หากใช้ศัพท์ปัจจุบัน เขาอาจดูเหมือนคน ‘หิวแสง’ เพราะมักลุกขึ้นถามยาวเหยียดเวลามีงานเสวนาประเด็นร้อน และชอบไปยืนอยู่หลังบุคคลสำคัญหรือแกนนำเมื่อมีกิจกรรมทางการเมือง
แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ‘วรัญชัย โชคชนะ’ ชายวัย 70 ปี ผู้เกิดใน อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ก่อนจะเข้ามาเรียนและเติบโตที่ กทม. เป็นคนที่ active ทางการเมืองอย่างยิ่ง และมักจะพบเห็นได้เป็นประจำตามอีเว้นต์การเมือง จนแซวกันว่าเขาอาจรู้หมายข่าวต่างๆ ดียิ่งกว่าสื่อมวลชนสายการเมืองเสียด้วยซ้ำ
ชื่อเสียงของวรัญชัย มีมาตั้งแต่ก่อนที่โซเชียลมีเดียจะบูม และโลกออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลักในการรับรู้ข่าวสารของคนไทย
ว่าเขาเป็นคนที่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. บ่อยที่สุดคนหนึ่ง ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ทุกครั้งที่จะมีการเลือกตั้งผู้บริหารเมืองหลวงของไทย หลายคนมักมองหาว่า ครั้งนี้จะมีผู้สมัครชื่อวรัญชัยไหม เพราะเขาลงสมัครต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2533 (เว้นวรรคเฉพาะการเลือกตั้งในปี 2551 และปี 2552)
ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2565 นี้ คนที่รอคอย (ถ้ามี) ก็ไม่ผิดหวัง เพราะเขาลงสมัครเป็นสมัยที่ 7 ได้หมายเลขประจำตัวคือ 22
The MATTER จึงนัดหมายวรัญชัยมานั่งคุยกัน ถึงการเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองต่างๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ว่าอะไรคือแรงขันดับเบื้องหลังในการไปร่วมกิจกรรมการเมืองต่างๆ และเป้าหมายในการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ซ้ำๆ คืออะไร
รู้สึกอย่างไร ที่มักเจอเสียงหัวเราะ เวลาไปร่วมกิจกรรมแล้วลุกขึ้นถามหรือแสดงความเห็น
คิดเห็นอย่างไร ถ้าจะบอกว่าคุณเป็น ‘คนบ้า’ การเมืองคนหนึ่ง
ที่ลงสมัครครั้งนี้เพียงแต่หาซีน-หาแสงหรือเปล่า นโยบายพัฒนา กทม. ของคุณคืออะไร
ทุกคำถาม วรัญชัยตอบมาอย่างง่ายๆ ซื่อๆ บางครั้งก็พูดติดตลก แต่สิ่งที่น่าสนใจก็ข้อมูลที่เขามีอยู่ในหัว ที่แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่ติดตามการเมืองอย่างเข้มข้นจริงจังคนหนึ่ง
ระหว่างพูดคุยกัน ทั้งนอกรอบและตอนนั่งสัมภาษณ์แบบอัดเสียง
เขาถามว่า กลุ่มผู้อ่านหลักของ The MATTER คือใคร สนใจประเด็นไหน ผู้สัมภาษณ์ชื่ออะไร ก่อนจะพยายามพูดคุยกับกลุ่มคนอ่าน และเรียกชื่อผู้สัมภาษณ์อยู่บ่อยๆ (แทบจะทุกห้านาที)
เขาไล่เรียงชื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหว ช่วง 2-3 ปีหลัง ได้เกือบจะครบถ้วน พร้อมบอกข้อแตกต่างของแต่ละกลุ่มอย่างคร่าวๆ ซึ่งหากไม่ใช่คอการเมือง อาจเข้าใจไปว่าทั้งหมดคือ ‘กลุ่มเดียวกัน’
เขาให้ชื่ออดีตนายกฯ ไทย ซึ่งมาจากการเลือกตั้งสลับกับการรัฐประหาร พร้อมพูดถึงเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ได้เป็นฉากๆ
อธิบายมายืดยาวเพื่อปูพื้นว่า คนบ้ากลางเมืองรายนี้ มีอะไรน่าสนใจกว่าที่เห็นจากรูปลักษณ์ภายนอก อย่าเสียเวลาต่อไปเลย ชวนไปติดตามกันว่า The MATTER-วรัญชัย พูดคุยอะไรกันบ้าง
อยากให้แนะนำตัวสั้นๆ หน่อยว่าเป็นใคร มาจากไหน
ผมชื่อวรัญชัย โชคชนะ เป็นคนอีสาน เกิดที่ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เรียนชั้นประถมที่ จ.อุบลราชธานี จนถึง ม.2 แล้วมาต่อ ม.3 ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ แถวบางลำภู กทม. จากนั้นก็มาเรียนต่อ ป.ตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร เคยเข้าอบรมที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต สมัยนั้นยังเป็นวิทยาลัยครูอยู่
หลังจากนั้นก็เข้ารับราชการเป็นครูที่ กทม. ทำอยู่สิบปี ตั้งแต่ปี 2519-2529 ซึ่งผมสนใจการเมืองมาก แต่ก็ถูกกลั่นแกล้งถูกย้ายไปอยู่ที่ไกลๆ ผมก็ทนอยู่ปีหนึ่ง แล้วก็เลยลาออก
ส่วนเส้นทางการเมือง ผมเคยสมัครตำแหน่งต่างๆ มาเยอะแยะมากมาย ทั้ง ส.ส. ส.ว. ทั้งใน จ.อุบลราชธานีและ กทม. แล้วก็ผู้ว่าฯ กทม. สมัครครั้งแรกในปี 2533 ตอนนั้นคนรู้จักผมเยอะมากขึ้น เพราะผมได้หมายเลข 1 เวลาช่องเก้า อสมท. ประกาศรายชื่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ว่ามีดังต่อไปนี้ หมายเลข 1 ชื่อนายวรัญชัย โชคชนะ คนก็เลยจำติดตา จากนั้นก็ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. มาตลอด ทั้งในปี 2535 ปี 2539 ปี 2543 ปี 2547 แต่ตอนปี 2551 และปี 2552 ผมไม่ได้ลง มาลงอีกทีตอนปี 2556 และล่าสุดในปีนี้ ปี 2565
นี่คือประวัติส่วนตัวของผม ทั้งเรื่องการศึกษา การทำงาน และการเมือง
เวลาว่างเว้นจากการเลือกตั้ง ผมก็ไปร่วมเคลื่อนไหวการเมืองให้ได้ประชาธิปไตย ชอบขับไล่เผด็จการ เลยรู้จักกับนักเรียนนักศึกษาประชาชนรอบล่าสุด เวลามีการจัดงานเสวนาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ผมก็จะเข้าไปร่วมและซักถาม
คุณวรัญชัยมักเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองต่างๆ อยู่เสมอ คำถามคือรู้หมายเหล่านั้นได้ยังไง บางทีรู้เยอะกว่าสื่ออีก
ได้มาจากหลายทาง ทางแรกคือฟังวิทยุ แปดโมงเศษๆ ก็จะมีการสรุปข่าวทางสถานีวิทยุของกองทัพ บางทีดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือก็เห็นหมายบ้าง หรือบางทีก็ดูจากมือถือเลื่อนไปเลื่อนมาก็เห็น
เล่าชีวิตประจำวันให้ฟังหน่อยว่า แต่ละวันทำอะไรบ้าง
ก็ตื่นประมาณตีห้า ยังไม่ลุกจากเตียง ก็ขอฟังข่าววิทยุหน่อย โดยเฉพาะคลื่น FM100.5 ดูว่ามีข่าวสนุกๆ อะไร หกโมงผมก็ลุกไปหาอ่านหนังสือพิมพ์ตามร้าน ไม่ได้ซื้อหรอก อ่านดูพาดหัวข่าว พอกลับมาที่บ้าน สักแปดโมงกว่าจะมีหมายข่าวจากสถานีวิทยุกองทัพบก แปดโมงเศษๆ เขาจะบอกว่าวันนี้มีประเด็นอะไรบ้าง
หลักๆ ก็จากหนังสือพิมพ์ วิทยุ และมือถือ แต่บางทีก็มีคนโทรมาบอกบ้างว่า วันนี้มีกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองนะ มารวมตัวกันหน่อยที่ The MATTER อยู่รัชดาภิเษก ซอย 3 (หัวเราะ) สมมติๆ
แบ่งเวลาการใช้ชีวิตครอบครัวกับการไปเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอย่างไร
เนื่องจากภรรยาผมเกษียณแล้ว ก็อยู่บ้านกินบำนาญไป ส่วนลูกๆ ความจริงผมมีลูก 2 คน ลูกชายถูกอุบัติเหตุรถชนตั้งแต่ยังเล็ก ส่วนลูกสาว ตอนนี้อายุ 24 ปี มีสามี มีลูก 2 คน ก็ยังอยู่ด้วยกันในบ้านเดียวกัน ผมก็ได้เงินทองใช้จากลูกสาวบ้าง จากพรรคพวกเพื่อนฝูงบ้าง หรือคนเห็นใจบ้าง ช่วยเรื่องเงินทองในการไปร่วมกิจกรรม
