สัปดาห์ก่อน ผมไปทำธุระที่ญี่ปุ่นนิดหน่อย ช่วงที่อยู่โตเกียวก็ไปเดินเล่นที่ถนน Sunshine ในย่านอิเคะบุคุโระ ที่คุ้นเคยเป็นประจำ เพราะย่านนี้มีของขายครบ และคนไม่ได้จอแจเท่าย่านดังๆ พอนึกได้ว่าจะสี่โมงเย็นแล้วยังไม่มีกาแฟตกถึงท้อง เลยเปิดแอพฯ ในมือถือหาร้านกาแฟ เพราะอยากลองร้านใหม่ๆ มากกว่า แล้วก็เจอร้านน่าสนใจที่ต้องเดินห่างออกมาจากถนน Sunshine อีกหน่อย พอตามเส้นทางไป สิ่งที่ผมเจอกลับเป็นมากกว่าร้านกาแฟ
ร้านกาแฟที่ว่าคือร้านคาเฟ่ที่ดูฮิประดับนึง แต่ประเด็นคือ ร้านตั้งอยู่ติดกับส่วนสาธารณะที่ชื่อ Minami Ikebukuro Park และภาพที่ผมเห็นตรงหน้าก็ไม่คุ้นตาเอาซะเลย เป็นภาพของสวนขนาดไม่ใหญ่มากแต่กลับมีคนมาใช้สวนนี้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ นั่งเล่นคุยกันในสนามหญ้า บางคนก็นอนสบาย บางคนก็มาปิกนิก เด็กวัยรุ่นเลิกเรียนก็มารวมตัวกัน พนักงานบริษัทก็มาพักผ่อนใต้ต้นไม้ใหญ่ จะบอกว่าบรรยากาศมันดูเหมือนเซนทรัลพาร์กก็ว่าได้ เป็นภาพที่ไม่คุ้นกับย่านอิเคะบุคุโระนี้เลย
ที่บอกว่าไม่คุ้นหรือไม่เข้ากับย่านอิเคะบุคุโระก็เพราะว่า ถ้าหากถามความรู้สึกของคนโตเกียวที่มีต่ออิเคะบุคุโระในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ฝังหัวของพวกเขาก็คงหนีไม่พ้น เห่ย เฉิ่ม และอันตราย ที่มีภาพลักษณ์แบบนี้เพราะว่า ถึงอิเคะบุคุโระจะเป็นหนึ่งในย่านที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นย่านธุรกิจไม่ต่างไปจากชินจุกุหรือชิบุยะ แต่ก็มีปัญหากับการพัฒนา ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่อิเคะบุคุโระได้รับการจัดการกำจัดตลาดมืดออกไปช้ากว่าย่านอื่น จึงดูเป็นแหล่งเสื่อมโทรมที่ล้าหลัง
ส่วนเรื่องการพัฒนา แม้จะพยายามสร้างห้างสรรพสินค้าหรืออาคารพาณิชย์ต่างๆ ตั้งแต่ช่วงยุค 60s-70s แต่ก็ไม่ได้ทำให้ย่านพัฒนาตามไปด้วย นอกจากตัวห้างที่สถานีรถไฟหรือตัวอาคารพานิชย์ สถานที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้พัฒนาตามเลย สุดท้ายจึงไม่ได้อัพเกรดเป็นย่านหรูหราเหมือนอีกสองย่านคู่แข่ง และการที่อิเคะบุคุโระเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟไปยังจังหวัดไซตามะ ทำให้ย่านนี้กลายเป็นย่านที่ชาวไซตามะเข้ามาจับจ่ายซื้อของ เป็นแหล่งรวมคนต่างจังหวัดแทน ส่วนเรื่องอันตรายก็โดนตอกย้ำด้วยปัญหาของ Color Gang หรือแก๊งวัยรุ่นแต่งตัวแบ่งทีมด้วยสี และออกไล่ล่าตีกัน อิเคะบุคุโระติดอยู่กับภาพลักษณ์นี้จากนิยายที่กลายมาเป็นละครดังเรื่อง Ikebukuro West Gate Park คนจึงมองว่าที่นี่เป็นย่านที่อันตรายไปด้วย ซึ่งความจริงปัจจุบันก็ยังมีความน่ากลัวอยู่ เพราะเวลาเดินทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือก็จะเจอย่านท่องราตรีอยู่ไม่ไกลจากสถานี
ภาพลักษณ์ลบๆ ทั้งหลายที่ติดอยู่กับอิเคะบุคุโระ ทำให้ถึงแม้ต่อมาตัวย่านจะพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นย่านที่จอแจไม่แพ้ย่านอื่น แต่สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นย่านที่ไม่ได้น่าพิสมัย ไม่ได้ชวนให้มาใช้ชีวิตอยู่แต่อย่างใด
ปัญหาตรงนี้ไม่ได้หยุดแค่ย่านอิเคะบุคุโระ แต่เป็นปัญหาโดยรวมของเขตโทชิมะ (เขตที่อิเคะบุคุโระตั้งอยู่ และมีย่านอื่น เช่น โอซึกะ เมะจิโระ สุกาโมะ และโคมาโกเมะ) เพราะเมื่อ NHK ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับประชากร ก็พบว่า เขตโทชิมะเป็นเขตเดียวที่มีโอกาสจะเป็นเขตสาบสูญ หมายความว่า ต่อไปจะกลายเป็นเขตร้าง ไม่มีคนอยู่อาศัยเลย
ฟังดูก็อาจจะเหมือนเรื่องไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ไม่มีประชากรก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีคนในเขต กิจการต่างๆ ห้างร้าน สำนักงาน ก็อาจจะเดินหน้าต่อไปได้ เพราะอย่างไร อิเคะบุคุโระก็เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟขนาดใหญ่อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะไม่มีคนที่อยากอยู่อาศัยอยู่ในเขตนี้อีกต่อไป ด้วยภาพลักษณ์ติดลบต่างๆ ทำให้เขตนี้มีประชากรสูงอายุตัวคนเดียวอยู่มาก แต่กลับไม่มีค่อยมีประชากรรุ่นใหม่ย้ายเข้ามาสร้างครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ในเขตนี้ เกิดความเป็นห่วงกันที่ว่า ถ้าปล่อยไปแบบนี้คงได้กลายเป็นเขตร้างจริงๆ อย่างที่ NHK ได้ทำการสำรวจ
ทางเขตโทชิมะเองก็ทราบปัญหานี้ดี จึงได้พยายามปรับปรุงพัฒนาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในเขต เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในเพิ่มมากขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็นการปรับรูปโฉมใหม่ใหม่ของเขตเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่นสวนสาธารณะที่ผมพูดถึง ก็เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมเมืองให้น่าอยู่ขึ้น ซึ่งก็ส่งผลสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและชวนให้คนมาพักผ่อน เพราะเขตโทชิมะไม่ค่อยมีพื้นที่สีเขียวหรือสนามหญ้าให้คนพักผ่อนหย่อนใจเท่าไหร่นัก เช่นเดียวกันกับส่วนสาธารณะ West Gate Park ที่เคยมีภาพลักษณ์ไม่ดี ก็กำลังจะถูกปรับปรุงให้หรูหราล้ำยุคมากขึ้น เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของย่าน (บวกด้วยความหรูหราของ Tokyo Metropolitan Theatre) พร้อมทั้งทุ่มงบปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะให้สะอาดและสวยงาม สร้างบรรยากาศที่ดีขึ้น ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับครอบครัวที่พาเด็กมาเที่ยวได้สะดวกยิ่งขึ้น จากสวนสาธารณะที่คนไร้บ้านยึด ก็กลายเป็นสวนสำหรับครอบครัวรุ่นใหม่มาพักผ่อนหย่อนใจได้ง่าย
เหล่าห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็มีส่วนช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับย่านด้วย บนชั้นดาดฟ้าของห้าง Seibu ที่สถานีอิเคะบุคุโระมีสวนหย่อมขนาดกำลังพอดี เหมาะให้นั่งพักผ่อนหย่อนใจหรือหยิบเอามื้อเที่ยงมานั่งกินได้ เช่นเดียวกับสวนสนุกและพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในห้าง Sunshine City ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่เหมาะสำหรับครอบครัวให้มาพักผ่อนหย่อนใจกัน และในย่านดังกล่าวก็ได้มีการเพิ่มร้านค้าคาเฟ่ที่ทันสมัย เพิ่มความน่าสนใจให้กับย่านมากขึ้นไปอีก ดึงดูดสาวๆ รุ่นใหม่ – พนักงาน OL (office lady) ให้อยากอยู่อาศัยมากขึ้น และอาจจะรวมไปถึงบริเวณ Otome Road แหล่งรวมโอตาคุฝ่ายหญิงที่เวลามีอีเวนต์อะไรก็มีคนมาร่วมงานกันอย่างมุ่งมั่น จัดกลุ่มแลกของกันที่ Naka Ikebukuro Park อย่างจริงจัง
ไม่ใช่แค่สภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่เขตโทชิมะยังมุ่งมั่นในการเพิ่มประชากรด้วยการดึงดูดประชากรใหม่ๆ เพิ่มปริมาณสถานรับเลี้ยงเด็กให้สามารถรับเด็กเข้าเรียนได้เกินพอ สิ่งนี้กลายเป็นจุดแข็งของเขต เพราะตอนนี้ปัญหาหลักของสังคมเมืองในญี่ปุ่นคือสถานรับเลี้ยงเด็กไม่เพียงพอ บางคนต้องรอคิวแล้วรอคิวอีก ทำให้ส่วนใหญ่แล้วฝ่ายหญิงมักจะต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลลูกแทน แต่เมื่อเขตโทชิมะจัดให้พร้อม แบบนี้ ก็มีคนย้ายเข้ามาอยู่เพื่อโอกาสตรงนี้มากขึ้น โทชิมะจึงเป็นเขตที่ได้รับการโหวตในช่วงหลังๆ ว่าเหมาะสำหรับการเลี้ยงดูลูกหรือครอบครัวที่ทั้งฝ่ายพ่อแม่ทำงานไปพร้อมๆ กันได้มากที่สุด และพอปี 2014 อิเคะบุคุโระก็ได้รับการโหวตให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อันดับ 3 ทั้งๆ ที่ปีก่อนหน้ายังติดแค่อันดับ 13 อยู่เลย และปัจจุบันก็ติดอันดับสูงตลอด และเป็นเมืองที่บริษัทกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จับตามองว่ายังมีโอกาสพัฒนาได้อีก
แน่นอนว่าฟังดูก็มีแต่ด้านดีๆ แต่ก็ยังแอบมีปัญหาแทรกอยู่ เช่นการพยายามพัฒนาเมืองเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ แต่ก็กลายเป็นการละเลยผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานดูแลคนชราที่ในเขตโทชิมะมีไม่เพียงพอ จนต้องออกไอเดียร่วมมือกับเมืองพี่น้อง จิจิบุ ในจังหวัดไซตามะ (อ่านต่อได้ที่นี่) ที่ก็มีปัญหาว่ามีโอกาสเป็นเมืองสาบสูญเช่นเดียวกัน โดยตั้งโครงการส่งคนชราไปอาศัยในเมืองจิจิบุด้วยการให้ทดลองไปทัวร์ดูเมืองก่อน ในแง่การจัดการก็ดูเป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสม เพราะจิจิบุก็ได้ประชากรเพิ่ม แต่ว่าตัวผู้สูงอายุต้องไปเริ่มต้นในเมืองใหม่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ นะครับ บางคนก็บอกว่า นี่มันเหมือนกับการเอาคนแก่ไปทิ้งให้รอความตายในป่าเลย
แต่ก็นั่นล่ะครับ การจะพัฒนาเมืองให้ครบรอบด้านก็คงยาก เขตเองก็คงต้องแก้ปัญหาหลักให้ได้ก่อน เพราะไม่อย่างนั้นก็คงจะไม่เหลือเมืองให้ใครอยู่เสียด้วยซ้ำ แต่การที่เขตต่างๆ ถูกกระจายอำนาจ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการแยกกันและแข่งขันพัฒนากันได้ก็นับเป็นหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจนะครับ เพราะสุดท้ายประโยชน์ก็ตกอยู่กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านนั้นๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
news.livedoor.com/article/detail/8707274/
news.livedoor.com/article/detail/14275938/
www.sankei.com/region/news/160212/rgn1602120060-n1.html
www.excite.co.jp/News/column_g/20170901/KodanshaBook_20170901_b02.html
www.jmca.jp/column/tu/tu40.html
รายการ Getsuyou Kara Yofukashi