เป็นอีกครั้งที่ศิลปินไทยได้พาผลงานไปเยือนเมืองแห่งศิลปะสมัยใหม่อย่างนิวยอร์ก หลังจากที่บรรเจิด เหล็กคง เป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้ไปแสดงผลงานที่ Agora Gallery คราวนี้เป็นทีของ ‘สัจจา สัจจากุล’ ผู้ที่พางานอาร์ตเนื้อหาหนักๆ ไปสู่สายตาของเหล่านิวยอร์กเกอร์ผู้รักศิลปะ ในชื่อชุดว่า ‘Sensorial Reality’
นี่คือการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ “นำศิลปินไทยสู่สากล” ที่สิงห์ปาร์ค เชียงราย ภายใต้ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ทำการเฟ้นหาและพาศิลปินไทยไปโชว์ผลงานที่นิวยอร์ก และในปีนี้ สัจจา สัจจากุล คือใครคนนั้น เขาคือศิลปินผู้โดดเด่นในเรื่องศิลปะแนววิพากษ์สังคม (Social Critic) มากว่า 30 ปี โดยได้อธิบายตัวเองเอาไว้ในเว็บไซต์ของแกลเลอรีว่า
“งานของผมสะท้อนภาพสังคมพังๆ และความขึ้งเครียดของชีวิตสมัยใหม่ ตั้งแต่เรื่องความไม่เที่ยงธรรมทางสังคม การเมือง จนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้คน ผมพยายามค้นคว้าและขุดลึกลงไปในปัญหา เพื่อที่จะเล่ามันออกมาผ่านงานศิลปะ”
ภาพของสัจจาจึงเป็นการรวมเอาวัตถุและผู้คนจากต่างยุคสมัย และต่างบริบทมายำรวมกันในซีนแปลกประหลาดนอกเหนือคอนเซปต์ของกาลเวลา คล้ายอยู่ในความฝันที่มีร่องรอยของวัฒนธรรมฝังอยู่ เกิดเป็นโลกดิสโทเปียที่น่าหวั่นกลัวและวุ่นวายสับสน
“ผมพยายามจะไปให้ไกลว่าขอบเขตทางภาษา ศาสนา และกรอบประเพณี พยายามมองมนุษย์ในฐานะสัตว์โลกที่แชร์อารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานเหมือนๆ กัน เนื้อหาในภาพผมค่อนข้างซีเรียส แต่ผมก็พยายามที่จะหาวิธีในการจะถากถางหรือเสียดสีให้รู้ว่าโลกนี้มันแอบเสิร์ดแค่ไหน” เขาเล่า
งานของสัจจาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ชมในนิวยอร์กด้วยเนื้อหาหนักๆ และฝีมือเฉียบขาด โดยถ้าย้อนเวลากลับไปเขากลับเคยถูกปฏิเสธด้วยเนื้อหาต่างๆ เหล่านี้ด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่น่าสนใจว่า อะไรที่ได้จุดไฟศิลปินและทำให้เขายึดมั่นในแนวทางวิพากษ์สังคมมาได้ยาวนานขนาดนี้ มันอาจเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่ว่า ในขณะที่เด็กหลายคนอาจวาดต้นไม้ ชายหาด หรือท้องฟ้าที่มีนกบิน สัจจาเลือกเล่นกับอะไรที่หนักกว่านั้น
WHAT LIT THE FLAME, MIGHT BE…Childhood drawing
สัจจา สัจจากุล เกิดและเติบโตที่ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ชอบวาดเขียนมาตั้งแต่เด็กๆ โดยเริ่มจากการวาดตามปกหนังสือ ‘มิตรครู’ ที่เป็นลายเส้นรูปพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ จนถึงภาพตัวละครในวรรณคดีอย่างทศกัณฐ์หรือหนุมาน
