“เราเคยเจอเรื่องเศร้าๆ มาเยอะ แต่ก็ผ่านมาได้ทุกครั้ง” ใครสักคนเคยกล่าวไว้
ซึ่งใครคนนั้นอาจเป็นพ่อของเรา เพื่อนสนิทของเรา คนดังที่เรารู้จัก หรือใครก็ได้ที่สักครั้งหนึ่งเราต้องเคยได้ยินเรื่องราวของเขาบอกเล่าเรื่องราววิธีการผ่านความเศร้าความทุกข์ในชีวิต ก่อนจะเข้มแข็งมาได้อย่างทุกวันนี้ ประเด็นอยู่ที่ว่า ไม่สำคัญว่าเขาจะเป็นใคร แต่สำคัญที่เขาผ่านพ้นเรื่องเศร้าๆ มาด้วยวิธีการไหนต่างหาก
กระบวนการเยียวยาความเศร้าแท้จริงแล้วเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เพราะมีวิธีที่หลากหลายและแตกต่างกันไป การฟังเพลงดูหนังนั่นก็ดี การพูดคุยปรับทุกข์กับคนสนิทนั่นก็ใช่ การออกไปทำอะไรที่ได้ปลดปล่อยตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้ผล แต่มีอยู่หนึ่งวิธีง่ายๆ ที่คนเคยเศร้าหลายคนยังไม่รู้มาก่อน ว่า ‘การนอน’ นี่แหละสามารถเยียวยาความเศร้าได้อย่างเห็นผลมากที่สุดวิธีหนึ่ง
เพราะการนอนมันดีต่อร่างกายและดีต่อใจมากมาย ลองนึกถึงคืนที่ได้นอนเต็มอิ่มบนเตียงนุ่มๆ แล้วตื่นขึ้นมาในเช้าที่แสงแดดอ่อนๆ ลอดบานหน้าต่างเข้ามา ความรู้สึกตอนนั้นเป็นอย่างไร อะไรที่เคยค้างๆ คาๆ จากเมื่อคืนวานยังคงอยู่หรือสลายหายไปแล้ว ถ้ายังนึกความรู้สึกนั้นไม่ออก ก่อนจะไปนอน อยากให้ลองมาพิสูจน์ดูว่า การนอนทำให้หายเศร้าได้ยังไง แล้วเราจะผ่านคืนนี้ไปด้วยกัน
ก่อนจะข่มตาหลับ
ช่วงเวลาก่อนนอนนับเป็นช่วงเวลาที่โหดร้ายที่สุดสำหรับคนที่กำลังเผชิญกับความเศร้า เพราะความเครียดทำให้ไม่สามารถข่มตาหลับได้ง่ายๆ แต่อยากให้พยายามลองหยุดทุกอย่างไว้ชั่วคราว แล้วมาเตรียมเผื่อเวลาสำหรับการนอนกันก่อนดีกว่า เป็นความรู้คู่ตัวที่บอกกันมาแต่ไหนแต่ไร ว่ามนุษย์อย่างเราๆ ควรนอนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง แต่จากผลสำรวจล่าสุดกับอาสาสมัครกว่าสองพันคนโดยนิตยสาร Country Living กลับบอกว่า ระยะเวลาการนอนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ทำให้เราตื่นมาแล้วมีความสุขที่สุดนั้นอยู่ที่ 7 ชั่วโมงต่างหาก ซึ่งการนอนน้อยกว่าหรือมากกว่านั้นจะส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์ มากเกินไปก็เกือบจะดี น้อยเกินไปก็จะแย่ เพราะฉะนั้นเผื่อเวลานอนไว้ให้พอเหมาะ เข้าใจกว่าการข่มตาให้หลับในขณะที่อารมณ์ยังหดหู่เป็นเรื่องยาก แต่วิธีการง่ายๆ อย่างการอาบน้ำให้สดชื่นก่อนนอน ก็จะช่วยให้การข่มตาหลับนั้นง่ายขึ้น
ก่อนจะขับตานอน
ช่วงเวลาขณะที่เรากำลังตื่น เรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตนั้นมากมายเกินกว่าจะจดจำทุกอย่างได้หมด แต่ก็มักเป็นเรื่องตลกร้ายที่เราชอบจดจำแต่เรื่องไม่ดีที่ทำให้ดำดิ่งสู่ความเศร้า David M. Rapoport แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนจาก NYU Langone Health อธิบายว่าในช่วงเวลาระหว่างที่เรากำลังหลับนี่เอง สมองจะตัดสินใจเองว่าอะไรที่ควรเก็บไว้หรืออะไรที่ควรโยนทิ้งไป ซึ่งมีผลสำคัญต่อการจดจำสิ่งต่างๆ มักเกิดขึ้นในลูปการนอนของช่วง NON REM ที่สมองส่วน Cerebral Cortex และ Thalamus ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำกำลังทำงานอยู่นั่นเอง ก่อนที่การหลับลึกในสเต็ปต่อไป Growth Hormone จะหลั่งออกมาเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย อย่าไปมัวกังวลกับความเศร้าที่เกาะกุม ปล่อยใจ สมอง และร่างกายทำงานไปตามกลไกลของธรรมชาติ โยนทิ้งเรื่องเลวร้ายทุกอย่างไปกับการหลับใหลเสียเถิด
ก่อนวันพรุ่งนี้จะมาถึง
ทันทีที่แสงสว่างกระทบเปลือกตา คือสัญญาณของการเริ่มต้นวันใหม่และชีวิตใหม่ไปพร้อมๆ กัน สมองเราจะปลอดโปร่งจากการที่ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ จากผลวิจัยของวารสาร SLEEP ยืนยันว่าคนที่นอนหลับอย่างเต็มอิ่มจะมีโอกาสเกิดความรู้สึกหดหู่ได้น้อยกว่าและจัดการกับความเครียดได้ดีกว่า ลองลุกขึ้นจากที่นอนช้าๆ มองออกไปยังที่มาของแสงสว่าง แล้วค่อยๆ นึกทบทวนถึงความเศร้าที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวาน ว่ามันยังเกาะกุมหรือทำร้ายเราอยู่ไหม จะมากหรือน้อยแค่ไหนก็ย่อมดีขึ้นแน่นอน สมองของเราจะค่อยๆ ร่างเส้นทางใหม่ๆ ให้กับชีวิต ทางออกที่ไม่เคยมองเห็นก็จะปรากฏ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเรื่องราวดีๆ มักจะเกิดขึ้นในตอนเช้าเสมอ
แม้สุดท้ายแล้ว ‘การนอน’ อาจจะเป็นเพียงหนทางหนึ่งในการเยียวยาความเศร้า เพราะแต่ละคนต่างก็มีวิธีการที่แตกต่างกันไป แต่ถึงอย่างไรก็ขอให้เชื่อในพลังของวันพรุ่งนี้ว่าจะต้องดีกว่าแน่นอน
ลองไปสัมผัสเรื่องราวๆ ดีของคนที่ยังมีความหวังในวันพรุ่งนี้กันดู
สนับสนุนโดย ที่นอนโลตัส
อ้างอิง