ในยุคที่วงการบันเทิงเอเชียแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพของทั้งภาพยนตร์และซีรีส์จนสามารถแผ่อิทธิพลเทียบรัศมีฝั่งตะวันตกได้อย่างไม่น้อยหน้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ดูเหมือนว่าเราจะสามารถเห็นพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในหลายประเทศโดยเฉพาะเจ้าตลาดใหญ่อย่าง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่คุณภาพของโปรดักชั่นที่ดีขึ้น แต่ยังรวมไปถึงวิวัฒนาการของพล็อตที่ก้าวตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้มากกว่า แตกต่างจากละครไทยที่ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็คล้ายยังย่ำอยู่ที่เก่า
แม้ผู้ผลิตละครไทยบางส่วนจะพยายามนำเสนอแนวคิดที่แตกต่างออกไป แต่ก็ต้องยอมรับว่าละครที่ถูกสร้างส่วนใหญ่หรือนำมารีเมคซ้ำๆ ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับพล็อตจำพวกการกลั่นแกล้ง ความแตกต่างของชนชั้น การล้อเลียนรูปร่างหน้าตา ทั้งยังทำเหมือนว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคม ทั้งที่จริงๆ แล้วพล็อตเหล่านี้ล้วนเป็น Soft Power ที่สนับสนุนการผลิตซ้ำการบูลลี่ (Bullying) โดยที่คุณอาจไม่เคยเอะใจมาก่อน วันนี้เราจะลองมาชำแหละพล็อตขายขำเหล่านี้ดูกัน ว่าที่ผ่านมาละครไทยได้ผลิตชุดความคิดแบบไหนออกไปบ้าง พร้อมพาคุณไปรู้จักกับโปรเจกต์ดีๆ ของดีแทคว่าด้วย สัญญาใจจากวัย Gen Z ที่จะมาร่วมกันแก้ปัญหา ด้วยความตั้งใจดีที่ว่า #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา
พล็อต 1: ปลอมตัวเป็นคนใช้ ไฝต้องมี สีผิวต้องคล้ำ
ยุคหนึ่งดูเหมือนว่าละครแนวปลอมตัวจะเคยฮิตติดตลาดมาก่อน โดยเฉพาะพล็อตที่นางเอกต้องปลอมตัวไปใกล้ชิดพระเอกเพื่อสืบอะไรบางอย่าง ถ้าปลอมเป็นผู้ชายอย่างมากก็แปะหนวดที่ไม่เนียนเข้าไป แต่เมื่อไหร่ที่ปลอมเป็นคนใช้ไม่รู้ทำไมงานไฝปลอม ฟันเหยิน ทาสีผิวให้คล้ำ พร้อมพฤติกรรมงกเงิ่นให้คนกลั่นแกล้งต้องมาทุกที
ดูไปแล้วเหมือนจะเป็นแค่พล็อตขายขำแต่แท้จริงกลับซ่อนแนวคิด Body Shaming เอาไว้เต็มประตู ทำให้ภาพจำของคนใช้ว่าต้องผิวดำคล้ำดูเด๋อด๋าไม่พอ แต่ยังทำให้คนผิวสีเข้ม หน้าตาไม่ตรง Beauty Standard ดูเป็นตัวตลกที่อ่อนแอ จนสามารถรังแกหรือล้อเลียนได้ กลายเป็นภาพจำให้คนนำมาบูลลี่กันทั้งในโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริง
พล็อต 2: รวยแล้วเฟียซ เหยียดเก่งยืนหนึ่ง
พล็อตคลาสสิคแนวความแตกต่างทางชนชั้น ไม่ว่าจะด้วยฐานะทางสังคมหรือการเงิน มักมาพร้อมวลียอดฮิตอย่าง ‘แกกับฉันมันคนละชั้น’ (ที่ไม่ได้หมายถึงตอนอยู่คอนโด) หรือ ‘แกเป็นใครแล้วฉันเป็นใคร’ (ที่ตัวละครไม่ได้ความจำเสื่อม) ของตัวละครที่มีฐานะดีกว่า
ทำให้เกิดภาพจำให้คนรู้สึกไม่ดีกับคนรวยว่าต้องเป็นคนขี้เหยียด ขณะเดียวกันก็ยัง Normalize การเหยียดคนที่มีฐานะด้อยกว่าให้กลายเป็นเรื่องปกติ ทำให้คนรู้สึกว่าความไม่เท่าเทียมกันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในสังคม
พล็อต 3: ความแตกต่างทางภาษา รูปแบบตัวฮายอดนิยม
หนึ่งในตัวฮายอดนิยมที่ละครไทยนิยมผลิตเห็นจะหนีไม่พ้นคนใช้ คนขับรถ รปภ. หรือแม่บ้าน ที่น่าสังเกตก็คือตัวละครเหล่านี้มักจะถูกเขียนให้มีพื้นเพมาจากต่างจังหวัด หรือประเทศเพื่อนบ้าน มีบุคลิกไม่ค่อยฉลาด เรียนมาน้อย พูดจาด้วยภาษาถิ่น หรือติดสำเนียงไม่ชัด สร้างภาพจำให้คนรู้สึกว่าคนที่มาจากต่างจังหวัดสามารถทำอาชีพได้จำกัดเพียงไม่กี่อาชีพ
หลายครั้งที่ความแตกต่างทางภาษาถูกนำมา Make Fun ให้ดูเด๋อด๋า เมื่อสะสมนานไปก็ทำให้คนส่วนใหญ่ติดภาพจำเหล่านั้นจนนำมาใช้เป็นคำเหยียดโดยไม่รู้ตัว
พล็อต 4: เกิดเป็นนางร้าย ปากไม่แดงไม่มีแรงเดิน
อีกหนึ่งตัวละครน่าสงสารที่มักจะถูกสร้างภาพจำผ่านละครไทยก็คือคนที่ชอบแต่งตัวเซ็กซี่ มีบุคลิกแรงๆ ทาปากแดง คีบส้นสูงแปดนิ้ว ด้วยความที่ในอดีตละครไทยกี่เรื่องต่อกี่เรื่องก็มักให้ตัวร้ายมีคาแรคเตอร์แบบนี้ จนกลายเป็นภาพติดตาว่าคนที่มีรูปลักษณ์ดังกล่าวต้องนิสัยไม่ดีเหมือนในจอ
ทั้งที่จริงๆ แล้วการเป็นคนแรงๆ นั้นไม่ได้ผิดอะไร จะใส่ชุดแหวกลึกแค่ไหน ใช้ลิปสติกสีแรงเท่าใด ตราบใดที่มีเงินหามาใส่ นั่นก็เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัวที่ไม่ควรถูกเหมารวม (Stereotype) ให้คนเอาไปล้อเลียนลับหลัง
พล็อต 5: หน้าตาดี มีสิทธิพิเศษใส่ไข่
ตรงข้ามกับคนหน้าตาไม่ตรงรสนิยมของสังคมที่มักจะถูกบูลลี่ ละครไทยหลายเรื่องยังชอบสร้างตัวละครที่ให้ค่ากับ Beauty Standard เหนือสิ่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นพระเอกเดือนคณะสุดเพอร์เฟกต์ที่แค่ไปมหาวิทยาลัยก็มีแฟนคลับตามชูป้ายไฟกรี๊ดกร๊าดตลอดทาง หรือตัวละครผิวขาว ผมยาว ตาโต ที่มักจะได้รับการปฏิบัติจากคนรอบข้างแตกต่างจากคนธรรมดาคนอื่นๆ
ทำให้คนจำนวนหนึ่งให้ค่ากับ Beauty Privilege จนยอมทิ้งความเป็นตัวเอง พยายามเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ตรงกับความชอบของคนส่วนใหญ่ สร้างความบอบช้ำให้กับคนที่ไม่ตรงมาตรฐาน รวมถึงลดทอนคุณค่าความหลากหลายของความเป็นมนุษย์
พล็อต 6: LGBT+ ขายขำตลอดกาล
สุดท้ายว่าด้วยพล็อตที่ไม่ว่าโลกก้าวไกลเปิดกว้างเรื่องทางเพศแค่ไหน ละครไทยก็ยังก้าวข้ามไม่พ้น กับการให้บทบาทนักแสดง LGBT+ ผูกติดอยู่กับความตลกโปกฮา เป็นตัวสร้างซีนขำขันของเรื่อง ราวกับว่าชาว LGBT+ ทุกคนนิ่งเงียบไม่ได้ ร้องไห้ไม่เป็น ทำให้คนคิดว่าคนเหล่านี้ในโลกความเป็นจริงต้องตลก ต้องอารมณ์ดีอยู่เสมอ
ที่ร้ายไปกว่านั้นละครหลายเรื่องยังเลือกจะสร้างคาแรคเตอร์ให้ตัวละคร LGBT+ มีนิสัยคุกคามทางเพศ อย่างการไล่ตามหรือลวนลามตัวละครชายในเรื่องอยู่บ่อยครั้ง กลายเป็นภาพจำผิดๆ ที่คนมักหยิบมาบูลลี่ชาว LGBT+ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ละครไทย แหล่งผลิตซ้ำการบูลลี่ (Bullying)
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจถกเถียงว่าเมื่อละครจบลงทุกอย่างก็ย่อมจบลงไปด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้วสื่อบันเทิงรูปแบบต่างๆ ล้วนมีพลังแฝงที่เรียกว่า Soft Power อยู่ด้วยกันทั้งนั้น พลังเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้สังคมเกาหลีเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นมากมาย ทำให้ญี่ปุ่นสามารถปลูกฝังแนวคิดต่างๆ กับเด็กและเยาวชน ทำให้จีนสามารถสอนค่านิยมแก่คนในประเทศอย่างแยบคาย
