เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ผ่านไปแล้ว ท่ามกลางความดีใจของเหล่าผู้สนับสนุน ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ที่ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ในขณะที่ผู้สนับสนุนผู้สมัครอื่นๆ ก็อาจจะผิดหวัง เสียใจ หรือท้อแท้ ปะปนกันไป
แต่ท่ามกลางการแข่งกันนำเสนอปัญหา กทม. ผ่าน ‘วิธีเล่า’ ใหม่ๆ ที่น่าสนใจตามสื่อต่างๆ
ยังมีคนทำงานเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง (4-5 คน) ที่พยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ กทม. มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อนำเสนอในเชิง ‘ฐานข้อมูล’ ดังหวังว่าจะนำไปสู่การต่อยอดแก้ปัญหาให้ตรงจุดอย่างแท้จริง ไม่รวมถึงอาจช่วยทลายมายาคติเกี่ยวกับปัญหาใน กทม.บางอย่าง ที่แม้เราจะจะคุ้นชิน แต่ข้อเท็จจริงอาจไปอีกทาง
กระทั่งเกิดเป็นโปรเจ็กต์ Bangkok Index ที่รวบรวมประเด็นปัญหาต่างๆ ใน กทม. 12 ประเด็น พร้อมกิมมิกเล็กๆ ไว้เปรียบเทียบว่า ใน 50 เขตของ กทม. เขตไหนน่าอยู่มากที่สุด-น้อยที่สุด (สปอยล์ล่วงหน้าว่า เขตดินแดงที่ออฟฟิศของ The MATTER อยู่ น่าอยู่น้อยที่สุด)
คนกลุ่มเล็กๆ ที่เรากำลังพูดถึงคือทีม Rocket Media Lab ซึ่งก่อตั้งมาในปี 2563 และทำข่าวเชิงข้อมูล (data journalism) มาแล้วหลายชิ้น (ซึ่งได้รับความเชื่อถือจากสื่อมวลชนหลายแห่ง รวมถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บางคนก็แชร์ข้อมูลจากทีมอยู่เป็นประจำ)
เราไปนั่งคุยกับ ‘ตั้ม-สันติชัย อาภรณ์ศรี’ และ ‘จิ-จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์’ 2 ผู้ร่วมก่อตั้งของ Rocket Media Lab ว่าอะไรคือความสนุกของการทำคอนเทนต์เชิงข้อมูล และจากที่ทำโปรเจ็กต์ฐานข้อมูลปัญหาของ กทม. สิ่งใหม่ๆ ที่ได้เจอมีอะไรบ้าง
หมายเหตุ: ในบทสนทนาตั้มจะเป็นคนตอบหลัก ส่วนจิจะคอยเสริม
จุดเริ่มต้น Rocket Media Lab
เราเคยทำ The Momentum มาก่อน และมีช่วงนึงทำแคมป์ data journalism มีความพยายามผลักดันให้คนที่ทำข่าวลองทำข่าวในเชิง data journalism ดู ซึ่งเราก็พยายามให้ครบวงจร มีการรวมทีมกันระหว่างนักข่าว graphic designer และ developer/programmer จะได้คิดแต่ต้นว่า สิ่งที่จะทำคืออะไร นักข่าวจะได้ไกด์ได้ หน้าตาก็เป็นเรื่องกราฟิกกับ dev คืออยากให้เห็นกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่วิธีคิดและจบที่หน้าตา ซึ่งตอนที่อบรม ก็จะมีตั้งแต่เรื่อง stat การคิดประเด็น การตบประเด็น บลาๆ จนจบ ซึ่งน่าเสียดายที่ช่วงท้ายๆ มันมีโควิด ทำให้การพรีเซ้นต์งานมันขาดช่วงไป
แต่จากจุดนั้น ทำให้เราเห็นว่า ไม่มีใครทำ data journalism จริงๆ จังๆ เป็น hub เลย ประกอบกับหลังจากนั้น เราและทีมออกจาก The Momentum ก็คิดกันว่าจะทำอะไรดี ก็พบว่าจากประสบการณ์ทำแคมป์ ที่ตอนแรกคิดว่าจะ on tour ไปสอนนักศึกษาแต่ละภาคไหม เช่นนั้น เราก็เอามาทำเป็น lab ของตัวเองไหม ลองดู
ประกอบกับว่า เราเองเป็นนักข่าวมาก่อน ก็รู้ว่า สมมุติถ้าเรา assign น้องให้ทำข่าวเชิงข้อมูลชิ้นนึง มันใช้เวลาหลายวัน เราต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลไปเกือบสัปดาห์ ถึงอาจจะมีคนบอกว่า มันพักไปทำอย่างอื่นได้ แต่มัน distract คนทำงาน เพราะถ้าจะทำข้อมูลขนาดใหญ่ คุณต้องมีสมาธิมาก ต้องอยู่กับมัน ต้องคุ้น ต้องไปคุยกับคนที่รู้เรื่องนี้เพื่อให้ชี้ช่องได้
สมัยก่อน เวลาเราจะทำข่าวอะไร เราก็ต้องโทรไปเช็คผู้เกี่ยวข้อง แต่พอมาทำข่าวออนไลน์ สิ่งเหล่านี้มันหายไป เราต้องไปพึ่ง ‘ฐานข้อมูล’ มากขึ้น แต่ถามว่ามันมีมากพอไหม เหมือนตอนพูดเรื่องโรงรับจำนำ ทุกคนก็จะพูดว่า นายกฯ พูดว่าอย่างนี้ๆ แต่สถานการณ์โรงรับจำนำเป็นยังไงล่ะ เราก็ต้องไปค้น ซึ่งอาจจะมีข้อมูลอยู่ แต่มันมีน้อย นี่คือปัญหาที่เจอ 1.พอจะให้นักข่าวไปทำข่าวเชิงข้อมูลชิ้นใหญ่ มันต้องเสียทรัพยากรคนๆ นึงไป 2.ไม่มีฐานข้อมูลที่มีข้อมูลเพียงพอจะนำมาประกอบการรายงานข่าวชิ้นนั้นๆ ได้
ก็เลยคิดว่า ถ้าทำ lab ขึ้นมา มันก็ต้อง connect กับ ‘ช่องว่าง’ ของสื่อมวลชนตรงนี้ ให้ได้ คือช่วยเติมเต็มว่า ในเมื่อเขาไม่มีเวลา เราก็ทำงานบางประเด็น ซึ่งอาจจะ 1. เซ็ต agenda ร่วมกัน เป็น agenda ที่สังคมน่าจะสนใจ แล้วก็ทำเสริมกัน 2.ทำข้อมูลเตรียมไว้เลย เพื่อเป็นฐานข้อมูลว่า เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นจะได้ใช้ข้อมูลจากฐานตรงนี้เข้าไปเสริมการทำข่าวได้ เช่น เรื่องแรงงาน ทุกคนก็จะดึงข้อมูลเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำตลอดเวลา
นี่คือสิ่งที่เราอยากเริ่มทำ Rocket Media Lab ขึ้นมา ก็จดทะเบียนบริษัทขึ้นมา แล้วก็เริ่มหาทุน และก็ได้ทุนจากต่างประเทศมา โดยก่อนหน้านั้นก็พยายามหาหลายๆ โมเดลให้บริษัทอยู่ได้ หลังจากเริ่มทุนมาก็เริ่ม start พร้อมวางแผนไปว่า จะทำอย่างไรให้ในอนาคต สามารถยืนต่อไปได้โดยอาจจะเป็นอิสระจากทุน
ความยากในการเริ่มสร้าง lab ทำข่าวเชิงข้อมูลมีอะไรบ้าง และเหตุใดถึงต้องขอทุนจากต่างประเทศ ไม่มีทุนไทยเข้ามาสนับสนุนหรือ
ทุนไทยก็อาจจะมีแหละ แต่เราไม่รู้ว่าจะเจอเงื่อนไขแบบไหนบ้าง เพราะเท่าที่รู้ จะมีเงื่อนไขเยอะมาก และทำผลงานเสร็จแล้ว ลิขสิทธิ์ก็อาจจะไม่ได้เป็นของเรา มันจึงไม่ตอบโจทย์ว่า เราจะทำข้อมูลเพื่อสื่อมวลชนได้ยังไง ในเมื่องานที่เราทำเสร็จแล้วควรจะเป็น open data คือใครเอาไปใช้ก็ได้ เงื่อนไขตรงนี้ควรจะ free for all และทุนเมืองนอกมันตอบโจทย์ตรงนี้มากกว่า คือใครอยากเอาไปใช้ ก็เอาไปได้เลย เพียงแค่อ้างอิงแหล่งที่มา
ตอนแรกก็พยายามวิ่งหาแหล่งทุนนะ แต่ก็ไม่ได้ (จิ: ก็พยายามหาแหล่ะ) เพราะเวลารับทุนเมืองนอกมาทำงาน ก็จะมี stigma อยู่ว่า รับเงินมาด่าเมืองไทยหรือเปล่า แต่คนทำข้อมูลจะรู้ว่า หน่วยงานที่รับเงินเมืองนอกมากเยอะ ก็คือกองทัพไทย เราเลยรู้สึกว่า เรื่องนี้มัน IO เราจึงไม่ใส่ใจ
ที่สำคัญคือ ข้อมูลที่เออกมา เราไม่ได้ทำเพื่อโทษใครไง แต่ใครก็หยิบไปใช้เพื่อพัฒนาเรื่องนั้นๆ ได้ ไม่วาจะรัฐหรือเอกชน มันคือ data for all ไม่ใช่การหาว่า ใครผิด ใครถูก
จากประสบการณ์ทำสื่อออนไลน์มา ปัจจุบันหลายๆ สื่อก็จะไปเน้นเรื่อง ‘วิธีเล่า’ ให้หวือหวา น่าสนใจ แต่ทำไม Rocket Media Lab กลับไปเน้นเรื่องการ ‘ทำข้อมูล’ ให้คนอื่นๆ หยิบไปรายงานต่อ โดยที่คนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนทำ
ถ้า data จะถูกหยิบไปใช้อย่างกว้างขวางและมีพลังได้ มันจะมีหลายๆ ข้อต่อ หนึ่งในนั้นก็คือสื่อมวลชน รวมไปถึงอินฟลูเอนเซอร์ด้วย (จิ: ประเด็นหลักจึงไม่ใช่เรื่องของ ‘รูปแบบ’ หรือวิธีเล่า) ใช่ แต่เป็นการทำข้อมูลยังไงให้คนหยิบไปใช้ในเชิงข่าวได้ หยิบไปใช้พูดถึงในสังคมทั่วๆ ไป หรือหยิบไปใช้ในการทำแคมเปญได้ มันควรจะต้องเป็น ‘ข้อมูล’ ในรูปแบบนั้นมากกว่า
และอาจจะด้วยข้อจำกัดระดับหนึ่งของเรา คือเรามีพื้นฐานในการทำข่าว ไม่ได้เก่งในการแปลงข้อมูลออกมาให้ดูน่าสนใจ แต่เชี่ยวชาญในการทำข้อมูลมากกว่า แต่ก็ยังพยายามพัฒนาในสิ่งเหล่านั้น ทำยังไงให้สวยขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น ผ่านลูกเล่นต่างๆ ในการนำเสนอ
ตอนนี้ Rocket Media Lab นิยามตัวเองว่าอย่างไร
คนที่ทำข้อมูลเพื่อสื่อสารมวลชน ทั้งในเชิงองค์กร และในเชิงการสื่อสาร
เราไม่ได้เป็นสื่อแบบ 100% เพราะเราไม่ได้มี medium เหมือนสื่อ อาจจะมีเป็นแค่ที่วางผลงานให้คนเห็นมากขึ้น แต่เราทำงานผ่านข้อมูล
สิ่งที่เราได้รับฟีดแบ็กบ่อยๆ คือ ข้อมูลเยอะไป มากไป ซับซ้อนเกิน เราก็พยายามพัฒนาให้สามารถแก้ไขตามฟีดแบ็กนั้นได้ แต่ก็ยังพยายามให้ข้อมูลครบถ้วนอยู่ สิ่งที่สื่อจะทำ คือหยิบบางท่อนไปเรา หรือทำให้น่าสนใจขึ้น สื่อจะมีความเชี่ยวชาญกว่า สิ่งที่เราจะ provide คือมันครบทุกแง่มุมไปม (จิ: เสียดายแหล่ะ อุตส่าห์ทำมา) คือประเด็นนึงๆ จะแตกไปเล่าได้เป็นสิบๆ ทาง)
ช่วงหลังวงการสื่อก็พูดการทำข่าวเชิงข้อมูลมากขึ้น แต่พอ Rocket Media Lab ถอยออกมา ไม่ต้องทำข่าวรูทีนเหมือนสื่อทั่วไป มองย้อนกลับมา เราเห็นอะไรบ้าง
หลายเรื่องที่เกิดขึ้นในเมืองไทย หลังจากมีประเด็นการเมืองร้อนแรกช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างมันสู้กันด้วยข้อมูล ทั้งตีกัน บลั๊ฟฟ์กัน ช่วงชิงพื้นที่กันและกัน เลยรู้สึกว่า ‘ข้อมูล’ มันสำคัญระดับหนึ่งในการสื่อสารมวลชน แต่แม้ Rocket Media Labจะทำข้อมูลที่เป็นงานเย็น แต่สุดท้ายก็ต้องไปกับสังคม ในพื้นที่การสื่อสารของไทย ที่มันจะมีดราม่า มีกระแส การจะไม่ผูกกับตรงนั้นเลย มันเป็นไปได้ยากมาก (จิ: ที่หากจะเล่นเฉพาะ agenda ของตัวเอง แล้วข้อมูลมันจะไป) สื่อจะเล่นกับเราด้วย สังคมจะเอากับเราด้วย ในขณะที่เขากำลังพูดเรื่องอื่นอยู่