ไม่มีใครสู้ผมได้ เรื่องการไปรวมตัวร่วมกิจกรรมทางการเมือง
ทำไมต้องไปเยอะขนาดนั้น บางคนไปเป็นพักๆ อาจจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น แต่ทำไมคุณวรัญชัยยังเห็นไปกิจกรรมต่างๆ อยู่ตลอด
ผมไม่ได้ทำการงานอะไร วันๆ หนึ่งก็ดูแต่ว่ามีหมายอะไรบ้าง ชอบที่สุด หนึ่ง อภิปรายสัมมนาเรื่องการเมือง โดยเฉพาะการเมืองของนักศึกษา ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็รู้จักหมด ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จุฬาฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บ้าง ถ้ามีก็จะไป แต่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือความเดือดร้อนของประชาชนนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว กำไร-ขาดทุน ผมไม่ถนัด
(วรัญชัยขอนอกเรื่องไปพูดว่า รู้จักชื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหว ช่วง 2-3 ปีทั้งหมด รวมถึงกลุ่มนักเรียนเลว ที่เขาบอกว่า ในฐานะอดีตครู สนับสนุนที่เด็กๆ กลุ่มนี้ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาได้ แต่แอบหยอดมุกว่า เคยคุยกับแกนนำกลุ่มนักเรียนเลวว่า เปลี่ยนชื่อกลุ่มได้ไหม อย่าเป็น ‘นักเรียนเลว’ เลย เป็น ‘นักเรียนก้าวหน้า’ ได้ไหม แต่เขาก็ยังไม่เปลี่ยนชื่อกลุ่ม อาจเพราะชื่อนี้ติดหูคนไปแล้ว)
30 กว่าปี ที่ออกจากราชการ แล้วไปร่วมกิจกรรมการเมืองต่างๆ ทั้งงานเสวนาและการชุมนุม เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
สมัยนั้นยังไม่มีมือถือ ไม่มีโลกออนไลน์ ไม่มีการสื่อสารที่กว้างขวางเท่าทุกวันนี้ สมัยนั้นยังไม่มีดาวเทียม เต็มที่ก็ช่อง 3 5 7 9 และกรมประชาสัมพันธ์ ส่วนไทยพีบีเอส หรือ iTV เดิมก็ยังไม่มี เริ่มมีปี 2535
และการเคลื่อนไหวการชุมนุมต่างๆ ยังไม่ถูกข่มเหงรังแกจากผู้มีอำนาจเท่าทุกวันนี้ ใครจะชุมนุมก็ทำได้สบายๆ เครื่องเสียงอะไรก็พูดได้ เดินขบวนได้ ตอนผมไปร่วมชุมนุมครั้งแรกในปี 2520 ก็พากันเดินไปที่รัฐสภาบ้าง ทำเนียบรัฐบาลบ้าง เพื่อไล่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต่อมาก็ไล่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สมัยนั้นยังไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่มี พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่มีการยัดข้อหา การบังคับว่าจะชุมนุมต้องขออนุญาต ผมเห็นใจนักเรียนนักศึกษา เพราะเขาเรียนมา อย่างคุณอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ยังบอกว่า “ก็เขาเรียนเรื่องประชาธิปไตยมา พอเห็นบ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย เขาก็ต้องเรียกร้องสิ จะให้เขาอยู่เฉยๆ ได้ยังไง” แต่คุณไปยัดข้อหาเขา ใช้กระสุนยางบ้าง ใช้แก๊สน้ำตาบ้าง ซึ่งมันไม่ถูก
แล้วในเชิงประเด็นที่เคลื่อนไหวเรียกร้องมีความเปลี่ยนแปลงไหม นอกจากไม่เอาเผด็จการ ไม่เอาทหาร แก้ไขรัฐธรรมนูญ
มีเพิ่มอีกๆ สมัยก่อนพอได้รัฐบาลเผด็จการ คนก็จะออกมาไล่ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลถนอม-ประภาส พอเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ก็ได้รัฐบาล อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ พอมารัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ต่อด้วยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ไม่ว่ากันเพราะมาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ รัฐบาล พล.อ.เปรม คนก็ออกมาไล่ เพราะมาจากการแต่งตั้ง แต่พอรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณมา คนก็พอใจ
