พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2544 ระบุความหมายของ ศาลรัฐธรรมนูญไว้ว่า
‘ศาลรัฐธรรมนูญ (น.) ศาลที่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ’
นับตั้งแต่เหตุการณ์ ‘ตุลาการภิวัฒน์ 2549’ บทบาทของศาลไทยถูกสังคมตั้งคำถามมาโดยตลอด รวมถึงในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้กับคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองใหญ่ๆ หลายเหตุการณ์
โดยเฉพาะกับการตัดสินคดีในบางครั้ง ที่คำวินิจฉัยคล้ายจะเป็นการประกอบตัวบทกฎหมาย เข้ากับสิ่งที่เรียกว่า ‘จารีตประเพณี’ และ ‘ข้อคิดเห็น’ ของศาลไว้ด้วยกัน ทำให้ความหมายของศาลรัฐธรรมนูญถูกจับตาจากประชาชนอยู่ไม่น้อย
ด้วยบรรยากาศทางการเมืองแบบนี้ The MATTER ได้ติดต่อพูดคุยกับ อ.ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถึงสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ บทบาท และหลักการของศาลเป็นอย่างไร และเราสามารถแสดงความเห็นเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญได้มากน้อยแค่ไหนบ้าง?
อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าที่มาของศาลรัฐธรรมนูญไทยให้ฟังหน่อย
ถ้าพูดในเชิงหลักการแล้ว เราเอาโมเดลมาจากประเทศเยอรมนี ศาลรัฐธรรมนูญถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสอดรับกับหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ หน้าที่หลักคือ เข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็มีการพัฒนาแนวคิดให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบอำนาจของฝ่ายการเมืองมากขึ้น เพื่อตรวจสอบผู้แทนและความสัมพันธ์ทางการเมืองในหลายเรื่องๆ
หลักการของศาลรัฐธรรมนูญ หรือความชอบธรรมในการมีอยู่เป็นแบบไหน
ศาลที่มีอำนาจขนาดนี้ควรจะมีที่มาอยู่บนหลักคิดว่า ต้องสอดคล้องกับหลักความชอบธรรมประชาธิปไตย คือ หนึ่ง กระบวนการสรรหา ศาลรัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเทศอาจจะแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องย้อนกลับไปถึงประชาชนได้ อาจจะมาจากการรับรอง การเลือก การแต่งตั้งโดยผู้แทนที่ประชาชนเป็นคนเลือกขึ้นมา
สอง คือ การตัดสินคดีไปตามที่รัฐธรรมนูญวางกรอบไว้ เกิดขึ้นจากการตราหรือให้โดยผู้แทน หรือประชาชนเลือกมา และสาม ศาลต้องอยู่บนพื้นฐานการตรวจสอบและวิพากษ์ของสาธารณะได้ สามอันประกอบกันก็จะสามารถพูดได้ว่า ทำไมศาลถึงเข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบในส่วนต่างๆ ได้
แล้วปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญตอนนี้ อาจารย์เห็นว่ามีอะไรบ้าง
สิ่งสำคัญคือ ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้สามารถพูดได้เต็มปากว่า เป็นสิ่งสืบทอดจาก คสช. และรัฐธรรมนูญปี 2550 ร่วมกัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้มีการสรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 อยู่ แต่กระบวนการนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ องค์คณะตุลาการศาลฯ ปัจจุบันเกิดขึ้นก่อนรัฐประหารปี 2557 แล้วคสช.ก็อนุญาตให้อยู่ในตำแหน่งต่อได้ ขณะที่บางส่วนก็มาจากการสรรหาในยุคคสช.
ประเด็น คือ ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน ประชาชนหรือผู้แทนฯ ไม่ได้เลือกให้ดำรงตำแหน่ง ศาลอยู่ได้เพราะ คสช.อนุมัติ และมีการสรรหาในยุคคสช.
เดิมตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมาจากความเห็นชอบของประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครอง และกรรมการสรรหาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มาจากการรับรองของ ส.ว. ซึ่งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2540 ส.ว.ก็มาจากการเลือกตั้ง
พอตอนนี้เราตัดเรื่อง ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งออก ทำให้ช่องทางเชื่อมโยงกับประชาชนหายไปเลย ทั้งในรัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญปี 2560 ฉะนั้นการคัดเลือกศาลรัฐธรรมนูญจึงควรจะเป็นช่องของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะหรือองค์กรที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาไปเลือก ไปนั่ง ไปโต้แย้งกับผู้แทนประชาชน กับกระบวนการทางการเมือง
ในช่วงเวลาที่ศาลถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยๆ ศาลจะสามารถเรียกศรัทธากลับคืนมาจากประชาชนได้ยังไงบ้าง
จริงๆ ถ้าเราจะวิเคราะห์ถึงปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญมันไม่ใช่แค่ปัจจุบัน แต่ต้องมองย้อนกลับไปในอดีตด้วย บทบาทศาลมีมาอย่างน้อย 10 ปีแล้ว ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นหรือปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงโครงสร้าง และการใช้อำนาจแต่ละคดีมันเยอะมาก ไม่ใช่วิกฤตที่เพิ่งเกิด แต่เป็นปัญหาที่ทับซ้อนเพิ่มมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาที่พันกันเต็มไปหมด ยากที่จะบอกว่าจะเริ่มแก้หรือเรียกศรัทธาคืนมายังไง
ถ้าอย่างนั้น อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายขยายคำว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างให้ฟังหน่อย
มีสองปัญหาใหญ่ๆ คือ ตัวเชิงโครงสร้างองค์กร การออกแบบโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญไทย หรือคนร่างรัฐธรรมนูญก็ดี การออกแบบศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเรารับเอาความคิดศาลรัฐธรรมนูญจากหลายๆ ประเทศเข้ามา โดยไม่ได้เรียนรู้หรือศึกษาคู่มือของเขา แนวความคิดบางประเทศไม่สอดคล้องก็เอามาปนกัน ทำให้บทบัญญัติเกิดการตีความประหลาดๆ
อีกอย่างคือ การที่ศาลสร้างความคิดแบบไทยๆ ขึ้นมา มันไปทำลายลักษณะหรือความเป็นศาลอย่างที่ควรจะเป็น ผมเคยเห็นปาถกฐาครบรอบ 20 ปีศาลรัฐธรรมนูญไทย ตอนนั้นศาลเขียนประวัติศาสตร์ว่า องค์กรของตนอยู่ต่อเนื่องมา 20 ปีแล้ว แม้ว่าระหว่างนั้นจะมีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ หรือมีการรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้งก็ตาม
ปัญหาคือความคิดลักษณะแบบนี้ทำให้ศาลยกตัวเองขึ้น สถาปนาตัวเองว่า กำลังพิทักษ์คุณค่าบางอย่าง นั่นคือ ระบอบประชาธิปไตย ทำให้การตีความระบบกฎหมายไทยไม่มีเสถียรภาพ หรือคาดหมายล่วงหน้าจากการตีความคดีของศาล
แล้วปัญหาเชิงโครงสร้างแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกไหม
สิ่งที่ตามมาคือปัญหาการใช้อำนาจในแต่ละคดี บางครั้งศาลละหรือไม่ได้โต้แย้งในประเด็นที่มีกฎหมายตั้งเอาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งคำวินิจฉัยที่มีคุณภาพต้องอธิบายอย่างชัดเจน
หมายความว่า บางครั้งศาลก็พิจารณานอกเหนือไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้หรอ
ต้องบอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยมักจะอาศัยหรืออ้างอิงเขตอำนาจหลายๆ เรื่องจากลักษณะอำนาจของศาลในต่างประเทศ แต่ปัญหา คือ ศาลไทยไม่ได้ตัดสินหรือใช้อำนาจแบบที่คนอื่นๆ เขาทำกัน ทำให้อำนาจของศาลไทยบางครั้งก็ตัดสินโดยขยายเขตอำนาจตัวเองได้ ทั้งที่ไม่สิทธิจะทำ และศาลผูกตัวเองเข้ากับคุณค่าการคุ้มครองนอกเหนือไปจากขอบเขตตัวบท ทำให้ศาลกำหนดหรือเขียนรัฐธรรมนูญแทรกขึ้นมา
อาาจารย์คิดว่าขอบเขตอำนาจศาลตอนนี้อาจจะมากเกินไปรึเปล่า
ผมตอบอย่างนี้ว่า ในตัวบทกฎหมายมันอาจจะคล้ายๆ กับประเทศอื่นๆ แต่ในความเป็นจริงและในการประกอบคำอธิบายจากการสร้างคำวินิจฉัยจากสิ่งที่เราเรียกว่า จารีตประเพณี มันเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่มาก มากกว่าที่อื่นหลายๆ ที่ทั่วโลก เผลอๆ อาจจะมากที่สุดในโลกก็ได้ เป็นศาลที่ตัดสินคดีได้โดยไม่ต้องผูกพันตามรัฐธรรมนูญ
พอจะยกเคสตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ได้ไหม
กรณียุบพรรคไทยรักษาชาติน่าจะเห็นชัดมากที่สุด ศาลอ้างประเพณีขึ้นมาโดยย้อนกลับไปดูการบัญญัติรัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ 2475 ใหม่ๆ และศาลอ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้ามาตัดสินยุบพรรคการเมืองเพื่อพิทักษ์หลักการประชาธิปไตยได้
แต่ประเพณีหรือหลักการที่ศาลอ้าง หลายๆ เรื่องไม่ได้เป็นประเพณีที่มีอยู่จริงอย่างที่อ้าง บางเรื่องเคยมีบัญญัติจริง แต่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว กลายเป็นประเพณีที่เป็นสภาพบังคับทางการเมือง ไม่ใช่ในทางกฎหมาย เป็นการหยิบประเพณี คุณค่าบางอย่างที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามอย่างชัดเจน
ในเชิงหลักการเราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้แค่ไหน
แนวคิดเรื่องความชอบธรรมของศาลตั้งอยู่บนพื้นฐานการตรวจสอบ ทั้งจากนักวิชาการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประชาชน และองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญก็มีสิทธิในการโต้แย้งหรือไม่เห็นด้วยกับศาล เพราะหน้าที่ของศาลคือการตีความรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญไม่ควรถูกผูกขาดโดยศาลที่เป็นผู้ตีความเท่านั้น
ในทางกฎหมายอาจจะบอกว่า การตัดสินของศาลคือที่สุด แต่ก่อนหรือหลังตีความแล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญก็ยังอยู่และเป็นสมบัติร่วมกันของทุกคน ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นในการร่วมตีความวิพากษ์วิจารณ์ จริงอยู่ที่มันอาจจะมีผลผูกพันในทางกฎหมาย แต่ไม่สามารถบังคับความเชื่อ เหตุและผลให้คนที่ไม่เห็นด้วยคล้อยตามหรือปฏิเสธ นี่คือหลักการ
แล้วทำไมตอนนี้เหมือนกับว่า เราไม่สามารถแสดงความเห็นอะไรได้เลย
ตอนนี้ของไทยกลายเป็นว่า เราพยายามกดทับ จริงๆ ถ้าคุณวิจารณ์โดยสุจริต เอาลักษณะทางวิชาการเข้ามาอธิบายมันไม่ได้ต้องห้ามเสียทีเดียว พ.ร.บ.ที่ออกมาก่อนหน้านี้จึงเป็นคำอธิบายที่ค่อนข้างกว้างและเปิดให้ใช้อำนาจโดยไม่มีแนวทางที่ชัดเจน สร้างความกลัวหรือการจำกัดตัวเองในสังคม จนแทบจะกลายเป็นว่า การพูดสิ่งที่เป็นปกติต้องใช้ความกล้าหรืออยู่บนความเสี่ยง สิ่งที่ควรจะเป็น คือ ตราบใดที่เกินเส้น ตรงนั้นจึงจะเป็นความผิด แต่ตอนนี้ไม่มีใครรู้เส้น ทำให้สังคมปิด
แบบนี้เรายังพอจะมีหวังว่า ศาลสามารถเป็นที่พึ่งสุดท้ายของทุกคนได้อยู่ไหม
การจะยังหวังว่าศาลเป็นที่พึ่งหรือทางออกของวิกฤตได้เป็นการตั้งคำถามที่ค่อนข้างปิดหรือขวางการอธิบายบางเรื่องออกไป ถ้าไปดูบทบาทศาลก่อนการรัฐประหาร เราจะเห็นการใช้อำนาจที่ค่อนข้างจะสรุปได้ว่า เป็นการสอดรับหรือขัดขวางกระบวนการที่จะทำให้รัฐธรรมนูญดำรงอยู่ได้ต่อไป การที่ศาลยังดำรงอยู่ทั้งที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้ว มันไม่สามารถอธิบายความชอบธรรมของศาลรัฐธรรมนูญได้
ที่สุดแล้วศาลจะต้องดำรงอยู่ต่อไปได้ ต้องปรับตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน
ต้องมีการกลับมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง ย้อนกลับไปดูบทบาท หรือแนวคิดหลักการที่เราสร้างมาตลอด 20 ปี เกี่ยวกับสถาบันอย่างศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า มันมีปัญหาตรงไหน เราไปลอกเขามาแบบผิดๆ ไม่เข้าใจอย่างไร มีการนำมาปรับ-มาใช้แบบไทยๆ แล้วมันผิดเพี้ยนไปจากเรื่องที่ควรจะเป็นตรงไหน
เราต้องออกแบบใหม่หรือกำหนดใหม่ให้อยู่บนหลักการ ให้ศาลยังเป็นสถาบันที่มีอำนาจในการคุ้มครองสิทธิประชาชน ตรวจสอบอำนาจของฝ่ายการเมือง รับผิดชอบต่อประชาชน แต่สามารถถูกตรวจสอบและถ่วงดุลโดยสถาบันทางการเมืองอื่นๆ มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาจจะต้องมาคุยกันเรื่องนี้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สามารถแก้ได้ด้วยการโฟกัสไปที่องค์กรใดองค์กรหนึ่ง เราต้องเลิกตั้งสมมติฐานว่า มีองค์กรที่แก้ปัญหาให้เราได้
ทุกสถาบันทางการเมือง ควรถูกพิจารณาเพื่อให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ โดยที่เป็นการหยิบปัญหาขึ้นมาถกเถียงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขที่แท้จริง