ฉะนั้น จะทำยังไงที่จะ 1.มีฐานข้อมูลที่ครบ พร้อม เป็นฐานระดับหนึ่ง ที่ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วควรจะกลับมาใช้มันได้ ดังนั้นจึงต้องทำข้อมูลทบๆๆๆ ไปเรื่อยๆ 2.เมื่อเกิดอะไรขึ้นในสังคม เราก็ควรจะวิ่งไปกับสังคมระดับหนึ่ง เราก็เลยพยายามลองทำดูในช่วงหนึ่งว่า ถ้ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราก็ทำข้อมูลออกไป จะได้รับการตอบรับมากน้อยแค่ไหน
งานชิ้นแรกของ Rocket Media Lab คือการเลือกตั้ง อบจ. [1] [2] [3] ที่มาเพราะเป็นไทม์ไลน์ของมัน เพราะเราตั้งบริษัท เดือน ต.ค.2563 แล้วมันมีเลือกตั้ง เดือน ธ.ค.2563 มันก็มีวาระใหญ่ของประเทศ เราจึงเริ่มทำงานแรกจากเลือกตั้ง อบจ. และสิ่งที่พบคือ มันมีอะไรที่เราเรียนรู้เยอะมาก เช่น บางเรื่องที่มันเป็นกระแสสังคม แต่มันอาจจะขาดข้อมูล เช่น เลือกตั้ง อบจ. ไม่มีใครมีข้อมูลครบทั้งประเทศ เพราะ กกต.ใหญ่ไม่ได้ทำงาน จะเป็น กกต.จังหวัด ที่จะมีข้อมูลรายจังหวัด แต่ไม่มีใครรวมข้อมูลทั้งประเทศ ตอนที่เราจะทำข้อมูลก็พบว่า มันเป็นเรื่องตลก คือจะเลือกตั้ง อบจ.อยู่แล้ว แต่กลับไม่มีใครมีข้อมูลรวมทั้ง 76 จังหวัดเลย พอเรามีข้อมูลก็แจกจ่ายให้สื่อเอาไปใช้
นี่คือสิ่งแรกที่เราได้เรียนรู้ว่า มันยังมีอะไรบางอย่างที่ ‘ขาดไร้ข้อมูล’ อย่างที่สองที่ได้เรียนรู้ คือเมื่อทำงานกับสิ่งที่เป็นกระแสสังคมขณะนั้น มันช่วยในการขับเคลื่อนหรือผลักดันบางแง่มุมได้จริงๆ
จากงานชิ้นนั้น เราก็เลยถอยกลับมาดูโครงสร้างของบริษัทเรื่องวิธีทำงาน ควรจะเป็นยังไง ก็พบว่า มันควรจะต้องมีงานที่ไปกับกระแสสังคมประมาณนึงนะ หรือรู้อยู่แล้วว่ามันจะโผล่ขึ้นมา เช่น จะมีเลือกตั้ง จะมีอภิปรายไม่ไว้วางใจ และสุดท้าย คือประเด็นที่เราอยากจะพูดกับสังคม หรืออยากจะชวนสังคมไปพูดเรื่องอะไร
มันก็เป็นการเซ็ตไว้คร่าวๆ เซ็ตไปด้วย ทำไปด้วย ขยับไปด้วย เพราะบางเรื่องทำไม่ทัน บางเรื่องก็ทำแล้วต้องทิ้งไว้กลางทาง เพราะข้อมูลของไทยไม่ได้เปิดขนาดนั้น เช่น โรคระบาดในหมู ที่เราหาข้อมูลมาได้นะ แต่ได้เท่ากับสื่อ ไม่สามารถพาไปไกลได้มากกว่านั้น เราก็ไม่ทำออกมา เพราะสื่อทำได้อยู่แล้ว มันก็เป็นสิ่งที่เรียนรู้ว่า ในเมื่อเราไม่ต้องทำงานรูทีน ก็ควรจะทำอะไรที่ซัพพอร์ตสื่อด้วยข้อมูลอะไรที่ลึกซึ้งกว่า
เท่าที่ทำงานมา เจอปัญหาเรื่องการหาข้อมูลจากฝั่งรัฐอย่างไรบ้าง
case คลาสิกที่เราได้ทุกครั้งและไม่รู้จบ คือเคสเลือกตั้ง อบจ.แหละ อย่างแรก คือขอยาก อย่างที่สอง วิธีการเก็บข้อมูล พอ กกต.กลางไม่ได้ทำงาน แล้วข้อมูลอยู่ที่ กกต.จังหวัด หรือ อบจ. สิ่งที่เราเจอก็คือว่า เออ เราจะต้องขอข้อมูลจากใครล่ะ แล้วข้อมูลนั้นจะไปอยู่ตรงไหนและรูปแบบไหน สิ่งที่พบคือ ข้อมูลผู้สม้คร อบจ. มันไปอยู่ทั้งที่ อบจ. และที่ กกต.จังหวัด นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องงม นอกจากนี้ รูปแบบการเก็บและแสดงข้อมูลก็ไม่เหมือนกัน บางที่ก็อยู่หน้าเว็บไซต์ บางที่อยู่ในเฟซบุ๊ก พูดง่ายๆ คือ มันไม่มี standard หรือบางที่ไม่มีข้อมูลที่โชว์ให้เราเห็นเลย สิ่งที่เราต้องทำก็คือ โทรทีละจังหวัด ในจังหวัดที่ไม่มีข้อมูลให้ แล้วพอโทรก็จะเจอคำถามว่า เราเป็นใคร เอาข้อมูลไปทำอะไร ทั้งที่มันเป็นข้อมูลซึ่งควรจะให้โดยไม่ต้องถาม
พอได้รายชื่อผู้สมัคร อบจ.มาหมดแล้ว วันที่มีการประกาศว่า รับสมัครผ่านกี่คน สื่อรายงานแค่ว่า รับสมัครผ่านเท่าไร แต่ไม่ได้บอกว่า คนที่ไม่ผ่านคือใครบ้าง จังหวัดอะไร แปลว่าเราต้องไปไล่เช็คอีกทีว่า แต่ละจังหวัดมีใครผ่าน-ไม่ผ่านบ้าง พูดง่ายๆ คือเราต้องทำงานแบบ manual ทั้งที่บางเรื่องมันควรจะเข้าถึงข้อมูลที่ได้มาทั้งกะบิเลย โดยที่ไม่ต้องมานั่งไล่ นั่นคือสิ่งที่เราเจอจากเคสนี้
ต่อมาเมื่อทำข้อมูล กทม. สิ่งที่เจอก็คล้ายๆ กัน อย่างแรกคือการเข้าถึงข้อมูล บางเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้ 3 วันถัดมาเข้าถึงไม่ได้แล้ว หรือแม้จะลงทุนไปที่ กทม.เอง ก็ไม่มีข้อมูลให้ คือมันเป็น ‘ข้อมูลตกหลุม’ ไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์เลย หรือหลายๆ หน่วยงานใน กทม.รายงานข้อมูลไม่เหมือนกัน ไม่เป็นชุดเดียว หรือข้อมูลของ กทม.ไม่ตรงกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น เรื่องขยะ สิ่งที่เราต้องทำ คือเอารายงานทุกๆ ชิ้นที่มี มาวางเทียบกันว่า อะไรที่ไม่ตรงกัน ไม่ตรงกันเพราะอะไร เกิดอะไรขึ้น เพื่อไปหาคำตอบต่อไปว่า ข้อมูลชุดไหนมันถูกต้องที่สุดเท่าที่พอจะหาได้
หรือแม้กระทั่งการติดต่อขอข้อมูลไป เช่น สายไฟฟ้าลงดิน เราติดต่อข้อมูลไปทาง กสทช. ติดต่อไปสัก 4 รอบมั้ง สุดท้ายก็ไม่ได้ข้อมูลมา แม้เขาจะพยายามช่วย แต่พอไม่ได้เป็นเจ้าของข้อมูล ก็ไม่รู้จะไปหาจากไหน หรือตอนทำเรื่องสายรถเมล์ ติดต่อขอข้อมูลจาก ขสมก. สิ่งที่เราได้กลับมา คือข้อมูลที่ไม่ได้ถูก recheck คือข้อมูลในกระดาษแบบนึง ข้อมูลหน้าเว็บแบบนึง ซึ่งทั้ง 2 อันต่างไม่ถูกทั้งคู่ (ยิ้ม) แต่ประเด็นคือเราต้องเลือกอันใดอันนึงในการทำงาน เราก็เลยเลือกจากกระดาษ แล้วก็เอาไป recheck อีกที (จิ: แต่พอมันผ่านเวลามาก็มีความเปลี่ยนแปลงด้วย ข้อมูลมันก็เลยเปลี่ยนอีก แล้วอัพเดทที่สุดอยู่ตรงไหน) แต่อย่าว่าแต่ ขสมก. เลย กระทั่งเอกชนที่มาทำรถร่วมบริการ ก็ไม่ได้มีการรวบรวมข้อมูลเอาไว้ สิ่งที่เราต้องทำคือตามไปอัพเดทรายบริษัท
แสดงให้เห็นว่า มันไม่มีการจับเก็บข้อมูลที่เป็นระบบระเบียบ แบบที่เจอทั้งก้อน และต่อให้เจอทั้งก้อน ก็ไม่ได้แปลว่าใช้ได้เลย เราต้องไปตรวจสอบก่อน และตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วย เพราะการจะนำเสนออะไรออกไปแล้วผิดพลาดมันก็เป็นความรับผิดชอบของเรา เช่น สายรถเมล์ ตอนที่เรานำเสนอออกไป คือมันจะมีคนในพื้นที่ที่รู้กว่าเราเยอะมาก ก็ทักมาบอกว่า สายนี้ยังวิ่งอยู่นะ สายนี้ไม่ได้วิ่งแล้วนะ ราต้องนั่งแก้ข้อมูลอยู่ 2 วัน หรือต่อให้แก้แล้ว เราก็ยังรู้สึกว่า มันไม่มีทางถูกต้อง 100% อาจจะต้องมีการปรับแก้อยู่เรื่อยๆ เพราะเดี๋ยวคงมีบางสายหายไป บางสายเพิ่มขึ้นมา วิธีการจัดเก็บข้อมูลที่แก้ไขแบบ realtime ไม่มีเลย
เราเลยรู้สึกว่า มันทำงานยากจัง และภายใต้การทำงานยากจัง จะทำยังไงที่เรายังสามารถทำงานได้ คือถ้าเราสามารถทำงานได้ เพราะถ้ายังทำงาน แล้วกลับข้อมูลไม่ถูกต้อง ก็ควรจะไม่ต้องทำงานแล้วไง จะทำยังไงให้ข้อมูลที่ออกมา ถูกต้อง ครบถ้วน หรือใกล้เคียงคำว่า ถูกต้อง ครบถ้วน มากที่สุด นี่คือความยากในการตัดสินใจ
หลายชิ้นก็ต้องล้มแล้วล้มอีก อย่างที่เล่าให้ฟังนอกรอบว่า ความจริงงาน กทม. จะมี 20 ชิ้น แต่บางชิ้นถูกล้มไปกลางทางหลายรอบ บางชิ้นก็หวังว่าจะได้ออกในอนาคต เพราะข้อมูลยังไม่ครบ
เจอแบบนี้เยอะๆ มีช่วงไหนที่มันเหนื่อยและท้อ และงานชิ้นไหนที่เราเฟลสุดในการทำงาน
เราไม่เฟล เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง จากการที่เราทำงานมา หรือเห็นคนอื่นทำงานมา จึงรู้อยู่แล้วว่า worst case คืออะไร จะดีใจมากกว่าถ้าไปเจออะไรใหม่ๆ เช่น จุดเสี่ยงใน กทม. ที่มันจะมีตัวเลขรวมๆ เราก็ทำข้อมูลชุดแรกเสร็จแล้ว แล้วก็มีคืนนึงทำงานอยู่บ้าน หาข้อมูลเรื่องอื่นอยู่ ก็ไปเจอข้อมูลใหม่ ทำยังไงดี เพราะถ้าจะใช้ต้องแก้หมด แต่สุดท้ายก็ยอมแก้หมด
พอเราเจออะไรแบบเนี้ย ทุกๆ ครั้งมันจะมีลูกฮึด มันจะรู้สึกว่า ไม่สิ ชั้นต้องเจอข้อมูลที่มันละเอียดกว่านี้ตลอดเวลา หรือถ้ามันไปไม่ไหวจริงๆ ก็จะพยายามหาวิธีการเล่า อย่างเรื่องถนนและทางเท้า ไม่มีใครมีข้อมูลอะไรเลย กทม.อาจจะมีข้อมูลนะ เขามีแน่ๆ แต่จะเล่ายังไง (จิ เพราะมันมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง) ซึ่งทุกคนก็รู้ว่า ทางเท้าใน กทม.มันแย่ มันเห็นเชิงประจักษ์ แต่ในเชิง data จะพูดยังไงว่ามันแย่ ก็ต้องหาวิธีเล่าให้ได้ เราก็เลยต้องเล่าผ่านงบ ผ่านวิธีการทำงานว่าจะซ่อมแต่ละที เอางบมายังไง ใครจ่ายบ้าง มีทั้งงบกลาง งบโยธา งบรายเขต
คือสุดท้าย บางอย่างมันเลยกลายเป็น สิ่งที่ออกมาจึงไม่ใช่ database 100% หลายอย่างมันออกห่างจากความเป็น database ด้วยซ้ำ แต่มันเป็นวิธีการที่ใกล้เคียงที่สุดในการเล่าปัญหาด้วยข้อมูล
