ทันทีที่ พรรคเพื่อไทยได้ประกาศเปิดตัว 10 นโยบายพลิกประเทศ หนี่งนโยบายที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นการตั้งเป้าเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท/ วัน ภายในปี 2570
เสียงฮือฮามาจากหลายฝ่าย เช่น สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีแรงงานออกมาแสดงความเห็นว่า “(พรรคเพื่อไทย) จะหาเสียงอะไรก็แล้วแต่ ควรคำนึงถึงหายนะทางเศรษฐกิจด้วย อย่าหาเสียงเพราะนึกสนุกแบบนี้” ซึ่งถ้าจำกันได้พรรคพลังประชารัฐแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็เคยประกาศนโยบายขึ้นค่าแรงเป็น 425 บาท/ วัน แต่สุดท้ายครบปีบริหารแล้วนโยบายนี้ก็ไม่เคยถูกปฏิบัติ
ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยก็หัวเราะเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความเห็นต่อนโยบายนี้ ก่อนตอบว่า “ฟังดูดี แต่ทำได้หรือเปล่าไม่รู้”
ในแวดวงวิชาการเองความเห็นก็แตกเป็นฝ่ายที่สนับสนุนและตั้งคำถามกับนโยบายนี้เช่นกัน The MATTER จึงได้ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งสองคน ได้แก่ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี จากวิทยาลัยสหวิทยาการ และ เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว จากคณะเศรษฐศาสตร์ แสดงความเห็นว่าคิดเห็นอย่างไรต่อนโนบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/ วัน ภายในปี 2570 ของพรรคเพื่อไทย
ค่าแรงขั้นต่ำไทยในปัจจุบัน
ค่าแรงขั้นต่ำไทยเพิ่งมีการประกาศขยับขึ้นในช่วงกลางปีที่ผ่านมา หลังจากไม่ขยับตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ที่ 328-354 บาท/ วัน
ในมุมของ ษัษฐรัมย์ ค่าแรงของไทยในปัจจุบันที่ถูกแช่แข็งมาเป็นเวลา 10 ปี “ถือว่าต่ำ” ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิตพื้นฐานให้คนไทย และนำไปสู่ปัญหาอื่นตามมา เช่น การกู้ยืมหนี้สินนอกระบบ, ทำ OT หรือคนนึงต้องทำหลายจ็อบ ที่ยิ่งส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของคน
“ถ้าคนเรายังไม่มีความปลอดภัยในชีวิต เราก็จะไม่สามารถมีชีวิตที่มีเสรีภาพ ความยุติธรรม หรืออะไรต่างๆ ได้ และประชาธิปไตยก็จะไร้ความหมาย ดังนั้น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้นทันที” ษัษฐรัมย์กล่าว
ทางด้านเกียรติอนันต์เห็นเหมือนกันว่า “ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันต่ำไป” โดยเฉพาะในภาวะที่ค่าแรงคงที่แต่ค่าครองชีพเพิ่มเรื่อยๆ ยิ่งส่งผลให้คนจนลงอย่างต่อเนื่อง
“ค่าแรงขั้นต่ำของเราตอนนี้ต่ำไป แต่จะฟันธงว่าเท่าไหร่ มันมาลอยๆ ไม่ได้ ถ้าผมใช้ตัวเลขในใจอย่างน้อยมันไม่ควรต่ำกว่า 400 บาท/ วัน แต่จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่มาว่ากัน แต่กระบวนการคิดต้องโปร่งใสและสะท้อนความต้องการในชีวิตจริง” เกียรติอนันต์กล่าวเสริม “ซึ่งมีทั้งคิดด้วยความจำเป็นและคิดด้วยความอยาก”
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/ วัน
ษัษฐรัมย์กล่าวว่าอันที่จริง 600 บาท/ วันยังถือว่าน้อยไปด้วยซ้ำ เพราะเมื่อเทียบกับไต้หวันซึ่งมีค่าครองชีพใกล้เคียงกับไทยกลับมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 955 บาท/ วัน
เขากล่าวถึงแนวคิด ‘ค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage)’ หรือการเทียบรายได้กับมาตรฐานคุณภาพชีวิตแทนที่เส้นความยากจน โดยเขามองว่าค่าจ้างขั้นต่ำควรอยู่ที่ 1,000 บาท/ วัน เพื่อให้คนทำงานสามาถเลี้ยงดูครอบครัว หรือหาความสุขให้ชีวิตได้บ้าง “ผมพูดได้เลยว่าเราต้องการอย่างน้อย 20,000 บาท/ เดือน และวันหยุด 2 วัน/ สัปดาห์ อันนี้คือสิ่งที่ควรเป็น”
ทางด้านเกียรติอนันต์ตั้งคำถามกับตัวเลข 600 บาท/ วัน โดยเขาเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยอธิบายตัวเลขนี้ให้ชัดเจนว่าได้มาจากไหน คิดจากฐานอะไร เพราะค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ย่อมไม่เท่ากัน และมันเป็นนโยบายระดับประเทศที่ส่งผลกับทุกฝ่าย
แต่เมื่อทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าค่าแรงในปัจจุบันต่ำเกินไป เกียรติอนันต์ชวนตั้งต้นก่อนว่า
- กำหนดนิยามคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย (ไม่ว่าจังหวัดอะไร) ให้ชัดเจน
- แล้วค่อยมาคิดกันว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมอยู่จุดไหน มากกว่า 600 บาท/ วันได้ไหม
- ออกแบบกระบวนการเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และภาครัฐพอใจร่วมกัน
- ทบทวนระบบคณะกรรมไตรภาคี (รัฐ-เอกชน-ลูกจ้าง) ซึ่งพิจารณาการขยับค่าแรงขั้นต่ำว่ายังมีประสิทธิภาพไหม
ข้อเสนอแก้ไขโครงสร้างปรับค่าแรง
อาจารย์เศรษฐศาสตร์สะท้อนว่า หลังการปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งใหญ่ในปี 2555 ข้อมูลจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลพบว่า ภายในเวลา 2 ปีค่าครองชีพกลับตามทันค่าแรงที่ขยับเพิ่มแล้ว ซึ่งสาเหตุไม่ได้มาจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงปัญหาอื่นที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ราคาพลังงาน หรือความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง
นอกจากนี้ ตามธรรมชาติของนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อมีการปรับเพิ่มขึ้นครั้งนึงแล้ว การปรับเพิ่มขึ้นครั้งต่อไปจะมีแรงต่อต้าน เกียรติอนันต์จึงเสนอว่าควรมีการปรับระบบขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 2 ขยักคือ ขยับแบบกระโดดและขยับตามค่าครองชีพ เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวให้เด็ดขาด
“การปรับค่าแรงขั้นต่ำควรมี 2 ขยัก ขยักแรกคือกระโดดทีนึง แต่กระโดดกี่บาทค่อยดูกัน ขยักสองคือขยับตามค่าครองชีพทุกปี เช่น ปีนี้ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น 5% ทุกคนต้องปรับเงินเดือนขึ้น 5% ส่วนโบนัสผลงานอื่นๆ ค่อยบวกเพิ่มเข้าไป ถ้าทำแบบนี้จะแก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดระยะยาวได้” เกียรติอนันต์แสดงความเห็น
ผู้ประกอบการจะเจ็บ ธุรกิจเล็กจะล้ม?
หนึ่งในกลุ่มที่กังวลกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำคือ กลุ่มผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อย ที่ต้องแบกต้นทุนที่มากขึ้น
ษัษฐรัมย์ยืนยันงานจากวิจัยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2555 ไม่ได้ส่งผลให้ธุรกิจล้มลงอย่างมีนัยยะสำคัญ “ถ้าเรามองระยะสั้นว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ SMEs ตาย จริงๆ มันเป็นผีที่ไม่เคยเกิดขึ้น” ษัษฐรัมย์กล่าว เขาเสริมว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันยังสร้างปัญหาให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน เพราะแรงงานไม่มีแรงจูงใจให้เข้าสู่งานประจำ ผู้ประกอบการเลยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน
“ถ้าเกิดค่าจ้าง 300 กว่าบาท/ วัน คนจะเริ่มคิดว่าฉันขับไรเดอร์หรือขายของออนไลน์อยู่บ้านดีกว่า รายได้ใกล้เคียงกัน แถมไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร” ษัษฐรัมย์กล่าวต่อว่า “ขณะที่นายจ้างก็เสียประโยชน์ ประกาศรับสมัครงานไป คนสมัครก็น้อย หายากมากที่คนจะทำงานเต็มเวลาด้วยค่าจ้างระดับนี้”
“แต่ถ้าขยับขึ้น สมมติเป็น 600 บาท/ วัน ผู้ประกอบการจะมีตัวเลือกมากขึ้น และสามารถเลือกคนที่มีคุณภาพมาทำงานให้ด้วย ดังนั้น มันไม่ได้ทำให้ทุกคนเสียประโยชน์หรือแรงงานได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว” ษัษฐรัมย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้เกียรติอนันต์มองต่างออกไป เขาเชื่อว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำหลังการระบาดของไวรัส COVID-19 คล้ายภาวะที่ร้านค้าไม่มียอดซื้อ แต่ลูกน้องขอเงินเดือนขึ้น จึงเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการจะคิดถึงการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ (Business Model) เช่น ลดจำนวนลูกจ้างและเจ้าของโดดลงมาขายเอง อาจขายได้น้อยลงแต่เอาตัวรอดผ่านวิกฤตไปได้ก่อน
หรือในธุรกิจขนาดใหญ่กว่านั้น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอาจนำไปสู่การย้านฐานการผลิต หรือลดแรงงานคนแล้วแทนที่ด้วยเครื่องจักร “กระบวนการย้ายฐานการผลิตเป็นเรื่องธรรมดา แต่กระบวนการเพิ่มค่าแรงอาจเร่งให้เขาตัดสินใจย้ายเร็วขึ้น“
“โรงงานทุกวันนี้แทบจะไม่ใช้คนเลย แถมยังเรียกร้องแรงงานทักษะสูง แต่คนที่อยู่บนฐานค่าแรงขั้นต่ำส่วนใหญ่เป็นคนที่ทักษะยังไม่รองรับโลกอนาคตเท่าที่ควร ดังนั้น ต่อให้รีสกิลหรืออัพสกิลพวกเขาแค่ไหน พวกเขาจะกลายเป็นคนตกงานแบบถาวร หรือหางานได้ยากมาก ดังนั้น ในโลกยุคหลัง COVID-19 อะไรที่ดึงได้ก็ควรดึงไว้ก่อน อย่าให้คนหลุดจากระบบการจ้างงาน” อาจารย์เศรษฐศาสตร์เสริม
ในประเด็นการเข้ามาของเทคโนโลยี ษัษฐรัมย์มองต่างออกไปว่ายังไม่ถึงเวลา เขายังเชื่อว่ายังมีงานหลายภาคส่วนที่เหมาะสมกับมนุษย์กว่า เช่น ภาคบริการ ที่ถึงแม้เครื่องจักรจะเริ่มเข้ามามีส่วน แต่ยังทดแทนมนุษย์ไม่ได้
“ผมคิดว่าต่อให้ค่าแรงไม่ปรับขึ้น มันจะมีการหันมาใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่ในระดับที่เราปรับไม่น่าเกิดแรงจูงใจระดับนั้น และงานที่เราพูดถึงยังเป็นงานต้องใช้คน เช่น งานภาคบริการ แม้ทุกวันนี้เราเห็นว่ามีหลายร้านอาหารที่ใช้หุ่นยนต์ แต่สุดท้ายก็ต้องการ Human Touch หรือแม้แต่ใช้หุ่นยนต์ก็ยังต้องมีคนคุมอยู่” ษัษฐรัมย์แสดงความเห็น
ษัษฐรัมย์ย้ำว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาท/ วัน ไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้น เพราะไม่ใช้ระดับที่สูงมากหากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างในยุโรปหรือญี่ปุ่น
ภาครัฐช่วยอย่างไรได้ไหม
นักวิชาการทั้งสองคนมองตรงกันว่าในระยะเปลี่ยนผ่าน ภาครัฐสามารถกระโดดเข้ามาช่วยผู้ประกอบการได้
โดยทางด้านษัษฐรัมย์เสนอว่า ควรหาวิธีช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและกลางโดยเฉพาะขึ้นอยู่กับการพิจารณา แต่สิ่งที่ไม่ควรทำเลยคือ การลดหย่อนภาษี
“ถ้าผมจะให้ข้อคิดนึงแก่รัฐบาลที่จะผลักดันนโยบายนี้ ผมคิดว่าเครื่องมือนึงที่ไม่ควรใช้เลยคือ การลดหย่อนภาษี เพราะมันเป็นแนวทางกระตุ้นที่เราใช้บ่อย และปรากฎว่ามันไม่ได้ส่งผลไปถึงผู้ประกอบการระดับล่างอย่างที่เราตั้งใจ กลับเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ได้ประโยชน์”
ขณะที่ทางด้านเกียรติอนันต์เสนอว่า ภาครัฐสามารถช่วยให้เงินอุดหนุนสถานประกอบการได้ แต่ต้องภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการ, แรงงาน และภาครัฐได้ประโยชน์
“ธุรกิจต้องปรับตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แรงงานต้องผ่านกระบวนการฝึกงานให้เก่งขึ้น ภาครัฐก็ต้องหาโอกาสทางตลาดให้ธุรกิจโตไปได้ ถ้าภายใน 3 เงื่อนไขนี้มันทำได้ จะขยับมากกว่า 600 บาท/ วันก็ได้ ตราบใดที่ทุกคน WIN-WIN-WIN หมด” เกียรติอนันต์กล่าวทิ้งท้ายว่า “แต่วิธีการขึ้น และกระบวนการขึ้นมันเป็นประโยชน์ทุกฝ่ายตรงนี้ผมยังไม่เห็นความชัดเจน”
ถามเพื่อไทย – ทำไมต้อง 600 บาท และจะทำอย่างไร
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หัวหน้าทีมนโยบายพรรคเพื่อไทย ในรายการ Why It MATTERs NOW ถึง 2 คำถามสำคัญว่า ทำไมต้อง 600 บาท/ วัน? และจะหาเงินมาจาไหน?
สำหรับคำถามข้อแรก นพ.พรหมินทร์ตอบว่า เขาได้มาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย มธ. ในปี 2554-2555 ซึ่งพบว่าเงิน 600 บาท/ วัน คือรายได้ขั้นต่ำเหมาะสมสำหรับครอบครัวขนาดเล็กที่ประกอบไปด้วย พ่อ, แม่ และลูกหนึ่งคน
คำถามข้อสอง นพ.พรหมินทร์อธิบายเช่นกันว่าต้องมาจากการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจทั้งระบบ” เพื่อ “แก้หนี้สร้างรายได้” อาทิ ในภาคการเกษตรต้องเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตให้ได้ราคาสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนต่ำลง หรือในภาคการท่องเที่ยวต้องดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อให้นำเงินเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี หัวหน้าทีมนโยบายพรรคเพื่อไทยปฏิเสธว่าจะไม่มีการขึ้นภาษีเพิ่มเติมในส่วนนี้ “เพราะที่มีก็สูงมากอยู่แล้ว” แต่อาจจะมีการปลดล็อกกฎหมายบางตัวเพื่อเพิ่มภาษี เช่น คราฟต์เบียร์ รวมถึงจะเน้นไปที่การดึดดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ
เชื่อว่าหลายคนน่าจะมีความเห็นต่างกันไปต่อนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของเพื่อไทย แต่ข้อนึงที่มั่นใจว่าทุกคนคิดเห็นตรงกันคือ ‘เมื่อไหร่จะรู้วันเลือกตั้งหนอ?’
ฟัง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช หัวหน้าทีมนโยบายพรรคเพื่อไทย ในรายการ Why It MATTERs NOW ได้ที่:
https://www.facebook.com/thematterco/videos/549347410401513