(หยุดรับโทรศัพท์)
ถึงไหนแล้ว มายุคหลัง โอ้โห มีการเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สมัยก่อนยังไม่มี มีแต่เรื่องการเมือง ไม่มีหรอก ให้ยกเลิกมาตรา 112 หรือปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ ซึ่งสำหรับผม มีจุดยืนในใจ แต่ไม่กล้าจะพาดพิง ถึงจะอ่านหมดทั้ง 10 ข้อ เรื่องงบประมาณอะไร กับเรื่องมาตรา 112 ซึ่งคิดว่า คงทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะต้องไปเข้าสภา
เวลาคุณวรัญชัยไปงานเสวนาแต่ละงาน ไม่ได้ไปฟังเฉยๆ แต่ไปถามด้วย ไปแสดงความเห็นด้วย หรือเวลาไปกิจกรรมการเมือง หลายครั้งที่จะอยู่ใกล้ๆ แกนนำ เหตุผลของพฤติกรรมเหล่านี้คืออะไร
ข้อแรกก่อน เวลาไปร่วมประชุม ทำไมถึงชอบซักถาม เพราะผมอยากส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักฟังและรู้จักถาม พระพุทธเจ้าสอนว่า คนที่จะมีหัวใจนักปราชญ์ต้องมี สุ จิ ปุ ลิ สุ-สุตตะ ฟัง จิ-จิตตะ คิด ปุ-ปุจฉา ถาม ลิ-ลิขิต เขียน ซึ่งคนไทยไม่ค่อยมี ซึ่งนอกจากฟังและถามแล้ว ถ้าฟังใครแล้วชอบใจอยากให้ปรบมือ เหมือนเมืองนอกที่เขาเจริญแล้ว ไม่ใช่แค่ปรบมือ ยังยืนขึ้นด้วย แต่คนไทยไม่ค่อยปรบมือ
ส่วนข้อสอง ทำไมชอบไปอยู่ใกล้ๆ กับแกนนำ วิทยากร หรือคนที่มาแถลงข่าว เนื่องจากผมอยากจะร่วมฟังเขาแสดงความเห็น เช่น มีใครถูกสื่อสัมภาษณ์อยู่ ผมก็อยากจะเข้าไปฟังใกล้ๆ ว่า กำลังพูดอะไรอยู่น้อ รวมถึงฟังคำถามจากนักข่าวด้วย และได้ออกข่าวไปด้วย (หัวเราะ) ก็เป็นของธรรมดา
จำครั้งแรกที่มีชื่อในข่าวได้ไหม เกิดจากเหตุการณ์ไหน
ผมเริ่มเคลื่อนไหวการเมืองมาตั้งแต่ปี 2521
แต่ที่ไปร่วมกิจกรรมการเมืองครั้งแรก คือเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 วันนั้นผมใส่เครื่องแบบครูเข้าไป มธ. ก็เห็นการไปตามคนในตึกต่างๆ ให้มาคลานที่สนามฟุตบอล แล้วก็ขนคนขึ้นรถเมล์ไปขังไว้ที่บางเขน พอออกจาก มธ. ไป ผมก็เห็นการแขวนคอคนที่ต้นมะขามและเผา ตอนนั้นมีใครหลุดออกไปจาก มธ. ได้ก็จะถูกด่าว่า หนักแผ่นดิน เพราะสมัยนั้นเพลงหนักแผ่นดินกำลังมาแรง ก็ด่าว่า พวกนี้ทำลายประเทศชาติ
ตั้งแต่นั้นมา ผมก็เริ่มมาไล่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ยึดอำนาจ ตั้งธานินทร์ กรัยเชียร เป็นนายกฯ แต่อยู่ได้ปีเดียวก็ยึดอำนาจอีกครั้ง และตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์เป็นนายกฯ แทน) สมัยนั้นสนามหลวงเข้าไปพูดง่ายเหลือเกิน
ส่วนที่เป็นข่าวครั้งแรก ผมไปถือป้ายที่หน้ารัฐสภา น่าจะปี 2521 มีข้อความ “เราต้องการนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” สมัยก่อนคนไทยยังไม่ชินกับการถือป้าย ผมเป็นคนแรกๆ คนก็มาถ่ายรูป เพราะเห็นว่าแปลกประหลาด เลยกลายเป็นข่าว
แล้วก็มาดังตอนสมัยผู้ว่าฯ กทม. ปี 2533 เพราะได้เบอร์หนึ่ง
อยากรู้ความรู้สึก เวลาไปร่วมเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมทางการเมือง บางคนอาจจะมองหน้าคุณวรัญชัยแล้วตลกขบขัน ส่วนตัวรู้สึกยังไง
ผมก็ไม่โกรธเคือง ไม่โมโหหรือเสียอกเสียใจ และอาจจะเป็นเพราะเขาเห็นว่า เวลาผมซักถามมันดูตลกไปหน่อย ก็เลยเห็นเป็นเรื่องตลก เห็นเวลาซักถามจะมีการสอดแทรกอารมณ์ขัน ก็อาจจะรู้สึกว่าคนนี้ไม่มีพิษไม่มีภัย
ไม่รวมถึงว่า เวลาผมไปเคลื่อนไหวก็จะหามุกอะไรไป เช่น ถือตะเกียง เพื่อบอกว่าเราอยู่ในยุคมืดประชาธิปไตย, รัฐธรรมนูญที่อยู่ใต้รถถัง ก็ไปดั้นด้นทำขึ้นมา และซื้อรถถังเด็กเล่น, รัฐบาลชุดนี้มันแจกกล้วย ผมก็หาซื้อกล้วยหอมมา, เรื่อง ส.ส.งูเห่า ผมก็ไปซื้องูเห่าของเล่นมา แต่เหมือนของจริงมากๆ, รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หมดเวลาแล้ว คนทุกข์ยาก ก็ไปซื้อนาฬิกามา
(วรัญชัยแว่บไปคุยเรื่องการเปิดเทอมของไทย โดยเทียบกับสิงคโปร์ว่า ไม่ใช่จะให้เรียนออนไลน์ทั้งหมด แต่มีมาตรการป้องกันโควิด เช่น ก่อนจะเข้าสถานศึกษาให้มีการตรวจ ถ้าใครติดโควิดก็อยู่บ้าน ไม่ใช่ว่าจะต้องหยุดทั้งโรงเรียน)
บุคลิกเป็นคนตลกอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าใครเห็นเราแล้วขำ จึงไม่ได้โกรธอะไร
การเคลื่อนไหวการประท้วงอะไร อยากจะให้คนเห็นภาพด้วย จะได้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น รัฐบาลนี้แจกกล้วยเพื่อซื้อตัว ส.ส.งูเห่า มือหนึ่งก็ถือกล้วยอีกมือถืองูเห่า แทนที่จะพูดอย่างเดียว สื่อก็ไม่สนใจ ภาพก็ไม่มี เขาก็ไม่อยากถ่าย
สมมุติถ้ามีบอกว่าคุณวรัญชัยเป็น ‘คนบ้า’ ทางการเมือง เราคิดยังไง
ไม่ใช่เรื่องต้องไปโกรธเขา ถ้าจะบอกว่าบ้า ผมเคยจำได้นักแต่งเพลงรุ่นเก่า สง่า อารัมภีร เป็นนักเรียนโรงเรียนอำนวยศิลป์ พอตกเที่ยงมา หลังกินข้าวก็จะมาร้องเพลงใต้ต้นไม้ คนก็ตั้งฉายาว่า นายสง่าบ้าเพลง ตอนหลังก็มาเป็นสง่า อารัมภีร เป็นนักแต่งเพลง
คนก็มองได้ครับ แต่ผมก็ภูมิใจนะ เป็นคนบ้าการเมือง
เพราะตามหลักของสากลทั่วไป สูงสุดของโลก รองจากศาสนาก็คือการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ ถ้าใครมาสนใจการเมือง บอกไว้เลยว่ามีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองในขณะที่เรียน เป็นห่วงใยบ้านเมือง ห่วงใยสังคม สมัยก่อนจะมี ส.น.น.ท. หรือศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นองค์กรที่นิสิตนักศึกษาใช้เพื่อเคลื่อนไหวประเด็นการเมืองสังคม ผมจึงอยากให้ฟื้นมา ให้แต่ละโรงเรียน แต่ละมหาวิทยาลัย ควรจะมีองค์กรนักเรียนนักศึกษา เพื่อเอาไว้แสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น ของแพง แก้ปัญหาโควิด
แต่ผู้ใหญ่บางคนจะชอบบอกว่า เด็กที่เป็นนักเรียนนักศึกษา มีหน้าที่เรียน ก็เรียนไปเถอะ
ผู้ใหญ่ที่คิดแบบนั้น คิดผิดครับ โอ้ เป็นนักเรียนต้องเรียนอย่างเดียว เพราะการเมือง หรือปัญหาของชาติบ้านเมือง ไม่ได้เกี่ยวกับวัยวุฒิ หรือสถานะ โอ้ย คุณอายุยังน้อยอยู่อย่ามายุ่งกับการเมือง ไม่รู้เรื่อง อย่ามายุ่ง โอ้ย ยังเรียนหนังสือไม่จบ แล้วก็จะมีข้ออ้างตลอดไป ยังเป็นเด็กอยู่ อย่าเลย ยังเป็นนักเรียนอยู่ อย่าเลย ยังเป็นนักศึกษาอยู่ อย่าเลย เรียนจบ ไปหางานก่อน พอมีงาน โอ้ย งานยุ่งไม่มีเวลา พอมีครอบครัวแล้ว อย่าไปยุ่ง พอแก่แล้ว ก็อย่าไปยุ่งเลย ..ก็เป็นข้ออ้างไปเรื่อยๆ
พลังนักเรียนนักศึกษา เป็นสีขาวบริสุทธิ์ควรจะส่งเสริมให้มากขึ้นด้วยซ้ำ พอมากขึ้นๆ ก็จะยิ่งมีพลัง แล้วทุกวันนี้ สื่อเขาดี เขาดูจากโซเชียลฯ รู้ทันข่าวสาร โดยอาจจะไม่ต้องดูทีวีหรืออ่านหนังสือพิมพ์ด้วยซ้ำ แล้วถามว่าปัญหาต่างๆ กระทบเขาไหม นักเรียนนักศึกษาหลายคนใช้รถ อย่างผมขี่จักรยานยนต์มา สมัยก่อนเติม 700-800 เต็มถัง เดี๋ยวนี้ต้อง 1,200 เต็มถัง หรือเรื่องข้าวของแพง ลำบาก โควิดก็ต้องระมัดระวังกัน ผมหวังว่า เดือน พ.ค.นี้นักเรียนนักศึกษาจะกลับไปเรียนที่สถานศึกษาได้ แล้วใช้โมเดลแบบสิงคโปร์มาใช้
แต่คนบางกลุ่มก็จะบอกว่า การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษารอบล่าสุด มีคนอยู่เบื้องหลัง เชื่อคำพูดนี้หรือไม่
ก่อนจะตอบว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ถ้าจะมีคนสนับสนุน ผมก็ไม่เห็นว่าจะแปลกอะไร อย่างพรรคการเมืองต่างๆ เวลาตั้งขึ้นมา ก็ยังต้องการคนสนับสนุนเลย ฉะนั้นถ้าจะมีก็ไม่ใช่เรื่องแปลก คำถามคือคนกลุ่มนั้นที่ออกมาชุมนุม เป็นการทำเพื่อประเทศชาติไหม เวลาเห็นการทำไม่ดีไม่งามของรัฐบาลออกมาท้วงติงไหม
ฉะนั้นความเห็นส่วนตัวผม ต่อให้มีคนสนับสนุนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ยกเว้นเป็นการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง ซึ่งส่วนตัวมองว่า กลุ่มนักเรียนนักศึกษาไม่ได้มีพฤติกรรมแบบนั้น
ส่วนถามว่าเชื่อไหม ก็เชื่อว่าบางกลุ่มมี บางกลุ่มไม่มี เพราะมันมีหลายกลุ่มเหลือเกิน (ไล่ชื่อให้ฟังนับสิบกลุ่ม) แทนที่คุณจะไปสงสัยว่ามีคนสนับสนุนกลุ่มนักเรียนนักศึกษาหรือเปล่า ทำไมไม่ถามตัวเองว่า แล้วทำไมเขาถึงออกมาเคลื่อนไหวขับไล่คุณ หรือเรียกร้องในประเด็นต่างๆ อยากให้มองในมุมกลับบ้าง
คุยมานานยังไม่ได้ถามเรื่องผู้ว่าฯ กทม. เลย อยากรู้ว่าการลงสมัครเป็นครั้งที่ 7 เป้าหมายในการลงสมัครแต่ละครั้งคืออะไร
หนึ่ง ผมมาอยู่ กทม.ตั้งแต่ปี 2510 สอง ผมเห็นว่า กทม.น่าจะได้รับการแก้ไขปรับปรุง สาม กทม.เป็นจังหวัดเดียวที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จังหวัดอื่นๆ ไม่มี จ.มหาสารคามบ้านเกิด หรือ จ.อุบลราชธานีที่ผมโตมาตอนเด็กๆ ก็ไม่มี และผมก็หวังว่าในอนาคต จังหวัดอื่นๆ น่าจะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ด้วย เพราะทุกวันนี้ถูกส่งมาจากกระทรวงมหาดไทย สมมุติคุณเป็นคน จ.เชียงใหม่ กระทรวงมหาดไทยก็ส่งผู้ว่าฯ ไป ถ้าเก่งก็ดีไป ถ้าไม่เก่ง คนที่นั่นก็ต้องรับกรรม
สำหรับการลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ของผม มีคำขวัญว่า “จงเพิ่มล้อ แต่อย่าเพิ่มรถ” เพราะถ้ามีขนส่งสาธารณะ มีรถไฟฟ้าเยอะๆ การใช้รถส่วนตัวก็จะได้ลดลง และอีกคำขวัญ “เป็นผู้ว่าฯ ที่ติดดิน” คือสัมผัสได้ เป็นผู้ประสานสิบทิศ และโทรตามได้ด้วย ผมถึงจะให้เบอร์โทรศัพท์กับป้ายหาเสียงที่จะทยอยติดเร็วๆ นี้ 099-393-8858
ให้เบอร์โทรศัพท์ในบทสัมภาษณ์นี้ได้เลย
ได้ๆ
และนโยบายก็ง่ายๆ คือ “4 ดี” กับ “6 ส.” จำง่ายๆ จะได้ไม่ต้องอธิบายเยอะ 4 ดี มี “เกิดดี” ไม่ใช่พ่อแม่ไม่มีเงินทำคลอดลูก “กินดี” มีอาหารการกิน มีนมให้เด็ก “อยู่ดี” ทุกวันนี้เห็นใจคนที่อยู่ตามสลัม ริมคลอง ใต้สะพาน และถ้าใครเคยไปดูตามถนนราชดำเนินจะเห็นว่ามีไปอยู่เป็นจำนวนมาก รอรับของที่จะมีคนมาแจก และสุดท้าย “ตายดี” คือถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างดีตามอัตภาพ
ซึ่งการเป็นผู้ว่าฯ กทม.หน้าที่หลักมี 2 อย่าง คือ “บริหารคน” กับ “บริหารเมือง” บริหารคนคือให้คนในจังหวัดนั้นอยู่ดีกินดีตามอัตภาพ กทม. มีสำนักพัฒนาสังคมก็ทำงานร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ได้ และบริหารเมือง ก็ทุกอย่างเลย น้ำในคลองสะอาดไหม ขยะต้องเก็บให้เรียบร้อย ทำโรงไฟฟ้ากำจัดขยะได้ไหม จะแก้ปัญหามลพิษได้ไหม การจราจรติดขัดจะเอายังไง
ขณะที่ 6 ส. “สะอาด” ต้องสะอาดให้ได้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผอ.เขตจะต้องดูแลพื้นที่ตัวเองให้สะอาดให้ได้ “สะดวก” “สบาย” คือไปไหนมาไหนต้องสะดวกและสบาย “สว่าง” เพราะถ้ามือมิจฉาชีพจะเยอะ “สงบ” คำว่าสงบไม่ใช่เงียบจนนักท่องเที่ยวไม่กล้ามา แต่สงบจากโจรผู้ร้าย และ “สวยงาม” ไม่ใช่ว่าอะไรก็ไม่รู้ รกรุงรัง
และผู้ว่าฯ กทม.จะทำงานคนเดียวไม่ได้ จะต้องทำงานร่วมกับ ส.ก. แม้อาจจะต่างพรรค มี ผอ.เขตเป็นมือเป็นไม้ และมีรองผู้ว่าฯ 4 คน แบ่งเป็นฝ่ายการศึกษา ฝ่ายโยธา ฝ่ายสาธารณสุข และฝ่ายการคลัง ส่วนปลัด กทม. ก็มีรองปลัด กทม.อีก 4 คน และยังมีสำนักต่างๆ อยู่ใน กทม. มีฐานะเทียบเท่ากรม
ที่สำคัญ เป็นผู้ว่าฯ กทม. อย่าหยิ่ง คิดว่าตัวเองเก่ง ชนะเลือกตั้งมาได้ ต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวพันกับงานใน กทม.ทั้งหมด การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง องค์การโทรศัพท์ รถไฟฟ้าและรถเมล์ ขสมก. ไปคุยกับเขา ไปหาเขาบ้าง รวมถึงตำรวจนครบาล
ในฐานะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนหนึ่ง ในการเลือกตั้งรอบนี้ที่มีผู้สมัครมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 31 คน คิดว่าคู่แข่งคนไหนน่ากลัวบ้าง
ในความเห็นของผม คิดว่าคนที่น่ากลัว คือคนที่สื่อไปทำข่าวเยอะๆ ซึ่งในบรรดาผู้สมัครทั้ง 31 คน เท่าที่สำรวจดูมีป้ายอยู่สัก 7 คนเท่านั้นเอง (หลังจากเราคุยกันถึงเริ่มมีผู้สมัครรายอื่นๆ ติดป้ายหาเสียง-The MATTER) สื่อก็จะไปเจาะคนเหล่านั้น ในขณะคนที่เหลือ ก็ไม่ค่อยมีป้าย เมื่อไม่มีป้าย ก็ไม่มีข่าว เขาก็ไม่ได้สื่อสารอะไรเลย ผมจึงขอบคุณหลายๆ สื่อที่มาสัมภาษณ์ เพราะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.รอบนี้ มีผู้ลงคะแนนหน้าใหม่ (first time voter) ถึงกว่า 700,000 คน ถ้าไม่มีป้าย ไม่มีสื่อมาสนใจ ก็จะเงียบไปเลย
ผมก็กำลังจะทำป้ายอยู่ มีผู้สนับสนุนมา นอกจากจะช่วยค่าสมัคร ค่าสมัครแพงอยู่ 50,000 บาท ตอนที่ผมสมัครผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรกๆ ค่าสมัครอยู่ที่ 5,000 บาท ต่อมาก็ขยับเป็น 10,000 บาท แล้วก็ขึ้นเป็น 70,000 บาท เคยมีนะครับ แล้วก็ลดลงมาเป็น 50,000 บาท แล้วสมัยก่อน ถ้าสมัครจะต้องหิ้วรูปไป 5,000-6,000 ใบ เพื่อให้นำไปติดตามหน่วยเลือกตั้งให้ แต่รอบหลัง เขาบอกว่าไม่ต้อง เดี๋ยวทำให้
คิดยังไงกับค่าสมัคร
ก็แพงไป
ทำไมต้องเก็บเงินส่วนนี้ ปล่อยสมัครฟรีเลยได้ไหม
ส่วนหนึ่งคงจะต้องการกันคนที่มาลงสมัครเล่นๆ หรือคนที่อยากดัง ประเภทนี้ก็มีอยู่ เพราะรอบนี้ น่าจะมีกว่า 20 คนที่คนไม่ค่อยรู้จัก ยกเว้นวรัญชัยที่พอจะดังอยู่ (หัวเราะ) การสมัครเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมันมีค่าสมัครทั้งนั้น ไม่เฉพาะผู้ว่าฯ กทม. ส.ส. หรือ ส.ว.ก็มีค่าสมัคร
