เราเชื่อว่า หลายคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 หรืออีก 31 วันที่กำลังมาถึง จะเป็นวันที่เราชาวไทยจะต้องออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงเพื่อลง ‘ประชามติ’ รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 อันเป็นผลงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ซุ่มทำมานานหลายเดือนหลังจากที่ตัวเองฉีกฉบับเก่าทิ้งไปเมื่อ 2 ปีก่อน
บางคนอาจโอดครวญว่า เอาอีกแล้วว เลือกตั้งอะไรอีกแล้ว คราวที่แล้วก็วุ่นวายจนกลายเป็นโมฆะ เบื่อแล้ว นักการเมืองก็ยังงี้ ประเทศไทยก็ยังงั้น นู่นนี่นั่น ฯลฯ แต่อันที่จริง การโหวตครั้งนี้นับว่าเป็นการโหวตครั้งสำคัญ ไม่แพ้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรครั้งไหน เพราะรัฐธรรมนูญที่ว่านี้เป็นสิ่งที่อยู่กับเราต่อจากนี้ไปอีกเป็นสิบปี (เอาน่า ถึงผู้มีอำนาจบ้านเราจะฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งกันเป็นว่าเล่นก็ตาม) เป็นกฎหมายสูงสุดที่ไม่ว่าใครก็จะต้องปฏิบัติตาม เป็นทั้งประโยชน์ เป็นทั้งโทษแก่ตัวเราเอง
30 วันก่อนจะถึงวันลงประชามติครั้งนี้ The MATTER ด้วยความร่วมมือจาก iLaw ชวนให้ทุกคนมาทำความเข้าใจและทำความรู้จักการลงประชามติเบื้องต้นที่ควรรู้ เช่น มันคืออะไร / โหวตไปเพื่ออะไร / โหวตแล้วยังไง / ทำไมมันดูยากเย็นและไม่น่าสนใจ / มันมีข้อดีหรือข้อเสียยังไงบ้าง / หรือบางคนอาจบอกว่ามันช่างน่ากลัวกว่าการลงประชามติครั้งไหนๆ / เอ้อ ทำไมล่ะ / ฯลฯ
ผ่าน 30 ข้อมูลร่วมกับ 30 โจทย์สนุกๆ ประจำแต่ละวันที่ชวนให้ทุกคนลองทำดูเพื่อความเข้าใจสถานการณ์ในแต่ละข้อมูลมากขึ้น (ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก This Diary Will Change Your Life อันโด่งดังนั่นแหละ) ที่รวมๆ แล้วเราคิดว่ามันน่าจะเปลี่ยนแปลงความคิดหรือชีวิตไปได้ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็หวังจะทำให้เห็นคุณเห็นว่า ประชามติครั้งนี้จะเปลี่ยนชีวิตเราไปยังไงบ้าง โดยพวกเราเองนี่แหละที่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงมันเนาะ
เราจะมีมาเพิ่มเรื่อยๆ จนครบ 30 วันนะ มานับถอยหลังและทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน โปรดติดตาม
day 30
‘WHAT WE LIVE FOR’ DAY
วันนี้เป็น’วันตรวจสอบหาความหมาย’ ว่าเพราะอะไรเราถึงเกิดมา เราเกิดมาเพื่ออะไร ลมหายใจที่พ่นทิ้งไปต่อวันนั้นมีประโยชน์แก่ผู้ใดบ้าง เป้าหมายในชีวิตคืออะไร การมีเราอุบัติขึ้นมานี้นั้นเพื่อกิจการงานอะไรบ้าง
เสมือนการค้นหาความหมายของการเกิดอีเว้นต์ร่างประชามติที่ว่านี่แหละ ก็ทุกอย่างมันมักมีเหตุผล มีที่มา มีที่ไป ตั้งข้อสงสัย เผื่อว่าจะได้รู้ว่ามันต้องเดินทางไปทางไหน ไม่ใช่คลำไปข้างหน้าอย่างไม่รู้จุดหมายอะแก
ทำไมถึงมีอีเว้นต์ ‘ลงประชามติ’ ครั้งนี้ขึ้นมา?
ก็เพราะทุกครั้งที่มีการปฏิวัติรัฐประหารจะต้องมีการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่บ้านเมืองกำลังใช้อยู่ทิ้งไปเนื่องจากรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับระบุถึงการขึ้นสู่อำนาจว่า ‘ต้องใช้วิธีการทางประชาธิปไตยเท่านั้น’ ดังนั้นหากไม่ทำการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก่อนการรัฐประหารก็จะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและขาดความชอบธรรม ซึ่งเราก็ไม่ได้ฉีกกันอยู่ประเทศเดียวนะ มีบูกินาฟาโซที่เพิ่งรัฐประหารเป็นเพื่อนเราไปไง
การรัฐประหารครั้งนี้ที่นำโดยทั่นพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา (ที่ขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก) ก็เกิดจากปัญหาความขัดแย้งสะสมทางการเมืองในประเทศไทยและข้อกล่าวหาเรื่องการบริหารราชการของรัฐบาลเดิม เช่น การทุจริต การไม่สามารถสร้างความสงบจากการชุมนุมทางการเมืองได้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงทำการยึดอำนาจเพื่อแก้ขัดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นซะเลย ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารและยังไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เราจะถือว่าผู้ที่ทำการยึดอำนาจคือรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งมีอำนาจสูงสุดจะทำอะไรก็ได้ ที่ผ่านมา อย่างในยุคจอมพลสฤษดิ์ ในระหว่างที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นกฎหมายสูงสุด คณะรัฐประหารจะออกประกาศหรือคำสั่ง (เหมือนกับ คสช. ที่ออกประกาศหรือคำสั่ง คสช. ออกมา) และสิ่งเหล่านี้จะถือว่าเป็นกฎหมายแบบหนึ่ง
day 29
TODAY IS VERY TIGHT
วันนี้เป็น ‘วันแห่งความรัด’ ทดลองใส่เสื้อให้เล็กลงหนึ่งไซส์ เพื่อให้เกิดสุญญากาศภายในร่างกายของท่าน เป็นการแสดงถึงสิ่งที่ความรัดกระทำกับเราจนอึดอัด ไม่มั่นใจ ไม่สามารถทำอะไรต่อได้ ความโปรดัคทีฟเท่ากับศูนย์ ใส่ออกมาจากบ้านแล้วด้วย จะกลับไปเปลี่ยนก็ลำบาก ต้องอดทนต่อไปอย่างนี้น่ะ…หรือ
มันก็เสมือนสุญญากาศทางการเมือง ช่วงที่รัฐบาลที่ไม่สามารถก่อประโยชน์อะไรได้เพราะทำอะไรไม่ได้ เต็มไปด้วยความอึดอัด กินไม่เข้า คายไม่ออก เป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องลองพิจารณาใหม่ว่าไอ้เสื้อตัวที่สวมอยู่นี่มันทำให้อึดอัดเพราะอะไร เพราะเราเองที่โง่เลือกมา กินเยอะขึ้นจนอ้วนเผละ หรือเป็นเพราะตัวเสื้อที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่พอดีกับเรา เฮ่อ
ภาวะสุญญากาศทางการเมืองคืออะไรอะ?
ภาวะสุญญากาศทางการเมือง ก็คล้ายๆ กับภาวะสุญญากาศจริงๆ นั่นแหละ คือเวลาเราไม่มีอากาศหายใจ มันก็อึดอัด คับข้อง เดินไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ขยับไปทางไหนก็ไม่ได้ ทีนี้ถ้าเป็นทางการเมือง สุญญากาศทางการเมืองมันก็แล้วแต่ว่าใครจะบอกว่าสภาวะแบบไหนนะที่เรียกว่ามันก้าวไปข้างหน้าไม่ได้แล้ว ในทางเทคนิคการที่รัฐจะเข้าสู่ภาวะสุญญากาศ (คือแบบโคตรวิกฤตสุดๆ แล้ว วิกฤตกว่านี้ไม่ได้) ก็คือรัฐที่ไม่มีใครบริหาร ลองนึกถึงประเทศที่คนมักบอกว่าเป็นเหมือนเรือ เรือที่ไม่มีกัปตันก็เป็นเรือที่ไม่สามารถแล่นไปทางไหนได้ ภาวะโหดสุดอันนี้เรียกว่าภาวะอนาธิปไตย คือเป็นบริษัทที่ไม่มีผู้บริหาร ต่างคนต่างไปคนละทาง ไม่มีการสั่งการดูแลที่เป็นเอกเทศ
สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยเองก็มีวิกฤติที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น เริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องที่มาของ สว. ที่จะตัด สว. แบบสรรหาออกไป ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการบริหารประเทศที่ละเลยเสียงข้างน้อย เกิดความวิตกกังวลว่าเมื่อรัฐบาลได้เสียงส่วนใหญ่แล้วจะทำอะไรตามอำเภอใจก็ได้ ซึ่งต่อมาเกิดการกรณี พรบ. นิรโทษกรรมแบบสุดซอยขึ้น มีการเปลี่ยนเนื้อหาจากการนิรโทษแค่นักโทษทางการเมืองเพื่อลดทอนความขัดแย้งในประเทศกลับมีการหมกเม็ดนิรโทษไปยังคดีที่อยู่นอกเหนือความผิดทางการเมือง พรบ. สุดซอยนี้เองที่เป็นสิ่งที่ทำให้ข้อวิจารณ์ว่ารัฐบาลเสียงข้างมากทำสิ่งต่างๆ ตามอำเภอใจจนเกินไป ผนวกกับข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตต่างๆ เช่น กรณีจำนำข้าว ทำให้เกิดการชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านขึ้น
ผลคือศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ พ.ร.ฎ.ยุบสภา เฉพาะส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย มากกว่าโมฆะอ่ะ เพราะถ้าบอก 2 ก.พ. โมฆะมันจะเลือกตั้งใหม่ได้ แต่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมันมีลักษณะ ‘แทงกั๊ก’ เลยทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองขึ้น ตรงนี้เองทำให้ในทางเทคนิคแล้วไทยเข้าสู่ภาวะสุญญากาศอย่างเต็มตัวเพราะไม่สามารถจัดเลือกตั้งเพื่อแต่งตั้งรัฐบาลต่อไปได้ จุดนี้เองที่ทหารเข้ามามีส่วนร่วมโดยการจัดการพูดคุยให้กับขั้วการเมืองทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ แต่ก็พบกับความล้มเหลว และตัดสินใจทำรัฐประหารในท้ายที่สุด เหตุผลหลักๆ ในประกาศ คสช. ฉบับแรก คือเพื่อระงับความรุนแรงและความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดขึ้น
day 28
WRITE YOUR LAW DAY
วันนี้คุณต้อง ‘รับบทเป็นผู้ร่างกฎหมาย’ บ้านเมืองต้องมีขื่อมีแป ไม่ต้องไปไกลหรอก เอาแค่เฉพาะห้องนอนของคุณเองนี่แหละ คิดเสียว่าใครที่ก้าวเข้ามาในห้องนอนของคุณจะต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายดังต่อไปนี้ ใครฝ่าฝืนจะโดนอะไร ทำเตียงยับต้องโดนตบ, หนังสือไม่เก็บเข้าที่ต้องถูกปรับ 15 บาท ฯลฯ และเมื่อร่างกฎหมายเสร็จคุณก็ต้องเคารพในกฎเกณฑ์ที่ร่างขึ้นมาด้วยนะ! หรือจะปฏิวัติรัฐประหารก็…ลองดู
เสมือนการร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างก็ควรจะรู้ว่าประเทศของตัวเองเหมาะกับอะไร โทษแบบไหนถึงเหมาะสม อะไรเป็นสิ่งที่ควรอะลุ่มอะหล่วย แล้วถ้าลองสลับกันว่าเราไม่ได้เป็นผู้ที่ร่างกฎหมายนั่น ก็ควรจะได้รับรู้ว่าเพราะอะไรถึงมีกฎนี้ ทำไมโทษจะต้องเป็นยังงี้ยังงั้น และแน่นอนว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ร่างหรือผู้ถูกร่าง ในบ้านเมืองที่ใหญ่โตกว่าห้องนอนมหาศาล เราต่างต้องเคารพกฎหมายด้วยกันทั้งนั้นแหละ ยกเว้นแต่จะมีคนมาฉีกมันในที่สุด
ว่าแต่รัฐธรรมนูญนี่มันคืออะไร อันเดียวกับกฎหมายปะ
ลองนึกถึงสมัยก่อน การปกครองประเทศมันมักจะเป็นของคนๆ เดียว ซึ่งมันก็มักจะเป็นปัญหาเพราะพอมีอำนาจแล้วก็มักจะเจ๊ง มักจะปกครองไปตามอำเภอใจ รัฐธรรมนูญ เลยเป็นเสมือนข้อตกลงหรือหลักการใหญ่ๆ ของประเทศที่บอกความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้การปกครอง หลักๆ คือบอกว่าประชาชนมีสิทธิอะไรบ้างและรัฐบาลจะมีที่มายังไง คือพอมันเป็นเหมือนข้อตกลงที่เป็นทางการในระดับที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐธรรมนูญเลยเป็นเหมือนกฎหมายพี่เบิ้มที่ใหญ่ที่สุดในการจัดระเบียบการปกครองประเทศ
รัฐธรรมนูญแห่งราขอาณาจักรไทยก็มีลักษณะเหมือนที่พูดมานั่นแหละ เป็นตัวบทกฏหมายที่บอกว่ารัฐบาลจะมีที่มายังไง ประชาชนจะมีสิทธิอะไรบ้าง ควรได้อะไรบ้าง ทำอะไรได้บ้าง พวกนี้คือหลักการใหญ่ๆ ระหว่างผู้ปกครองและผู้ปกครองที่ถูกบัญญัติหรือรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ปกติก็จะกำหนดไปตามแนวคิดที่เป็นประชาธิปไตย นับตั้งแต่ปี 2475 ราชอาณาจักรไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ (ที่กำลังร่างกันอยู่คือเป็นลำดับที่ 20) โดยมีร่างฉบับที่ 1 ปี 2475 มีอายุสั้นที่สุดคือ 5 เดือน 3 วัน และที่อายุยาวที่สุดคือฉบับถัดมา ประกาศในเดือนธันวาคม 2475 มีอายุ 13 ปี 5 เดือน
แต่ไทยก็ยังไม่ได้ครองแชมป์ร่างรัฐธรรมนูญบ่อยสุดนะ เสียใจด้วย
แล้วรัฐธรรมนูญไม่มีได้มั้ย ทำไมจะต้องมี แล้วตอนที่ไม่มีทำยังไงมาตลอด คำตอบคือ จริงๆ ไม่มีก็ได้นะ แต่คงต้องมีกติกาบางอย่างที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการเข้าสู่อำนาจของคนที่จะมาบริหารประเทศ จะเขียนไว้ในรูปแบบไหนก็ได้ หรือถ้าทั้งสังคมตกลงเห็นชอบร่วมกันแล้ว จะไม่เขียนไว้เป็นตัวหนังสือก็ได้ แต่เอาเป็นว่ามันต้องมีกติกาที่ยอมรับกัน ก็มีบางประเทศที่ไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ใช้จากหลักการทั่วไปและหลักจากคำพิพากษาของศาล เช่น อังกฤษ ซึ่งก็ถือว่ามีรัฐธรรมนูญนะ หรือประเทศที่กษัตริย์ปกครอง กษัตริย์สั่งอะไรก็ได้ แบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญ
day 27
YES DAY
วันนี้เป็น ‘วันเยส’ อย่าปฏิเสธใครแม้แต่คนเดียว เป็นคนง่ายๆ เข้าไว้ ง่ายทั้งใจทั้งกาย ใครมาชวนอะไรก็ OK ไปให้หมด ไหว้วานเรื่องไหนก็พร้อมจะช่วย ประหนึ่งยักษ์จินนี่ที่พร้อมจะบันดาลทุกสิ่งที่คนอื่นขอ เออออห่อหมกไปกับเขาไม่ว่าจะเป็นใคร ขอให้ขอมาเหอะ เยสแน่นอน
เสมือนการที่คุณพร้อมจะเยสทุกอย่างโดยไม่คิด ไตร่ตรอง ไม่ประเมินสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ และไม่คำนึงถึงผลร้ายผลดีที่จะเกิดตามมา คุณเห็นดีเห็นงามอย่างไร้ตรรกะ ซึ่งเราก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะเยสกับทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญกับชีวิตของเรามากๆ
ถ้าผลโหวต YES จะเกิดอะไร?
คสช.เสนอ Roadmap สูตร 6-4-6-4 หมายถึงจำนวนเดือนเพื่อไปสู่ปลายทางการเลือกตั้งจริงๆ (จริงอะ?) ในปี 2560 ซึ่งพี่ๆ เขาประกาศออกมาในเดือนกันยายน 2558 หมายถึงใน 6 เดือนแรก (ตุลาคม 2558 ถึงเมษายน 2559) จะเป็นช่วงของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 4 เดือนถัดมา ก็คือช่วงที่เรากำลังอยู่นี่แหละ คือประเด็นช่วงของการดำเนินการประชาสัมพันธ์และลงประชามติ ซึ่งหากประชามติผ่าน คือประชาชนแห่แหนกันไปโหวต ‘YES’ เห็นด้วยอะกรีวิธยูแอนด์เอคเซปเอเวอรี่ติงออนรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ก็จะใช้เวลาอีก 6 เดือน (คือช่วงสิงหาคม 2559 ถึงกุมภาพันธ์ 2560) ในการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และ 4 เดือนสุดท้ายก็จะเป็นช่วงเวลาของการหาเสียงและจัดการเลือกตั้งได้ โดยช่วงนั้นเราจะเรียกรถเมล์ได้ยากเป็นพิเศษเพราะป้ายหาเสียงแม่งคงบังกูตามเคย
สรุปแล้ว หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ ไม่มีอะไรผิดพลาดผิดแผน ก็จะมีการจัดการเลือกตั้งได้ในช่วงกลางปี 2560 ตอนนั้นเราคงจะมีรัฐบาลใหม่ นายกรัฐมนตรีคน…ใหม่…มั้ง ไม่รู้ และที่แน่นอนก็คือ เราต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปอีกอย่างน้อยก็จนกว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกอย่างเมื่อสองปีก่อน
day 26
NO DAY
วันนี้เป็น ‘วันโน’ อย่าตอบรับใครแม้แต่คนเดียว เป็นคนยากๆ เข้าไว้ ยากทั้งใจทั้งกาย ใครมาชวนอะไรก็ NO ไปให้หมด ใครไหว้วานอะไรก็พร้อมจะปฏิเสธ คุณเสมือนยักษ์ใจมารที่พร้อมจะหักอกทุกคนที่ขอ ส่ายหัวส่ายหน้าปฏิเสธให้หมดไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน ขอมาเหอะ ยังไงก็ Say NO
เสมือนการที่คุณพร้อมจะ NO อย่างไม่มีเหตุผล อคติเกาะกินจิตใจจนไม่เปิดรับทางเลือกใดๆ ต่อต้านไปเสียงทุกสิ่ง ชิงชังไปเสียทุกอย่าง มันเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าในการปฏิเสธของคุณอาจทำให้คุณพลาดโอกาสในการเจออะไรใหม่ๆ อะไรที่อาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องกว่าที่คุณมีอยู่
เอ่อ อ่า ถามนิดนึงนะ…แล้วถ้ามันออกมาแล้วมันเป็น NO ล่ะ
เออ นั่นสิ ใช่มะ ถ้าเกิดโหวต NO มาไม่รับแล้วจะทำยังไง คำตอบคือไม่รู้ ไม่มีใครรู้ ไม่มีความชัดเจนใดๆ ปรากฏ หากผลประชามติออกมาแล้วโชว์ว่าประชาชนชาวก็อตแทมเซย์โนววววอแหวนยาวเหยียดวีค้านบริงยัวร์รัฐธรรมนูญทูเอาเอ้อไล้ฟ์ ไม่รับเด็ดขาด ไม่ ไม่ ไม่ว่าจะเป็นเพราะมี ‘คำถามพ่วง’ ซึ่งเกี่ยวกับการปฏิรูปพ่วงท้ายมาด้วยในใบโหวตจนทำให้ประชาชนเบลอเนื่องจากไม่เห็นจะรู้มาก่อนว่าจะถามอะไร หาข้อมูลไม่ทัน หรือเพราะไม่พอใจร่างรัฐธรรมนูญในบางข้อ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติแหละที่ผลของประชามติจะออกมาได้หลายรูปแบบ อาจผ่านอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ผ่านทั้งสองอย่าง แม้ว่าจะมีการคาดคะเนจากนักวิชาการและสื่อมวลชนออกมาตั้งหลายอย่าง เช่น อาจจะร่างใหม่แล้วทีนี้ก็จะไม่ขอประชามติแล้วล่ะ คือประกาศใช้ไปเลย หรือเปลี่ยนร่างปรับปรุงใหม่แล้วปรับแผนขยับออกไป กระทั่งคาดเดากันไปว่าอาจเกิดความรุนแรงได้เพราะเมื่อคะแนน NO ออกมาเยอะๆ ก็แสดงถึงพลังที่ต่อต้านรัฐบาลที่ชัดเจน นั่นเองที่อาจจะเป็นชนวนไปสู่ความวุ่นวายได้อีกครั้ง แต่ก็เดากันไป เพราะยังไม่ปรากฏแผนจากทางรัฐบาลอย่างเป็นทางการในกรณีที่ผลของประชามติเป็น ‘ไม่รับ’ อะนะ
day 25
MAI ROO RUENG LEI DAY
วันนี้เป็น ‘วันมโน’ ทดลองตั้งคำถามที่คุณเองก็ไม่สามารถตอบได้ เขียนโจทย์ให้เข้าใจยากๆ วกไปวนมา ใครตอบได้หรืออ่านเข้าใจคือคุณผิด หรือกระทั่งถ้าคุณตอบได้ด้วยก็จะย่ิงผิด เป้าหมายของคุณคือให้คนที่อ่านคำถามของคุณต้องรำพึงว่า “ไม่รู้เรื่องเลย”
เสมือนความยากจะเข้าถึงความหมายของประโยคที่เข้าใจได้ไม่ง่าย ความวกวนของประโยค การเลือกใช้คำอันเยินเย่อ ที่เหมาะแก่การใช้กับคนที่คุ้นเคยกับแวดวงนั้นมากกว่าคนทั่วไป เช่น ภาษาของนักกฎหมาย ภาษาของหมอ ภาษาของวิศกรคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่คล้ายกับจะเป็นการ ‘กีดกัน’ คนอื่นที่ไม่ใช่พวกตัวออกไปจากความรับรู้…
หือ ‘คำถามพ่วง’ คืออะไรนะ….
เนี่ย ไม่รู้เหมือนกันเลย ถามคุณวิชัยตอนกินข้าวก็ไม่รู้ว่าอะไรคือคำถามพ่วง (วันไหนจะต้องลงประชามติแล้วบางคนยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำเว่ย!) เอ่อ เอางี้ จำได้ปะว่าเวลาเลือกตั้ง เราก็เลือกกันเลยใช่มั้ยว่าจะเลือกใครเบอร์ไหนพรรคอะไร คนละใบก็กาไปใบละคน (แน่ะ เล่นคำ) ข้อมูลของผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งก็อ่านกันตรงหน้าเต็นท์ลงคะแนนนั่นแหละ แต่การลงประชามติครั้งนี้มันไม่ใช่มีแค่โจทย์ที่ว่าเราจะ ‘รับ’ หรือ ‘ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่านั้น (ประโยคจริงจังๆ ประมาณว่า “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”) แต่จะมีอีกคำถามให้เราตอบรับด้วยอีกโจทย์หนึ่ง เป็นประเด็นเพิ่มเติม หรือเรียกว่าคำถามพ่วงนั่นแหละทาเคชิ ซึ่งแน่นอนมันก็ไม่ได้ถามว่าท่านกินข้าวแล้วหรือยังใช่มั้ย มันก็ต้องเกี่ยวกับการปกครองและบางเรื่องบางข้อในตัวบทของมันนั่นแหละ โดยคำถามที่ว่าก็คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” คือคำถามจะเข้าใจยากๆ งงๆ ยาวๆ หน่อย คือยาว 57 words 275 คาแรคเตอร์อะ ทวีตไม่จบในทวีตเดียวอะมึงคิดดู ดังนั้นควรใจเย็นๆ ค่อยๆ อ่านให้ดีนะว่าเขาถามอะไร (ใครแปลได้ช่วยแปลหน่อย มึน)
day 24
สั่งจังเลยเดย์
วันนี้เป็น ‘วันเจ้ากี้เจ้าการ’ ให้คุณ tag เพื่อน 3 คนที่มีนิสัยเจ้ากี้เจ้าการ ชอบจัดการจัดแจง สั่งไปเสียทุกอย่าง แต่ก็ไม่เป็นคนที่ขาดไม่ได้ในกลุ่ม เป็นพวกที่ขั้นตอนต้องเป๊ะ ทุกอย่างต้องเนี้ยบ ผองเพื่อนจะพร้อมกันได้ก็เพราะเขาหรือเธอเหล่านี้ ไปเที่ยวต่างจังหวัด, เลี้ยงรุ่น, หมูกระทะ, คาราโอเกะ, ไดหมึก ฯลฯ
เสมือนในทุกกิจกรรมก็ต้องมีคนกลางที่เป็นคนที่คอยขับเคลื่อนให้ทุกสิ่งมันสัมฤทธิ์ผล ไม่ว่าจะก่อความรำคาญใจให้แก่เราอยู่บ้างกับขั้นตอนที่รกรุงรัง ความหยุมหยิมของกระบวนการ เจ้ากี้เจ้าการจนอาจทำให้มีบางฝ่ายไม่พอใจ ตั้งข้อสงสัยและต่อต้าน การเลือกตั้งก็เช่นกัน!
งี้เราจะรู้ได้ยังไงว่าผลโหวตเป็นจริง?
อย่างที่รู้กัน ในโลกของกีฬาก็มีคนที่ทำหน้าที่ ‘กรรมการ’ หมายถึงคนกลางที่เป็นอิสระ และมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลควบคุมให้กิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งดำเนินไปได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ในบรรดาการเลือกตั้งหรือการลงประชามติครั้งนี้ก็เช่นกัน มันเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการควบคุมและจัดการเลือกตั้งแทนกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ปี 2540 นู่นแน่ะ พูดให้ง่ายๆ กกต.เนี่ยก็คล้ายๆ เป็นออร์แกไนซ์เซอร์ที่ต้องทำตั้งแต่หาช่วงเวลาอันเหมาะสม ให้ข้อมูลของการเลือกตั้งที่ถูกกำหนดขึ้น ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้ว่าเฮ้ยจะมีเลือกตั้งแล้วนะเว้ย กรุณาออกมาใช้สิทธิของท่านให้เต็มเหนี่ยวไปเลย คอยป้อนข้อเท็จจริงของทั้งทุกฝ่าย (ในกรณีการเลือกตั้ง) ให้กับผู้คน ออกเงินให้พรรคทำป้าย ต่างๆ นานาเพื่อให้การเลือกตั้งมันเกิดขึ้นได้จริงและเป็นไปอย่างถูกต้อง คือน่าเชื่อถือ โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และแน่นอนว่า กกต. เองก็เป็นองค์กรหนึ่งที่จะต้องรับผิดชอบให้ประชาชนนั้นไม่เกิดความขุ่นข้องหมองใจในผลการเลือกตั้ง อาจเป็นการจัดถ่ายทอดการนับคะแนน หรือมีคณะกรรมการตรวจสอบอีกทีเพื่อความสบายใจของปวงชน ที่สำคัญควรจะทำตัวให้น่าเชื่อถือเหมาะแก่การเป็น กกต.
ซึ่งกกต.ชุดนี้เขาก็พยายามงัดแงะเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมาเพื่อประชาสัมพันธ์การลงประชามติครั้งนี้ เช่น แอพ ‘ดาวเหนือ’ เพื่อให้คนทั่วไปได้เดินทางไปลงคะแนนเสียงแบบไม่มีหลงทาง บ้านอยู่ไหนรู้หมด ต้องไปตรงไหนก็บอกได้เพราะมีข้อมูลพื้นฐานของประชาชนครบถ้วน (แต่ว่ากันว่าโดนล้วงข้อมูลลับง่ายดาย อ้าว) แอพ ‘ตาสัปปะรด’ ที่เป็นศูนย์กลางในแจ้งคนทุจริตในการลงประชามติ หรือแอพ ‘ฉลาดรู้ประชามติ’ ที่เป็นข้อมูลสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญร่างปัจจุบันที่กำลังจะต้องไปลงคะแนนกันนี่แหละ เห็นมะ ล้ำสุดๆ!
day 23
DAY OF PROJECTSSSSSS
วันนี้เป็น ‘วันเจ้าโปรเจ็กต์’ tag เพื่อนที่ ‘เจ้าโปรเจ็กต์’ ที่สุดมา 3 คน เพื่อบอกให้เขารู้ว่าเราซาบซึ้งแค่ไหนที่มีคนแบบเขาอยู่ เพราะไม่งั้นเพื่อนคงทำอะไรได้ไม่เป็นชิ้นเป็นอันแน่นอน เพราะมักจะมีแค่แนวคิดเท่านั้น ไม่มีใครลงมือปฏิบัติ ก็แหงสิเพราะอยู่เฉยๆ คอยเชียร์มันสบายกว่าตั้งแยะ เพื่อนที่เป็นเจ้าโปรเจ็กต์นี่แหละที่เราจะสบายใจเสมอเมื่อกิจกรรมใดๆ อยู่ในมือของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นงานใหญ่ งานเล็ก งานสำคัญ งานไม่สำคัญ เพื่อนเอ๋ยฉันรักแกมากเลยนะ ช่วยจัดเลี้ยงรุ่นให้หน่อยสิ กูไม่ว่างทำ
เสมือนการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ มีฝักฝ่ายหลายด้าน มีทั้งขยันทั้งขี้เกียจ (รวมถึงขยันแต่ไม่อยากจะเป็นศูนย์กลางในการจัดการเรื่อง ฯลฯ) ก็ต้องมีคนที่คอยจัดการทุกสิ่งให้เดินหน้าไปได้ เป็นพวกที่ขยันจัดนู่นนี่ ริเริ่มแนวคิด ต่อเติมไอเดีย ป่าวประกาศ ให้ข้อมูล และจัดการให้ทุกคนได้ล้อมวงเข้ามาเพื่อบรรลุเป้าหมายที่หมู่เฮาต้องการ
แล้ว กกต. มาจากไหนอะ ใครเลือก
นั่นสิ แล้วใครจะเป็นคนหากรรมการมาคอยทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามอุดมคติที่ว่า และน่าเชื่อถือได้ล่ะ คำตอบคือ ในประเทศไทยเราใช้วิธีการสรรหา ใครจะเป็นคนสรรหามันก็ต้องเป็นคนที่มหึมากว่าคนที่จะมาเป็นผู้คุ้มกฏอีกที กกต. ชุดภายใต้การนำของ คสช. ตามตำแหน่งมีทั้งสิ้น 5 ท่าน โดย 2 ตำแหน่งคัดเลือกมาจาก 5 ผู้พิพากษาศาลฎีกา ทั้ง 139 คน เป็นผู้เลือก อีก 3 ตำแหน่งประกาศรับสมัครบุคคลทั่วไป โดยมีคณะสรรหาเป็นผู้คัดเลือก ซึ่งคณะสรรหาที่มาคัดเลือกก็จะประกอบไปด้วย ประธานศาล เช่น ศาลฎีกา ศาลปกครอง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นต้น ส่วนตำแหน่งสุดท้ายที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองเลือกคนที่ไม่ใช่ตุลาการมา 1 คน รวมทั้งสิ้น 6 ตำแหน่ง เป็นไงล่ะ ระดับบิ๊กทั้งนั้นๆ … แต่ ดูเหมือนว่าจะหลากหลายเนอะ คือมีเลือกมาสอง สมัครสาม แต่กรรมการคัดเลือก ก็ดูซ้ำๆ นิดนึง แต่ส่วนใหญ่เป็นศาลเนอะ ท่านคงเล็งเห็นว่าคนไหนเป็นคนโปรงใสยุติธรรมแหละ
จริงๆ กกต. โดยตำแหน่งก็มีความซับซ้อนงงงวยอยู่เหมือนกัน เพราะโดยหลักแล้วต้องเป็นองค์กรอิสระสำคัญที่มาอำนวยและโปรโมตการเลือกตั้งให้มันดีงามและเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด การก่อตั้ง กกต. ในฐานะองค์กรอิสระเดิมมันก็ผูกพันกับรัฐธรรมนูญ (ที่ตอนนี้ไม่มีง่ะ) แถมการเลือกตั้งและกิจกรรมที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยก็ไม่มี ไม่รู้ว่ามีไว้ทำไม แต่คงจะมีอะไรให้ทำมั้ง คสช. เลยออกประกาศให้ กกต. ยังคงทำงานต่อไป และก็เริ่มมีบทบาทจริงๆ จังๆ ช่วงการลงประชามตินี่แหละ บางคนเราก็เห็นหน้าเขาบ่อยๆ นิดนึง
day 22
THE DAY OF GURU
วันนี้เป็น ‘วันรวมเทพ’ ซัมม่อมเพื่อนของคุณที่เชี่ยวชาญในหมวด ‘ประวัติศาสตร์’ ‘วิทยาศาสตร์’ ‘ข่าวสาร’ ‘สังคม’ ‘การเมือง’ หรือเรื่องอะไรก็ได้ที่คิดว่า โอ้ พระเจ้า นี่แหละคือทวยเทพที่อยู่รอบๆ ตัวของเรา อยากรู้อะไรแม่ง เอ๊ย เขาก็รู้หมด ตอบได้ทุกคำถาม google นี่กระจอกไปเลยเมื่อเผชิญหน้ากับพวกเขาเหล่านี้!
เสมือนการรวมหัวรวมตัวกันเวลาที่ต้องการความเห็นเชิงลึกจากคนหลายๆ ฝ่าย ยิ่งหากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับคนวงกว้างก็ยิ่งจะต้องมีตัวแทนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมาให้คำตอบ เพราะมันไม่มีทางอยู่แล้วที่คนคนเดียวจะสามารถตัดสินใจทุกสิ่งได้อย่างถูกต้อง รอบคอบ และมีประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ยกตัวอย่าง หากในห้องเรียนจะออกกฎอะไรสัก 3 ข้อที่เอาไว้ดูแลกันเอง ก็ไม่ควรจะเอาเฉพาะเด็กเรียนหน้าห้องมาลงความเห็นใช่มั้ย ก็ต้องมีตัวแทนเด็กเกเรหลังห้อง เด็กชอบแอบหลับ เด็กชอบโดด เด็กชอบชะโงกหน้าส่องรุ่นพี่คนนั้นคนนี้ เข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้สิ่งที่จะถูกกำหนดนั้นได้ออกแบบมาสำหรับทุกคน ไม่ใช่คนบางกลุ่มเท่านั้น
สนช. ล่ะ เป็นใคร ทำอะไร มาจากไหน
ก่อนที่ คสช. จะรัฐประหารเข้ามา ก่อนหน้านี้เราคงจำกันได้ว่าประเทศเรา ใช้ระบบรัฐสภาในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร คือเรามีสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา เป็นคนที่เราๆ ท่านๆ เลือกให้เข้าไปทำหน้าที่กำกับนายกฯ ที่เป็นหัวหน้าใหญ่สุดของรัฐบาล ทีนี้พอมีการรัฐประหาร ทั้งฝ่ายบริหารและสภาก็ถูกกวาดออกไปยกเซ็ท ไม่ต้องทำงานแล้วแยกย้าย ต่อไปนี้ลูกพี่ คสช.จะขอเทคโอเวอร์เอง เทคเสร็จปุ๊บ บริหารประเทศมันงานใหญ่เนอะ เดี๋ยวจะหาว่าเป็นฮิตเลอร์ เลยต้องทำอะไรคล้ายๆ เดิม คือใช้คนเยอะๆ มาช่วยกันคิด ช่วยกันกรอง เลยบังเกิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ขึ้น แรกสุดแต่งตั้ง 200 คน มีคนไม่เอา 8 คน ต่อมาเลยตั้งเพิ่มอีก 28 คน ส่วนใหญ่ด้วยความที่เป็นทหารเข้ามาบริหารเนอะ คนที่มาเป็นสมาชิกก็เป็นนายพล เป็นคนในวงการทหารเยอะหน่อยอะ ซึ่งตามธรรมดาเนอะทำอะไรก็มีปัญหาและถูกวิจารณ์บ้าง สภาชุดนี้ก็เคยมีกรณีว่าพอได้เข้ามารับตำแหน่งก็มีการตั้งคนมาช่วยงาน พอไปดูการแต่งตั้งก็เจอว่า อ้าว เอาภรรยาเอาลูกมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นที่ปรึกษา รับเงินหลวงเดือนละหลายหมื่นบาท แถมยังมีข่าวฮิปๆ อีก เช่นสมาชิกสภาคนหนึ่งตอบโต้ตอนที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐมาวิจารณ์เรื่องในไทย สมาชิกท่านก็กรุณาตอบกลับว่า ‘แถวบ้านตนภาษาชาวบ้านเรียกว่า ‘เสือก’
day 21
RABIEBRUD DAY
วันนี้เป็น ‘วันระเบียบรัด’ tag 3 เพื่อนที่เจ้าระเบียบที่สุด พวกที่เห็นอะไรไม่เรียบร้อยไม่ได้ จะต้องเข้าไปยุ่ง ไปแส่ ไปแก้ไข ไม่ได้นะแก อันนู้นต้องวางตรงนั้น ห้ามทำยังโง้นยังงี้ มันต้องเป็นยังงั้นเพราะกฎระเบียบเขาว่าไว้ยังไง อย่าเถียงสิเดี๋ยวตบปาก เอ๊ะ ไม่ได้สิ กฎเขาว่าไว้ว่าห้ามตบปากเพื่อน! เขาหรือเธอเหล่านี้เป็นที่วางใจจากครูบาอาจารย์ เป็นคนที่พึ่งพาได้ว่าจะไม่นอกลู่นอกทาง ส่วนใหญ่มักจะกลายเป็นหัวหน้าห้อง ไม่ก็ได้สิทธิจดชื่อคนคุยเวลาที่อาจารย์หนีไปกินข้าวหรือออกไปช้อปปิ้งข้างนอก
เสมือนในสังคมที่ต้องมีคนที่คอยดูแลกฎเกณฑ์ ไม่วอกแวกออกไปนอกลู่ แข็งขันกับกฎระเบียบที่ถูกวางเอาไว้ และแน่นอนว่าก็ต้องคอยสอดส่องด้วยว่าใครกันนะที่ไม่ได้ทำตามกฎ แน่นอนว่า เมื่ออยู่ในภาวะที่ไม่มีกฎหมาย เหล่าเพื่อนเจ้าระเบียบนี่เองที่จะตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาเองซะเลย พวกเราจะได้สงบสุขไงแก
ยังไม่พอ มี กรธ. อีก ใครล่ะเนี่ย
กรธ. ก็คือ คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญไง มาจากไหนน่ะเหรอ คืองี้ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 มีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีทั่น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน วาระสำคัญก็คือการพิจารณาแต่งตั้ง กรธ. นี่แหละ ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษ ก่อนมีมติเป็นเอกฉันท์ตั้ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. นอกจากนี้ ยังมีมติตั้งกรรมการ กรธ. อีก 20 คน
iLaw ได้รวมอายุ กรธ. ทั้งหมดเอาไว้ ศิริ 1,295 ปี (สาธุ) หรือเฉลี่ย 61.6 ปี โดยบุคคลที่มีอายุมากที่สุด คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่มีอายุ 77 ปี ส่วนบุคคลที่มีอายุน้อยที่สุด คือ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ ที่มีอายุเท่ากันคือ 47 ปี ถ้าจะดูตามที่มาสาขาวิชาชีพ ก็น่าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมากสุดนะ เพราะมี 6 คน นอกนั้นก็เป็น กฤษฎีกา 4 คน ทหาร 3 คน องค์กรอิสระ 3 คน อดีตสมาชิก สปช. 3 คน ทูต 1 คน เอกชน 1 คน สื่อ 1 คน อื่นๆ 2 คน แล้ว กรธ. แต่ละคนสามารถมีที่มาได้มากกว่า 1 อย่าง เช่นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและเป็นอดีตสมาชิก สปช. ด้วยก็ได้งี้
ทีนี้ลองแบ่งตามความชำนาญบ้าง มีด้านกฎหมายมากที่สุด 11 คน ตามมาด้วยด้านการร่างกฎหมาย 3 คน ด้านเศรษฐกิจ 2 คน ด้านสังคมวิทยา 2 คน ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ 2 คน ด้านรัฐศาสตร์ 2 คน ด้านต่างประเทศ 2 คน ด้านการจัดการเลือกตั้ง 2 คน ด้านกฎหมายมหาชน 1 คน ด้านนิเทศศาสตร์ 1 คน ด้านการเมือง 1 คน และด้านความมั่นคง 1 คน
day 20
P AOI P CHOD DAY
วันนี้เป็น ‘วันแก้ปัญหา’ นึกถึงเพื่อนที่เราจะคิดถึงมันทุกครั้งที่เกิดปัญหาไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก อกหักก็ต้องโทรหา, พ่อแม่ไม่ให้ไปทัศนศึกษา เครียด ก็โทรหา, ยังไม่ได้อ่านหนังสือแต่ก็ต้องสอบพรุ่งนี้แล้ว ก็โทรหา อะไรก็ตามโทรหาแม่งหมด ซึ่งเจ้าเพื่อนคนนี้ก็จะต้องคอยวิเคราะห์ว่า โอ้ ชีวิตมึงพังขนาดนี้เพราะอะไร เราเป็นทุกข์ก็เพราะเรายึดติดกับมันมากไปนะ เขาไม่เห็นค่าของเราเราจะต้องให้ค่าอะไรกับเขาคะน้อง ฯลฯ วิเคราะห์อย่างเดียวเสียเมื่อไหร่ เพราะเพื่อนคนที่ว่านี่ยังมีแนวทางการแก้ปัญหามาให้เสร็จสรรพ เฮ้ย แกต้องลองคุยกับเขาด้วยเว้ย หลังจากนั้นก็ 1. แล้วก็ 2. แต่ถ้ามันไม่ยังงี้ก็ลองไปทาง 1.2 นู่นนี่ เก่งไปหมด คือเป็นมนุษย์ solution แต่แน่นอนว่าส่วนใหญ่พอเจ้าตัวเจอปัญหาจริงก็จิ้มเบอร์หาคนอื่นเหมือนกัน
เสมือนเวลาที่เราเจอปัญหาเข้าจริงๆ แต่ไม่รู้จะไปบอกใครยังไง ยิ่งถ้าเป็นปัญหาเดียวกันกับหลายๆ คนด้วยก็ต้องมีคนที่คอยสอดส่องดูแลว่า เฮ้ย มันมีปัญหานี้นี่นา แล้วมันควรจะแก้ไขนะ เป็นปากเป็นเสียงให้คนที่มีอำนาจได้ยินและรับเรื่องไปพิจารณาให้มันคลี่คลาย
แล้ว สปท. คืออะไร เหมือนวิชา สปช. มั้ย
เออเนอะ แต่ไม่เหมือนนะ เพราะ สปท. เนี่ยว่าง่ายๆ ก็คือ สปช.เก่า อ้าว ไหนบอกไม่เหมือน อ่อ คืองี้นะ สปช.ที่ว่านี้ไม่ใช่วิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต แต่หมายถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ พอจัดทำข้อเสนอแนะว่าด้วยการปฏิรูป 505 ข้อเสร็จสิ้น ก็หมดหน้าที่ลงหลังการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่แล้ว ทีนี้โรดแมปตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็กำหนดว่าต้องแต่งตั้ง ‘สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ’ หรือ สปท. (อะ ถึงซะทีเนอะ) ขึ้นมาอีกอย่างน้อย 200 คน เพื่อทำหน้าที่ต่อจาก สปช.
หน้าที่ของ สปท. ก็คือศึกษา วิเคราะห์และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปต่างๆ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเห็นว่ากรณีใด เรื่องไหน จําเป็นต้องตราพระราชบัญญัติขึ้นใช้บังคับ พูดง่ายๆ คือคิดอะไรมาก็แล้วแต่ต้องไปให้ ครม. ตัดสินใจก่อน ถ้าเห็นด้วย ครม. ก็จะทำตาม ถ้าเห็นว่าต้องตรากฎหมายถึงจะส่งไปให้ สนช. พิจารณา แต่ไม่ได้ส่งให้กันโดยตรง ซึ่งดูๆ ไป หน้าที่ก็คล้าย สปช.เด๊ะ แต่ไม่มีสิทธิ์ในการเสนอความเห็นในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะถูกร่างออกมาเป็นแบบไหน ก็จะยกไปให้ประชาชนทำประชามติเลย โดยไม่ต้องให้ สปท. หรือสภาใดให้ความเห็นชอบก่อน โอ…
day 19
MAKUBUCHA DAY
วันนี้เป็น ‘วันมาคุบูชา’ ทดลองเป็นคนกริ้วๆ ไม่สบอารมณ์กับอะไรสักอย่าง ส่งรัศมีแห่งความเฉยเมยพ่วงด้วยความโกรธแค้นที่ฝังลึกอยู่บนผิวหนัง ใครมาคุยด้วยก็ขมวดคิ้ว ถูกทักทายก็ตอบด้วยอารมณ์เฉยเมย หรือไม่สบอารมณ์กับเรื่องอะไรก็ลุยมันเลยพี่! ทำตัวไม่ให้คนเข้ามาสุงสิง เกรงกลัว เกรงใจ ไม่แม้กระทั่งอยากจะเข้ามาให้กำลังใจ เพราะเรากำลังบูชาความมาคุอยู่
เสมือนกับชีวิตจริงๆ ที่เวลาเจอคนที่มองโลกลบๆ ซึ่งมักจะดูดพลังและวิญญาณของเราไปเสียหมด ต่อให้มีไฟสดใสรุนแรงแค่ไหนพอไปอยู่ใกล้กับมาคุเนี่ยนก็มักจะถูกเป่าจนไฟมอดไปเสียหมดทุกราย แถมยังเหนื่อยอีกที่จะต้องดีลกับความเดือดดาลไร้เหตุผล เฮ้อ นี่แค่พิมพ์ถึงยังเหนื่อยเลย พอดีกั่ว
ประชามติครั้งนี้ ทำไมเงียบ น่าเบื่อ แถมอึมครึมชอบกล
ทำไมเราจึงเฉยๆ กับประชามติในครั้งนี้ คนที่รู้ว่ามีประชามติก็เฉยๆ หรือถ้าไม่รู้ก็ไม่รู้ไปเลย คืองี้ อาจจะพอพูดได้ 2 ข้อเนาะ 1.ร่างรัฐธรรมนูญรอบนี้มีออกมาตั้งสี่ร่างแหน่ะ ขยันกันสุดๆ ไล่มาตั้งแต่ร่างบวรศักดิ์ร่างแรกที่มีนักวิชาการออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างคึกคักไปทั่วเมือง (ประชาชนยังมีแรงกันอยู่) ร่างบวรศักดิ์ร่างสองที่ไม่ผ่านและโดนคว่ำ มาเป็นร่างมีชัย ไล่เรียงมาจนถึงฉบับล่าสุดของมีชัยร่าง 2 รวมแล้วตั้งแต่เริ่มร่างมา คือมี 4 ร่างด้วยกัน แล้วใครมันจะไม่เบื่อบ้างละเนอะ (ประชาชนหมดแรงแล้วเหวย) 2.ความกำกวมของ พ.ร.บ. ประชามติฯ มาตรา 61 วรรค 2 ทำให้คนไม่กล้าทำอะไรมากนัก เอ๊ะ พูดแบบนี้จะหยาบคายมั้ย โพสต์แบบโน้นจะปลุกระดมป่าว พอไม่กล้าทำ ไม่แน่ใจ ก็เลยเฉยๆ แม่ง บรรยากาศจึงออกมาอึมครึมน่าเบื่อเช่นนี้แล ก็ปล่อยให้ฝ่ายรัฐคึกคักกันไปเนาะมายเฟรนด์
บรรยากาศประชามติครั้งนี้หากจะเปรียบเทียบกับบรรยากาศ Brexit ก็อาจจะแตกต่างกันลิบลับ แต่ถ้าลองเทียบใกล้ตัวเข้ามาหน่อย คือการรณรงค์ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็…แตกต่างกันลิบลับอยู่ดี เพราะตอนนั้นคึกคักกว่าและมีการเคลื่อนไหวจากทั้งกลุ่มที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบอย่างค่อนข้างเสรี ดีจัง
day 18
DO NOT TALK DAY
วันนี้เป็น ‘วันปิด’ ห้ามให้คนอื่นพูดกัน คุณต้องเป็นนักแส่หนึ่งวัน เห็นใครจะคุยอะไรปรึกษาอะไรกันคุณก็เข้าไปแทรกกลาง ไปด่าทอต่อว่าว่าเฮ้ยแบบนี้มันไม่ได้นะ ห้ามคุยห้ามปรึกษากันสิ ถึงคุณจะรู้ว่ามันเป็นการกระทำที่โคตรไร้เหตุผลเลยแต่ก็ต้องทำเพราะเป็นโจทย์ไง กำหนดโจทย์มาแล้วก็ทำไปสิห้ามตั้งคำถาม เข้าใจปะ แล้วก็ห้ามหันไปถามเพื่อนด้วยนะว่ากูจะสงสัยโจทย์บ้างเลยไม่ได้หรือไงวะ ห้ามๆ
เสมือน…เอ่อ เนอะ ไม่มีอะไรสงสัยเนอะ อย่าสิ
รณรงค์ได้มั้ย ชักไม่แน่ใจอะ เพราะมีคนโดนจับเยอะ
จะว่าห้ามก็ไม่เชิง แต่การที่รัฐออกกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา นี่แหละ ที่จำกัดการแสดงความคิดเห็นไว้กว้างกว่าห้วงมหรรณพ แถมยังมีโทษที่รุนแรง แล้วบรรยากาศจากฝั่งประชาชนมันจะไปคึกคักเท่าการรณรงค์ของภาครัฐได้ไงอะเนอะ โดยมาตราหากินในการรณรงค์ประชามติในครั้งนี้ก็คือ มาตรา 61 วรรค 2 ที่ตราเอาไว้ว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสื่อพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” โอ๊ย สัยสนจุง งงๆ หน่อย แต่โทษนี่อย่างโหดเลยนะแก เพราะใครฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี รุนแรงเหลือเกิน ฮือ
day 17
LEAVE ME ALONE THIS DAY
วันนี้เป็น ‘วันขัง’ นัดหมายที่มีให้วางเอาไว้ก่อน เพราะตอนนี้คุณต้องอยู่คนเดียว ห้ามออกไปไหนเด็ดขาด อิสรภาพของคุณไม่มีจริงในวันนี้ ห้องนอนที่เคยสุขสบายตอนนี้กลายเป็นคุก อยู่กับความทะยานอยากที่รุ่มร้อนอยู่ในใจ โอ๊ย อยากออกไปข้างนอก อยากไปเดินห้าง อยากไปหาเพื่อน อยากไปใช้ชีวิตปกติที่เป็น แกเป็นแค่ห้อง จะมาขังฉันได้ยังไง แต่ก็นั่นแหละ วันนี้คุณเป็นผู้ต้องขัง ดังนั้น อย่าพูดมาก อยู่ไปในนั้นนั่นแหละ
เสมือนโลกเสรีที่เราเคยคิดว่ามีอยู่ แต่บางทีก็เห็นว่าจะไม่จริงเสมอไป ความเชื่อที่เคยคิดว่าบางการกระทำมันอิสระ มันเป็นสิทธิของเราเอง หลายทีที่มันปรากฏชัดแล้วว่ามันไม่จริง ทุกอย่างหลอกลวง คุณหลอกดาว ซึ่งอีดาวนี่จากที่เคยเดินเล่นไปมาอยู่นอกบ้านก็อาจจะถูกหิ้วไปขังได้เพราะท่านชายไม่พอใจ อีนี่เดินลัดสนามหญ้า เอามันไปขังโว้ย! เป็นต้น (เราพูดถึงดาวอื่นนะไม่ใช่ประเทศไทย—ร้อนตัว)
สถิติการเตือน ห้าม และจับกุม เกี่ยวกับประชามติ ครั้งนี้
เอามาเล่าให้ฟัง ว่าประชามติครั้งนี้ หลังจากพ.ร.บ.ประชามติฯ ประกาศใช้เมื่อ 23 เมษายน 2559 สามวันให้หลัง กกต.สมชัย ศรีสุทธิยากร ก็ประเดิมใช้ทันที โดยดำเนินคดีกับเพจเฟซบุ๊ก กองทุนรัฐวัฒน์ตันมณี เพื่อสิทธิคนออทิสติก จ.ขอนแก่น จากการเผยแพร่โพสต์ข่าวเกี่ยวกับการประชุมของนักวิชาการถกเถียงเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ย่างเข้าเดือนพฤษภาคม กกต.สมชัย คนดีคนเดิมที่เพิ่มเติมคือออกมาเตือนกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ว่า หนูๆ จะมาขายเสื้อ VOTE NO แบบนี้ไม่ด๊าย มันผิด พ.ร.บ.
เหตุการณ์ดูเหมือนจะพีคขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าเดือนมิถุนายน เพราะนายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. ออกมาเตือนนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย และ อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สวมเสื้อ “รับ ไม่รับ เป็นสิทธิ์ไม่ผิดกฎหมาย” ว่าผิดกฎหมายประชามติอย่างชัดเจน แถมเตือนการ์ตูนของอรุณ วัชระสวัสดิ์ ว่าบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งเตือนว่าคลิปวิดีโอเพลงอย่างนี้ต้องตีเข่า (โหวตไม่เอา แล้วตีตก) ก็ผิดกฎหมายนะยูว แต่ที่แกนนำพรรคเพื่อไทย 17 คน ต่างออกมาโพสต์ว่าไม่รับร่างรัฐธรรมมนูญนั้น ทั่นสมชัยบอกว่าทำได้เพราะอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงและไม่ขัดมาตรา 61 ขณะที่ พล.สมเจตน์ บุณถนอม ประธานร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ให้ความเห็นว่าการกระทำของสมาชิกพรรคเพื่อไทยสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายผิดมาตรา 61 วรรคสอง เรื่องการชี้นำ ปลุกระดม นั่น เห็นมะว่ากำกวมจริง ไม่งั้นไม่เห็นต่างกันแบบนี้หรอก นอกจากออกมาเตือน ห้าม ในที่สุด ก็จับกุมนักกิจกรรม 13 คน ที่พากันไปแจกใบปลิวในชุมชนเคหะบางพลี
ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ทำสถิติถึงวันที่ 12 กรกฎาคม ว่าผู้ถูกดำเนินคดีจากประชามติในครั้งนี้ว่ามีอย่างน้อย 113 คนทั่วประเทศ ข้อหาตาม พ.ร.บ.ประชามติ 6 คน ข้อหาตามคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช.ที่ 3/2558 94 คน และทั้งสองข้อหารวม 13 คน ก็ไม่รู้ว่ากว่าจะถึงวันที่ 7 สิงหาคม จะมีมาเพิ่มอีกกี่เคส กี่คน…
16 day left
‘COMPARE YOUR EX’ DAY
วันนี้เป็นวัน “ใช่สิ ชั้นไม่ใช่อีนั่นนี่” เปรียบเทียบแฟนใหม่กับแฟนเก่า เขานั้นดีตรงนี้ ไม่ดีตรงนั้น ส่วนคนนี้ก็ดีตรงนู้น ไม่ดีตรงนี้ แหม ดูแล้วช่างไม่สร้างสรรค์เอาเสียเลย แต่ก็ต้องยอมรับกันเถิดว่าไม่ว่าช่วงชีวิตไหนๆ เราต่างตกเป็นเมืองขึ้นซึ่งอยู่ในการปกครองของใครบางคนอยู่เสมอ การได้รับวัฒนธรรม ผลกระทบทางจิตใจ ทางความคิด หรือไม่ก็ด้านใดของชีวิตเสมอ ยิ่งในฐานะคนรักที่เราไว้ใจและปล่อยให้มีอิทธิพลกับตัวเราเองมากๆ นี่ยิ่งแล้วใหญ่เลย ชี้ผิดเป็นผิด ชี้ถูกเป็นถูก ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ชี้ พอแล้ว! แต่แน่นอนว่าชีวิตย่อมต้องเดินไปข้างหน้า การรู้ปัจจุบันนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ และหนึ่งในขั้นตอนสำคัญก็คือการศึกษาจากอดีตที่ผ่านมาด้วย
หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในร่างฯนี้มีอะไร
ประชามติรอบนี้เรื่องศาลรัฐธรรมนูญก็ยังคงเป็นประเด็นที่คนชิตอะแชตกันชนิดติดชาร์ตอันดับต้นๆ ตั้งแต่เรื่องที่มา อำนาจ หน้าที่ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ลดผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ไป แล้วแทนที่ด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการแทน ยังไงล่ะทีนี้ ส่วนมาตรา 5 ก็บอกว่า ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดประชุมฝ่ายบริหารนิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอิสระแก้วิกฤตการเมืองเองก็ได้ง่ายจัง แถมไม่ว่าใครก็สามารถร้องเรียนศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเพื่อสั่งให้ล้มเลิกการกระทำที่ล้มล้างการปกครองได้
หากลองเอาไปเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 จะพบว่า การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงนั้นเป็นเรื่องใหม่ เพราะแต่เดิมการใช้สิทธิดังกล่าวต้องถูกกลั่นกรองโดยอัยการสูงสูงสุดก่อน เอาจริงๆ อำนาจหน้าที่เดิมของศาลรัฐธรรมนูญก็คือพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอรรถคดีทั่วไปเหมือนในร่างใหม่นี้นะแก
15 day left
DAY OF OUTSIDER
วันนี้เป็น ‘วันคนนอก’ อะไรก็ตามในครัวเรือน ในชีวิต อย่าตัดสินใจเอง ตั้งข้อสงสัยได้ มีตัวเลือกได้ แต่ห้ามตัดสินใจเอง ต้องออกไปพึ่งพาคนอื่น จะเป็นพี่เอกชัยที่ขี่วินมอเตอร์ไซค์อยู่ หรือน้องรสนาที่เป็นพนง.เซเว่น พี่มลคนข้างบ้าน หรือคุณแววที่เป็นเจ้ามือหวยแถวบ้าน ยกเรื่องสำคัญๆ ให้คนอื่นตัดสินใจ คนที่เรารู้แค่ชื่อและข้อมูลนิดหน่อยก็พอ ที่เหลือให้เขาบอกเลยว่าเราควรจะทำสิ่งไหนในเรื่องอะไร ทำตามืดบอดให้ชินเข้าไว้ เพราะในสังคมจริงๆ ที่อาจจะกำลังมาถึงเราก็ต้องทำสิ่งที่คล้ายกันนี้ บางทีอยากซ้ายเพราะถ้าขวานี่ตายแหงๆ แต่ถ้าเขาสั่งให้ทำก็คงต้องทำนั่นแหละ
ว้อท อีส นายกฯคนนอกอะยูว?
ไม่ได้หมายถึงนายกที่มาจากเมืองนอกเกร๋ๆ นะแก แต่แว่วมาว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นี่นะ จะเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงไง ก็เลยเรียกว่า นายกฯคนนอกน่ะ จริงๆ ก็ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ก่อนเลือกตั้ง พรรคละไม่เกินสามรายชื่อ แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่ารายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอจะต้องเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยหรือไม่ ทำให้อาจเข้าใจได้ว่า คนที่จะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี อาจไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือไม่ต้องเป็น ส.ส. ก็ได้
อีกอย่างคือร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ มีมาตรา 272 อยู่ในหมวดบทเฉพาะกาลที่เปิดโอกาสที่ว่านี้ให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ก่อนการเลือกตั้งได้ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอก ที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งได้โดยตรง โดยต้องผ่านสามขั้นตอนต่อไปนี้แหละ 1) ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 250 คน เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา 2) รัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.ทั้งหมด ลงมติด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจาก 750 คน ให้มีนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้ 3) ส.ส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 หรือ 50 คนเสนอชื่อบุคคลใดก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 251 คน เอ๊ะ!? อืม นั่นแหละ…
14 day left
BALANCING DAY
วันนี้เป็นวันทรงตัว อย่าซ้าย อย่าขวา ยืนกระต่ายขาเดียวสร้างสมดุลในตัวเองให้ได้ หาจุดศูนย์ถ่วงที่จะทำให้คุณทรงตัวเอาไว้อย่างสง่างาม โดยห้ามคดโกงหรือหาอะไรมายันอันเป็นการลักไก่ ใครยืนอยู่นานสุดชนะ! แหม เหมือนจะแถ แต่เอาเข้าจริงการทรงตัวเหล่านี้จะต้องใช้สมาธิใช้ได้เลยนะ เป็นห้วงเวลาที่ห้ามว่อกแว่ก บังคับจิตใจให้สงบ สยบความสาดส่ายทั้งซ้ายขวา ดังนั้นเพื่อเป็นการถ่วงดุล มันก็ควรจะเท่าๆ กันทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง ไม่โอนเอียงไปทางไหน พิจารณาว่าทิศไหนมันกำลังเบาหวิวหรือโดนทางไหนถ่วง จะได้ลดหรือเพิ่มเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างยุติธรรมและสง่างาม
ถ่วงดุลพรรคใหญ่ เป็นยังไง ไหนเรื่องราว
ความคิดสำคัญที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องยื่นมือเข้ามาผลักระบบและรีเซ็ตใหม่ ก็เพราะว่าระบบประชาธิปไตยที่เราดำเนินอยู่ก่อนหน้านี้มันมีปัญหายังไงล่ะ และสิ่งที่แสนจะน่ากลัว(จริงรึเปล่าไม่แน่ใจ) ก็คือเหล่านักการเมืองที่แสนจะขี้โกงที่ใช้ประโยชน์จากมวลชนเข้ามานั่งในสภาเพื่อตักตวงผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เลยไฮไลท์ขีดเส้นใต้ว่าฉบับนี้ฉันจะปราบพวกนักการเมืองตัวร้ายที่คอยกัดกินประเทศและงบประมาณให้หมดสิ้นเอง เอาล่ะ ถ้ามองย้อนกลับไปในระบบประชาธิปไตย แนวคิดสำคัญคือระบบของการตรวจสอบถ่วงดุลด้วยคนหลายๆกลุ่ม แต่เดิมเราก็มีนะ คือเรามี ส.ส. มี ส.ว. แถมเรายังมีองค์กรอิสระอื่นๆ อีก เช่นศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรสิทธิมนุษยชน แต่หลักๆ กลไกพวกนี้จะเกิดในสภาแหละ ส.ส. ก็มาจากหลายกลุ่ม มีพรรคเสียงส่วนใหญ่ทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล มีเสียงส่วนน้อยเป็นฝ่ายค้านคอยตรวจสอบอภิปรายในประเด็นต่างๆ มีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและการเลือกตั้งช่วยกันอภิปรายตรวจสอบอีกที
ซึ่งจริงๆ แล้ว เท่าที่ดูตามระบบรัฐธรรมนูญเดิม มันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะว่าในทางปฏิบัติก็มีกระบวนการทั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา แถม ส.ส. และ ส.ว. ก็ทำงานตรวจสอบถอดถอนนักการเมืองไปพร้อมๆ กัน แต่ว่านั่นและ ระบบใหม่ของเราต้องปราบโกงไงเลยจะมีการกำหนดมาตรฐานของคนที่จะมานั่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรรวมถึงคณะรัฐมนตรีจะมีข้อกำหนดเพิ่มขึ้นมาคือไม่เคยถูกพิพากษาในคดีทุจริตและก็ต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน ซึ่งไอ้กรอบคำว่าปราบโกงมันเลยกว้างขวางและบางทีก็เป็นนามธรรมขึ้นมา เช่น ต้องเป็นผู้มีความสุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตั้งขึ้นมาเป็นคุณสมบัติอะไรแบบนี้ ซึ่งไอ้ความประจักษ์ของความสุจริตนี่ไม่รู้ว่าจะแค่ไหนเหมือนกัน ไอ้คำว่าโกงที่ว่าโกงๆ กันอย่างกรณีจำนำข้าวสุดท้ายก็เอาผิดทางการเมืองได้ไม่สะใจ สุดท้ายมันก็อาจจะเป็นปัญหาก็ได้ว่าไอ้เส้นแบ่งของความสุจริตหรือจริยธรรมที่มันหาขอบเขตได้ยาก มันอาจจะถูกเอามาใช้กำจัดศัตรูทางการเมืองได้อย่างไม่เป็นธรรมเท่าไหร่อะนะ ส่วนเรื่อง ส.ว. อย่างที่บอกว่าผู้ใหญ่เขาคงเห็นว่าการจะเอาแต่เสียงส่วนใหญ่ เอานักการเมืองมามันไม่ได้ มันชอบทำตามอำเภอใจ แบบนี้ต้องมีซีเนียร์คอยมาควบคุม สัดส่วนสภาใหม่เลยให้ที่นั่ง ส.ส. 500 คน และก็มี ส.ว. 200 คน แต่ว่า ส.ว. เนี่ยมาจากการคัดสรรค์ทั้งหมดอะนะ
13 day left
Day of Appoint
วันนี้เป็น ‘วันแต่งตั้ง’ มองหาคนที่เหมาะสมจะมาเป็นคนตัดสินใจด้านต่างๆ ให้ตัวคุณได้ในหัวข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้ ท่องเที่ยว, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรมมารยาท, ความสัมพันธ์ระหว่างต่างเพศ, การศึกษา ร่างรายชื่อเอาไว้เพื่อเรียกและหยิบใช้เวลาที่เราต้องการ แต่ที่พิเศษกว่านั้นนิดหน่อย ต้องเป็นคนที่คุณรู้อยู่แล้วว่าจะต้องให้คำตอบที่ตรงใจ ไม่ขัดแย้งใดๆ ต่อกัน ให้แนวทางที่เราจะพึงใจเป็นพิเศษได้ จะว่าคณะสปอยด์ตัวเราเองก็ได้แหละนะ!
ก็คล้ายกับการที่ใครสักคนเอาตัวเองเป็นใหญ่ เอาอำนาจไปยัดใส่มือใครต่อใครก็ได้ตามใจชอบ โดยที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเองในภายภาคหน้า ตัดความสมควรอื่นๆ ออกไป โนแคร์โนสนความจริงและบิดเบือนข้อมูลที่มีอยู่ก็เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจฉัน
ส.ว. ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ด้วย
ไม่แน่ใจว่าจริงไหม แต่ปัญหาจากระบบเดิมคือไม่ค่อยชอบคำว่าเลือกตั้งกันเท่าไหร่ เพราะอย่างที่บอกรู้สึกกันว่าแหม่ มันไม่ค่อยมีคุณภาพกันเนอะ ส.ว. ในรัฐธรรมนูญใหม่เลยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งซะเล้ย หมดเรื่องไง วาระของส.ว. ในรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมาถึงแบ่งได้เป็น 2 ระยะใหญ่ๆ ระยะแรกมาจากบทเฉพาะกาล คือ 5 ปีหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ (คือพวกเราไปโหวตเยสกันรัวๆ ) ระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ส.ว. ทั้ง 250 คนจะมาจากการสรรหาโดยมี คสช. เป็นบิ๊กบอสที่เคาะและตัดสินใจ
พอระยะต่อมาที่บอกว่าไม่ต้องเลือกตั้งแล้ว ส.ว. ก็มีวิธีการคัดเลือกคือจะมีการสร้างเกณฑ์ขึ้นมาโดย ส.ว. จะมีทั้งหมด 200 คน ก็แบ่งออกมาจากคน 20 กลุ่ม จัดจำแนกตาม ‘สถานภาพความรู้ความสามารถและอาชีพ’ ตรงนี้เองผู้ร่างเขาโฆษณาว่า นี่ไงแกร ใครๆ ก็เป็น ส.ว. ได้ อยากเป็นก็ไปสมัครดิ ขั้นตอนเป็นงี้ ถ้าอยากเป็นสมาชิกวุฒิสภานะ ไปสมัครที่เขตใกล้บ้านท่าน เสร็จแล้วก็มาแข่งขันกันเหมือนรายการชิงช้าสวรรค์ คือคนในกลุ่มเลือกกันเองไล่ขึ้นไป จากระดับกลุ่มสังคม มาเป็นระดับอำเภอ ก็เลือกกันเองจนได้ตัวแทนระดับจังหวัดเพื่อมาเลือกตัวแทน 10 คนสุดท้าย เพื่อให้ได้ ส.ว. 200 คน จาก 20 กลุ่ม ยังกะรายการเดอะสตาร์ ซึ่งเอาเข้าจริง การแข่งขันแบบนี้มันไม่ได้เรียกว่าการเลือกตั้ง แต่มีการคัดเลือกสังกัดเป็นกลุ่มอาชีพ ระดับการศึกษา ความชำนาญ แต่สุดท้ายจะคล้ายกับตามรายการเรียลลิตี้ไหมเนอะ ที่ก็มีการซื้อโหวต ซื้อชื่อเสียงอยู่ดี แถมการแบ่งตามอาชีพอะไรพวกนี้ก็ดูแบ่งยากเนอะ
12 day left
Make Evil Agreement day
วันนี้เป็นวันร่างข้อตกลง เอาแบบที่เป็นข้อตกลงมารๆ เอาเปรียบคนอื่นแบบเนียนๆ เริ่มจากข้อความแบบที่เหมือนจะยุติธรรมแล้วก็ค่อยเติมคำง่ายๆ แบบ ‘อาจจะ’ แบบ “บริษัทสามารถแก้ไขได้ตามความเหมาะสม” เพื่อหาผลประโยชน์จากพวกที่สักแต่ว่ากด ยอมรับ โดยที่ไม่ได้ยอมรับอะไรสักหน่อย แต่ก็นะ ผิดที่ไว้ใจเพราะคนรักกันไม่ก็ไม่น่าจะทำได้ลง
ก็เหมือนกับโลกเราที่เต็มไปด้วยคนที่แสวงหาผลประโยชน์จากความไม่รู้ การเผลอไผลและคำพูดที่สวยหรู ไงล่ะ เมื่อตกลงแล้วจะกลับมาแก้ไขก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว อย่าตกหลุมพรางเชียวนะ พ่อกินเรียบ!
รับๆ ไปก่อน กฎหมายลูกร่างทีหลัง
เวลาเราจะเคาะซื้อรถ ซื้อประกัน ทำสัญญาอะไร หลายคนคงเป็นเนอะที่ต้องอ่าน ตรวจทานอะไรให้มันรอบคอบ ไม่มีการปล่อยผ่านอะไรไปง่ายๆ แต่นั่นแหละ การจะโหวตร่างรัฐธรรมนูญมันไม่ได้มีแต่ตัวร่างรัฐธรรมนูญอย่างเดียวที่จะมีผลกับชีวิตของเรา มันยังมีสิ่งที่เรียกว่ากฎหมายลูกคลานต่อเนื่องมาอีก ทีนี้ ปัญหาเลยมีนิดหน่อยว่า ไอ้ที่เราเห็นๆ ให้เราบอกว่ารับไม่รับเนี่ย มันดันมีแต่ตัวรัฐธรรมนูญน่ะสิ กฎหมายลูกอีก 10 ฉบับจะคลอดตามออกมา ซึ่งหน้าตาจะเป็นยังไงก็ไม่รู้ จะมีการทำหมันไว้ก่อนก็ไม่ได้ถ้าหน้าตามันไม่ดีอะนะ ตัวอย่างหนึ่งก็เรื่อง ส.ว. นี่แหละ ถ้าเรายังจำได้เมื่อวานนี้เรามีการพูดถึงที่มาของส.ว. ที่เขาจะมีการแบ่งตามอาชีพ ความรู้ความชำนาญ ซึ่งการได้มาของส.ว. ตรงนี้ก็ยังโล้นๆ ไม่รู้เลยว่าคุณสมบัติเอย วิธีการนับคะแนน วิธีการจัดแบ่ง และอีกรายละเอียดมากมายมันจะเป็นยังไงกันแน่ มันสำคัญเหมือนกันเนอะเพราะมันไม่ได้เป็นแค่ของแถมอะ แต่มันเป็นแกนหนึ่งเลย ถ้าเคาะให้ผ่านหรือรับไปแล้ว มันก็น่าจะมีรายละเอียดให้ครบๆ หน่อย อุ่ย นี่พูดถึงเรื่องทั่วๆ ไปเนอะ เรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ไปลองครุ่นคิสดูเอา แค่บอกไว้แหละว่ามีลูกๆ ของรัฐธรรมนูญที่เรายังไม่เห็นหน้าจะคลอดตามมาด้วย
11 day left
day of card
วันนี้เป็นวันปล่อยให้อีกฝ่ายได้เปรียบ (วันอะไรของมึงเนี่ย) ให้เปิดวงเล่นไพ่ในที่ทำงาน โรงเรียน หรือสถานที่ที่สะดวก ท้าเพื่อนเล่น ป๊อกแปดป๊อกเก้า โป๊กเกอร์ หรือจะสลาฟก็ได้แล้วแต่ถนัด แต่ให้คุณยินยอมที่จะให้ฝ่ายตรงข้ามได้ไพ่เยอะใบกว่า จากนั้นลองหาทางเอาชนะดู พินิจพิจารณาว่าจะมีทางไหนบ้างที่เราจะเอาชนะได้ในสนามที่ถูกบีบให้เสียเปรียบ และถึงจะเอาชนะได้โดยใช้ดวง ก็ลองคิดดูแล้วกันว่ามันเป็นเรื่องปกติวิสัยหรือไม่…
ก็ตามประสาในโลกที่ไม่อะไรโปร่งใสยุติธรรม เราไม่อาจรู้ได้ว่าในเวลาที่ความมืดเข้าปกคลุม เวลาที่เรานอนหลับ จะมีใครแอบไปคุย ไปนัดแนะ ไปวางแผนแทงหลังกันบ้าง หรือแม้แต่ในที่ที่ควรมีกติกาแน่นอน เราก็อาจจะไม่รู้หรอกว่าเบื้องหลังนั้นถูกฉาบขึ้นมาด้วยอะไร ในบ้านที่เหมือนจะสวยงามดีแต่ก็อาจมีโครงสร้างที่ห่วยจากผู้รับเหมาและฝ่ายจัดซื้อ แต่เป็นที่แน่ชัดว่าเมื่อเรายอมรับ หรือซื้อบ้านหลังที่ว่าเข้ามา ภาระอันหนักอึ้งต่อไปก็อยู่ที่ตัวเราเอง น้ำรั่วซึม ปูนแตก ปลวกรับประทาน ฯลฯ ส่วนพวกที่ขี้โกงน่ะเหรอ ป่านนี้ก็คงเอาเงินไปเที่ยวญี่ปุ่นสบายแฮไปเสียแล้วล่ะ!
เห็นเค้าว่าเรื่อง ส.ส.ในรัฐธรรมนูญร่างนี้มีซัมติง
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (mixed member apportionment system หรือ MMA) ที่คิดขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเห็นว่าระบบเลือกตั้งนี้จะช่วยให้เสียงทุกเสียงมีความหมาย ส่วนนักวิชาการ กับพรรคการเมืองก็ออกมาพูดกันว่า ไอ้ระบบเลือกตั้งรูปแบบนี้ มันจะยิ่งทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ มีโอกาสที่จะซื้อเสียงมากขึ้น และไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียง อ้าว ไหนเขาบอกทุกเสียงมีความหมาย
สิ่งที่แตกต่างอย่างมีนัยยะสำคัญของ ส.ส. ในร่างนี้กับ ส.ส.แบบเก่าก็คือบัตรเลือกตั้งเหลือใบเดียว ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาหลายประการเลยแหละแก ก็แบ่งได้ประมาณ 4 ข้อเนาะ 1) คะแนนเสียงถูกบิดเบือน เพราะ ถ้าเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตพรรคนั้น ก็เท่ากับลงคะแนนให้พรรคการเมืองนั้นไปด้วย เช่น ถ้าเลือก ส.ส. A ก็เท่ากับว่าเลือกพรรคที่นาย A สังกัดไปด้วย หรือ ถ้าเลือกพรรค B ก็เท่ากับเลือก ส.ส. ที่สังกัดพรรค B ไปด้วย ทั้งที่ ประชาชนอาจจะไม่ได้อยากเลือกพรรค A หรือ เลือก ส.ส. ที่สังกัดพรรค B ด้วยซ้ำ 2)ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่จะเป็นการ ‘ลงโทษพรรคการเมืองขนาดใหญ่’ เพราะว่า ถ้าพรรคใดได้ ส.ส. เขตมาก จะได้ทำให้ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อน้อย แถมผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ ‘พรรคขนาดกลาง’ ซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีพรรคการเมืองใดครองเสียงข้างมากและท้ายที่สุดต้องจัดตั้ง ‘รัฐบาลผสมหลายพรรค’ อันจะส่งผลต่อการเลือกนายกฯ และถ้าเลือกนายกฯ ไม่ได้ คสช. ก็จะอยู่ส่งความสุขให้เราต่อไปเรื่อยๆ
3) ตัดโอกาสพรรคขนาดเล็ก เพราะ ถ้าพรรคขนาดเล็กไม่สามารถลงแข่งในระบบแบ่งเขตได้ทุกเขต ก็จะมีโอกาสได้คะแนนเสียงจากระบบบัญชีรายชื่อน้อยมาก พรรคแบบชูวิทย์ก็จะไม่เกิดขึ้นอีกเลย 4) การเป็นการเมืองแบบเน้นตัวบุคคลมากกว่านโยบาย พอให้กาบัตรใบเดียวทั้งคนทั้งพรรค พรรคก็จะไปกว้านซื้อคนที่ได้รับความนิยมในแต่ละพื้นที่มาอยู่ในพรรคตัวเอง และไม่เน้นขายนโยบาย สุดท้ายการซื้อเสียงก็จะมากขึ้น
10 day left
Day of Good Guy
วันนี้เรามาชวนให้ ‘ร่างคนดี’ ให้แบบของตัวเอง ลองจินตนาการดูว่า คนแบบไหนกันที่เราพร้อมจะเชื่อ ปล่อยให้ชีวิตของเราขึ้นอยู่กับเขาได้ หน้าตาเขาต้องอารีแค่ไหน มีการพูดแบบไหน มีบุคลิกน่าเชื่อถืออย่างไร มีนิสัยประมาณไหน ลองร่างขึ้นมาเลยว่าหนุ่มในฝันของเราจะเป็นอย่างไร คบกับเพื่อนแบบไหน เรียนจบอะไร เต็มที่เลย!
ก็เหมือนกับความหวัง ความเชื่อที่เรามีต่อกลุ่มผู้นำของเรา แน่นอนหรอกว่าไม่มีใครที่อยากจะได้ผู้นำห่วยหรือไม่น่าเชื่อถือ เราควรจะมีสิทธิฝันและเลือกคนที่เราต้องการได้สิ ต่อให้มันไม่ใช่ 100% แต่อย่างน้อยก็ควรจะใกล้เคียงสิ!
ส.ว. และ ส.ส. ชุดแรกหน้าตาจะเป็นยังไงนะ
อยากจะเรียกว่าเป็นสภาในอุดมคติอะเนอะ เป็นสภาที่มีทั้งเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อย และเสียงที่มีคุณภาพอยู่ในนั้น ในสภาตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็จะมี ส.ส. ทั้งหมด 500 คน มาจากแบบแบ่งเขต 350 คน และมาจากแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน แต่อ้อ เวลาเลือกนี่กาเบอร์เดียวนะ ไม่ได้มีสองใบ เดี๋ยวเขาจะมีวิธีเอาคะแนนทั้งหมดไปคิดเพื่อเฉลี่ยจำนวนที่นั่งทั้งหมดจากคะแนนคนทั้งประเทศ (คิดอย่างยากอะ งงมาก) แต่สรุปก็อวดว่านี่ไง เสียงที่ตกไปคือเลือกแบบแบ่งเขตแล้วไม่ได้ สุดท้ายก็เอามาเฉลี่ยให้ได้ที่นั่งแบบถัวๆ กันด้วย เสร็จแล้วในสภาก็จะมีส.ว. อีก 250 คน เคาะโดยลูกพี่ คสช. ล้วนๆ (อันนี้ชุดแรกนะ) แต่พอพ้นห้าปี หรือ 8 ปีเพราะเป็น 2 วาระถึงจะมีการคัดเลือกส.ว. ตามกลุ่มอาชีพ ตรงนี้ก็เข้าใจได้เนอะว่าทำไมยังไม่มีกฏหมายลูกออกมาเรื่องที่มาส.ว. เพราะอีกนานเลยกว่าจะได้เล่นคัดเลือกตามกลุ่มอะไรที่ว่านั่น ไม่ต้องรีบร้อน ใจเย็นๆ
ด้วยความที่ระบบการเลือกตั้งแบบไทยๆ ไม่เหมือนที่ใดในโลกที่บอกว่าจะให้ความสำคัญกับเสียงส่วนน้อยสุดท้ายมันกลายเป็นว่าไปทำให้เสียงส่วนใหญ่เจ๊งไปซะเฉยๆ เพราะระบบแบบใหม่ถ้าพรรคไหนได้ ส.ส. เขตมาก จะทำให้ได้บัญชีรายชื่อน้อย พรรคที่ได้ประโยชน์คือพรรคขนาดกลาง และลองนึกดูว่าถ้าเราต้องตั้งทีมทำงานที่มาจากขั้ผสมหลายๆ ฝ่าย มองอย่างโลกสวยอาจจะดี แต่มองอย่างจริงๆ คือมันจะทำงานยังไงฟะ ไม่มีเอกภาพ ไม่มีเสถียรภาพ แล้วจะเลือกใครมาเป็นหัวหน้าทีม (นายก) สุดท้ายทีมทำงานที่กระจัดกระจายไปกันคนละทาง หาหัวหน้าก็ไม่ได้ ทางออกเก๋ๆ คือการหาเทวดามาโปรด ในบทเฉพาะกาลบอกว่าให้เสนอนายกนอกบัญชีพรรคการเมืองได้ แถมถ้าจำได้ คำถามพ่วงบอกว่าให้ ส.ว. เลือกนายกได้อีกต่างหาก ไอ้เรื่องหาเทวดาชักรอกลงมาแก้ปัญหา ทุกวันนี้เราก็เห็นและเนอะ ว่ามันเป็นยังไง เรื่องราว สิ่งที่ดีคือทำระบบให้แข็งแกร่ง มากกว่าจะคาดหวังเทวดามาโปรดปะ เอาดีๆ
9 day left
Day of Bad Guy
วันนี้เป็นวันคนเลว ทุกคนลองจินตนาการถึงคนนิสัยไม่ดี ไม่อยากคบหา ไม่อยากสุงสิง เพราะมันเลว! ลองคิดดูสิว่าคนหนึ่งคนจะสามารถอะไรให้คนเกลียดได้บ้าง ตบเด็ก เตะหมา กระทืบแมว แย่งเก้าอี้คนแก่บนรถเมล์ ฯลฯ รวมสารพัดสิ่งที่จัดว่าเกินจะทนมาอยู่ในคนคนเดียว ลิสต์ออกมาเลยว่าคนที่มีนิสัยอย่างไรบ้าง ถึงจะเป็นคนที่เราอยากจะปราบให้หมดจากโลก!
เหมือนในสังคมที่เรารู้อยู่แล้วว่าอะไรดี อะไรเลว ถึงจะบอกว่ามันเป็นมาตรฐานทางสังคมต่างหากที่มากำหนดว่าอะไรดีเลว ซึ่งที่จริงโดยเนื้อแท้มันอาจจะไม่ได้เลวก็ได้ แต่นี่ไม่ใช่วิชาปรัชญา ไม่ต้องมาตีความ คนเลวก็คือเลว โกงก็คือโกง ทำคนอื่นเดือดร้อนก็คือไม่ดี แต่ที่แน่นอนกว่านั้น ในสังคมที่โหดร้ายก็คือการที่คนโหดร้ายๆ เหล่านี้ยังอยู่ในสังคมได้อย่างลอยนวลไม่ถูกปราบออกไปเสียที พวกเราก็ได้แค่สมมติตัวละครมาสาปแช่งนี่แล แต่ทำยังไงจะมั่นใจได้ยังไง ว่าตัวละครที่สาปแช่งนี้เค้าผิดจริง ถ้าผิดก็ดีไป ลงโทษตามกฎหมาย ยังไงก็ช่างเหอะ อย่าใช้เป็นเครื่องมือเอาผิดฝ่ายตรงข้ามเป็นพอ
เค้าว่ากันว่ารัฐธรรมนูญร่างนี้ปราบโกงจริงไหม เช็คแป๊บ
เรียกได้ว่าเป็นจุดขายของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลยแหละ ไล่มาตั้งแต่การคัดกรองคุณสมบัติก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมืองกันเลยทีเดียว อย่างใครจะสมัคร ส.ส. นี่ ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาฐานทุจริต หรือเคยพ้นตำแหน่งเพราะฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม อีกทั้ง ต้องไม่เป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ส่วนเหล่าคนที่จะมาดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรีก็คล้ายๆ กับของ ส.ส. ที่เพิ่มเติมคือ ‘ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูจับต้องยากเหลือเกิน จะวัดได้ไงว่าใครโกงไม่โกง มีเครื่องตัวจับคล้ายๆ GT200 งี้เหรอ หรือต้องลุยไฟเป็นนางสีดาคะ
นอกจากคุณสมบัติยิบย่อยข้างบน ก็ยังมีเรื่องการกำจัดนักการเมืองที่เชื่อได้ว่าทุจริตการเลือกตั้งออกจากสนามแข่ง ทั้งก่อนประกาศและหลังประกาศผลเลือกตั้ง ไหนจะยื่นเรื่องถอดถอนนักการเมืองโดยสภา ไหนจะให้องค์กรอิสระถอดถอนนักการเมืองได้ ใครรวยผิดปกติมาดูซิ ไปๆ มาๆ เขาเลยว่ากันว่า ไอ้วิธีการคัดกรองตรวจสอบหรือเอาผิดคนทุจริตคอร์รัปชั่นที่มันจำกัดอยู่แค่ ‘นักการเมือง’ มันไม่แปลกไปหน่อยเหรอ และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือกลไกบางอย่างไม่ได้มุ่งลงโทษคนผิดตามกฎหมาย กลับกลายเป็นมุ่งเอานักการเมืองออกจากตำแหน่งเอง
8 day left
Jail break day
วันนี้เป็นวันคุก มาลองออกแบบกฎสำหรับการอยู่ในคุกอย่างสะดวกสบายกัน เพราะไหนๆ ก็ถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพไปแล้วนี่ ดังนั้นก็ควรจะมีอะไรแลกเปลี่ยนหน่อยสิ! ลืมคุกแบบเก่าที่เราต้องถูกล่ามด้วยโซ่ตรวน หัวเกรียนๆ เสื้อผ้าสีมอมซอมซ่อ บรรยากาศแห้งแล้งหดหู่ เต็มไปด้วยผู้คุมหน้าโหดสุดเหี้ยม พอ! ไม่เอาแล้ว นี่มันยุคใหม่ของคุก ออกแบบกฎเกณฑ์อิสรภาพในคุกด้วยตัวเราเองกันเถอะ ฉันสามารถทำสิ่งนั้นนี้ได้ด้วยตัวเอง ผู้คุมห้ามมาบังคับนะเว้ย เพราะนี่มันเป็นสิทธิของเรา!
เหมือนในกรอบเกณฑ์จอมปลอมที่ว่ามีประชาธิปไตยอาศัยอยู่ แต่จริงๆ ก็เหมือนเป็นแค่ซากศพที่ถูกสตัฟฟ์เอาไว้เท่านั้น แต่ถึงยังไงเราก็ควรจะใช้สิทธิในดินแดนแห่งนี้ด้วยสิทธิที่พอจะมีอยู่ด้วยการร่วมมือกันใช้สิทธิของตัวเองในการกำหนดกฎเกณฑ์ในสังคมที่จะอยู่ร่วมกันด้วยกัน
สิทธิและเสรีภาพ
นี่ๆ รู้มั้ยว่าประเด็นสิทธิและเสรีภาพของร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ฉบับลงประชามติได้เพิ่มเติมว่า “สิทธิใดกฎหมายไม่ห้ามสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อสิทธิและเสรีภาพ” เหมือนจะดีใช่มะ แถมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็เอาจุดนี้มาโฆษณาอยู่บ่อยๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจำกัดเสรีภาพก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกันนะแก คือถ้าดูภาพรวมหมวดสิทธิเสรีภาพในร่างนี้ก็คล้ายๆ กับ 2 ฉบับก่อนหน้าแหละ แต่ที่เพิ่มมาคือมาตรา 25 เขียนไว้ว่า “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น” เออ ก็ฟังดูดีให้สิทธิเสรีกับประชาชน แต่ไฮไลท์ตรง ‘ความมั่นคงของรัฐ’ กว้างมากเลยว่ามั้ยมายเฟรนด์ ซึ่งจุดนี้เองที่โดนวิพากษ์ว่าถูกนำมาใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ยังไม่พอ เหมือนจะมีการเล่นกล โอ๊ย ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเนาะ โยกย้ายสิทธิของประชาชนหลายประการไปอยู่ในหมวด ‘หน้าที่ของรัฐ’ ซึ่งหมวดนี้เป็นหมวดใหม่ ที่ กรธ.ให้เหตุผลว่า การเขียนเช่นนี้ ประชาชนอยู่เฉยๆ ก็จะได้รับสิทธิ ถ้ารัฐไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ฟังดูสวยงาม แต่ถ้าสังเกต และพูดให้ง่ายๆ ก็คือถ้ารัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเรา แปลว่าเราจะเป็นเจ้าของสิทธิตัวเอง และยืนยันสิทธิของเรากับใครก็ได้ ทั้งประชาชนคนอื่น เอกชน หรือต่างประเทศ ทีนี้พอสิทธิของเราถูกรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธินั้น แถมใช้เรียกร้องได้เฉพาะให้รัฐไทยปฏิบัติตามหน้าที่เท่านั้น น่ากลัวเหมือนกันนะ ว่ามะ
7 day left
Day of Our Religion
วันนี้เป็นวันประกาศศาสนา เขาว่ากันว่าศาสนานั้นเปรียบเสมือน ‘เรือนใจ’ ของคน มีเอาไว้เพื่อยึดเหนี่ยวความคิด อารมณ์ และสติของชีวิต อะไรที่ยังทำให้เรามีชีวิตต่อไปได้ด้วยอะไรก็ตาม นั่นแหละก็คือศาสนา ซึ่งสำหรับบางคนมันก็ไม่ใช่แค่พุทธ คริสต์ อิสลาม แต่อาจเป็นเครื่องเกมเพลย์สเตชั่น หนังฟีลกู้ดสักเรื่อง หรือเธอคนนั้นที่แอบรักมาตั้งแต่ประถมสี่ (แก่แดดนะมึง) ไปจนกระทั่งตะเกียบคู่นึงที่ตรึงความคิดและชีวิตของใครสักคนได้ วันนี้เราลองมาหากันดีกว่าว่าอะไรที่พวกเรา live for.
ก็นะ ความศรัทธามันก็เป็นสิทธิเสรีภาพที่เราจะเลือก ไม่ได้เกี่ยวกับว่าบนบัตรประชาชนระบุว่าอะไรสักหน่อยจริงไหม แต่เอาเถิด ในโลกแห่งความเป็นจริงเราเองก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีใครสักคนเอาศาสนามาเป็นตัวกำบังและกำลังกำหนดมาตรฐานและบรรทัดฐานอะไรบางอย่างในแก่สังคมที่ความศรัทธาควรเป็นอิสระที่จะเชื่อจะทำนุบำรุงจะกราบจะกราน
สถานะของพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญนี้ล่ะ ว่าไง
เท้าความนิดส์ รัฐธรรมนูญอื่นๆ ที่ผ่านมาอย่าง ปี 2540 กับ 2550 หน้าที่ของรัฐระบุไว้ว่าอุปถัมภ์และคุ้มครองทุกสาสนา แต่ในฉบับนี้ก็ยังมีข้อนี้เหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมมาคือ ให้ส่งเสริมละสนับสนุนการศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาเถรวาทและป้องกันการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา อ้าว แล้วศาสนาพุทธนิกายอื่นล่ะ ไม่สนับสนุนเหรอ แถมรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับก่อนหน้ามีการห้ามริดรอนสิทธิเพราะการนับถือศาสนาแตกต่างกัน แต่ฉบับนี้ไม่ได้เขียนเอาไว้นาจา ทำไมเอาออกหนอ ถึงยังไม่ได้บัญญัติเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ดูๆ แล้วก็คือให้น้ำหนักกับพุทธศานามากถึงขนาดต้องเขียนอธิบายเยิ่นเย้อ ในขณะที่ศาสนาอื่นแทบไม่ได้รับ ‘สิทธิพิเศษ’ เลย
6 day left
Day of โดด
ชอบเลยล่ะสิ วันนี้เป็นวันโดด! หยุดอยู่กับบ้าน หรือไม่ก็ไปเตร็ดเตร่ตามห้าง อย่าริอ่านออกไปโรงเรียนหรือกระทั่งทำงานเลย อารยะขัดขืนซะ อย่าไปให้กรอบเกณฑ์ของสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งมากำหนดเรา เราไม่อยากไปก็ไม่ต้องไปสิ จะไปแคร์ทำไม นี่มันชีวิตของเรานะ กะอีแค่การเรียนเอง ไม่เห็นจะจำเป็นเลยเนอะ
จะว่าไป อะไรๆ ก็ตามที่เราใช้ชีวิตอยู่กับมันอย่างเป็นปกติ เป็นเรื่องทั่วไปที่ควรเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ ก็เป็นไปได้แหละที่เราจะเบื่อหน่ายจนอยากจะหลีกหนีไปใช้ชีวิตที่ไม่ต้องผูกติดกับอะไรสักวันสองวัน แต่ในเรื่องที่ควรเป็นเรื่องปกติซึ่งสมควรจะมีแต่ดันถูกริบถูกริดรอน หรือถูกจำกัดอยู่แค่ในมือรัฐ ไม่ใช่สิทธิของเราอีกต่อไปนี่สิที่น่าเป็นห่วง เช่นเรื่องการศึกษา สวัสดิการประชาชนไรงี้ โห ยังงี้ก็อดโดดเรียนอะดิ เฮ่อ
สิทธิทางการศึกษาล่ะ สรุปจะได้สิทธิเรียนฟรีกี่ปี
เรื่องมีอยู่ว่า ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญของไทยรับรองสิทธิการศึกษาฟรี 12 ปี ป.1-ม.6 ส่วนร่างฉบับใหม่ก็คงไว้ 12 ปีไว้เท่าเดิม แต่ร่นมาเริ่มเร็วขึ้น ตั้งแต่เด็กเล็กก่อนวัยเรียน ไปจบเรียนฟรีที่ม.3 พอ ม.ปลายก็เป็นกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไอ้การจัดกองทุนนี้นี่แหละ เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ คือจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยกองทุนนี้จะตั้งขึ้นตามที่กฎหมายบัญญัติภายหลัง แต่เอาจริงๆ ปัจจุบันก็มีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อยู่แล้ว กลายเป็นว่าพอมีกองทุนนี้ขึ้นมาใหม่ยิ่งจะเป็นการแบ่งแยกชนชั้นในสังคม
ทีนี้ถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 กับ 2550 ก็จะพบว่าเรียนฟรี 12 ปีเนี่ยไม่ใช่ ‘สิทธิ’ ละ แต่ย้ายมาไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐแทน ถ้าบัญญัติไว้ว่าเป็น ‘สิทธิ’ หมายความว่าประชาชนจะมีสิทธิเรียกร้องได้อย่างถึงที่สุด หรือกล่าวได้ว่า “อำนาจในการตีความตัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน” แต่พอเปลี่ยนมาเป็นหน้าที่ของรัฐ มันกลายเป็นว่ากลับหัวกลับหาง และที่สำคัญคือ ‘มันลดความเป็นไปได้อื่นๆ’ เช่น ถ้าเป็นสิทธิ ประชาชนอาจรวมตัวกันเปิดโรงเรียนชุมชนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐเป็นคนดำเนินการเองทั้งหมด เป็นต้น สรุปง่ายๆ ก็คือ อำนาจในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงมันเปลี่ยนและถูกจำกัดอยู่แค่มือรัฐนั่นเองแก
5 day left
Life of Tie Day
วันนี้เราต้องสร้าง ‘ปม’ ให้กับตัวเอง ซึ่งต้องเป็นปมที่ใครก็แก้ไม่ออก คลายไม่ได้ จะเอาเชือกธรรมดา เชือกรองเท้า หรือเชือกอะไรก็ได้ จุดมุ่งหมายคือสั่งสอนให้พวกที่เรียนวิชาลูกเสือสามัญหรือไม่สามัญมาพบว่าแน่แค่ไหนก็ไม่สามารถปลดปมนี้ออกได้หรอก เป็นเงื่อนตายยิ่งกว่าตายที่คนผูกเองยังต้องงง! เป็นตายยังไงก็ให้แก้ไม่ได้
ก็คล้ายกับการโยงใยเงื่อนไขนู่นนี่ที่บางครั้งเราเองก็เดาไม่ออก อย่าว่าแต่การจะแก้ไขมันยังไงเลยดีกว่า เอาแค่ทำไปเพื่ออะไรยังดูไม่ออกกันเลย หลายทีกว่าจะรู้ก็เมื่อสาย ก็ถูกเชือกที่ผูกเอาไว้อย่างแน่นหนานี้มัดตัวเองไปจนอึดอัดยากหายใจ และเจียนจวนจะตายในที่สุด บางอย่างอาจปรากฏอยู่ในโปรโมชั่นของสินค้าบางชนิด ประกันภัย, ของแถม, การเช่าซื้อ ไปจนแม่บทกฎหมายต่างๆ เงื่อนไขสัญญาที่มีพิษซุกซ่อนอยู่ จนหลายทีที่ความผิดเพี้ยนพวกนี้กลายเป็นจารีต เป็นความเข้าใจผิดๆ ว่าบางอย่างที่มันไม่โปร่งใสและไม่ซื่อคือธรรมชาติของบางวงการ จนยากเกินที่จะแก้ไขในที่สุด
รัฐธรรมนูญใหม่ แก้ยากจัง?
