หนึ่งในข้อแตกต่างของมนุษย์จากสัตว์คือ มี sex ได้ทุกฤดูกาลไม่ต้องรอถึงฤดูผสมพันธุ์ และไม่ได้มีเพศสัมพันธ์เพื่อสืบเผ่าพันธุ์ตามสัญชาตญาณเท่านั้น มนุษย์จึงมีเหตุผลร้อยแปดในการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งแสดงออกถึงความรัก ค้าขายแลกเปลี่ยน สร้างเครือข่าย กระชับมิตร เพื่อความหรรษา บันเทิง แก้เครียด แก้คัน
Sex รูปแบบต่างๆ จึงถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ทั่วทุกมุมโลก แบบเดี่ยวแบบหมู่สามัคคีชุมนุม หกคะเมนตีลังกา คน สัตว์ สิ่งของ สสารของแข็งของเหลว
…ใช่ สัตว์ ด้วย ไม่ต้องตกใจ
เพราะการร่วมเพศกับสัตว์เป็นส่วนหนึ่งวัฒนธรรมทั้งที่ไม่ซับซ้อน เช่นพื้นที่ในจังหวัด Bohuslän ประเทศ Sweden มีการค้นพบจินตกรรมบนหินในยุคสำริด รูปมนุษย์ผู้ชายกำลังสอดใส่อวัยวะเพศใต้หางของสัตว์สี่เท้าขนาดใหญ่ แต่ระบุไม่ได้ว่าสัตว์อะไรเพราะข้อจำกัดทางเทคนิคศิลปะยุคนั้น[1] และวัฒนธรรมสลับซับซ้อนเช่นสังคมยุคคลาสสิค ก็มีปกรณัมกรีกที่เล่าเรื่อง มนุษย์ลีดา (Leda) ธิดาเจ้าเมืองเธสพิอัส และเป็นมเหสีของทินดาริอุส (Tyndareus) เจ้าเมืองสปาร์ต้าได้กับเทพเจ้าซุส (Zeus) ที่แปลงกายมาในร่างของหงส์ จนนางออกลูกเป็นไข่ไม่ใช่ตัว[2] เช่นเดียวกับ ตำนาน ปกรณัมวรรณกรรมต่างๆ ทั่วโลก ที่การร่วมเพศกับสัตว์มักเกิดขึ้นได้ เช่น ‘One Thousand and One Nights’ วรรณกรรมคลาสสิคตะวันออกกลางที่เรารู้จักกันในนาม ‘นิทราชาคริต’ หรือ ‘พันหนึ่งราตรี’ ก็กล่าวถึง หญิงสาวร่วมเพศกับลิง[3] หรือรามเกียรติ์ที่ดัดแปลงมาจาก Ramayana ที่ เทวดา นางฟ้า ยักษ์ ลิง มนุษย์ เงือก ช้าง มังกร นาค ปลา สามารถมีบทอัศจรรย์ปะปนกันอย่างโฉ่งฉ่าง
โรงละครโรมันเองที่มักแสดงเรื่องราวนิทานปกรณัมต่างๆ จึงมี love scene ระหว่างคนกับสัตว์ปรากฏบนเวทีบางครั้งบางคราว และจากเอกสารโบราณในกรุงโรม ก็มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งมักร่วมเพศกับหมี งู และจระเข้ ซึ่งเอกสารกล่าวว่า ในการร่วมเพศกับงูนั้น ผู้หญิงจะยัดงูลงไปในอวัยวะเพศ ดูดหัวนม ขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมการละเล่นที่ผู้หญิงจะมาร่วมเพศกับสัตว์เพศผู้ที่ถูกฝึกไว้ให้เชื่องพอและสามารถร่วมเพศกับมนุษย์ผู้หญิงได้ เช่น หมา เสือดาว ลิง ยีราฟ ซึ่งสถานที่มักตกแต่งเลียนแบบวิมานของเทพเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำลองฉากเทพี Pasiphaë ร่วมเพศกับวัวตัวผู้ แน่นอนมีการบันทึกด้วยว่า พวกเธอก็ถูกสัตว์ทำอันตรายบ้าง โดยเฉพาะเด็กหญิง[4]
ชาวกรุงศรีอยุธยาและราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็ไม่น้อยหน้า จากคำให้การชาวกรุงเก่า (ฉบับหลวงจากพม่า) ‘พระร่วง’ ก็เป็นลูกที่เกิดจากพระเจ้าจันทราชาผู้สร้างเมืองสุโขทัยกับนางนาค เรื่องมันมีอยู่ว่าทั้งคู่ไปพบรักและได้กัน ขณะฝ่ายชายท่องป่า เสร็จกิจต่างคนก็แยกย้าย นางนาคเลื้อยกลับบาดาล เมื่อนางตั้งครรภ์จึงแอบมาตกฟองที่ไร่อ้อยของตายายแก่ๆ คู่หนึ่ง 2 ตายายเห็นประหลาดจึงเก็บรักษาเอาไว้ที่บ้าน เมื่อฟองไข่แตกออกเป็นเด็กชายน่าเอ็นดูจึงเลี้ยงไว้เป็นลูกบุญธรรม จวบเมื่อเด็กนั่นโตขึ้น 15 ปี หน้าตางดงาม มีวาจาสิทธิ์ และอานุภาพมหาศาล เรียกชื่อว่าจนเลื่องลือไปถึงหูพระเจ้าจันทราชา พระราชาจึงเรียกตายาย ถามไถ่ประวัติของพระร่วงก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าต้องเป็นลูกของตนกับนางนาคแน่นอน จึงรับพระร่วงมาอยู่ด้วย[5]
ตำนานนี้ต่างไปจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่ ‘พญาร่วง’ เจ้าเมืองสุโขทัย เป็นลูกของผีเสื้อชื่อ ‘กังลี’ กับนายพราน[6] ขณะเดียวกันพระราชพงศาวดารเหนือก็บอกว่า เป็นลูกนางนาคกับเจ้าเมืองหริภุญไชย[7]
เมื่อเชื่อว่ามนุษย์สามารถเกิดจากการปฏิสนธิระหว่างคนด้วยกันหรือระหว่างสัตว์ก็ได้ ประเภทของสัตว์ที่คนจะร่วมเพศด้วยในเรื่องเล่าก็มักเป็นสัตว์ที่หาพบได้ตามบริบท ภูมิประเทศ แต่ละท้องที่ เช่น เรื่องของคนที่สามารถได้กับจระเข้ใต้น้ำก็มักเป็นนิทานวรรณกรรมท้องถิ่นที่ใกล้แม่น้ำลำคลอง เช่นเรื่องไกรทอง ชาลวันคำกาพย์[8] หรือนิทานท้องถิ่นเล่าว่า มีหญิงชาวไร่ตั้งครรภ์เพราะกินน้ำในรอยเท้าช้างด้วยความหิว โดยไม่รู้ว่าน้ำนั้นผสมฉี่ช้างด้วย เมื่อคลอดลูกชาย ลูกชายจึงพยายามตามหาพ่อตนเองจนรู้ว่าพ่อคือพญาช้างฉัททันต์ จากนั้นจึงรับพ่อมาอยู่ด้วยกัน เป็นครอบครัวคนกับช้าง พ่อ แม่ ลูก[9]
อย่างไรก็ตาม เราก็โตพอจนจะไม่เชื่อว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง เป็นแต่เพียงจินตนาการหรือนิทานที่สร้างความชอบธรรมให้นักปกครองยุคเก่าว่ามี บุญญาธิการ กฤษดาภินิหารอันบดบังมิได้ น่าเคารพยำเกรง เหมาะแก่การปกครองไพร่ทาส นิทานหลายเรื่องที่ว่าด้วยชนชั้นปกครองแต่งงานกับสัตว์จึงมาพร้อมกับการสร้างบ้านแปงเมือง เช่นตำนานอาณาจักรในลุ่มแม่น้ำโขง ‘พระทองนางนาค’ ที่พระทองแต่งงานกับนางนาคชื่อ นางทาวดีกุมารี แล้วให้พระยานาคเนรมิตปราสาทราชธานีให้ปกครอง[10] หรือเรื่องสัตว์ประเภทกวางตัวเมียหิวน้ำ เผลอไปกินชิ้งฉ่องฤๅษีวาสุเทพที่บำเพ็ญเพียรบนดอยอุจฉุบรรพต ซึ่งในน้ำฉี่ดันมีน้ำอสุจิฤๅษีปนไปด้วย ทำให้นางเนื้อตั้งครรภ์คลอดลูกเป็นมนุษย์ 2 คน ชายหญิง ฤๅษีจึงสร้างเมืองมิคสังกรให้ปกครองและดำรงเผ่าพันธุ์กันเอง[11]
และในโลกปัจจุบัน เพศวิถีแบบนี้ที่เรียกว่า bestiality หรือ zoophilia นี้ ก็ยังขัดต่อศีลธรรม กฎหมายที่ห้ามและเป็นอาชญากรรมมาตั้งแต่ยุคกลางหลังกรีกโรมัน และเมื่อมีสำนึกสมัยใหม่ที่การคุ้มครองสัตว์ ไม่ทารุณสัตว์และสุขอนามัยโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงปล่อยให้เพศวิถีนี้เป็นเรื่องของ Fantasy นิทาน นิยายประโลมโลกไป
สิ่งที่มนุษย์เราจะรักกับสัตว์ได้ ก็คือให้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เป็นสมาชิกภายในบ้าน เหมือนลูกเหมือนเต้า ด้วยการนับญาติกับมัน พี่แมว น้องหมา น้าปลา ลุงเต่า แม้ว่าอพาร์ทเมนต์จะไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ หรือสวนสาธารณะจะห้ามนำสัตว์เข้ามา ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่รองรับความเป็นบ้านและกิจกรรมครอบครัวก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Dekkers, Midas. Vincent, Paul (translated),(1994), Dearest Pet on Bestiality. Verso: London, P. 15.
[2] Dekkers, Midas,1994, P. 6.
[3] Dekkers, Midas,1994, P. 159.
[4] Dekkers, Midas,1994, P. 15.
[5] สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2543). นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์, กรุงเทพฯ: มติชน, น. 94-99.
[6] อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว., วัยอาจ, เดวิด เค., (2543). ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ตรัสวิน (ซิลค์เวอร์มบุคส์),น. 22.
[7] สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2543, น. 121.
[8] สายป่าน ปุริวรรณชนะ. (2521). ตำนานประจำถิ่นริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเลภาคกลาง : ความสมานฉันท์ในความหลากหลาย, กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552.; อุดม หนูทอง, วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ ประเภทนิทานประโลมโลก. สงขลา, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา, น. 42-43.
[9] วิมล ดำศรี. (2539). นิทานพื้นบ้าน : มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นนครศรีธรรมราช, นครศรีธรรมราช : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช, น. 156-158.
[10] สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2543, น. 48-57.
[11] พระรัตนปัญญา., แสง มนวิทูร. (2501). ชินกาลมาลีปกรณ์. พระนคร: ศิวพร,น. 88-89. ; คำแปลจามเทวีวงศ์ พงศาวดารเมืองหริภุญไชย. (2515). พิมพ์แจกในงานณาปนกิจศพ ชัช แดงดีเลิศ ณ เมรุวัดสุวรรณราม นครหลวงฯ 1 ตุลาคม, น. 10-11.