เท่าที่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. มา 7 ครั้ง ครั้งนี้ถือว่ามีตัวเก็งมากที่สุดที่เคยมีมาไหม
ใช่ ทั้งจำนวนผู้สมัครทั้งหมดมากที่สุด กับมีตัวเก็งมากที่สุด หนึ่ง สังกัดพรรคใหญ่ๆ สอง ไม่สังกัดพรรคแต่เป็นคนดัง สาม พรรคดังๆ หาคนมาลง
ถ้าจำไม่ผิดคุณวรัญชัยเคยได้คะแนนมากที่สุดอยู่ราว 1 หมื่นคะแนน แล้วคาดหวังกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ยังไง
ได้คะแนนมากที่สุดตอนลงสมัครครั้งแรกปี 2533 คือ 13,143 คะแนน ส่วนผมจะมีโอกาสชนะได้ จะมีโอกาสได้ ก็ต่อเมื่อผมมีป้ายให้คนเห็นทั่วบ้านทั่วเมืองบ้าง และต้องฟีเวอร์เหมือนสมัย พล.ต.จำลอง (ศรีเมือง) ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ตอนปี 2528 ที่คนดูถูกมากว่า คนอย่างคุณสู้ผู้สมัครดังๆ ไม่ได้หรอก ตอนนั้นมีคนดังลงสมัคร 3 คน คือคุณชนะ รุ่งแสง จากพรรคประชาธิปัตย์ คุณมงคล สิมะโรจน์ จากกลุ่มกรุงเทพก้าวหน้า และ ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร จากพรรคประชากรไทย 3 คนนี้ได้แน่ๆ ต่างกับ พล.ต.จำลองเพิ่งลาออกจากทหารมา แถมยังได้เบอร์สุดท้าย คือเบอร์ 8 เป็นของแบกะดิน ใส่เสื้อม่อฮ่อม ไม่ได้เรื่อง เพิ่งมาฟีเวอร์ช่วยท้ายๆ ใช้ฝาเข่ง กระด้ง หุ่นไล่กา เฆี่ยนผู้สมัครตัวเก็ง 3 คนยับเลย
ผมจึงคิดว่า ถ้าจะชนะได้ ต้องฟีเวอร์แบบนั้น เพราะการพูด ผมก็พอได้ นโยบายผมก็ไม่เบา และประสบการณ์ผมก็มีมากกว่า เพราะสมัยมาเยอะ และถ้ามีป้ายและมีพื้นที่ออกข่าวบ้าง จะได้เชิญสื่อมาแถลงข่าว หรือเวลาไปไหนจะได้ยกมือไหว้กับเขาบ้าง (หัวเราะ)
ถ้าครั้งนี้ยังไม่ชนะ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งหน้ายังจะลงอีกไหม
ถ้ายังไม่ชนะ ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ก็จะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะหาพรรคลง เพราะอายุสภาจะอยู่จนถึงเดือน มี.ค.2566 แต่ปัญหาคือคุณประยุทธ์จะอยู่ถึงหรือเปล่า เพราะไหนจะต้องเจอด่านอภิปรายไม่ไว้วางใจ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ วาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี แล้วประชาชนนอกสภาจะไล่คุณไหมอีก
แต่ไม่ว่าจะสมัครหรือไม่สมัคร ผมก็สนใจม็อบอยู่แล้ว ม็อบที่สู้เพื่อประชาชน สู้เพื่อประชาธิปไตย หรือขับไล่เผด็จการ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรมีในเมืองไทย เพราะถ้าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย หลายปัญหาจะถูกแก้ไข ต่างชาติให้ความเชื่อถือ โอ้ย เขาไม่เชื่อถือหรอกคนที่ยึดอำนาจจากผู้หญิงมา ตั้ง ส.ว.ลากตั้ง และเขียนรัฐธรรมนูญมาเพื่อตัวเอง ต่างกับว่าถ้ามาจากการเลือกตั้ง ถึงจะน่านับถือ ต้องยกนิ้วให้
ในอนาคตไม่ว่าจะสมัครหรือไม่สมัครเป็นอะไร ก็จะร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองไปเรื่อยๆ
จนกว่าจะได้ประชาธิปไตย ถึงผมจะตายไปแล้ว ถ้าตายก็ไม่ได้เห็น แต่ถ้ายังไม่ตายก็สู้กับเผด็จการต่อไป
และหวังว่าเมื่อได้ประชาธิปไตยคืนมา ก็จะไม่มีการยึดอำนาจอีก ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นวังวนยึดอำนาจไม่รู้จบ