“งานสัปดาห์หนังสือ” ซึ่งมักใช้เรียกรวมๆ ทั้งงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและนานาชาติในฤดูร้อน และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติและเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชนในช่วงปลายฤดูฝนของทุกปี ไม่เพียงเป็นผลผลิตของการรวมศูนย์อำนาจรัฐอยู่ที่กรุงเทพ จนทำให้ธุรกิจหนังสือขนาดใหญ่และโอกาสการเข้าถึงความรู้กระจุกตัวอยู่ในประเทศกรุงเทพ (แม้ว่าหลังๆ จะเริ่มมีงานสัปดาห์หนังสือตามจังหวัดใหญ่ๆ แล้วก็ตาม) แต่ยังมีอิทธิพลกำหนดวัฏจักรการผลิตซื้อขายหนังสือ วัฒนธรรมการอ่าน และกำหนดกลไกการตลาดของอุตสาหกรรมหนังสือ[1]
มากไปกว่านั้นยังนำไปสู่ ‘การเลือก’ คุณค่าความหมายของหนังสือ
นอกจากสำนักพิมพ์ร้านรวงต่างๆ จะเลือกหนังสือบางเล่มมาขาย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้จัดงานเองก็มีอำนาจคัดเลือกและไม่เลือกหนังสือบางประเภทบางเรื่องราวมาขายเช่นกัน แถมยังมีสันติบาลเข้ามาจัดการอีก
ดังที่สัปดาห์หนังสือช่วง มีนาคม-เมษายน 2551 หลังจากมีสันติบาลเที่ยวเดินตรวจตามงาน หนังสือนิยายเรื่องสั้นหญิงรักหญิงและชายรักชาย ของสำนักพิมพ์สะพานที่อยู่คู่กับขบวนการเคลื่อนไหว LGBTQ และผลิตวรรณกรรม Y มายาวนาน ถูกคำสั่งจากสันติบาลผ่านผู้จัดงานห้ามวางจำหน่าย เนื่องจากเนื้อหานำเสนอบทอัศจรรย์ของภรรยาผู้หนึ่งที่ไม่ได้มีความสุขสมทางเพศกับสามี แต่เธอกลับมีกับหญิงแปลกหน้านางนึงเท่านั้น[2]
เหตุการณ์สืบเนื่องมาจากงานสัปดาห์หนังสือก่อนหน้านั้น ในเดือนตุลาคมปี 2550 ที่มีการปราบปรามนวนิยายแปลโรแมนซ์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่สำนักพิมพ์เค้าก็พิมพ์ขายมาแรมปีเป็นทศวรรษแล้ว จนต้องปิดร้านไปและถูกดำเนินคดี ข้อหาเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ลามกอนาจาร เพราะถือว่านวนิยายโรแมนซ์อยู่ในนวนิยายที่มีข้อความลามก ก่อให้เกิดจินตนาการทางเพศ ยั่วยุกามารมณ์ได้[3]
โอย… รสนิยมทางเพศมันหลากหลายเนอะ และถ้าคนมันขี้ใคร่มันก็ใคร่ได้หมดแหละ อ่านลิลิตพระลอ หนังสือสอนวาดภาพเหมือน กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ชาดก ก็เกิดกำหนัดได้
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจึงเป็นอีกบรรทัดฐานนึงในนามของชาติที่คัดเลือกว่าหนังสือประเภทใดเล่มใดมีคุณค่าพอที่จะไปวางแผงในตลาดใหญ่ของอุตสาหกรรมหนังสือ และผู้อ่านควรซื้ออะไรมาอ่าน ทั้งๆ ที่หนังสือวรรณกรรมทุกเล่มก็มีคุณค่าในตัวของมันโดยตัวผู้อ่านเอง
อย่างไรก็ตาม การคัดสรรหนังสือ ประเมินคุณค่าและกำหนดบรรทัดฐานวรรณกรรมในนามของชาติก็มีอยู่เป็นระยะๆ เช่น โครงการวิจัยคัดเลือก ‘หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน’ โดยเงินทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปลายปี 2539-ต้น 2541 ที่ได้กลายเป็นทำเนียบประดิษฐ์ ‘ความเป็นไทย’ นิยามความหมาย ‘ความเป็นชาติ’ [4] และสร้างความชอบธรรมให้กับองค์ความรู้ รสนิยม ความคิดความอ่านความเชื่อ และอุดมการณ์โดยผู้แนะนำกลุ่มหนึ่งเท่านั้นในนามของชาติ[5] ในช่วงที่ชาติเริ่มเผชิญกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมวัฒนธรรมให้หันหลังไปโหยหา ‘ความเป็นไทย’ อุดมการณ์ชาตินิยมอนุรักษ์นิยม กระแสต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกและระบบทุนนิยม
อันที่จริงแล้ว วรรณกรรม Y ทั้ง Yaoi ที่ดำเนินเรื่องด้วยความรักความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย หรือ Yuri เนื้อหาที่ว่าด้วยระหว่างผู้หญิง[6] ก็เป็นอีกแนวนึงเช่นเดียวกับนิยายไซไฟ สืบสวนสอบสวน วรรณกรรมเยาวชน ผีสางเทวดา ผจญภัย จักรๆ วงศ์ๆ การอ่าน Y จึงเป็นรสนิยมทางวรรณกรรมที่นักอ่านส่วนใหญ่เป็นเด็กหญิง นำไปสู่คำเรียกว่า ‘สาววาย’ อีกกลุ่มวัฒนธรรมย่อยหนึ่งที่อาจะไม่เกี่ยวข้องก็ได้กับรสนิยมทางเพศของผู้อ่าน สาว Y หลายคน อาจจะรักต่างเพศหรือรักเพศเดียวกันหรือมีเพศสภาพเพศวิถีที่แตกต่างกันออกไป
แม้ความสัมพันธ์ตัวละครในเรื่องเป็นแต่เพียงจินตนาการเพ้อฝันประโลมโลกย์ ของสาว Y ที่อยากจะอ่าน และจินตนาการของผู้เขียนที่อยากให้ได้เห็น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมอ่าน Y ก็เป็นส่วนหนึ่งและมีคุณูปการต่อความหลากหลายทางเพศ เพราะมันก็ทำให้ความรักระหว่างคนรักเพศเดียวกันได้ปรากฏตัวบนที่สาธารณะมากขึ้น ถูกทำให้เป็นปรกติมากขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง
แต่ในโลกความเป็นจริงของวัฒนธรรมอ่าน Y ต้องฟันฝ่าอุปสรรคเรื่อยมา และหลายครั้งถูกขับให้ไปเป็นวัฒนธรรมใต้ดิน ในทศวรรษ 2540 ที่การ์ตูนญี่ปุ่น Y เฟื่องฟู แต่ความพยายามเชิดชูศีลธรรมอันดี สังคมสีขาวภายใต้การ ‘จัดระเบียบสังคม’ อย่างเข้มงวดในช่วง 2544-2545 และในช่วงที่เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์นิยมชาตินิยม นิยามความหมาย ‘คนดี เคลื่อนไหวเป็นขบวนการ รักษาวัฒนธรรมอันดีงามเป็นขบวนการทางการเมืองก่อนรัฐประหาร 2549 ในปี 2548 มังงะก็กลายเป็นประเด็นถูกโจมตีขึ้นมาเมื่อผู้ปกครองคนนึงพบว่าลูกตัวเองอ่านการ์ตูนเช่นนี้และต้องการดำเนินคดีผู้ขายและสำนักพิมพ์ที่เผยแพร่การ์ตูนลามกจกเปรตแก่เยาวชนและสังคม กลายเป็นผู้ใหญ่ผู้ผลิตแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก ทำให้เยาวชนตกเป็นเหยื่อ และมังงะก็ถูกขยี้อีกครั้งรายการทีวี “หลุมดำ” ของทีวีบูรพา ช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 ว่าการ์ตูนพวกนี้แม้จะมีปกน่ารัก ตาหวาน สดใส แต่ข้างในเผยแพร่เรื่องเพศ ฉากเพศสัมพันธ์อย่างอล่างฉ่าง วิปริตวิตถาร ทำลายศีลธรรมอันดีงาม และทำให้ผู้อ่านกลายเป็นเด็กมีปัญหา นำไปสู่การกวาดล้างมังงะ Y ในฐานะสื่อลามกอนาจาร[7]
มักเป็นเช่นนี้เสมอไปทันทีที่สังคมหันมาเคร่งศีลธรรมหรือจัดระเบียบสังคมเพศมักตกเป็นเป้าหมายแรกเสมอ
วรรณกรรม Y ยังคงถูกกีดกันเรื่อยมา กลายเป็นหนังสือต้องห้ามขายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2551 ขณะที่ ‘หนังสือต้องห้าม’ ที่ขายในงานหนังสือคือหนังสือที่ครั้งหนึ่งถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์ หลังยุคสงครามเย็นหนังสือเหล่านี้ มีป้ายติดว่า ‘หนังสือต้องห้าม’ เป็นจุดขายดึงดูดลูกค้า เช่นเดียวกับฉลาก ‘หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน’
ในปลายปี 2555 ยังถูกสั่งห้ามขายในร้านหนังสือซีเอ็ดเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายไม่จำหน่ายหนังสือ ‘รักร่วมเพศ’ ไม่ว่าจะของชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง และก็ด้วยกลุ่มเคลื่อนไหว LGBTQ และกลุ่มสะพานนี่แหละที่ออกโรงต่อสู้จนซีเอ็ดจนต้องระงับคำสั่งไว้ก่อน เป็นความสำเร็จอีกครั้งต่อการต่อสู้การเลือกปฏิบัติและอคติทางเพศและวัฒนธรรมการอ่าน
เอาเข้าจริง วรรณกรรมคนรักเพศเดียวกันแต่ไม่ Y ก็มีประวัติศาสตร์มายาวนาน มาพร้อมกับวัฒนธรรมเกย์ที่เติบโตจากวัฒนธรรมทุนนิยมในช่วงสงครามเย็น แต่ไม่วายวรรณกรรมคนรักเพศเดียวกันก็ดันเป็นโศกนาฏกรรมที่เล่าเรื่องชีวิตรันทด อกหักรักคุด ตุ๊ด (ด้วยกัน) เมิน
กล่าวกันว่าวรรณกรรมที่มีตัวดำเนินเรื่องหลักเป็นเกย์ (ไม่ใช่ตัวละครรองอย่างวรรณกรรมที่ผ่านมาเช่น เรื่องของจัน ดารา ปี 2507-2509, มนุษย์ ปี2513 โดยสุภาว์ เทวกุล, รักที่หลุดลอย ลักษณ์ โรจนา ปี 2515) เล่มแรกในไทยคือ บัลลังก์ใยบัว (2516) แต่งโดยนักเขียนหญิง “กฤษณา อโศกสิน” นามปากกาของ สุกัญญา ชลศึกษ์ ในช่วงที่ชุมชนเครือข่ายเกย์เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเปิดเผยมากขึ้นและมีสถานบันเทิงเฉพาะรสนิยมแล้ว แต่ถึงกระนั้นเนื้อหาก็ยังคงเป็นเรื่องราวของเกย์ที่จะต้องแต่งงานกับผู้หญิง ชายที่สามารถร่วมเพศได้ทั้งผู้หญิงและเพศเดียวกัน ความสัมพันธ์หลบๆ ซ่อนๆ ของเกย์ และผู้ชายขายตัวให้เพศเดียวกัน[8] ก่อนที่เธอจะเขียน ประตูที่ปิดตาย ลงสตรีสารในช่วง 2517-2518 แล้วร่วมเล่มในปี 2519 ซึ่งกลายเป็นนิยายรักว่าด้วยตัวละครเอกรักเพศเดียวกันอันโด่งดัง ผู้เขียนเองก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบ:ซะมากกว่า เช่นเดียวกับทัศคติต่อเพศวิถีคนรักเพศเดียวกันในช่วงสมัยนั้น แม้ว่าจะเริ่มมีการเปิดตัวกันมากขึ้นและเริ่มมีบาร์เกย์ผุดพรายมากมาย ประตูที่ปิดตาย สร้างภาพจำให้เกย์เป็นบุคคลผู้น่าสงสารเห็นอกเห็นใจ และอีกครั้งกับเรื่อง รูปทอง
ขณะเดียวกันก็มีนิยาย เก้าอี้ทอง ของ “สีฟ้า” และนิยายว่าด้วยหญิงข้ามเพศของทมยันตี ใบไม้ที่ปลิดปลิว และ ทางสายที่สาม ของกีรตี ชนา[9]
วรรณกรรมดราม่าคนรักเพศเดียวกัน สุดท้ายมักจบลงด้วยความวายป่วง ขณะที่วรรณกรรมวาย ได้มอบความสดใสชื่นฉ่ำ พาฝันให้ผู้อ่าน ในฐานะคู่รักชาย-ชาย หญิง-หญิง ก็เป็นอีกความรักความสัมพันธ์เหมือนความรักทั่วๆ ไป
หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่า ภายในระยะเวลา 10 ปีโลกเราได้เปลี่ยนไปมาก นิยาย Y กว่าจะมีที่ยืนบนบรรณพิภพนี้ ต้องโดนมาเยอะเจ็บมาเยอะ เผชิญกับอะไรบ้าง เช่นเดียวกับตัวตน LGBTQ มักถูกผลักไสไล่ส่งออกจากพื้นที่สาธารณะ เช่นเหตุการณ์ความรุนแรงขัดขวางขบวนพาเหรดเกย์ไพรด์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2552 ที่เชียงใหม่ จนมี LGBTQ บาดเจ็บหลายคน แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 ที่เพิ่งผ่านนี้ เกย์พาเหรดที่เชียงใหม่จัดรำลึกเหตุการณ์ความรุนแรง ก็ไม่ถูกเข้าปิดล้อมด้วยรถบรรทุกขนเครื่องขยายเสียง ป้ายต่อต้าน หรือมาปาอิฐ ใส่นักกิจกรรม เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน
และแม้ว่างานสัปดาห์หนังสือฤดูร้อนปีนี้ ตามคู่มือผู้ออกบูธ มีข้อปฏิบัติว่า
“ผู้ร่วมออกงานจะต้องไม่นำหนังสือหรือสื่อใดๆ ที่ส่อไปในทางลามก อนาจาร หรือส่งเสริมความรุนแรง หรือขัดต่อศีลธรรมอันดี ตลอดจนหนังสือที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือหนังสือที่ได้มาอย่างไม่ถูกกฎหมาย ไปจำหน่ายภายในงาน หากปรากฎพบว่ามีหนังสือหรือสื่อดังกล่าวภายในบูธของท่าน สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะนำหนังสือหรือสื่อดังกล่าว ออกจากอาคารแสดงสินค้าหรือให้ปิดบูธได้ทันที” [10]
ซึ่งในคู่มือเน้นอย่างอลังการทั้ง font ตัวหนา และล้อมกรอบไว้ชัดเจน
แต่ในโฆษณางานสัปดาห์หนังสือวันเสาร์ที่ 2 มีนาที่ผ่านมาเฟซบุ๊ก Book Thai ของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ก็ได้ออกโปสเตอร์เป็นรูปปั้นกรีก 2 หนุ่มตระกองกอดกันเป็นเสี้ยวรูปหัวใจสีม่วงอ่อน ไปพร้อมกับอ่านหนังสือที่ปกเป็นรูปตัว Y พร้อม caption “วันเสาร์… เรารักนายว่ะ !!”
ถือได้ว่าเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับ ชาว Y และ LGBTQ เพราะเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของพัฒนาการวัฒนธรรมการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสือ ที่ทำให้ ‘หนังสือ Y’ เป็นส่วนหนึ่งงานสัปดาห์หนังสืออย่างสง่าผ่าเผย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[2] ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่. (2551). He และ She หนังสือรวมเรื่องสั้นชายรักชายและหญิงรักหญิงที่สันติบาลห้ามขาย, อ้างถึงใน www.sapaan.org
[3] ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่. (2551). He และ She หนังสือรวมเรื่องสั้นชายรักชายและหญิงรักหญิงที่สันติบาลห้ามขาย, www.sapaan.org
[4] ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. สงครามชิงทำเนียบ. วารสารอ่าน ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (ตุลาคม-ธันวาคม 2551), น. 31.
[5] ธนาพล ลิ่มปิชาต, วริศา กิตติคุณเสรี. ประวัติศาสตร์และการเมืองของวาทกรรม “หนังสือดี”. วารสารอ่าน ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (ตุลาคม-ธันวาคม 2551), น.40, 60.
[6] ณิชชารีย์ เลิศวิชญโรจน์. หัวใจวาย. กรุงเทพ: Bunbooks, 2560, น. 25.
[7] ณิชชารีย์ เลิศวิชญโรจน์. หัวใจวาย. กรุงเทพ: Bunbooks, 2560, น. 73-74.
[8] แมงหนังสือ. วรรณกรรมเกย์…เล่มแรก, ฟรีสไตล์ ใน นีออน ฉบับที่ 42 (เมษายน 2532), น. 101-102.
[9] เปิดกรุวรรณกรรมเกย์ ฉากชีวิตจริงที่ไม่ใช่ตัวละคร, นีออน ปีที่ 9 ฉบับที่ 99 (2538), น. 19-22.
[10] คณะกรรมการจัดงานฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย. คู่มือผู้ออกบูธ. 20 กุมภาพันธ์ 2562.