เมื่อถามว่า อยากให้คนเป็น ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ แก้ปัญหาอะไร คำตอบทั่วๆ ไปมักเป็นเรื่องรถติด น้ำท่วม ขยะ ทางเท้า ฝุ่นพิษ พื้นที่สีเขียว ฯลฯ
จึงน่าสงสัยว่า เหตุใดหนึ่งในผู้ประกาศตัวว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งนี้ ถึงชูเรื่อง ‘สู้กับคอร์รัปชั่น’ มาเป็นจุดขาย-เป็นนโยบายหลัก ด้วยสโลแกน “พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพ”
‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) คือใครคนนั้น
แม้จะเพิ่งมาเล่นการเมือง ได้เป็น ส.ส.เพียงสมัยเดียว แต่จากลีลาการอภิปรายที่เป็นเอกลักษณ์ และการใช้โซเชียลมีเดียเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆ ทั้งปฏิบัติการไอโอ การศึกษา โควิด ฯลฯ ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของจำนวนมาก และถูกพูดถึงบนหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง
นับแต่ถูกเปิดตัวว่าเป็นแคนดิเดตของ ก.ก. ในวันที่ 23 ม.ค.2565 นโยบายหลักที่วิโรจน์ชูขึ้นมาหาเสียง คือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างถอนรากถอนโคน แต่ก็ไม่ทิ้งปัญหาพื้นฐานอื่นๆ ทั้งขนส่งสาธารณะ การศึกษา และการจัดการทางเท้า ที่จะทำไปควบคู่กัน
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา The MATTER ลองไปตามการหาเสียงของวิโรจน์ ได้รับฟังวิธีคิดของตัวแทนจาก ก.ก.รายนี้ จึงอยากชวนมาอ่านกันว่า เขาจะปรับปรุง กทม.ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอย่างจริงๆ อย่างไรได้บ้าง
จะแก้คอร์รัปชั่นในเมืองกรุงอย่างไร
เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2565 วิโรจน์ได้เปิดนโยบายแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นใน กทม. ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นอย่างปัญหาการโดนเก็บส่วยอย่างไม่เป็นธรรม ไปจนถึงปัญหาโครงสร้างภายใน โดยเน้นกลไกการตรวจสอบของประชาชนมาเป็นเครื่องมือช่วย
ซึ่งนโยบายเด่นๆ ได้แก่
1. แก้ส่วย-สินบน ‘สร้างแพล็ตฟอร์มร้องเรียนตรง’
ในงานแสดงวิสัยทัศน์ พรรคก้าวไกลได้เชิญตัวแทนจากเขตต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บส่วยมาแชร์ประสบการณ์ อาทิ ผู้ประกอบการเจอค่าตัดต้นไม้ต้นละ 4 หมื่นบาท, เจ้าของร้านอาหารโดนปรับค่าลิขสิทธิ์เพลงโดยไม่มีหลักฐาน, วินมอเตอร์ไซต์โดนเก็บค่าเสื้อ, แม่ค้าโดนเก็บค่าเช่าที่โดยที่ไม่ได้ขาย ฯลฯ
วิโรจน์เองมองว่า ความน่ากังวลของส่วยไม่ใช่แค่มันกำลังคุกคามประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่มันฝังรากลึกในสังคมจนกลายเป็นเรื่องทั่วไปที่ถูกพูดถึงโดยไม่เคอะเขิน ซึ่งจะแก้ปัญหานี้ได้นั้น ต้องมีกลไกการตรวจสอบที่เป็นศูนย์กลางของประชาชน มีการทำช่องทางหรือแพล็ตฟอร์มให้ประชาชนสามารถร้องเรียนผู้กระทำผิดโดยส่งข้อมูลถึงผู้ว่าฯ กทม. หรือคณะกรรมาธิการของสภาที่ทำหน้าที่นี้โดยตรง
และไม่ใช่แค่ต้องมีช่องทางการร้องทุกข์เท่านั้น กลไกการตรวจสอบในสเต็ปต่อไปก็ต้องทำอย่างมีแบบแผนและซื่อตรง ไม่โอนเอียงไปที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
2. รัฐซื้อของแพง แต่คุณภาพต่ำ – ‘ต้องเปิดเผยข้อมูล’
วิโรจน์บอกว่า หลายต่อหลายครั้งที่ กทม.หรือหน่วยงานต่างๆ ต้องเสียงบประมาณในการลงทุนโครงการใดโครงการหนึ่งในปริมาณค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกับโครงการสาธารณะที่ต้องการความคงทนและสามารถใช้งานได้ยืดยาว แต่ในความเป็นจริงกลับเกิดเหตุการณ์ลงทุนสูงแต่ได้ของคุณภาพต่ำ
ดังนั้น เขาเสนอว่าจะต้องมีกลไกที่เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใส และให้ภาคเอกชนหรือภาคประชาชนสามารถเข้ามาติดตามความคืบหน้าและเข้ามาส่วนร่วมร่วมในการตรวจสอบ
3. ‘ลดงบกลางในมือผู้ว่าฯ กทม.’ ให้กระจายลงพื้นที่ผ่าน ส.ก.
ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จาก ก.ก. ชี้ว่าในปี พ.ศ.2558 ผู้ว่าฯ กทม. มี ‘งบกลาง’ ที่สามารถใช้ได้ตาม ‘ดุลยพินิจ’ อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท แต่ในปี พ.ศ.2565 งบกลางพุ่งสูงถึง 14,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 เท่าในเวลา 8 ปี แล้วประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่างบกลางส่วนนี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะการถือเงินจำนวนมากอาจเป็นการเปิดช่องให้เกิดการคอร์รัปชั่น
เพื่อแก้ปัญหานี้ วิโรจน์จึงเสนอลดงบกลางผู้ว่าฯ กทม.ลง และจัดสรรเป็นงบที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ประชาชนจากทั้ง 50 เขตสามารถเสนอโครงการเข้ามาได้ โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) เป็นตัวกลางในการร่วมพิจารณา ศึกษาและจัดอันดับความสำคัญ ซึ่งงบที่จัดสรรจะพิจารณาจากจำนวนประชากร ขนาดพื้นที่ และความต้องการที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเงินที่ได้จะถูกนำไปใช้ให้ตรงโจทย์ที่สุด
แนวทางนี้เป็นการเปลี่ยนงบกลางที่อยู่ในอุ้งมือของผู้ว่าฯ กทม. กระจายไปสู่งบของประชาชนคน กทม. ที่ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้เกิดการตรวจสอบระหว่างเขตขึ้นเอง ว่าพื้นที่ไหนเบิกงบไปใช้กับอะไร ในปริมาณเท่าไหร่ นำมาสู่การถ่วงดุลความโปร่งใสระหว่างพื้นที่
“กทม. คือผู้คน ไม่ใช่แค่ทัศนียภาพ ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง การลงทุนหรือการใช้จ่ายใดๆ ของ กทม. ต้องเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การอยู่อาศัยที่ดีขึ้น ปากท้องที่ดีขึ้น สวัสดิการที่ดีขึ้น” วิโรจน์สรุป
ความโปร่งใส (และเทคโนโลยี) คือคำตอบ
“เจอ จ่าย จบ” คือคอนเซ็ปต์การทำงานของส่วย วิโรจน์มองว่า การให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิ์แก้ปัญหา หรืออนุญาตใดๆ ก็ตาม ‘มากเกินไป’ เป็นการเปิดช่องว่างให้เกิดการคอร์รัปชั่นในทุกระดับ ตั้งแต่โครงสร้างภายในไปจนถึงโครงการภายนอก
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้ ทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.ของพรรค ก.ก. จึงพัฒนาเว็บไซต์ซึ่งเป็นสื่อกลางให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของรัฐ รวมถึงร้องเรียนประเด็นเดือดร้อน และให้เข้ามาแสดงความคิดเห็นการใช้งบกับประมาณกับเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นรัฐบาลเปิด (open government) มากขึ้น
ตัวเว็บไซต์ที่พัฒนาขึ้นมานี้จะเน้นระบบที่ไม่ซับซ้อน แต่เปิดเผยและโปร่งใส มีการแสดง dashboard ภาพรวมการทำงานของเขตต่างๆ ว่ามีความล่าช้า และปัญหามากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะสร้างมาตรฐานการทำงานที่ดีขึ้นได้
“กรุงเทพฯ ต้องฟื้นความเป็นรัฐบริการให้ได้ ความช้า การสร้างเงื่อนไข การตีกลับไปมาไม่ใช่รัฐบริการที่ดี มันขัดขวางการเจริญเติบโตปากท้องของเศรษฐกิจ” วิโรจน์กล่าว
ผู้ว่าฯ คือลูกน้อง – คน กทม.เป็นเจ้านาย
แต่นอกจากนโยบายหลักชนกับปัญหาส่วยแล้ว วิโรจน์ยังตอบคำถามถึงนโยบายอื่นๆ ในการแก้ปัญหาของ กทม. เช่นระบบขนส่งสาธารณะ อย่างรถเมล์
โดยเขากล่าวถึงปัญหารถเมล์ใน กทม.ว่า เกิดจากมติ ครม. ในปี 2526 ที่ให้ ขสมก.เป็นผู้เดินรถ เอกชนใดอยากจะมาเดินรถร่วมจะต้องขอใบอนุญาตจาก ขสมก. แม้ต่อมา ในปี 2559 จะมีมติ ครม.ให้ยกเลิกส่วนนี้ไป ให้ไปขอใบอนุญาตตรงจากกรมการขนส่งทางบก ทำให้เห็นรถร่วมบริการมีมากขึ้น แต่เท่านี้ยังไม่พอ กทม.ต้องลงไปตรวจสอบว่ามีเส้นทางไหนที่ประชาชนต้องการใช้บริการแต่ไม่มีรถบ้าง เรียกว่าเส้นทางฟันหลอ อาจเพราะไม่มีเอกชนสนใจเนื่องจากเดินรถแล้วไม่ได้กำไร กทม.ก็ต้องทำหน้าที่เป็นไปจัดการเดินรถเอง ซึ่งจะช่วยเติมผู้ให้บริการไปยังระบบขนส่งสาธารณะแบบอื่นๆ อย่างรถไฟฟ้า ได้อีกด้วย เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว
วิโรจน์ยังกล่าวถึงนโยบายการศึกษาว่า กทม.เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท สามารถแบ่งงบส่วนนี้มาอุดหนุนการศึกษาในส่วนที่จำเป็น นอกจากนี้ ควรสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ที่เป็นศูนย์กลางให้กับเด็ก ควรมีหลักสูตรเรียนออนไลน์ให้กับเด็กทุกคน ไม่ใช่แค่เด็กๆ ใน กทม. หรือสามารถดาวน์โหลดเอกสารไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมการเรียนก็สำคัญ นอกจากสุขอนามัย น้ำดื่มสะอาด เครื่องเล่นต่างๆ แข็งแรง ยังต้องให้ความสำคัญด้านจิตใจ โรงเรียนในสังกัด กทม.จะต้องปราศจากการกลั่นแกล้ง (bully-free school)
“โรงเรียนต้องเป็นมิตร เป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 เพื่อพัฒนาความรู้ไปพร้อมๆ กับพัฒนาอารมณ์และจิตใจ”
ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.รายนี้ ยังกล่าวถึงปัญหาอมตะอย่างเรื่อง ‘ผังเมือง’ ว่า ไม่ได้หมายถึงแค่การทาสีตีเส้น แต่คือการวางกติกาให้คนตัวเล็กตัวใหญ่ได้อยู่ร่วมกันในเมืองอย่างเป็นธรรม และได้ประโยชน์ทุกฝ่าย เช่น หากจะไล่ที่แม่ค้าที่ขายของริมทางเท้า กทม.ก็ควรจะจัดพื้นที่ค้าขายใหม่ให้แทน แล้วคิดต่อยอดไปถึงการทำระบบขนส่งสาธารณเพื่อดึงคนไปยังตลาดแห่งใหม่ ผู้ว่าฯ กทม.หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องกำหนดกติกาที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่ทอดทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
“ที่ผ่านมาเรามักเจอคำว่าจัดระเบียบ จนเรางงว่าใครเป็นเจ้าของ กทม. ตกลงเราเป็นแค่ผู้เช่าอยู่แล้วโดนจัดระเบียบ ถูกไหม แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ คน กทม. เป็นเจ้าของ กทม. ผู้ว่าฯ เป็นลูกน้องที่ต้องทำหน้าที่บริการและต้องรักษากติกาที่เจ้านายตกลงไว้ร่วมกัน” วิโรจน์กล่าว
นี่คือสรุปคร่าวๆ นโยบายของวิโรจน์ ผู้เสนอตัวให้คน กทม.เลือกไปเป็นผู้ว่าฯ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง