หญิงที่เข้ามาในตลาดแรงงานก็เพิ่มขึ้นเกิน 1% ทุกปี ห้าปีก็เพิ่มไปเกิน 5% ฟังดูแล้วก็น่าประทับใจมาก แต่ปัญหาคือ มันเป็นการโตในแง่ของปริมาณหรือคุณภาพกันแน่?
เมื่อลงไปดูตัวเลขละเอียดแล้วก็พบว่า ถึงจะมีการจ้างงานผู้หญิงมากขึ้นแต่สุดท้ายแล้วจำนวนตัวเลขที่เพิ่มก็มาจากการจ้างงานพนักงานชั่วคราว กลุ่มพนักงานทำงานพิเศษ (part-time) หรือกลุ่มชั่วคราวแบบถูกส่งไปตามบริษัทนั้นบริษัทนี้ (Haken) ไม่ได้เป็นการจ้างงานแบบประจำหรืออยู่ในสายงานที่มีเส้นทางเติบโตต่อไป เป็นการจ้างงานแบบค่าจ้างไม่สูงมากนัก ส่วนต่างของค่าจ้างระหว่างเพศก็ยังคงสูงลิ่วเช่นเคย และสัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งบริหารองค์กรก็ยังน้อยสุดในประเทศพัฒนาแล้วเช่นเคย จนสุดท้ายแล้วจะมองว่าเพิ่มแต่ปริมาณ ไม่ได้เพิ่มคุณภาพก็ว่าได้
สุดท้ายแล้ว แม้จะพยายามสร้างโอกาสให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานแค่ไหน แต่มันก็ยังมีอุปสรรคอีกหลายต่อหลายอย่างชนิดที่ไม่น่าจะแก้ได้ในระยะเวลาสั้นๆ เพราะหลักๆ ก็คือวัฒนธรรมทั้งในส่วนของครอบครัวและส่วนของการทำงานของญี่ปุ่นนั่นเอง
ค่านิยมของครอบครัวญี่ปุ่นที่แม้จะพัฒนามาเป็นสังคมสมัยใหม่ก็ยังคงไม่เปลี่ยนจากอดีตมาก นั่นคือผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง คอยทำหน้าที่สนับสนุนสามีที่ออกไปทำงานนอกบ้านอย่างเต็มที่ ดังนั้นบทบาทของผู้หญิงในครอบครัวคือ ตื่นก่อนนอนทีหลัง คอยดูแลทุกอย่างที่เกี่ยวกับในบ้าน ทั้งงานบ้าน ดูแลลูก รวมถึงการเงินของครอบครัว เรียกได้ว่าเป็นสายซัพพอร์ตที่รอบด้านมาก แน่นอนว่ามีแม่บ้านไม่น้อยที่มาทำงานพิเศษแบบ part-timer (คำนี้ดูเหมือนจะเอาไว้ใช้เรียกแม่บ้านที่ทำงานกึ่งประจำมากกว่างานพิเศษแบบทั่วไปที่เรียกว่า Arubaito) ทำให้ยอดคนทำงานเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาก็คือเพราะเป็นงานกึ่งประจำ สุดท้ายก็ได้แค่เป็นงานรูทีนธรรมดา ไม่ได้มีโอกาสก้าวหน้าในสายงาน และยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคิดคือ แม่บ้านที่ทำงานแนวนี้หลายรายเลือกที่จะไม่ทำงานเยอะจนเกินไปเพราะต้องคำนวนรายได้ด้วย ด้วยระบบการจ่ายภาษีแบบขั้นบันไดทำให้ถ้าทำงานเยอะไปจนรายรับเกินลิมิตก็ต้องจ่ายภาษีเยอะขึ้น กลายเป็นว่ารายรับที่ตกถึงมือน้อยกว่าเดิม ไม่อย่างนั้นก็ต้องพยายามทำให้เยอะไปอีก แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยคุ้มจึงเลือกทำงานแบบจำกัดเท่านั้น ต้องลองดูเวลาแม่บ้านญี่ปุ่นเขาคำนวนรายรับเพื่อไม่ให้เสียภาษีเกินจำเป็นกันครับ—อย่างละเอียด
สำหรับครอบครัวรุ่นใหม่ที่อยากจะช่วยกันทำงานเพื่อหาเงินเข้าครอบครัว ปัญหาก็ยังจำกัดอยู่ที่ปริมาณสถานรับเลี้ยงเด็กที่นอกจากจะเลิกเร็วจนหลายคนต้องรีบทิ้งงานและกลับไปรับลูกแล้ว ยังมีปริมาณไม่เพียงพอครับ ในหลายพื้นที่ คิวรอเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กนี่ยาวแบบไม่มีความหวัง สุดท้ายแม่ก็ต้องสละตัวเองมาดูแลลูก ปล่อยพ่อออกไปทำงานคนเดียวเหมือนเดิม แม้ทุกวันนี้จะมีความพยายามเพิ่มสถานรับเลี้ยงเด็กแค่ไหนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แถมยังเคยมีกรณีว่า คนในภาครัฐไปดูถูกเจ้าหน้าที่ว่าเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะอะไร ทำให้เจ้าหน้าที่เดือดกันอีก (เรื่องสถานรับเลี้ยงเด็กนี่ไปอ่านในบทความเรื่องอิเคะบุคุโระที่ชูจุดเด่นว่ามีสถานรับเลี้ยงเด็กพร้อมรับเด็กทุกคนได้ครับ)
ที่น่าเศร้าสุดคงเป็นเรื่องของโอกาสของผู้หญิงในตำแหน่งบริหาร และตัววัฒนธรรมองค์กรของญี่ปุ่นนี่ละครับที่เป็นหนึ่งในตัวปัญหาตรงนี้ เพราะว่าสำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว โลกของการทำงานคือโลกของผู้ชาย ผู้หญิงที่อยากจะมีโอกาสก้าวหน้าในการทำงานก็ต้องเข้ามารับกฎกติกาชองผู้ชายจนมีการแยกสายงานระหว่างพนักงานหญิงทั่วไปกับกลุ่มที่ต้องการความก้าวหน้าในอาชีพการทำงาน แน่นอนว่า กลุ่มหลังคือกลุ่มที่ชาวญี่ปุ่นใช้คำว่า Career Woman ในการเรียกพวกเธอ ซึ่งก็ได้ชื่อว่าทุ่มเทให้กับการทำงานแทบไม่สนเรื่องส่วนตัว เพราะการที่พวกเธอจะได้รับการยอมรับจากผู้ชายในที่ทำงานก็ต้องทำตัวให้เป็นชายยิ่งกว่าผู้ชายจริงๆ ดังนั้นผู้หญิงกลุ่มนี้จึงมักจะไม่ใช่กลุ่มคนมีครอบครัว
ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะบริษัทหรือองค์กรญี่ปุ่นยังติดอยู่กับอคติเดิมๆ คือ ถ้าเป็นผู้หญิงและตั้งท้องมีลูกก็ต้องเสียเวลาทำงานไป ทำให้ไม่เหมาะกับการรับผิดชอบโครงการใหญ่ระยะยาว (ยังไม่นับว่าการแพ้ท้องคือความอ่อนแออีกนะ) ถ้าผู้หญิงอยากจะประสบความสำเร็จก็ต้องเลือกเอาระหว่างการทำงานหรือการมีครอบครัว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีของมหาวิทยาลัยแพทย์โตเกียวที่เรื่องแดงขึ้นมาว่าตั้งใจลดคะแนนผู้สอบฝ่ายหญิงเพื่อเพิ่มปริมาณแพทย์ชายก็เป็นเพราะเหตุผลดังกล่าวนี่ละครับ รวมไปถึงรูปแบบการทำงานของญี่ปุ่นที่ไม่ใช่แค่ทำงานล่วงเวลาเหมือนแข่งกันให้ได้โล่จนลืม work-life balance แล้ว เพราะหลังเลิกงานยังต้องไปต่อเชื่อมสัมพันธ์กันด้วยวงเหล้าอีก สภาพแวดล้อมแบบนี้ก็ทำให้ไม่แปลกเลยที่ปริมาณผู้หญิงในระดับบริหารถึงได้น้อยนัก ยิ่งไปกว่านั้นคือ รัฐบาลตั้งงบไว้ 120 ล้านเยน เพื่อสนับสนุนให้บริษัทดันผู้หญิงขึ้นตำแหน่งบริหาร โดยแต่ละตำแหน่งมีโอกาสได้เงินสูงถึง อะแฮ่ม! 300,000 เยนครับ ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็ยังน้อยกว่ายอดเงินขอลดหย่อนภาษีกรณีมีคู่สมรสอีกด้วยซ้ำ ไม่แปลกที่ถึงจะเตรียมไว้สำหรับ 400 ตำแหน่ง แต่แล้วในปีแรกก็ไม่มีบริษัทไหนมายื่นรับเงินตรงนี้เลย
สุดท้ายแล้ว Womenomics ของอาเบะก็คงเป็นคำพูด (buzzword) ที่พยายามเชิดชูให้ดูเหมือนว่ามีผลงานอะไรบ้าง แต่เมื่อมองลงไปลึกๆ แล้วก็ได้เห็นว่าปัญหามันก็ยังคงอยู่และไม่น่าจะหายได้ในเร็ววันนี้ จะให้รอรัฐบาลมาจัดการอย่างเดียวจริงๆ ก็ไม่ไหวหรอกครับ หากญี่ปุ่นอยากจะพัฒนาไปข้างหน้า ตัววัฒนธรรมและองค์กรเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ที่ให้โอกาสทั้งสองเพศเท่าเทียมกัน สร้างสมดุลเพื่อชีวิตการทำงานที่มีคุณภาพ ไม่ใช่เน้นแต่ปริมาณการทำงานที่หนักอย่างเดียว
ไม่อย่างนั้นก็คงจะเหมือนสโลแกนของ Womenomics ที่อาเบะเสนอว่า SHINE ในความหมายว่า อยากให้ผู้หญิงเปล่งประกาย แต่หลายคนมองเห็นเป็นการเขียนตัวภาษาอังกฤษแทนการออกเสียงญี่ปุ่นของคำว่า ชิเนะ ที่แปลว่า 死ね หรือ ไปตายซะ นั่นเองครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก