คนไทยมาจากไหน? เป็นอะไรที่มีคนถาม พร้อมๆ กับที่มีคนพยายามจะตอบกันมานานแล้วนะครับ
บ้างก็ว่ามาจากทางตอนใต้ของจีน ที่แถบๆ มณฑลกว่างซี หรือมณฑลหยุนหนาน (ที่ชอบออกเสียง และสะกดในสำเนียงไท้ยไทยสิ้นดีว่า มณฑลกวางสี และมณฑลยูนนาน) ในปัจจุบัน และบ้างก็ว่าคนไทยมาไกลจากเทือกเขาอัลไต แถบๆ รอยต่อของเขตไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย, ประเทศมองโกเลีย, ประเทศคาซัคสถาน และมณฑลซินเจียง ของประเทศจีน โน่นเลย
แต่เอาเข้าจริงแล้ว ใครบางคนก็ตั้งคำถามย้อนกลับไปให้ฉุกคิดด้วยว่า ทำไมคนไทยต้องอพยพมาจากที่ไหน? เพราะคนไทยอาจจะไม่เคยอพยพมาจากที่อื่นเลยก็ได้นี่ครับ
เออ นั่นสิ! แล้วทำไมคนไทยต้องมาจากที่อื่นด้วยล่ะ?
ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นคนเริ่มต้นตั้งคำถามที่ว่านี้เป็นคนแรก เพียงแต่รู้สึกตะหงุดตะหงิดอยู่ในใจแบบถี่ๆ อยู่ว่า คนที่เริ่มต้นตั้งคำถามนี้ อาจจะไม่ใช่คนไทยหรือเปล่า?
แต่ก็อย่างที่บอกนะครับว่า เอาเข้าจริงแล้ว ผมก็ไม่รู้หรอกว่าคนแรกที่ตั้งคำถามนี้เป็นใครกัน? และก็ไม่รู้ด้วยว่าจะรู้ไปทำไมว่าใครถามเป็นคนแรก? แต่ที่น่าสังเกตก็คือ มันมีชุดคำถามทำนองนี้อยู่บ้างแล้ว ในเอกสารของชาวต่างชาติที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งอาณาจักรแห่งนี้ยังคงรุ่งเรืองอยู่ เอกสารฉบับที่ผมว่าก็คือ ‘จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม’
ซิมง เดอ ลา ลูแบร์ เป็นราชฑูตชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี กับกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2230 (คือเฉียดๆ 330 ปีที่แล้ว) ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ แห่งอยุธยา แต่ลา ลูแบร์ ไม่ได้มาเจริญสัมพันธไมตรีให้กับนายหัวของเขา (คือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส ผู้สร้างพระราชวังสุดฟรุ้งฟริ้งอย่าง พระราชวังแวร์ซาย) แค่เพียงเฉยๆ เท่านั้น เพราะราชฑูตคนนี้ยังได้จดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ราชอาณาจักรสยาม’ ไว้อย่างละเอียดลอออีกด้วย โดยเรื่องหนึ่งที่เขาได้จดบันทึกเอาไว้ก็คือเรื่อง ‘คนไทย’ นี่แหละ
ลา ลูแบร์ เริ่มต้นเรื่องนี้ด้วยการกล่าวถึงคำว่า ‘สยาม’ ซึ่งชาวยุโรปในยุคกระโน้น นำโดยพวกโปรตุเกส ใช้เรียก ‘อยุธยา’ และผู้คนในอยุธยาว่า ‘ชาวสยาม’ แต่คำสยามที่ว่า กลับไม่เป็นที่รู้จักของผู้คนในอยุธยา เพราะคนอยุธยาเรียกตนเองว่า ‘ไทย’ และหลายครั้งก็เรียก ‘อยุธยา’ ว่า ‘เมืองไทย’ ต่างหาก
งงกันไปทั้งบางสิครับทีนี้ เพราะถ้าแม้กระทั่งคนอยุธยาเองยังไม่รู้จักคำว่า ‘สยาม’ แล้วพวกฝรั่งที่เข้ามาก่อน ลา ลูแบร์ นั้นจะไปเอาคำที่ว่านี่มาจากไหนกัน?
เรื่องนี้มันมีที่มาที่ไปอยู่นะครับ ไม่ใช่ว่าฝรั่งเขาจะมโนขึ้นมาเองกันดื้อๆ อย่างน้อยราชฑูตคนนี้ก็อธิบายต่อไปว่า จากการค้นคว้าของเขาก็บอกได้ว่า คำว่า ‘สยาม’ มาจากคำว่า ‘เสียน’ อันเป็นคำที่ชาวจีนใช้เรียกเมืองไทย
ข้อเสนอที่ว่านี่น่าสนใจทีเดียว เพราะในเอกสารโบราณของจีน จะเรียกไทยว่า ‘เสียน’ อยู่บ่อยๆ เลย แถมยังไม่ได้เรียกอย่างนี้อยู่พวกเดียวอีกต่างหาก แต่ยังเผื่อแผ่ให้ชาวเขมร เรียกเราว่า ‘สยาม’ ตามอย่างจีนไปอีกด้วย
พยานปากเอกของกรณีนี้ก็คือ จารึกประกอบรูปขบวนของชาวสยาม ที่ปราสาทนครวัด เมื่อราว พ.ศ.1750 และที่เรารู้ว่าขบวนทัพนี้เป็นชาวสยามแน่ๆ ไม่ใช่ใครอื่นก็เพราะ คำจารึกสั้นๆ นี้เขียนสลักกำกับลงไปที่ขบวนทัพว่า ‘เนะ สยำกุก’
คำว่า ‘เนะ’ ก็คือ ‘นี่’ ส่วน ‘สยำ’ ก็คือ ‘สยาม’ หรือที่ออกเสียงตามสำเนียงจีนว่า ‘เสียน’ นั่นแหละ จากนั้นจึงตบท้ายด้วยคำว่า ‘กุก’ ที่เอามาจากภาษาจีนเหมือนกันคือ ‘ก๊ก’ ที่แปลว่า ‘กลุ่ม’ ดังนั้นจึงแปลรวมกันง่ายๆ ได้ใจความว่า ‘นี่ กลุ่มสยาม’ แล้วพวกสยามที่ว่านี้จะเป็นใครไปได้ล่ะครับ นอกจากคนไทย?
ดังนั้นการที่คนอยุธยาจะไม่รู้จักคำว่า ‘สยาม’ ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรสักหน่อย ทุกวันนี้พวกฝรั่งเอง ก็ไม่รู้หรอกว่าคนไทยเรียกพวกเขาว่า ฝรั่ง (และคงจะงงๆ ด้วยซ้ำว่าทำไมเราเรียกเขาแบบนั้น?) เช่นเดียวกับที่ชาวเขมร เขาก็ไม่ชินที่จะมีใครไปเรียกเขาว่าพวกขอม (เอ่อ ‘ขอม’ ก็คือชาว ‘เขมร’ นั่นแหละนะ เอกสารเก่าของฝั่งไทยเรียกชาวเขมรว่า ขอม มานานแล้ว เพิ่งมาถูกอ้างว่าเป็นคนละพวกกัน ก็ตอนเราทะเลาะกันเรื่องปราสาทพระวิหาร สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ขึ้นศาลโลกเมื่อ พ.ศ. 2505 นี่เอง) เพราะเขาไม่ได้เรียกตัวเองว่าอย่างนั้น และอันที่จริงแล้วเขาก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่า เขมร ด้วยซ้ำ เพราะเขาเรียกตัวเองว่า ขแมร์ ต่างหาก
คนอยุธยาเองก็คงไม่แตกต่างกันนัก คนอื่นเรียกพวกเขาว่า ‘ชาวสยาม’ แต่พวกเขาเรียกตนเองว่า ‘คนไทย’ เรื่องก็มีอยู่เท่านั้นแหละ!
แต่ราชฑูต ลา ลูแบร์ ยังอธิบายเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า คนไทย มีด้วยกันอยู่สองจำพวก คือ ไทยใหญ่ กับไทยน้อย (เขียนคำว่า ‘ไทย’ มี ‘ย’ ตามต้นฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยโดย สันต์ ท. โกมลบุตร)
‘ไทยใหญ่’ นั้น ลา ลูแบร์ อธิบายเอาไว้ว่า ตั้งสำนักหลักแหล่งอยู่ตามภูเขาทางภาคเหนือ ซึ่งไม่ได้หมายถึงทางภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน อย่างล้านนาประเทศนะครับ แต่พวกไทยใหญ่จะอาศัยอยู่ตามลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งอยู่ในเขตรัฐฉาน ส่วนหนึ่งของประเทศพม่าในปัจจุบัน ที่มีปัญหาการแบ่งแยกดินแดนอยู่โน่นเลย
ส่วน ‘ไทยน้อย’ ถึง ลา ลูแบร์ จะไม่ได้กล่าวอธิบายอะไรเพิ่มเติมเลยก็ตาม แต่ก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า ไทยน้อย กระจายตัวอยู่ตามแม่น้ำโขง และมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว มาตั้งแต่เก่าก่อน
ที่สำคัญก็คือ ลา ลูแบร์ ให้การว่า ‘คนอยุธยา’ ถือว่าพวกตนเองเป็น ‘ไทยน้อย’
อันที่จริงก็เดาได้ไม่ยากหรอกนะครับ ว่าคนอยุธยาจะบอกว่าตนเองเป็น ‘ไทยน้อย’ ซึ่งก็คือ ‘ลาว’ นั่นแหละ เพราะลักษณะทางวัฒนธรรมหลายๆ อย่าง ไทยสยามเราใกล้ชิดกับไทยน้อย มากกว่าไทยใหญ่อยู่มากเลยทีเดียว แต่แน่นอนว่าต้องมีลักษณะที่แตกต่างกันอยู่ด้วย เพราะไม่มีอะไรบนโลกใบนี้ที่เหมือนกันไปทุกกระเบียด และตัวอย่างของความต่างอย่างหนึ่งระหว่าง คนไทยที่อยุธยา กับไทยน้อย ก็คือความหมายของคำว่า ‘ไทย’ นี่เอง
ราชฑูต ลา ลูแบร์ เจ้าเก่า ย้ำนักย้ำหนาอยู่ในจดหมายเหตุเล่มเดิมว่า ชาวสยามเรียกตนเองว่า ‘ไทย’ แปลว่า ‘อิสระ’ แต่ถ้าหากคนไทยในอยุธยา ถือว่าตนเองเป็นไทยน้อยแล้ว คำว่าไทย ก็ไม่ควรจะแปลว่าอิสระ
ทั้งพวกไทยน้อย และไทยใหญ่ เขียนคำว่าไทย ไม่มี ‘ย’ สะกดแบบไทยสยามที่อยุธยา และเรื่อยมาจนถึงกรุงเทพฯ คำว่า ‘ไท’ ของพวกเขาแปลว่า ‘คน’ ไม่เห็นเกี่ยวกับ ‘อิสระ’ ที่ตรงไหน?
ถ้าคนไทยในอยุธยา เป็น ‘ไทน้อย’ กลุ่มหนึ่ง ก็จะเป็นพวกไทน้อยที่ติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็น เขมร มอญ พม่า แขก พราหมณ์ ฝรั่ง และอื่นๆ อีกมากมายเสียให้เพียบ ในบรรดาชนต่างด้าวเหล่านี้ คนอยุธยาถือว่าพวกอินเดียเป็นครู และถือว่าภาษาในศาสนาทั้ง บาลี และสันสกฤต เป็นภาษาของบัณฑิต คือเป็นภาษาชั้นสูง
คำว่า ‘ไท’ เป็นภาษาพื้นเมือง มันจึงไม่ชิค ไม่เก๋ อีกต่อไป ต้องลากเข้าบาลีด้วยการเติม ‘ย’ ที่ท้ายคำจะได้แปลว่า ‘อิสระ’ ฮิปๆ สวยๆ ดูมีอารยะขึ้นมากกว่าเก่า จนความหมายมันเคลื่อนไปจากเดิมนั่นเอง
ถ้านึกอย่างนี้แล้ว ‘ความเป็นไทย’ ก็พัฒนาขึ้นจาก ‘ความเป็นไท’ (ที่ต่อมาจะแตกแขนงขึ้นอีกสายกลายเป็น ลาว) ดังนั้นคนไทยจึงไม่จำเป็นต้องมาจากที่ไหน แต่เคลื่อนย้ายหมุนเวียน ผสมผสานกับคนหมู่นู้น เหล่านี้กันไป จนกลายเป็น ‘ไทย’ นั่นแหละ เสียเวลาจะไปหาว่าคนไทยมาจากไหน? แล้วก็ไม่รู้ว่าถ้าหาเจอแล้วจะมีประโยชน์อะไรด้วย?