แค่จุดเริ่มต้นในการฝึกควบคุมมือก็ถือว่าเล่นท่ายากแล้ว เมื่อโตขึ้นอีกหน่อย เขาก็เริ่มหัดวาดภาพเหมือนบุคคลจริง เช่นภาพคนดัง ดาราทั้งหลาย ด้วยความชื่นชอบและสมาธิทำให้เขาวาดได้ตลอดทั้งวัน และถูกนิยามว่าเป็น ‘เด็กวาดรูปเก่ง’ มาตั้งแต่ยังเยาว์
Artist Essence: Van Gogh
เมื่อเรียนชั้นมัธยม สัจจาก็มีโอกาสได้อ่านนวนิยายชื่อ ‘ไฟศิลป์’ ที่แปลมาจาก Lust for Life โดย Irving Stone เมื่อปี 1934 ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตศิลปินของ วินเซ็นต์ แวนโก๊ะ หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบหลายรอบด้วยความหลงไหล เขาก็เริ่มอยากเป็นศิลปิน ทั้งยังได้มุมมองใหม่ๆ ว่าศิลปะคืองานสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่การเขียนภาพเหมือน จึงสอบเข้าวิทยาลัยช่างศิลป์ วังหน้า แล้วลุยฝึกฝนเทคนิคทางศิลปะจนสามารถสอบเอนทรานส์เข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ในที่สุด
Coming of Age
ระหว่างที่เรียนศิลปะ มีเรื่องร้ายแรงเกิดกับสมาชิกในครอบครัวของเขาหลายต่อหลายเหตุการณ์ นักเรียนศิลปะคนนั้นจึงเริ่มตั้งคำถามต่อความหมายของชีวิต ครุ่นคิด เคร่งเครียดกับชีวิตมากขึ้น ช่วงเวลานั้นเอง เป็นแรงผลักดันให้เขาไม่ได้มองโลกศิลปะแค่ในแง่ฟุ้งฝันงดงาม แต่ยังอยากบอกเล่าสิ่งที่จริงจังมากขึ้น ทำให้เริ่มสนใจศึกษางานศิลปะแนววิพากษ์สังคมมาตั้งแต่ตอนนั้น
หลังเรียนจบ สัจจาได้เข้าทำงานในบริษัทเอเจนซี่โฆษณา ในตำแหน่ง Visualizer ผู้ออกแบบโฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์ เขียน story board ถ่ายโฆษณา แน่นอนว่าการทุ่มเททำงานนั้นทำให้เขาหยุดเขียนภาพไปราวๆ 10 ปี แต่ได้ฝึกฝีมือกับงานคอมเมอร์เชียลแทน จนกระทั่งเปิดบริษัทโปรดักชั่นเล็กๆ เป็นของตัวเอง แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ฟองสบู่แตกในปี 2540 งานที่เคยเฟื่องฟูก็ซบเซา เขาเลยได้มีเวลาคิดทบทวนอีกครั้งว่าตัวเองอยากทำหรือควรทำอะไรกันแน่
Inner Willing
สัจจาเริ่มเปิดรับสอนศิลปะที่บ้าน และกลับมาวาดรูปอีกครั้งอย่างจริงจังกว่าเดิม ในแนว Social Critic และ Symbolism เมื่อมีชิ้นงานมากพอ เขาก็เริ่มยื่น portfolio ไปขอร่วมแสดงในแกลเลอรี่เอกชนหลายที่ ตอนนั้นเองที่เขาถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า “งานของคุณนั้นดูหนักเกินไป ดูแล้วเครียด” …ก็ได้น้อมรับคำติติงต่างๆ แล้วพยายามพัฒนางานต่อ แต่ยังพยายามยึดมั่นในแนวทางที่ตัวเองเชื่ออยู่เสมอ
“ความใฝ่ฝันของผมในฐานะศิลปิน คือต้องการสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีแนวทางเป็นตัวของตัวเอง และต้องมีเนื้อหาเรื่องราวที่แสดงถึงจิตใจของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นภาพสะท้อนที่มีประโยชน์ต่อสังคมไทย ต่อโลก ต่อผู้คนทั้งหมดด้วย”—นี่คือความมุ่งมั่นของเขา และพื้นที่ในนิวยอร์กในวันนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันว่าเขาทำได้
งานที่ได้ไปจัดแสดง ว่าด้วยเรื่องราวของจิตใจมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากงานวรรณกรรม และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยสัจจามองทะลุเหตุการณ์เข้าไปจับที่แก่นสาระสำคัญ แล้วผูกเรื่อง คิดวางโครงสร้างขึ้นมาใหม่ เขาเองเล่าถึงวิธีคิดเอาไว้ว่า
“ผมได้ทดลองสร้างรูปแบบงานศิลปะในแนววิพากษ์สังคม โดยเริ่มจากเขียนภาพ Our Standing และ Your History เป็นการให้ภาพของสังคมโลกโดยรวม สภาพที่มนุษย์และสังคมเป็นอยู่ จากนั้นก็พัฒนางานมาเรื่อยๆ จึงเริ่มเขียนงานชุดใหม่ คือ Toxic ซึ่งพูดถึงวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่แปดเปื้อนด้วยพิษภัยต่างๆ จากเทคโนโลยีและความล้ำสมัย
ผมต่อด้วย Combative ที่พูดถึงท่าทีของสังคมไทยที่พยายามก้าวออกไปแข่งขัน เผชิญกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเชี่ยวกรากด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร ตามด้วย The Bravery และภาพ self-portrait ชื่อ Hallucination ที่แสดงอารมณ์สะท้าน หวาดหวั่น ต่อความเปลี่ยนแปลงของอนาคตที่เราไม่อาจคาดเดา และไม่อาจควบคุมได้”
แม้ภาพของเขาจะดูตรงข้ามกับภาพในอุดมคติของมนุษย์หลายคนอย่างสุดขั้ว แต่ก็อย่างที่เราทราบกันแล้วว่า Agora Gallery อ้าแขนรับงานแสนซีเรียสของเขาอย่างยินดีปรีดา จากการผลักดันของสิงห์ปาร์ค ในโครงการ ‘นำศิลปินไทยสู่สากล’ ที่คัดเลือกกันจากตัวชิ้นงานล้วนๆ ไม่เอาชื่อศิลปิน ไม่เอาประวัติหรืออื่นใดทั้งสิ้น และด้วยตัวงานเพียวๆ นั้นเอง—งานที่เคยถูกปฏิเสธว่าซีเรียสเกินกว่า ในที่สุดก็พบที่ทางของตัวเองเรียบร้อยแล้ว
เกี่ยวกับ สิงห์ปาร์ค เชียงราย
สิงห์ปาร์ค เชียงราย ภายใต้ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น เป็นองค์กร “Social Enterprise” ที่ก่อตั้งเพื่อดำเนินกิจการเพื่อสังคม (รายได้ทั้งหมดกลับคืนสู่สังคม ไม่มีการปันผลกำไร) เริ่มต้นจากโครงการทางการเกษตร ตลอดจนมุ่งเน้นการสร้างงานให้ชาวบ้านมีรายได้ ทั้งยังพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ นอกจากการนี้สิงห์ปาร์ค เชียงราย ยังมีความมุ่งมั่นที่จะต่อยอดและเพิ่มมิติให้กับการดำเนินงานเพื่อสังคมในด้านอื่นด้วย เช่นในด้านศิลปะ สิงห์ปาร์ค เชียงราย ต้องการสนับสนุนศิลปินไทยที่มีผลงานโดดเด่น ให้มีโอกาสพิสูจน์ความสามารถสู่สายตาชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมที่จะได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ โดยการส่งผลงานของศิลปินเหล่านี้ไปจัดแสดงในเวทีระดับสากล
ติดตามข่าวสารของโครงการต่างๆ จากสิงห์ปาร์ค เชียงราย ได้ที่ http://www.singhapark.com/
อ้างอิง
http://www.agora-gallery.com/artistpage/Mr._Sajja_Sajjakul.aspx#info
http://www.art-mine.com/artistpage/mr._sajja_sajjakul.aspx