เราเลยรู้สึกว่า ไม่ได้ท้อ แต่สิ่งที่เรารู้สึกคือแม้สิ่งที่เราทำไป มันอาจจะไม่ได้ใกล้เคียงกับความถูกต้อง 100% หากเทียบกับภาครัฐที่เป็นผู้ถือข้อมูล แต่สุดท้ายมันอาจจะไปผลักดันให้ภาครัฐต้องเปิดข้อมูล ในเมื่อเราเปิดข้อมูลออกไปแล้ว ก็เป็นหน้าที่เขาจะต้อง declare ถ้าคิดว่าไม่จริง ที่ถูกต้องคืออย่างนี้ๆ ดังนั้น มันอาจจะไม่ใช่เชิง one way แต่อาจจะเป็น two way
ความสนุกของการทำข่าวเชิงข้อมูลคือยังไง
ไม่แน่ใจว่าจะเรียกความสนุกได้หรือเปล่า คือมันไม่สนุกหรอกเอาจริงๆ ไม่มีใครพูดว่าเรื่องนี้มันสนุก เพราะจากประสบการณ์เราต้องอยู่นั่งหน้าคอมฯ วันละเกิน 8 ชั่วโมง ฟังดูเก๋ แต่จริงๆ มันไม่เก๋ นั่งกรอกข้อมูลลง spreadsheet แล้วอย่าลืมว่าข้อมูลเมืองไทยมันไม่ใช่พวกที่คลิ๊กปุ๊บจะขึ้นมาให้หมด แต่มันเป็น pdf ที่แปลงมาจาก jpeg อีกที ก็อปยังไม่ได้เลย ต้องมาพิมพ์ตัวเลขใหม่หมด มันไม่มีอะไรสนุกเลย (เน้นเสียง)
แต่สิ่งที่เรารู้สึกคือ เราไม่ได้แค่ทำข่าวเป็นชิ้นๆ อย่างที่เราทำข้อมูล กทม. Bangkok Index ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ เดี่ยวก็ต้องมาคุยกันเรื่องทางเท้า สายไฟ ฯลฯ ทุกอย่างคือข้อมูล เมื่อคุณจะต้องมาพูดถึงปัญหาเรื่องนั้นอีกซ้ำๆ มันจะต้องมีข้อมูลรองรับ เรารู้สึกว่าสิ่งที่จะทำ คือสิ่งที่จะมารองรับการพูดถึงเรื่องนี้ไม่ว่าจะปัจจุบันหรืออนาคต
นอกจากนี้ ข้อมูลเหล่านี้อาจจะช่วยขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาในอนาคตได้ ถ้าคุณหยิบมันไปใช้ เช่น เรื่องน้ำเสียใน กทม. เรารู้อยู่แล้วว่ามันมีน้ำที่ไม่ผ่านระบบบำบัด 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เราไปแก้ระบบตรงนั้นไหม หรือปัญหาน้ำเสียมันเกิดจากท่อรวมของ กทม. ที่ไปรวมระหว่างน้ำฝนกับน้ำทิ้งของชุมชน ในขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งเคยเจอปัญหานี้ เขาแยกท่อแล้ว ทุกวันนี้เขาก็น้ำใสแล้ว ถึงขั้นมาทำรายงานให้เราว่า แยกท่อเถอะ จะได้แก้ไขปัญหาน้ำเสียได้
คือเรารู้สึกว่า ข้อมูลเหล่านี้มันนำไปสู่ policy maker นำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ในอนาคตได้ แม้ในช่วงที่เราปล่อยออกมา มันจะเป็นแค่ข่าวชิ้นเล็กๆ แต่เรารู้สึกว่าข้อมูลมันเป็นสิ่งที่ไม่ตาย มันจะไปต่อได้เรื่อยๆ ซึ่งปีหน้าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เราก็เติมข้อมูลเข้าไปใหม่ มันจะไปของมันต่อได้เรื่อยๆ มันเหมือนเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และเมื่อข้อมูลต่างๆ มาต่อกัน อย่าง Bangkok Index มันมี 12 ประเด็น มันก็จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเมือง
อยากให้เล่าที่มาโปรเจ็กต์ Bangkok Index
ชื่อแรกมันคือ Bangkokbase มันมาพร้อมๆ กับการก่อตั้ง Rocket Media Lab เลย เพราะเรารู้สึกว่า เออ ทำไมข้อมูลบางอย่างมันไม่มี คือ กทม.มันก็มีข้อมูลแหละ แต่จะกระจายไปแต่ละสำนัก ไม่ได้มี hub ตรงๆ และเรารู้สึกว่า เวลาจะพูดถึงปัญหา กทม. เวลาจะหาข้อมูล มันยากจัง ก็เลยอยากทำที่ๆ มันรวมข้อมูลของ กทม.บางอย่างไว้ ก็เลยคิดถึง Bangkok database มาเป็นชื่อ Bangkokbase แต่เรายังไม่รู้ว่าจะมีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ระหว่างนั้นเราก็ทำเรื่องอื่นๆ ไป แล้วก็เก็บสะสมข้อมูลของ กทม.มาเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง มีการประกาศเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในอีกไม่กี่เดือน เราก็ ..หายแล้ว จะออกแบบการทำงานยังไง แล้วจะทำทันได้ยังไง
เพราะปัญหาคือตอนที่เราค่อยๆ เก็บข้อมูลจนถึงก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มันยาวมาก เกือบปี หน้าตาข้อมูลมันเปลี่ยน บางข้อมูลมันถูกล็อก คือ กทม.เขาเปลี่ยน interface เว็บไซต์ แล้วข้อมูลบางอย่างมันดาวน์โหลดไม่ได้แล้ว แล้วเราเสียวสันหลังวาบว่า ข้อมูลที่เรามีอยู่มันพอไหม ถ้ายังจำกันได้งาน กทม.ชิ้นแรกๆ ของเราคือเรื่องต้นไม้ ใช้ข้อมูลที่ดาวน์โหลดล่วงหน้าไว้ปีหนึ่ง ซึ่งข้อมูลที่เราเก็บไว้หลังบ้าน กว่าพันชิ้นมันหาไม่ได้อีกแล้ว
พอมีประกาศวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็กลับมาคุยกับทีมว่า จะใช้ข้อมูลที่มีอยู่มาทำ Bangkokbase แล้วให้ทันเลือกตั้งนะ ปัญหาคือ เรามีกันอยู่ 4 คน (หัวเราะ) จะทำยังไงให้ทัน ทำได้แหละ แต่เราจะทำแบบเดิมเหรอ คือทำเสร็จก็ปล่อยเป็นชิ้นๆ เลยคิดว่า ต้องทำเป็น platform สักอย่าง เลยนำมาสู่ว่า ทำไมต้องทำเป็น Bangkok Index เพราะอย่างที่น่าจะเห็นคือการจะให้คนมาอ่านงานบางชิ้นที่ยาว 10-20 หน้า มันยากสำหรับคนทั่วๆ ไป สิ่งที่ง่ายที่เขาจะเข้าถึงหรือเริ่มต้นดูข้อมูล มันต้องมี gimmick อะไรสักอย่าง ที่คนทั่วไปอยากจะดูหรือเล่น “เอ๊ะ เขตชั้นได้ ranking เท่าไร ไม่จริงอ่ะที่บอกว่า เขตชั้นดี ทำไม่เห็นรู้สึกว่ามันดีเลย” เช่น เราอยู่เขตห้วยขวาง ได้อันดับ 8 แต่ข้ามไปนิดเดียว เขตดินแดงได้อันดับ 50 เลย หรือเอาไปเล่นในโซเชียลฯ ได้ แชร์มาขิงกัน บ้านชั้นสวนเยอะสุดเลยนะ
นี่คือสิ่งที่เอามาล่อคนให้อยากมาดูข้อมูล อะไรทำให้เขตบ้านคุณได้อันดับเท่านั้น แต่ระหว่างทางที่จะนำไปสู่สิ่งเหล่านั้นก็มีปัญหาเรื่องความถูกต้องของข้อมูล เพราะทีมของเราไม่มีใครจดด้านสถิติ ไม่มีใครเคยทำ index มาก่อนว่า มันมี criteria อะไรที่สำคัญบ้าง เท่าที่ลองศึกษาก็พบว่า มันมีทั้งมีและไม่มี คือเราสามารถสร้าง criteria มาเองได้ เพราะปัญหาคือข้อมูลใน กทม. แต่ละอัน ไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน บางอย่างเราให้คะแนนผ่านงบ บางอย่างให้ผ่านอย่างอื่น ก็เลยพยายามจับข้อมูลให้อยู่ใน 4 ก้อน สิ่งแวดล้อม (ขยะ น้ำเสีย มลพิษทางอากาศ) โครงสร้างพื้นฐาน (รถเมล์ ถนนทางเท้า สายไฟ-สายสื่อสารลงดิน) การเข้าถึงบริการพื้นฐาน (สาธารณสุข โรงเรียน สวนสาธารณะ) และปัญหาอื่นๆ (จุดเสี่ยงอาชญากรรม น้ำท่วม หาบเร่แผงลอย) เพื่อให้สามารถแยกประเด็นดูได้ ไม่ใช่แค่จบด้วย ranking
ตอนรู้ว่าจะมีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็มีคนโทรมาถามเยอะแยะเลยว่า Rocket Media Lab จะทำอะไรบ้าง มาทำร่วมกันไหม แต่เราก็ยังไม่กล้าไปจอยกับใคร เพราะเรายังไม่รู้เลยว่า 12 ประเด็นที่จะทำเป็น database มันเป็นอย่างที่เราคิดหรือเปล่า มันจะมีข้อมูลพอให้จัด category ได้ไหม ซึ่งมีหลายเรื่องที่ต้องทิ้งไปกลางทางเพราะข้อมูลมันไม่ครบ เช่น เรื่องไฟฟ้า-แสงสว่าง เรามีข้อมูลเกือบครบแล้ว สามารถบอกได้เลยว่า ถนนเส้นไหนไฟดับกี่ดวง แต่ดันมีไม่ครบทั้ง 50 เขต สุดท้ายก็ต้องทำใจ ไม่ปล่อยข้อมูลชิ้นนี้ ก็ต้องถอดมันออก แล้วหาเรื่องอื่นไปเติม จนสุดท้ายได้มากว่า 20 ประเด็น แล้วมาจัด category ใหม่ บางอย่างเลยอาจจะดูลักลั่น แต่ก็เป็นความพยายามที่จะทำหมวดหมู่ให้ครบและมีประเด็นที่ครอบคลุม
แล้วเรารู้สึกว่า มันจะไม่จบแค่เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ แต่จะอยู่ไปชั่วกัลปาวสาน ไม่ว่าจะได้ใครมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.ก็ตาม และดีไม่ดี มันก็อาจจะถูกนำไปในปรับเปลี่ยนเมืองอย่างไร
จำนวนงานที่ทำเกี่ยวกับ กทม.มีกี่ชิ้น และชอบชิ้นไหนที่สุด
ก็มี 12 ชิ้นที่ทำใน Bangkok Index และทำให้กับสื่ออื่นๆ ด้วย
เราชอบเรื่องขยะ ไม่ใช่เพราะคนแชร์เยอะ แต่รู้สึกว่า มันเป็นงานที่กระบวนการทำงานไม่ง่าย เพราะข้อมูลของทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พอเอามาวางเรียงกัน ข้อมูลมันไม่ตรงกันเลย จึงต้องมาสังเคราะห์-วิเคราะห์ว่าทำไมข้อมูลมันไม่ตรงกันเลย ทำไมข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กทม. และสำนักสิ่งแวดล้อมไม่ตรงกัน มันจึงไม่ใช่แค่เอาตัวเลขมาและทำออกไป แต่เป็นการ “หาคำตอบ” ซึ่งสุดท้าย เรายังคิดเลยว่า ถ้าหาคำตอบไม่ได้จะไม่ปล่อย แม้จะทำมา 90% ก็ตาม งานชิ้นนี้น่าจะโหดที่สุดชิ้นนึงแล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องหาความถูกต้องที่สุด ระหว่างทางมันเจอความท้าทายตลอดเวลา ตัวเลขนี้อะไรถูกผิด
(จิ คือแต่ละคนหาเอกสารมา ข้อมูลไม่ตรงกันสักอันเลย มันเหมือนกับทำให้ทีมได้ระมัดระวังกันมากขึ้น ที่มาข้อมูลมาจากไหน เป็นของปีไหน)
การทำงานแต่ละชิ้น ไม่ใช่แค่ได้ข้อมูล รวมๆ สร้างเป็นก้อนอะไรสักอย่าง แล้วปล่อยออกไป แต่ต้องตรวจสอบก่อนว่า เห้ย มันใช่อย่างที่พูดหรือเปล่า เรื่องชยะ มันจึงเป็นชิ้นที่เราเหนื่อยกับมัน แต่ทำให้เห็นกระบวนการการขุด data การหา data ในประเทศนี้จริงๆ ไม่ใช่แค่ได้ข้อมูลมาแล้วแปลงออกไป ใช้ทุกศาสตร์ในโลก จนแทบจะจุดธูปหาข้อมูลแล้ว
แล้วพอปล่อยออกไปก็ทำให้คนมาถกเถียงกันว่า สุดท้ายเราควรจะจัดการขยะยังไง คือมันมีหลายแนวทางมากเลย เพราะในขณะที่เราปล่อยข้อมูลภาพรวมออกไป เห็นตั้งแต่ต้นทางจนปลายทาง ก็มีคนเสนอว่า หรือเราควรจะแยกขยะตั้งแต่ต้น ทำแคมเปญแต่ต้น หรือสร้างโรงงานเผาขยะให้มากขึ้น คือทุกข้อต่อมันมีวิธีการที่จะแก้ปัญหาได้หมด ทำให้คนมานั่งคิดกัน หรือกระทั่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.เองก็ต้องเลือกว่าจะชูประเด็นไหน เรื่องการแก้ไขปัญหาขยะ ที่เป็นประเด็นใหญ่ของ กทม. แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องปัญหาขยะล้นเมือง กทม.จัดการจนไม่มีขยะตกค้าง แต่ปัญหาคือเราจัดการขยะไม่ดีต่างหาก เอาไปทิ้งที่จังหวัดอื่น เรามีโรงเผาขยะไม่เพียงพอ ไม่มีประสิทธิภาพ ดีไม่ดีโรงเผาขยะอาจจะไม่ถูกต้องตามหลักสิ่งแวดล้อมอีก ซึ่งมีคนพูดว่า โรงเผาขยะที่ดีจะต้องไม่มีควัน แล้วถ้ามีเราโรงเผาขยะเยอะๆ จะไปสร้างฝุ่น PM2.5 ไหม
พูดง่ายๆ มันมีปัญหาทุกหย่อมหญ้า ในทุกข้อต่อ นี่แหละคือสิ่งที่มันจะไม่จบในการเลือกตั้งครั้งเดียว แต่จะมีการพูดกันต่อ ต้องนำข้อมูลไปเถียงกันต่อ ทุกแง่มุมของข้อมูล ซึ่งมันไม่มีใครถูกหรือผิดที่สุด
มีงานชิ้นไหนที่ช่วยเปลี่ยนความคิดเราบ้าง ก่อนทำเรามีความเชื่อแบบนึง แต่พอทำจบเราต้องเปลี่ยนความเชื่อนั้นๆ
คือเรื่องอื่นๆ เราพอรู้โครงอยู่แล่ว เช่น พื้นที่สีเขียว ที่ กทม.ไปนับพื้นที่ที่คนเข้าถึงไม่ได้ เช่น เกาะกลางถนน แต่น้ำเสีย เราเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องเลย ก่อนทำเรื่องนี้ก็คิดว่า เพราะคนทิ้งขยะริมคลอง หรือขยะอุดตันตามท่อ เราก็คิดเหมือนคนทั่วไป โทษพฤติกรรมคน บลาๆๆ แต่พอทำข้อมูล เห้ย ไม่ใช่พฤติกรรมคน แต่เป็นระบบ มันจะกลับไปเรื่องว่า เราไม่ค่อยพูดเรื่องโครงสร้าง แม้กระทั่งน้ำเสียก็เช่นกัน กทม.มีมากี่ปีแล้ว แต่ระบบท่อยังเป็นแบบเดิมอยู่เลย กระทั่งสิ่งที่เราเซอร์ไพรส์คือ กทม.ใช้ “ท่อน้ำรวม” คือน้ำทิ้งกับน้ำฝนรวมกัน น้ำที่ไปสู่โรงบำบัดก็ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมีน้ำฝนเจือจางแล้ว และพอน้ำฝนไปรวมกับน้ำทิ้ง ทุกอย่างก็ต้องทิ้งลงคลอง
เราก็พยายามทำ flow chart ให้เห็นว่า ปัญหาไม่ใช่แค่พฤติกรรมคนนะ ยังรวมถึงระบบด้วย แล้ว กทม.จริงจังในการแก้ไขปัญหามากน้อยแค่ไหน อย่างเช่นกรณีน้ำท่วม เงิน 60-70% เอาไปลงที่ megaproject หมด ในขณะที่ท่อระบายน้ำที่ต้องลอก ปี 2564 เราลอกแค่ 7% ของทั้งหมดกว่า 6,000 กิโลเมตร ถามว่าทำไมไม่ลอกท่อให้ครบ ถ้าไปดูงบรายเขต ก็จะพบว่าเพราะเงินมันไม่พอ พอลอกท่อไม่พอ น้ำมันก็ไม่ระบาย
พอทำข้อมูลก็จะเห็นเลยว่า ปัญหาของ กทม.มันเกิดขึ้นทุกข้อต่อจริงๆ มันเป็นเรื่องโครงสร้าง
แล้วพอเราไปคุยกับอาจารย์ที่สอนเรื่องผังเมือง ก็จะพบว่า ปัญหาทุกๆ อย่างมันจะโยงไปเรื่องผังเมือง ที่เป็นโครงสร้าง ซึ่งถ้ามันผิด ก็จะบิดเบี้ยวไปหมดเลย เลยคุยกับทีมงานว่า อนาคตเราจะทำเรื่องนี้จริงๆ จังๆ คือ open space คือถ้าเขตนี้จะมีอะไรเกิดขึ้น ภายใน open space ที่มันจะมี มันควรจะสร้างหรือห้ามสร้างอะไร มันอาจจะแก้สิ่งที่มีอยู่แล้วยาก แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ควรจะต้องมีหรือไม่มีอะไร
(จิ: สำหรับเรา ความสนุกเรื่องการทำงาน คือ รถเมล์ มันทำให้เห็นว่า เราเก็บข้อมูลกันแบบ primitive (โบราณ) มาก หาจากเว็บไซต์ ทำหนังสือ ซึ่งโอเค เขาก็ส่งกลับมานะ แต่ยังไม่ครบ ก็โทรหา ขสมก โทรหารถร่วม มีบางบริษัทโทรไม่ติด กระบวนการตอนปล่อย น้องที่ทำข้อมูลอาจจะใจเสียนิดนึง แต่มันก็ดีที่มีคนมาท้วง ซึ่งเรื่องนี้ก็ใกล้ตัวเขา)
การทำ data ในประเทศไทย คือการทำงานแบบ primitive ไม่ใช่การทำงานเก๋ๆ แบบเมืองนอก ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี
(จิ: และจากคนทั่วๆ ไป เพจรถเมล์ต่างๆ ก็ช่วยรวบรวมข้อมูลด้วย ก็ได้ความร่วมมือจากทั่วทุกสารทิศ และสุดท้ายข้อมูลนี้ก็ยังไม่นิ่งด้วย มันก็เป็นข้อมูลที่ยังต้องทำต่อ เราว่ามันสะท้อนเรื่องข้อมูลของเมืองไทยมากๆ)
