(1)
ในเช้าวันจันทร์ที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกของออสเตรเลีย ที่หนังสือพิมพ์ทั้งระดับชาติไปจนถึงระดับท้องถิ่นนับ 10 ฉบับ ยินยอมพร้อมใจ ‘เซ็นเซอร์’ หน้าหนึ่งของตัวเอง ด้วยการใช้แถบสีดำคาดปิดหน้าหนึ่ง โดยไม่มีเนื้อหาอะไร นอกจากคำว่า “When government keeps up the truth from you, what are they covering up” หรือ “เมื่อรัฐบาลเอาความจริงไปจากคุณ พวกเขากำลังซ่อนเร้นอะไรไว้อยู่?”
ไม่เพียงเท่านั้น การประท้วงยังขยายไปถึงสื่อทีวี เน็ตเวิร์กสำคัญในออสเตรเลีย ซึ่งล้วนออนแอร์โฆษณาสั้นแบบเดียวกัน รวมแล้วทั้งหมด 19 สำนักข่าว ภายใต้แคมเปญ “Your Right To Know” เพื่อรวมตัวกัน ‘คัดค้าน’ รัฐบาล หลังจากพยายามใช้กฎหมายปกป้องตัวเองไม่ให้สื่อมวลชนเข้าถึงข้อมูลที่ ‘อ่อนไหว’ ไปจนถึงการพยายามจำกัดเสรีภาพสื่อ และยกระดับกฎหมาย ‘หมิ่นประมาท’ เพื่อให้สื่อมวลชนหวาดกลัว ไม่กล้ารายงานข้อมูลข่าวสารที่อาจจะกระทบกับบุคคลอื่น
ทั้งหมดนี้ อาจจะเป็นมาตรการที่ในบ้านเรา หรือประเทศอื่นๆ ในเอเชียคุ้นเคย แต่สำหรับในออสเตรเลีย ถือเป็นเรื่องใหม่มาก เพราะคนออสซี่ยังให้เกียรติสื่อ ยังให้เครดิตสื่อสูงกว่านักการเมือง สูงกว่าข้าราชการ เพราะถือว่ามีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ—ถ่วงดุล กลไกประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน การทำงานของสื่อก็ถูกตรวจสอบอย่างหนักจากสาธารณชนเช่นกัน ทำให้สื่อออสเตรเลีย มีมาตรฐานสูง เสรีภาพสื่อก็อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก (21 ของโลก ขณะที่ไทย อยู่ในอันดับที่ 136) จากการจัดอันดับขององค์กร Reporter without Borders
(2)
ที่น่าสนใจก็คือ ในออสเตรเลียนั้น ‘นักข่าว’ มักจะลาออกจากอาชีพเพื่อไปเป็น ‘นักการเมือง’ ทั้งระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติในเวลาต่อมา อย่าง มัลคอร์ม เทิร์นบูล (Malcolm Turnbull) นายกรัฐมนตรีคนที่แล้ว เคยเป็นนักข่าวการเมืองให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับ โทนี่ แอบบอตต์ (Tony Abbott) นายกรัฐมนตรี คนก่อนหน้ามัลคอร์มก็เคยเป็นนักข่าวให้หนังสือพิมพ์ The Australian ก่อนจะเขยิบมาลงเลือกตั้ง เช่นเดียวกับนักการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนได้ชัดว่า ‘เครดิต’ ของนักข่าวและสื่อสารมวลชนนั้น น่าเชื่อถือเพียงใดในสายตาสาธารณชน
ในช่วงหลัง ในขณะที่สื่อทั่วโลก สนใจเรื่อง Fake News และการพยายามเข้ามายุ่มย่ามกับสื่อของนักการเมือง ผ่านวิธีการแทรกแซงด้วยอัลกอลิทึม สื่อหลักในออสเตรเลียซึ่งแม้จะอยู่ภายใต้ 2 เครือใหญ่ ได้แก่ เครือ News Corp และกลุ่ม Nine ก็พยายามแยกการบริหารจัดการข่าวหนังสือพิมพ์ ข่าวทีวี และข่าวออนไลน์ ออกจากเรื่องกระแส เรื่องดราม่าในโซเชียลมีเดียโดยสิ้นเชิง เพื่อยืนยันความเป็นสื่อหลัก และหาพื้นที่ให้หนังสือพิมพ์และทีวียังคงอยู่รอด ในยุคที่การแข่งขันของสื่อสูงลิ่ว ตรงกันข้ามกับเม็ดเงินโฆษณายอดคนซื้อที่ลดลง
แต่ทั้งหมดนี้ก็ฝืนกระแสไม่ไหว ออสเตรเลียปลดนักข่าวไปไม่น้อยในปีที่แล้วและในปีนี้ โดยอ้างเหตุผลของการ ‘ปรับโครงสร้าง’ เช่นเดียวกับองค์กรสื่อหลายแห่งทั่วโลก โชคดีที่สื่อหลักยังมี ‘บุญเก่า’ อยู่บ้าง เช่นหนังสือพิมพ์ยังคงมีนักข่าวเก๋าๆ ที่ตรวจสอบทุกรัฐบาล มีแหล่งข่าวที่หลากหลาย ทำให้ได้ข่าวที่ลึกกว่า และในเช้าวันเสาร์ – อาทิตย์ ที่มีแมตช์กีฬาสำคัญ คนออสซี่ก็ยังต้องซื้อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นประจำเมือง ติดไม้ติดมือไปดูการแข่งกีฬาด้วย เพราะหนังสือพิมพ์ยังคงมีเนื้อหาเอ็กซ์คลูซีฟสำหรับคอกีฬา เพื่อบังคับให้คนกลุ่มนี้ต้องซื้อต่อไป
(3)
ปัญหาก็คือ รัฐบาลออสเตรเลียเองไม่ได้ต่างอะไรกับรัฐบาลทั่วโลก ในห้วงเวลาที่สื่ออ่อนแอ เลย์ออฟพนักงานปีละหลายครั้ง ขณะเดียวกันยอดขาย – ยอดคนดู – ยอดโฆษณาก็ตกลงทุกปี หน่วยงานรัฐก็ต้องหาทางอื่นเพื่อเข้าไปบริหารจัดการองค์กรสื่อมากขึ้น แบบเดียวกับประเทศแถวนี้ที่องค์กรรัฐหว่านเงินโฆษณาหรือเงินจัดอีเวนต์ลงไปให้สื่อเพื่อแลกกับการที่สื่อจะวิพากษ์รัฐน้อยลง
แต่สิ่งที่สื่อออสเตรเลียรับไม่ได้อย่างรุนแรงก็คือการพยายามใช้กฎหมาย ‘เล่นงาน’ สื่อที่เป็นผู้เปิดโปงการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ฝ่ายความมั่นคง’ หลังตำรวจใช้กำลังบุกค้นออฟฟิศของกลุ่ม News Corp รวมถึงบ้านนักข่าวที่รายงานข่าวเรื่องนี้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
หรือการพยายามใช้กฎหมายความมั่นคง ระงับยับยั้งไม่ให้สื่อเปิดข้อมูลใหม่ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ ‘สอดแนม’ ประชาชนออสเตรเลีย ข้อมูลใหม่เรื่องการส่งกองกำลังไปช่วยรบในอัฟกานิสถานและติมอร์ หลังคนในหน่วยงานรัฐปล่อยเอกสารให้นักข่าว รวมถึงใช้กฎหมายความมั่นคงเล่นงานไปยังนักข่าวผู้ที่รายงานเรื่องนี้รวมถึงทนายที่ดูแล
ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 11 ก.ย. ค.ศ. 2001 กฎหมายความมั่นคงผ่านรัฐสภาออสเตรเลียมากถึง 60 ฉบับ เดวิด แอนเดอร์สัน (David Anderson) ผู้บริหารของสำนักข่าวแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian Broadcasting Corpotation) ระบุว่า ออสเตรเลียอาจเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มี ‘ความลับ’ มากที่สุดในโลก ทว่าก่อนหน้านี้กฎหมายต่างๆ ก็ยังไม่เคยถูกใช้ ‘ปิดปาก’ สื่อ แต่เพิ่งจะเกิดขึ้นในระยะ 1-2 ปีมานี้เองที่รัฐบาลหันขวา มากขึ้น และใช้มาตรการทางกฎหมายด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคง และความสงบในการควบคุมสื่อให้อยู่ในโอวาทของรัฐบาล
เพราะรู้ดีว่าสามารถใช้กฎหมายเหล่านี้เป็น ‘อำนาจต่อรอง’
ในการจัดการสื่อให้อยู่ในระเบียบ อย่างที่ตัวเองอยากให้เป็นได้
นั่นทำให้สื่อออสเตรเลีย รวมตัวเป็นกลุ่ม ‘ภาคี Australian Right to Know’ หรือกลุ่ม ‘สิทธิที่จะรับรู้ของคนออสเตรเลีย’ โดยเปิดตัวด้วยการเซ็นเซอร์หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ และหาแนวร่วมในสื่อทีวี สื่อออนไลน์ เพื่อโปรโมตเสรีภาพในการแสดงออก คัดค้านการใช้กฎหมายปิดปากสื่อของรัฐบาล คัดค้านการออกหมายค้นสื่อมวลชนเพื่อป้องกันการบุกรุกออฟฟิศ – บุกรุกบ้านสื่ออีก และปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองสื่อ คุ้มครองผู้เปิดโปงข้อมูล ไปจนถึงการสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าเอกสารใดสามารถระบุให้เป็นเอกสารลับได้
เพราะในระยะหลัง เอกสารลับ ไม่ได้อยู่ในมิติของความมั่นคงเท่านั้น แต่รัฐราชการยังสยายปีกไปยังเรื่องอื่นๆ ที่เห็นได้ชัดคือเมื่อรายการทีวี Four Corners รายงานว่ามีการละเมิดสิทธิ์ ทำร้ายผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราหลายแห่งทั่วออสเตรเลีย แต่พอโปรดิวเซอร์รายการทำเรื่องขอตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่เป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลีย กระทรวงฯ กลับปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลตัวเลขทั้งหมด โดยระบุว่าเป็นข้อมูลลับ
และแม้ออสเตรเลีย จะมีกฎหมายที่บังคับให้หน่วยงานรัฐต้องเปิดข้อมูลข่าวสาร แต่รายงานจาก The Guardian กลับพบว่า ระยะหลัง ‘delaying tactic’ ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ที่เห็นได้ชัดก็คือคำร้องให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐมากกว่า 2,000 ฉบับ ต้องใช้ระยะเวลานานกว่ากระบวนการทั่วไปถึง 3 เดือน
นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว นักข่าวพยายามขอเรื่องง่ายๆ อย่างเมนูอาหารกลางวันของรัฐสภาออสเตรเลีย แต่กลับถูกปฏิเสธเพราะหน่วยงาน ‘รัฐสภา’ ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายข้อมูลข่าวสาร และเมื่อได้รับอนุญาตให้ดูเมนูอาหาร ก็มีคำขอมาอีกว่า ‘ห้ามตีพิมพ์’ และ ‘ห้ามเผยแพร่’ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะต้องปกปิด
(4)
การเติบโตของผู้นำอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จทั่วโลก ความหวาดกลัวภัยก่อการร้าย ปัญหาผู้อพยพ และความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ผู้นำขวา มีอำนาจอย่างสูง และผลกระทบจากผู้นำขวาก็คือ เสรีภาพของสื่อมวลชนทั่วโลกถูกลดทอนไปอย่างน่าใจหาย
ตัวเลขล่าสุดขององค์กร Reporters without Borders ในปี ค.ศ. 2019 พบว่าเสรีภาพสื่อทั่วโลกอยู่ในสภาวะถดถอย เพียงแค่ 24% เท่านั้น มีเสรีภาพอยู่ในระดับ ‘ดี’ ลดจากปีที่แล้ว 2% ประเทศที่เคยเป็นผู้นำด้านเสรีภาพสื่อ—เสรีภาพการแสดงออก อย่างสหรัฐอเมริกาก็อันดับร่วงอย่างหนัก ทั้งจากท่าทีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ตำหนิสื่อต่างกรรมต่างวาระ ทั้งขู่ใช้กฎหมายเล่นงาน ทั้งโจมตีไปยังเจ้าของสื่อ ความเปราะบางของสถานะทางเศรษฐกิจยังทำให้สื่อทั่วโลกตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน คือลดความเข้มข้นของการวิพากษ์วิจารณ์ การตรวจสอบ เพื่อลดจำนวนศัตรูทำให้สื่ออยู่รอดได้ง่ายขึ้น
การประกาศสู้กลับของสื่อออสเตรเลีย
จึงเป็นโมเดลที่สื่อมวลชนทั่วโลกกำลังจับตามอง
เพราะในประเทศประชาธิปไตยที่กำลังเปลี่ยนไปสู่ประเทศผู้นำอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จนั้น ไม่มีอำนาจใดที่จะตรวจสอบผู้นำเหล่านี้ได้ดีเท่ากับสื่อมวลชน และในเวลาที่ fake news กำลังระบาด กลายเป็น ‘ผีร้าย’ ใหม่ของระบบการเมืองทั่วโลกก็ไม่มีใครที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล – ความจริงได้ดีเท่ากับสื่อมวลชนอีกเช่นกัน
แต่ก็ใช่ว่าทุกประเทศจะสามารถสู้กลับได้เหมือนออสเตรเลีย บางประเทศสื่อมวลชนไม่เหลือเครดิตแล้ว จากการไปเป็นเครื่องมือรับใช้การเมือง หรือบางสื่อก็อ่อนปวกเปียกอยู่ใต้อิทธิพลของทุนใหญ่จากฟากโฆษณามากเกินไป พอรัฐว่าอะไร ขู่จะทำอะไรก็กลัวหัวหด การสู้กลับจึงอาจเห็นได้น้อย หรือเราอาจไม่ได้เห็นเลยในประเทศแถวๆ นี้
แต่สิ่งสำคัญที่ต้องย้ำก็คือ หากสื่อไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก ในการวิพากษ์วิจารณ์ หรือทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาแล้ว สื่อก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ กับโลกอีกต่อไป ไม่ว่าจะในวันนี้ หรือในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้าก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก