[คำเตือน : เปิดเผยเนื้อหาสำคัญใน Finding Dory]
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2003 ปรากฏการณ์ Finding Nemo ได้แพร่สะพัดไปทั่วโดยเฉพาะในหมู่เด็กๆ ปลาการ์ตูนสีส้มลายพาดขาวตัวนี้ได้เข้าไปยึดครองพื้นที่ในจิตใจ บางคนถึงขนาดผนึกความชื่นชอบแอนิเมชั่นเรื่องนี้ไว้ กระทั่งเมื่อเขาเติบใหญ่ Finding Nemo ก็ยังดำรงไว้ในฐานะความทรงจำดีๆ ของวัยเยาว์
ระยะเวลากว่า 13 ปีผ่านไป ในที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถูกสานต่อกับ Finding Dory ที่หันมาเล่าเรื่องของ ‘ดอรี่’ ปลาบลูแทงก์สีฟ้าช่างจ้อแทน ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานขนาดนี้ แน่นอนว่าเด็กที่ชื่นชอบนีโมย่อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ น่าสนใจว่าการเล่าเรื่องของภาคนี้จะเป็นไปในแนวทางใด เมื่อมองถึงฐานคนดูที่จำแนกอย่างหยาบๆ เป็นคนดูที่มีความรู้สึกถวิลหาอดีต (nostalgia) กับคนดูที่ไม่ได้มีความรู้สึกนั้นอยู่ ผมวางตัวเองไว้เป็นคนดูกลุ่มหลัง และหลังดูหนังจบก็ออกจะโอนเอียงไปทางเฉยๆ กับหนังเสียมากกว่าชอบ
กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า การจะดู Finding Dory ให้สนุกจำเป็นต้องอาศัยภาวะ nostalgia อะไรเทือกนั้นหรอกครับ เพราะเรื่องราวในภาคนี้ก็จบในตัวนี้ ไม่จำเป็นต้องเคยดู Finding Nemo มาก่อนก็ดูรู้เรื่องได้สบาย สารภาพตามตรงว่าเป็นเพราะผมพาจะรู้สึกรำคาญดอรี่ ตัวเอกของเรื่องอยู่สักหน่อย ซึ่งก็ออกจะเป็นแค่ความรู้สึกส่วนตัวเสียมากกว่า แต่กระนั้นก็ไม่ได้แปลว่าหนังเรื่องนี้ไม่น่าสนใจนะครับ เพราะประเด็นใหญ่ๆ ที่สอดแทรกอยู่ตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมงของหนังนี่น่าพูดถึงอยู่ทีเดียวเลย
เรื่องราวของหนังภาคนี้เริ่มต้นที่ดอรี่พลัดได้หลงกับพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก และจากทีแรกที่เธอพยายามตามหาพวกเขาโดยอาศัยถามเอาจากคนโน้นบ้าง คนนี้บ้าง แต่เพราะเธอไม่สามารถจดจำอะไรได้นานนัก วันหนึ่งเธอก็ลืมไปว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ซ้ำร้าย เธอลืมกระทั่งว่าตัวเองมีพ่อแม่ที่ต้องตามหาด้วยซ้ำ
ลักษณะการทำงานของความจำของดอรี่นั้น สังเกตได้ว่าความทรงจำของเธอจะสูญหายไปในระยะเวลาสั้นๆ หากเธอถูกทำให้ไขว้เขว (distract) จากสิ่งที่กำลังจดจำอยู่ ทำให้เธอหันไปจดจำในสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะแทน และมันก็เป็นเช่นนี้เรื่อยไปไม่สิ้นสุด ซึ่งแม้ตัวดอรี่จะรู้ตัวดีในเรื่องนี้ ทว่าเธอเองก็ไม่อาจต่อสู้กับการหายไปลืมเลือนนี้ได้
แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ที่มากระตุ้นความทรงจำที่เหมือนว่าหายไปให้กลับมาอีกครั้ง ทำให้เธอจดจำได้ว่ามีพ่อและแม่อยู่ที่ไหนสักแห่ง และจำเป็นที่จะต้องออกค้นหาพวกเขาให้เจอ
ความทรงจำของดอรี่ถูกกระตุ้น (trigger) ก็เมื่อเธอปะทะกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ยึดโยงเธอเข้ากับอดีต จะเป็นปลาสักตัว วัตถุสักชิ้น หรือคำพูดสักประโยค ขอเพียงเธอเคยมีประสบการณ์การร่วมกับสิ่งนั้น เศษหนึ่งของความทรงจำที่หล่นหายก็จะหวนกลับมาอีกครั้ง
เศษเสี้ยวหนึ่งของความทรงจำ (fragment of memory) ของดอรี่ถูกเกี่ยวขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย แต่ก็ดังที่ว่า จิ๊กซอว์เพียงชิ้นเดียวไม่อาจประกอบเป็นภาพอันสมบูรณ์ได้ การเดินทางในครั้งนี้จึงเหมือนกับการค่อยๆ ประกอบสร้างเส้นทางข้างหน้า และการคอยมองหาเศษจิ๊กซอว์ชิ้นต่อไปในทะเลอันกว้างใหญ่ ที่จะช่วยให้ดอรี่มองเห็นความทรงจำที่หลงลืมอย่างภาพต่อที่เสร็จสมบูรณ์ได้อีกครั้ง
จุดหนึ่งที่น่าสังเกตคือ บรรดาตัวละครในเรื่องที่ดอรี่พบเจอล้วนสะท้อนถึงตัวดอรี่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ‘เดสทินี’ ฉลามวาฬสายตาสั้น ‘เบย์ลี’ วาฬเบลูกาที่สามารถใช้เสียงร้องเพื่อสะท้อนเข้ากับวัตถุและรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวในระยะหนึ่งได้ (echolocation) และ ‘แฮงค์’ หมึกยักษ์ผู้มีความทรงจำอันเลวร้ายกับทะเลและไม่ปรารถนาจะกลับไป
เดสทินีคือภาพสะท้อนของดอรี่ในแง่ที่ว่า หากเธอมีสายตาที่สั้นจนมองไม่เห็นวัตถุที่เคลื่อนที่อยู่รอบตัว เช่นนั้นแล้วเธอจะเรียกความทรงจำกลับมาได้อย่างไรหากขาดสายตาที่จะมองเห็น ขาดดวงตาที่จะจดจำ และเช่นเดียวกับความทรงจำระยะสั้นของดอรี่ที่ส่งผลให้การกระทำของเธอเกิดขึ้นอย่างทันดีทันใดนั้น สายตาที่สั้นของเดสทินีเองก็ทำให้สมรรถนะในการตัดสินใจของเธอถูกจำกัดระยะลงเหลือเพียงแค่ในระยะมองเห็น และตรงนี้เองที่ทำให้ตัวละครทั้งสองไม่เป็นแค่เพียงเพื่อนสนิทกันเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพสะท้อนของกันและกันอีกด้วย
แต่หนังก็ไม่ได้ใจร้ายไส้ระกำขนาดจะบอกว่า ดอรี่, หรือในทางหนึ่งคือเดสทินี จะเอาชีวิตรอดในท้องทะเลไม่ได้เอาเสียเลย เพราะข้อจำกัดทางกายภาพของเดสทินีก็ได้รับการเติมเต็มจากวาฬเบลีย์ ที่ช่วยเป็นดวงตาให้กับเธอด้วยการสำรวจสภาพแวดล้อมรอบตัว ช่วยให้รายละเอียด และช่วยให้เธอไม่ต้องด่วนตัดสินใจเกินไป
เหมือนกับดอรี่ที่มีมาร์ลิน นีโม่ และพ่อกับแม่คอยช่วยอยู่เสมอกับความทรงจำที่ไม่มั่นคงของเธอ
หรือในอีกนัยหนึ่ง มิตรภาพและความรักจะช่วยให้เรายอมรับและใช้ชีวิตกับข้อจำกัดของตัวเราเองได้
ส่วนหมึกยักษ์แฮงค์ก็เป็นตัวละครที่ชี้ให้คนดูเห็นว่า การที่จดจำอะไรไม่ได้แบบดอรี่อาจไม่ใช่ข้อเสียไปทั้งหมด เพราะแฮงค์ผู้ที่จดจำอะไรได้ดีเกินไปก็มีแต่สิ่งเลวร้ายโผล่เข้ามาในความทรงจำเมื่อพูดถึงทะเล แม้เราไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ทำให้เขากลัวคืออะไร แต่จากคำพูดของเขาก็พอจะอนุมานได้ว่าคงจะร้ายกาจเอาเรื่อง สำหรับแฮงค์ การลืมอาจเป็นสิ่งที่ดีกว่าหากว่าความทรงจำมีแต่จะนำมาซึ่งความทุกข์