เมื่อหันมามองละครไทยที่มีแต่พล็อตว่าด้วยการบูลลี่ Soft Power ที่แฝงมาจึงทำให้คนเลียนแบบพฤติกรรมแย่ๆ ของตัวละครโดยที่ไม่รู้สึกว่ามันแปลกประหลาด กลายเป็นแหล่งผลิตซ้ำการกลั่นแกล้งรังแก (Bullying) ที่ทรงอิทธิพลอันดับต้นๆ ในสังคม
โลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง
เมื่อการบูลลี่กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม ผู้คนสามารถเหยียด ว่าร้าย หรือสร้างความเกลียดชังกันต่อหน้าได้ นับประสาอะไรกับการซ่อนตัวอยู่หลังคีย์บอร์ดแล้วพ่นถ้อยคำเพื่อทำร้ายกัน จึงไม่น่าแปลกใจถ้าอัตราการบูลลี่ในโลกออนไลน์ หรือ ไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbullying) จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าตกใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ผู้คนสามารถทิ้งคอมเมนต์ Body Shaming ได้อย่างคล่องปาก สร้าง Account ปลอมเพื่อว่าร้ายคนที่ไม่ชอบได้อย่างคล่องมือ เพราะในเมื่อไม่ต้องเผชิญหน้าก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกถึงความรับผิดชอบ โดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าการกระทำเหล่านั้นได้สร้างบาดแผลให้กับผู้ถูกบูลลี่มากเท่าใด
สัญญาใจ ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา
ผลกระทบของพฤติกรรมไซเบอร์บูลลี่นั้นร้ายแรงกว่าที่หลายคนคิด บางคนอาจแค่รู้สึกสะเทือนใจ เสียใจ ผิดหวังกับชีวิต แต่ยังมีเหยื่ออีกหลายคนที่ถูกทำร้ายจนถึงขั้นมีอาการซึมเศร้า คิดทำร้ายตัวเอง และมีหลายเคสที่การทำร้ายนั้นสำเร็จจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
ด้วยตระหนักถึงปัญหาที่ร้ายแรงนี้ ดีแทคจึงขออาสาเป็นตัวเชื่อมระหว่างเด็ก Gen Z และผู้คน Gen อื่นๆ ในสังคม สร้าง ‘สัญญาใจ ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา’ ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์รวบรวมวิธีการช่วยหยุดไซเบอร์บูลลี่เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับโลกออนไลน์ อาทิ การห้ามผู้ใดไซเบอร์บูลลี่ผู้อื่นในเรื่องรูปร่าง สีผิว หน้าตา การแต่งกาย เหมือนที่ละครไทยชอบปลูกฝังชุดความคิดเหยียดคนที่ไม่ตรง Beauty Standard ไม่ว่าจะเป็นการบูลลี่ด้วยตัวเองก็ดีหรือการส่งต่อข้อความเหล่านั้นก็ดี เพราะการบูลลี่ถึงเวลาต้องจบอยู่ที่รุ่นเรา
หยุดไซเบอร์บูลลี่ หยุดผลิตค่านิยมที่ทำร้ายกัน
สุดท้ายนี้หลายคนน่าจะเริ่มเข้าใจและมองเห็นความสำคัญของการหยุดพฤติกรรมไซเบอร์บูลลี่ได้อย่างชัดเจนแล้ว หลังจากมีเหยื่อจำนวนไม่ใช่น้อยที่ต้องบอบช้ำจากการถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ในเลเวลที่แตกต่างกัน
นอกจากทุกคนต้องเริ่มต้นหยุดที่ตัวเองแล้ว สื่อบันเทิงในฐานะที่เป็นผู้สร้าง Soft Power ในสังคมก็ควรที่จะตระหนักและหยุดสร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับคนดู เหมือนที่ หนังสั้น จากดีแทคเรื่องนี้ได้ชำแหละการปลูกฝังค่านิยมที่ไม่ดีผ่านมุกตลกคาเฟ่ในอดีต
สื่อบันเทิงที่ดีควรนำเสนอคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ ยอมรับในความแตกต่างและหลากหลาย ตลอดจนเคารพในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่ดีกว่าเดิมให้กับสังคมของเรา