หากคุณเป็นคนชอบสังเกตเรื่องราวชีวิตคน คุณน่าจะพบข้อเท็จจริงแปลกๆ อยู่ข้อหนึ่งที่ว่า เหตุการณ์เล็กๆ ในชีวิตบางครั้งก็เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ได้เลย โดยตอนที่เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น เจ้าตัวอาจยังไม่รู้ว่ามันสำคัญอย่างไรกับตัวเอง แต่เมื่อเวลาผ่านไป คำตอบก็ค่อยๆ เฉลยออกมา
ทำนองเดียวกับคำพูดที่ว่า “ทุกอย่างที่เกิดล้วนมีเหตุผลเสมอ” (Everything happens for a reason) ซึ่งคุณอาจมองว่านี่เป็นแผนการของพระเจ้า หรือเป็นเรื่องบังเอิญอะไรก็แล้วแต่ แต่ชีวิตหลายคนก็เป็นแบบนี้จริงๆ
ดูอย่างชีวิตของผู้ที่มีอิทธิพลของโลก 3 คนนี้ก็ได้ นั่นคือ “ซาฮา ฮาดิด” สถาปนิกหญิงชาวอังกฤษเชื้อสายอิรักที่มีชื่อเสียงระดับโลก, “สตีฟ จ็อบส์” ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิ้ลที่หลายคนรู้จักดี และนักเขียนผู้สร้างแรงบันดาลให้เด็กทั่วโลกอย่าง “คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ” เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง “โต๊ะโตะจัง”
เมื่อไล่ดูประวัติของพวกเขาแล้ว จะพบว่าสภาพแวดล้อมในวัยเยาว์ของทั้งสาม ล้วนมีจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่ช่างเกิดขึ้นได้พอเหมาะพอดีราวกับเป็นแผนการที่ถูกจัดไว้ โดยเรื่องราวที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้จะเป็นเรื่องราวจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่ว่านี้แหละ เพื่อคุณจะได้เห็นว่า สภาพแวดล้อมให้อะไรกับเราได้มากจริงๆ
เด็กหญิงซาฮา ฮาดิด กับช่วงเวลาสั้นๆ ในอิรัก
เคยมีคนกล่าวว่า “ซาฮา ฮาดิด” (Zaha Hadid) โชคดีแล้วที่ไม่ได้อยู่ที่อิรัก แต่ย้ายมาอยู่ที่อังกฤษแทน เพราะไม่เช่นนั้นโลกอาจไม่ได้เห็นสถาปัตยกรรมสุดล้ำที่ฮาดิดออกแบบแน่ๆ เพราะสภาพบ้านเมืองอิรักสามสี่ทศวรรษให้หลังมีแต่ความขัดแย้งและความเสื่อมโทรม ซึ่งไม่ใช่ที่ทางอันเหมาะสมที่จะฟูมฟักสถาปนิกสุดล้ำคนนี้ได้
แต่กระนั้น ชีวิตวัยเด็กในอิรักเพียงไม่นานของฮาดิดก็นับเป็นคุณูปการสำคัญที่โลกนี้ต้องขอบคุณได้เหมือนกัน เพราะฮาดิดช่างเกิดได้ถูกที่ถูกเวลาเสียเหลือเกิน นอกจากเรื่องที่ว่าเธอมีแม่เป็นศิลปินแล้ว เธอยังเกิดในยุคทองของอิรัก
โดยในช่วงปี 1950-1959 เป็นช่วงที่ฮาดิดยังอาศัยอยู่นั้น เธอทันได้ไปดูโบราณสถานของอารยธรรมสุเมเรียนที่อยู่ทางตอนใต้ของอิรัก ซึ่งเป็นที่ที่ทำให้เธอเกิดความสนใจด้านสถาปัตยกรรม อีกทั้งยุคนั้นยังเป็นช่วงที่อิรักกำลังคึกคักไปด้วยสถาปนิกชื่อดังจากตะวันตกที่แวะเวียนมาเนรมิตกรุงแบกแดดให้เป็นเมืองที่ทันสมัยและโก้หรู ไม่ว่าจะเป็น “แฟรงก์ ลอยด์ ไรท์” (Frank Lloyd Wright), “วอลเตอร์ โกรเปียส” (Walter Gropius) ผู้ก่อตั้งเบาเฮาส์ (Bauhaus) ที่ได้รับยกย่องเป็นผู้บุกเบิกสถาปัตยกรรมสมัยใหม่
ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเติบโตมาในสภาพแวดล้อมเช่นนี้เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้หนูน้อยฮาดิดเกิดแรงบันดาลใจและทำให้เธอมาเอาดีด้านนี้ จนสามารถออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ให้โลกได้ตะลึง ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งลอนดอน(London Aquatics Centre), กวางโจวโอเปร่าเฮ้าส์ Guangzhou Opera House) ศูนย์ไฮดา อาลิเยฟ (Heydar Aliyev Cultural Center) ฯลฯ
ดังนั้น ถ้าจะให้เพิ่มจากคำกล่าวเรื่องฮาดิดโชคดีที่ไม่ได้อยู่ในอิรัก คงต้องบอกต่อด้วยว่า แต่อย่างไรเสีย ฮาดิดก็โชคดีมากที่เกิดในอิรักยุคนั้น ไม่เช่นนั้นโลกเราอาจไม่มีสถาปนิกหญิงสุดเจ๋งคนนี้ก็เป็นได้
วัยเด็กของสตีฟ จ็อบส์
สำหรับคนที่สอง คงไม่ต้องเล่าประวัติให้ยืดยาว เพราะเชื่อว่าหลายคนคงรู้จักชายคนนี้เป็นอย่างดี “สตีฟ จ็อบส์” (Steve Jobs) ศาสดาแห่งยุคที่ทำให้โลกเรามีไอโฟนใช้กัน สำหรับเรื่องจิ๊กซอว์วัยเด็กของจ็อบส์ ก็คือ “บ้าน” ของเขานั่นเอง
อย่างแรกเลยคือ จ็อบส์อาศัยอยู่กับพ่อบุญธรรมที่มีงานอดิเรกชอบประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในโรงรถ ซี่งทำให้เด็กชายจ็อบส์ซึมซับและกลายเป็นคนที่สนใจเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่เด็ก ถัดมาคือบ้านที่จ็อบส์เติบโตก็บังเอิญตั้งอยู่ในซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งอย่างที่ทราบดีว่ามันเป็นย่านที่บริษัทไอทีนิยมมาตั้งกัน ซึ่งนั่นทำให้จ็อบส์ที่มีความสนใจเรื่องของอิเล็กทรอนิกซ์อยู่แล้วเป็นทุนเดิม ได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตาดูเห็นสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ในยุคนั้นง่ายกว่าคนอื่นๆ
และที่สำคัญมันยังทำให้เขาได้พบกับ “สตีฟ วอซเนียก” เพื่อนรุ่นพี่ที่อาศัยอยู่ในย่านนั้นและได้รับอิทธิพลจากย่านที่พวกเขาอยู่ไม่ต่างกัน ซึ่งวอสเนียกเองนอกจากจะเป็นคู่หูที่ช่วยจ็อบส์เรื่องสิ่งประดิษฐ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว เขายังเป็นคนชักพาให้จ็อบส์เกิดเป้าหมายที่จะทำคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลออกวางขาย แน่นอนว่าความสำเร็จของจ็อบส์และวอซเนียกในการก่อตั้งและปลุกปั้นแอปเปิ้ลต้องเครดิตเรื่องความพยายามและความสามารถของพวกเขาอยู่แล้ว
แต่ก็น่าคิดไม่ใช่น้อยว่า ถ้าทั้งสองสตีฟไม่ได้เกิดในซิลิคอนวัลเลย์ และจ็อบส์ไม่ได้ซึมซับความสนใจเรื่องอิเล็กทรอนิกส์จากพ่อบุญธรรม โลกของเราจะมีบริษัทแอปเปิ้ลเกิดขึ้นหรือไม่
โรงเรียนแสนอบอุ่นของ “โต๊ะโตะจัง”
คนสุดท้ายคือ “คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ” ผู้เขียนหนังสือชื่อ “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” ที่มียอดขายทั่วโลกมากกว่า 7 ล้านเล่ม ได้รับการแปลมากกว่า 30 ภาษา ที่ใครหลายคนคงได้อ่านกันแล้ว และอาจตกหลุมรักกับความน่ารัก ความบริสุทธิ์ และอารมณ์ขันของหนูน้อยโต๊ะโตะจัง ซึ่งก็ตัวคุโรยานางิในวัยเด็กนั่นเอง
หนังสือ “โต๊ะโตะจัง” ไม่เพียงแต่บอกเล่ามุมมองน่าเอ็นดูของเด็กหญิงโต๊ะโตะ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องราวของโรงเรียนที่แสนอบอุ่นอย่าง “โรงเรียนโทโมเอ” โรงเรียนสุดพิเศษที่แตกต่างจากที่อื่นๆ ในญี่ปุ่น นั่นเพราะ “โคบายาชิ โซซาขุ” ครูใหญ่ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเป็นชายที่กำความฝันที่จะสร้างโรงเรียนเล็กๆ เพื่อปลูกฝังให้เด็กได้มีความสุขและภูมิใจกับธรรมชาติของพวกเขา
โรงเรียนแห่งนี้จึงไม่เน้นการสอนที่อัดแน่นวิชาการและชั่วโมงเรียนที่ยืดยาว แต่เน้นให้เด็กได้เรียนและเล่นไปพร้อมๆ กัน ไม่มีการบีบบังคับหรือดุด่าเด็ก แต่ส่งเสริมให้เด็กรู้สึกสนุกกับการได้รู้อะไรใหม่ๆ เรียกว่าเป็นโรงเรียนในฝันที่ใครอ่านหนังสือเล่มนี้ก็อยากมาเรียนที่นี่บ้าง
ดังนั้น โรงเรียนโทโมเอและครูโคบายาชิจึงนับเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยให้คุโรยานางิมีมุมมองที่เป็นธรรมชาติ อ่อนโยน สร้างสรรค์ ไม่ถูกกลืนไปกับกระแสสังคม ซึ่งสุดท้ายแล้วมันได้กลายเป็นสูตรผสมที่ลงตัวที่ผลักดันให้เธอในวัยผู้ใหญ่ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังถือว่าเธอโชคดีมากด้วยที่เกิดในช่วงนั้น เพราะโรงเรียนแห่งนี้เปิดได้เพียง 8 ปีเท่านั้นเอง ก่อนถูกไฟไหม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แต่กระนั้นช่วงเวลาสั้นๆ ก็เพียงพอที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจและความฝันของครูโคบายาชิมาสู่เธอ เพราะแม้โรงเรียนโทโมเอจะไม่มีอยู่อีกแล้ว แต่คุโรยานางิก็ได้ช่วยครูใหญ่สร้างโรงเรียนโทโมเอต่อลงในใจของคนผ่านตัวหนังสือที่เธอเขียน
จากทั้งสามเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นบ้าน บ้านเกิด หรือโรงเรียน ล้วนเป็นจิ๊กซอว์ที่ทำให้คนเกิดแรงบันดาลใจได้ทั้งนั้น ทว่าไม่จำเป็นเสมอไปหรอกนะ ที่เราต้องรอให้โชคชะตาสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นประโยชน์แบบนี้ขึ้นมา หากเราเองก็สามารถออกแบบสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างแรงบันดาลใจได้ด้วยเหมือนกัน
อย่าง “พฤกษา เรียลเอสเตท” เป็นแบรนด์หนึ่งที่พยายามชี้ให้เห็นประโยชน์ของสภาพแวดล้อมที่สร้างแรงบันดาลใจ ภายใต้แนวคิด “Live Inspired” กล่าวคือ ในมุมมองของพฤกษา บ้านไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่บ้านยังเป็นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเรา หรือแม้แต่ส่งต่อให้คนอื่นได้ด้วย
ซึ่งคุณน่าจะนึกเรื่องของใครหลายคนออก ที่พวกเขามีความฝันในชีวิตเกิดจากการเห็นเปียโนที่บ้าน กล้องถ่ายรูปของพ่อ นิตยสารสตรีที่แม่ชอบอ่าน เสน่ห์ปลายจวักของยายที่ครัว ของสะสมของปู่ที่ตกทอดมา ที่จะว่าไปแล้ว เรื่องแรงบันดาลใจก็ไม่ใช่อะไรอื่นไกลที่ต้องออกไปตามหาข้างนอก หากมันเกิดขึ้นใกล้ๆ อย่างในบ้านเราก็ได้
ดังนั้น หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากหาแรงบันดาลใจให้ตัวเอง หรืออยากส่งต่อให้คนอื่น บางทีคุณน่าจะลองเริ่มต้นที่บ้านของคุณนะ ลองทำมันให้เป็นที่ที่คุณชอบ หรือทำมันให้มีความหมายในแบบของคุณ เพราะไม่แน่จิ๊กซอว์ตัวใดตัวหนึ่งในบ้านอาจทำให้โลกนี้ได้ศิลปินหรือคนเจ๋งๆ เพิ่มขึ้นมาอีกคนก็เป็นได้
The MATTER x Pruksa #BeInspirer #LiveInspired
อ้างอิง
http://www.latimes.com/la-ca-ouroussoff14dec14-story.html
http://www.notablebiographies.com/supp/Supplement-Fl-Ka/Hadid-Zaha.html