ปากกาเขียนผิดยังมีลิขวิดไว้ลบเนอะ ความผิดพลาดมันเป็นเรื่องธรรมดาของคนเรา เอ้าดูซิพอทำอะไรลงไปแล้วมันจะแก้ไขยังไงได้บ้าง รัฐธรรมนูญล่ะ แก้ยังไง ได้มั้ย ยากมั้ย ยังไงดี เอาจริงๆ นะ ยาก รัฐธรรมนูญฉบับที่เรากำลังโหวตกันนี้วางระบบที่จะแก้ไว้สามขั้นตอน และอย่างที่บอกว่ารัฐธรรมนูญนี้ค่อนข้างให้ความสำคัญกะ ส.ว. แถมระยะแรก ส.ว. ก็มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ถ้าอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนที่จะขอแก้ได้คือ คณะรัฐมนตรี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 เข้าชื่อกัน หรือประชาชน 50,000 คนเข้าชื่อกัน ก็ฟังดูโอเคเนอะ แต่ ขั้นตอนการแก้มันมีตั้ง 3 ด่าน และ ด่านแรกก็ให้ความสำคัญกะ ส.ว. อีกแล้ว
วาระแรก คือ ขั้นรับหลักการ ว่าเอ้า จะแก้มั้ยยังไง เรื่องอะไร ว่ามาสิ ขั้นตอนนี้คือสมาชิคครึ่งหนึ่งของสองสภาเคาะว่าโอแก้ได้แนะ แต่มีเงื่อนไขว่า ส.ว. 1 ใน 3 ต้องให้ผ่านด้วย แปลว่าต่อให้ ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้ามาทั้งสภา 500 คนบอกว่าแก แก้เหอะ สังคมเปลี่ยนโลกเปลี่ยนหรือมันมีข้อผิดพลาด ก็อดจ้า บาย วาระที่สองเป็นการเรียงลำดับมาตรา ถ้าประชาชนเสนอแก้ ก็ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย วาระสุดท้ายคือเคาะผ่านและ สมาชิกเกินครึ่งหนึ่งของสองสภาต้องเห็นชอบ และต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่ได้ตั้งรัฐบาลเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ด้วย และเหมือนเดิม ส.ว. ต้องเห็นชอบเกินหนึ่งในสามถึงจะแก้ได้สำเร็จ
เข้าใจว่าคงคิดมาแล้วว่ากฏหมายหลักของประเทศคงจะถูกเขียนมาอย่างรอบคอบและอลาลิโกในระดับหนึ่ง เลยไม่จำเป็นต้องแก้กันง่ายๆ แต่ว่านะ อนิจจังเป็นเรื่องปกติของโลก ขนาดกฏฟิสิกส์ยังถูกทำลายได้ ไม่มีอะไรในโลกที่เที่ยงแท้และเป็นสัจจะ เวลาเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอแหละ
4 day left
Day of Shame
วันนี้เป็น ‘วันสารภาพบาป’ ลองทบทวนดูว่าในชีวิตนี้เราได้ทำอะไรที่ผิดบาปมาบ้าง ไม่ว่าจะในฐานะประชาชน ในฐานะพนักงาน ในฐานะเพื่อน ในฐานะแฟน หรือในฐานะลูกชายลูกสาว จดลงกระดาษเพื่อตรวจสอบระดับจริยธรรมในใจของตัวคุณเอง ว่าบาปหนา,ตื้น,ลึก,บางขนาดไหน และอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่ผิด เป็นการกระทำบาป ก็เพราะทุกความรู้สึกนั้นมีที่มาที่ไปเนอะ เพราะเรารับรู้สิ่งนั้น จึงรู้สักอย่างนี้ โห วันนี้อาร์ตๆ ดิ่งๆ
เหมือนกับตัวบทกฎหมายหรือการกำหนดจริยธรรม ก็ล้วนมาจากบรรทัดฐานทางสังคมที่เชื่อว่าสิ่งนั้นมันดีสิ่งนี้มันแย่ แต่เราก็ต่างรู้ว่าการตีความความดีความเลวของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ระดับของความรู้สึกบาปบุญคุณโทษหรือความจำเป็นของแต่ละคนก็ยังแตกต่างกันสิ้นเชิง จึงมีวลีอมตะที่กล่าวกันจนลืมไปแล้วว่าใครกล่าว “จงสงสัยคนที่กล่าวอ้างจริยธรรม”
อะไรคือมาตรฐานทางจริยธรรม
คำว่าจริยธรรมเป็นคำที่เวรี่สำคัญสำหรับการปฏิรูปประเทศ การเมืองมันชั่วร้าย คนไม่มีจริยธรรม ในรัฐธรรมนูญนี้เลยระบุเป็นวาระแห่งชาติซะเลยในมาตรา 76 ว่า ให้รัฐพัฒนาการบริหารราชการแผ่นดินทุกส่วนเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และ “รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว”
ฟังดูดีเนอะ เพราะคำว่าจริยธรรมแต่เดิมพูดกัน ฟังดูลอยๆ ทีนี้กลายมาเป็นวาระแห่งชาติ ปัญหาคือ แล้วมาตรฐานทางจริยธรรมคืออะไรอะ ทางผู้ร่างก็บอกนะว่ามันต้องมีการกำหนดขึ้นมาแหละ ในหนึ่งปีนับจากรัฐธรรมนูญผ่าน ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม โดยที่ต้องรับฟังความเห็นจาก ส.ส. ส.ว. และ ค.ร.ม ด้วย ซึ่งก็นะ จะฟังแค่ไหนก็อีกเรื่อง อุ้ปส์เดี๋ยวนะ บอกว่าจะปราบโกง จะเอารัฐธรรมนูญ จะสร้างมาตรฐานใหม่เรื่องคุณความดีขึ้นมา แต่ ยังไม่มี…ยังไม่ได้ทำ และก็ยังไม่รู้เนี่ยนะว่ามาตรฐานจริยธรรมที่ว่ามันเป็นยังไง
แถมคำว่าจริยธรรมเนี่ย มันค่อนข้างงงๆ เนอะ จริยธรรมมันหมายถึงวิถีประพฤติปฏิบัติ ‘ที่ดี’ ซึ่งมันก็ดีแหละ แต่ส่วนใหญ่ไอ้ความดีมันเป็นเรื่องที่บอกยาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจง ดีสำหรับคนหนึ่ง อาจไม่ดีสำหรับอีกคนหนึ่ง หรือในเวลาใดเวลาหนึ่ง มาตรฐานตายตัวอะไรพวกนี้ ฟังดูเป็นอุดมคติจัง คือโลกมันเป็นสีเทาอะนะ จะหาสีขาวก็คงยาก ระบบที่อยากได้สีขาวแล้วทำลายสีดำ ยากเนอะ
3 day left
A HO SI DAY
วันนี้เป็นวันให้อภัย จงเคลียร์ความรุงรังในหัวใจออกไปเพื่อขาวสะอาดปราศจากความโกรธแค้นเคือง ลองจัดลำดับความโกรธความเกลียดที่เคยคั่งค้างอยู่ในหัวใจมาสัก 5 อันดับ อันไหนเดือดสุดให้รีบสาดน้ำเย็นๆ เข้าใส่ ด้วยการให้อภัย เราจะไม่ถือโทษ ไม่โกรธอีกแล้ว เพราะเราเหนื่อย เรารู้แล้วว่าการแบกนี่เองที่ทำให้ทุกอย่างหนักอึ้ง วันนี้ตัวจะเบา เพราะเราให้อภัยเป็น…
จะว่าใช่มันก็ใช่แหละ อะไรวางได้ก็หายหนักหายเหนื่อย แต่จะว่าไปอีกทีก็…เฮอะ! มันใช่เสมอไปไหมซะที่ไหน!?! เพราะบางทีการให้อภัยหรือยอมที่จะอ่อนให้กับอะไรบางอย่างนั้นก็แสดงถึงความไม่มีปัญญาต่อสู้หรือไม่ก็แค่ต้องการขจัดปัญหาไปอย่างขอไปที แล้วก็แค่เอาคำชุดสวยหรูมาครอบอีกทีให้คนอื่นคัดค้านไม่ได้มากกว่า เฮ่อ โลกนี้มันช่างซับซ้อนจริงๆ พี่ล่ะเหนื่อย
นิรโทษกรรม
นิรโทษกรรม ภาษาไทยมาจาก นิร เอาไปประกอบข้างหน้าคำไหนจะแปลว่าไม่มี นิรโทษกรรม คือการกระทำที่ลบล้างโทษใดๆ จากการกระทำที่เคยทำไว้ ภาษาอังกฤษมาจากคำว่า Amnesty รากศัพท์ภาษากรีก amnestia แปลว่าการหลงลืม คือลืมในสิ่งได้ทำไว้ แน่ล่ะว่าการรัฐประหารย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายอย่างรุนแรง ดังนั้นเลยต้องมีการนิรโทษกรรม คสช. เอาไว้ในรัฐธรรมมนูญฉบับที่เราจะรับหรือไม่รับเอาไว้ด้วย
ความเจ๋งของการหลงลืมหรือทำให้การกระทำต่างๆ นั้นปราศจากความผิดแถมยังให้ประกาศทั้งหลายที่ประกาศใช้และทำนู่นทำนี่ในยุค คสช. ให้มีผลบังคับใช้ต่อไปเลย อย่างที่ระบุไว้ในมาตรา 279 ที่ว่า ‘ประกาศ คำสั่ง และการกระทำทั้งหมดของ คสช. หรือของหัวหน้าคสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 รวมถึงประกาศ คำสั่ง ที่จะประกาศบังคับใช้ต่อไปในระหว่างดำรงตำแหน่งเพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามารับช่วงต่อ ไม่มีความผิดใดๆ และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป’ คือเจ๋งมาก ลบล้างแถมทำให้ถูกต้องด้วยการรับรองตามรัฐธรรมนูญไปเลย ชนะเลิศ
2 day left
Green day
วันนี้กรุณาแต่งเขียว แสดงความกรีนในหัวจิตหัวใจของคุณ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อร.ด. หรือจะชุดฟุตบอลสีสะท้อนแสง ขอให้เป็นเขียวเอาไว้ก่อน ปากกาไฮไลท์สีชมพู เหลือง เก็บเอาไว้ วันนี้ต้องเขียวสะท้อนแสงเท่านั้น
ลองเปลี่ยนเป็นสีอื่นดูบ้าง หลังจากที่อยู่กับสีเดียวมานาน อยู่กับความเชื่อว่าตัวเองดีเด่เมื่ออยู่ในสีนั้น แต่งสีนี้ปลอดภัยไม่มีใครแซว เฉพาะโทนนี้เท่านั้นฉันจึงหล่อ จริงๆ อาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่งสีอื่นก็อาจจะดีนะ คุณอาจสดใสอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน อาจรู้สึกเปล่งปลั่งขึ้น หน้าสว่าง หูตาเลิกมืดมัว อย่ามัวแต่ยึดติดกับสีสีเดียวเลย เพราะโลกนี้สดใสและน่าสนใจเกินกว่าจะจมปลักอยู่กับสีไหน หรือปล่อยให้ใครมากำหนดให้คุณเชื่อในสีใดสีหนึ่ง โดยเฉพาะสีเขียว
อะ มาถึงเรื่องสิทธิทางสิ่งแวดล้อมกันบ้าง
เรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ ถ้าเราลองหากเปิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติของปีนี้ เทียบกับปี 2540 กับ 2550 จะสังเกตว่า เอ๊ะ มี 3 ประเด็นหายไปใช่ไหมนะ? ซึ่ง iLaw ก็ได้สรุปออกมาว่า สามสิ่งที่หายไปนั้นคือ 1) ‘ตัดสิทธิ’ ของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมในสิ่งแวดล้อมที่ดี 2)ไม่เห็นจะเขียนถึงสิทธิแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่อการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐเลยอะ 3)องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทำหน้าที่ปกป้อง คุ้มครองผลกระทบต่อชุมชน ได้ถูกตัดออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับลงประชามติเลย แบบเลยยยย…
1 day left
Ultimate This Day
วันนี้เป็น ‘วันหมัดเด็ด’ ปล่อยท่าไม้ตายของคุณที่ทุกคนจะต้องยอมสยบให้ อาจเป็นคำพูดที่เอาไว้หยุดความแต่ใจของแฟน หรือเป็นประโยคที่คุณมั่นใจแน่ๆ ว่าต้องเอาชนะคู่กรณีได้แหงๆ ประหนึ่ง ‘บอลเก็งกิ’ ของโกคู ‘เกียร์สี่’ ของลูฟี่ ‘ก็เค้าเป็นเมนส์’ ของอิสตรีทั่วโลก อะไรคือประโยคไม้ตาย เป็นท่าพิฆาตของคุณ โชว์มันออกมา!
ใครๆ ก็ต้องมี ‘ไม้ตาย’ เอาไว้ทั้งนั้นแหละ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ทุกอย่างไม่เป็นไปตามใจเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อปกป้องตัวเองหรือทำลายคนอื่น ก็ล้วนจะต้องมีไม้เด็ดเอาไว้เพื่อ…เพื่อเอาแต่ใจตัวเอง ซึ่งก็อย่าคิดว่าไอ้พลังรุนแรงต่างๆ จนทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปทั่วมันจะมีแค่ในการ์ตูนหรือนิยายนะจ๊ะน้องและหนู เพราะบางคนยังมีไม้ตายที่ก่อให้เกิดความเสียหายกันถ้วนหน้าด้วยเหมือนกันแหละน่า โลกนี้มันไม่ได้สวยงามนักหรอก!
ม. 44
พรุ่งนี้โหวตแล้ว หลังจากเราเช็คความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ว่าการลงประมติเพื่อรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมาว่ามันจะเป็นอย่างไร ผลจะเป็นอย่างไร มาถึงวันสุดท้ายแล้ว ตอนนี้เรายังไม่มีรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ จริงๆ แล้วคสช. ยังมีไม้เด็ดระดับกระบี่อาญาสิทธิอีกชิ้นหนึ่งคือ‘ม.44’ อันนี้นี่เอง ม. 44 เป็นมาตราที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่เดิมหลักการปกครองคือการใช้อำนาจของ 3 สถาบันหลักคานอำนาจกัน คือ อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ประกอบกันเป็นสมดุลของอำนาจ แต่มาตรา 44 เป็นสุดยอดอาวุธที่มาเหนือเมฆของสามอำนาจหลักในสากลโลกนี้
สิ่งที่ ม. 44 เคยทำก็เรียกได้ว่าครอบจักรวาล สากกระเบือยันเรือรบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการโยกย้าย แต่งตั้ง สั่งปลดเจ้าหน้าที่หรือสารพัดคณะกรรมการ ใช้ทวงคืนที่ดินหลวงก็ได้ ใช้ปราบแก้ปัญหาเด็กแว้นก็ได้ เรียกได้ว่า อะไรใต้ฟ้าเมืองไทย เจอ ม.44 เข้าไปเรียกได้ว่าต้องยอมหมด เพราะพูดง่ายๆ คืออะไรก็เป็นกฏหมาย มีสภาพบังคับ มีอำนาจในการจัดการได้หมด ส่วนหลังจากนี้ อาวุธสุดท้ายชิ้นนี้จะยังอยู่ในฝักหรือชักออกมาจบเรื่อง ก็รอดูกันต่อไปเนอะ