แล้วประเด็นนี้มันสะท้อนว่า เราทำงานโดย based on ข้อมูลจากรัฐไม่ได้หรอก คือต้องหาเอง ขุดเอง รวบรวมเอง สร้าง method (วิธีการ) บางอย่างเอง อย่างรถเมล์ ก็คือการสร้าง method ของเราเอง ซึ่งไม่ได้ยากอะไรเลย คุณแค่ต้องอาศัยความถึก ไปนั่งทาบสายรถเมล์กับพื้นที่เอาเอง (จิ: ที่ตลกคือ คนทำข้อมูลนี้เป็นคน จ.เชียงใหม่) และปัญหาคือคนทำข้อมูลในเมืองไทย งาน 1 ชิ้นจบด้วยคนเดียวไม่ได้ สุดท้ายทุกๆ คนต้องมาช่วยกัน เพราะเป็นข้อมูลที่มันไม่ clean เลย จนทุกคนหมดแรงกันไปหมดแล้ว แล้วถ้าจะทำข้อมูลที่มันใหญ่กว่านี้ จะทำกันได้ยังไง โดยที่ไม่ burn out ไปเสียก่อน เพราะคุณไม่เจอใครเลย เจอแต่ spreadsheet เทียบกับข่าว ที่ยังได้ลงพื้นที่เจอคนบ้าง
อยากให้ข้อมูลของ Bangkok Index ถูกนำไปใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
มีทั้งระดับตัวและองค์กร ถามว่าเราเชื่อมั่นไหมว่า คนเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากข้อมูล เราไม่ค่อยเชื่อ เพราะประวัติศาสตร์บอกแล้วว่า คนไม่ได้เลือกจากข้อมูล แต่ในฐานะคนทำ ก็อยากจะให้นำข้อมูลไปสู่ความเปลี่ยนแปลง และเราก็ยังหวังว่า ข้อมูลจะเป็นพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลง
แต่ไม่ว่า ข้อมูลนี้จะใช้ตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ เราก็อยากจะให้ข้อมูลเหล่านี้ “เปิดให้เห็นปัญหา” ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปขับเคลื่อนเรื่องอะไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนที่จะนำไปใช้ เช่นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจจะใช้ประกอบการตัดสินใจ หรืออาจจะมีผู้ว่าฯ กทม. หรือทีมงานมาเจอ แล้วเอาข้อมูลนี้ไปประกอบในการจัดทำนโยบาย เช่น ถ้าจะทำเรื่องพื้นที่สีเขียว แม้ กทม.จะมีข้อมูลอยู่ แต่ถ้าเชื่อไปเลยก็อาจจะเหมือนกับตาบอดข้างนึง เช่น เขตพระโขนงที่ไม่มีสวนสาธารณะเลย แต่ กทม.บอกว่ามีพื้นที่สีเขียวอยู่ (จิ: สิ่งที่เราทำ มันไปแย้งทฤษฎีที่ว่า ไม่ใช่แค่มีพื้นที่สีเขียวนะ แต่คนต้องเข้าถึงได้ด้วย) ขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลเราจะไปถึง policy maker ได้ไหม ทั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือพรรคการเมือง
คือมันไปได้หลายแขนงแหละ แต่เป้าหมายพื้นที่ของเราคืออยากจะให้ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เมืองมันดีขึ้น
(จิ: เรามองในระดับเล็กมาก คือระดับออฟฟิศเลย คือข้อมูลเหล่านี้มันเป็น intensive course คือหลักสูตรเร่งรัดของทีมมากๆ เพราะเวลามันน้อยมาก เวลาจะเตรียมข้อมูล จะหาข้อมูล คุณจะเริ่มยังไง และมันเป็นการทำงานที่ทุกคนจะต้องเข้าไปเกี่ยวเนื่องกัน ก็จะทำให้ทีมได้เรียนรู้ปัญหาจากชิ้นงานของคนอื่น และคิดว่าในอนาคตจะทำให้งานมันดีขึ้นๆ)
สิ่งที่ Rocket Media Lab จะทำคืออะไร เช่น จะทำข้อมูลปัญหาของจังหวัดต่างๆ ทั้งประเทศไหม
(ตั้ม-จิมองหน้ากัน)
เราเริ่มทุกอย่างด้วยความฝัน ฝันอะไรที่เกิดตัว คือการจะทำข้อมูลอะไรเกี่ยวกับ กทม. ออกมา 20 ชิ้น ภายในเวลา 2-3 เดือนมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว คือตอนเริ่มทำ Bangkok Index ก็คิดอยู่เสมอว่า จะสำเร็จไหม แต่ไม่เป็นไร ฝันใหญ่ไว้ก่อน อย่างน้อยๆ ไม่ได้การทำแพล็ตฟอร์ม ก็ได้งานรายชิ้นออกมา แต่พอมันได้ ก็ยิ่งฝันใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับข้อเรียกร้องของสังคมว่า จังหวัดอื่นๆ ก็อยาจะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ เหมือนกัน เราก็อาจจะเดินไปพร้อมกับแคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดอื่นๆ โดยใช้ Bangkok Index เป็นโมเดล แล้วมาดูซิว่า แต่ละจังหวัดมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน มีอะไรต้องปรับปรุงอีก
ก็คิดว่าน่าจะใช้เวลานานเลยแหละ
แต่ก็ยังมีอีกหลายส่วนที่เราอยากจะผลักดัน ไม่ใช่แค่เชิงโปรเจ็กต์ เช่น โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ รวมถึงงานเชิง culture (วัฒนธรรม) คือก่อนหน้านั้นเราทำงานเชิง culture แล้วได้รับผลตอบรัฐที่ดี ไม่ว่าจะเรื่องซีรีส์วาย หรือ consent ในการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งมันนำไปสู่การพูดคุยในสังคม เราก็เลยคิดว่าจะทำงานเชิงนี้ออกมาอีก แล้วชวนคนในสังคมคุยประเด็นเหล่านี้ให้มากขึ้น
เพราะงาน data เชิงวัฒนธรรมมันน้อย ส่วนใหญ่จะมาในเชิงความเห็นมากกว่า