ยาคุณภาพดีต้องราคาแพงเสมอไปจริงไหม? คำถามนี้เป็นเหมือนจุดตั้งต้นความตั้งใจของ บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) (T.MAN) ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ที่คนไทยคุ้นเคยกันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอย่าง ‘โพรโพลิซ’ และ ‘ไอยรา’
ที่ผ่านมา T.MAN เติบโตในตลาดของอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเอาชนะความท้าทายด้านการวิจัย นวัตกรรม การหยิบจับสมุนไพรไทยมาพัฒนาผ่านเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เพื่อผลิตยาให้ออกมาตรงตามคุณภาพตามมาตรฐาน และมีความปลอดภัยกับผู้บริโภคทุกคน
หากแต่เส้นทางของ T.MAN ผ่านการเดินทางมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี บริษัทแห่งนี้เริ่มต้นจากความตั้งใจว่า อยากผลิตยาที่คุณภาพดี และเป็นยาที่คนไทยทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงได้
The MATTER ได้มีโอกาสสนทนากับ คุณประพล ฐานะโชติพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) ถึงมุมมองความตั้งใจที่อยากให้คนไทยได้ใช้ยาดีในราคาที่เข้าถึงได้และร่วมกันวิเคราะห์ถึงทิศทางหลังจากนี้ของเทรนด์อุตสาหกรรมยาในประเทศไทย
ประเมินสถานการณ์ของตลาดอุตสาหกรรมยาตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
มูลค่าของตลาดมีการเติบโตค่อนข้างเยอะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา แต่ว่าในช่วงโควิด-19 ที่ถึงแม้จะเป็นวิกฤตของหลายๆ อุตสาหกรรม แต่สำหรับ Healthcare แล้ว ถือเป็น positive impact ที่ทำให้อุตสาหกรรมโตขึ้นมา เพราะว่ามีความต้องการเข้ามาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางต่างๆ เช่น โรงพยาบาล คลินิก สถานพยาบาล ร้านขายยา ซึ่งทาง T.MAN เราเองก็ทำได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสินค้ายาแผนปัจจุบันหรือสินค้า Healthcare ต่างๆ
แล้วสัดส่วนระหว่างยานำเข้า กับยาที่คนไทยเราผลิตเป็นอย่างไร
ถ้าดูที่มูลค่าการนำเข้ายาทั้งหมดในปี 2565 จะพบว่า สัดส่วนของการนำเข้ายาเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากในช่วงโควิด-19 เราไม่สามารถผลิตวัคซีนเองได้
เมื่อพูดถึงยาที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ผู้คนก็มักจะมีการรับรู้ว่า ยาที่ดีต้องเป็นยาจากต่างประเทศและเป็นยาที่ราคาแพงเท่านั้น อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดภาพลักษณ์เช่นนั้น
ต้องยอมรับว่าการรับรู้ภาพลักษณ์เช่นนั้นมันก็ถูกต้อง แต่ถูกอยู่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น จริงๆ แล้ว ยาจากต่างประเทศที่เป็น patent drug หรือยาที่ยังติดสิทธิบัตรอยู่ มีวัตถุประสงค์คือเป็นการพัฒนายาใหม่ในกลุ่มการรักษาเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้มันดียิ่งขึ้นกว่าเดิมในแง่ของเรื่องประสิทธิภาพดีขึ้น แรงขึ้น หรือลดขนาดการกินให้น้อยลง รวมถึง ลดผลข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีต้นทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development – R&D) ต้นทุนด้านการตลาด ส่งผลให้ยาดังกล่าวมีราคาสูง
ยกตัวอย่างกลุ่มยาแก้แพ้ บางทีเราก็จะรู้ว่าทำไมกินยาชนิดนี้แล้วง่วงนอน แต่ผู้ผลิตเขาก็จะพัฒนาบนโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้กินครั้งเดียว ไม่ต้องกิน 3 เวลา แล้วก็ไม่มีอาการง่วงนอนตามมา นี่จึงเป็นที่มาว่าผู้ผลิตยาต่างๆ ได้ไปลงทุนทำตัวยาใหม่ๆ รวมถึงลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development – R&D) ซึ่งใช้เม็ดเงินสูงมาก และเขาก็ได้ความคุ้มครองเรื่องตัวสิทธิบัตรประมาณ 20 ปี ฉะนั้นในช่วง 20 ปี เขาก็จะมีในเรื่องของการทำตลาด ไม่ใช่แค่ประเทศเดียวเท่านั้น เป็นการทำตลาดทั่วโลก มันจึงมีต้นทุนต่างๆ ที่เข้าไป มีผลต่อราคายาที่เขาตั้งขึ้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เขาลงทุนไปตลอด
แล้วภาพลักษณ์อีกครึ่งหนึ่งที่คนยังขาดความเข้าใจคืออะไร
หลายคนยังไม่รู้ว่า ถ้าเกิดยาหมดสิทธิบัตรแล้ว ทางบริษัทผู้ผลิตยาอื่นๆในไทยหรือ local made ก็สามารถผลิตได้ ยกตัวอย่างยาของเราเองที่เราเห็นแล้วว่า มียาตัวไหนบ้างที่กำลังจะหมดสิทธิบัตร เราก็รีบดำเนินการพัฒนายาตัวนั้นออกมาเพื่อคนไทย เพื่อจะได้ช่วยให้คนไทยเข้าถึงยาได้ในราคาถูกลง นี่คือสิ่งที่เราอยากจะช่วยเหลือคนไทย
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ราคายาที่คนไทยผลิตเองถูกกว่ายานำเข้าจากต่างชาติ
เราไม่มีเรื่องของค่าการลงทุนด้าน R&D ที่สูงขนาดนั้น รวมถึงการลงทุนด้านการตลาดที่เยอะขนาดบริษัทยาต่างชาติ เราจึงสามารถช่วยกำหนดราคายาให้ไม่สูงมาก และช่วยให้คนไทยเข้าถึงยาเหล่านั้นได้
และไม่ต้องห่วงนะครับว่า คุณภาพของยาจะเทียบเคียงกับของยา Patent Drug ได้หรือเปล่า เพราะเรื่องนี้ทางองค์การอาหารและยา (อย.) จะมีมาตรฐานกำกับยาของเราตาม playbook หรือที่ถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า Pharmacopoeia หรือตำรับยาที่ต้องมีการขึ้นทะเบียนกับทาง อย.
เมื่อใดก็ตามที่เราอยากจะผลิตยาอะไร เราต้องทำให้ได้มาตรฐานตาม Pharmacopoeia ทั้งหมด ซึ่งทาง อย. ได้ตรวจสอบแล้วว่าเราทำได้จริง และอนุมัติให้เราสามารถนำยานี้ออกสู่ตลาดได้ นอกจากนี้ ทาง อย. ยังควบคุมในเรื่องการดูแลความปลอดภัยหลังจากที่ยาถูกผลิตออกมาแล้ว เช่น ผลข้างเคียงต่างๆ ซึ่งเราในฐานะผู้ผลิตก็ต้องทำเรื่องการตรวจสอบคุณภาพ ให้สามารถทำสืบย้อนกลับไปได้ว่าสินค้าที่เราผลิตมีคุณภาพที่ดีได้ตามมาตรฐานที่อย. กำหนด
ฟังคำตอบแล้วทำให้รู้สึกว่า T.MAN ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพของยา และช่วยให้คนไทยเข้าถึงยาได้ อยากถามเพิ่มเติมว่า นี่คือคุณค่าที่ทาง T.MAN ยึดถือมาตั้งแต่วันแรกๆ ของการก่อตั้งบริษัทเลยใช่ไหม
ย้อนกลับไปในสมัยคุณพ่อ คุณแม่ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง และผู้บุกเบิกของบริษัทของเรา ท่านมีปณิธานในตอนที่มาสร้างโรงงานว่า ในยุคนั้นยาต่างประเทศ หรือยาข้ามชาติมีเข้ามาเยอะ ส่งผลให้ราคาของยาแผนปัจจุบันที่มีสิทธิบัตรค่อนข้างแพง ฉะนั้นเราก็เลยมองว่าจริงๆ ถ้าเรามาทำตรงนี้ได้ ก็จะสามารถช่วยเหลือคนไทย อย่างน้อยก็คือรีบนำยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว มาผลิตเพื่อให้คนไทยสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น จนถึงปัจจุบันนี้ เราก็ยังมีปณิธานนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง และเป็นแนวทางพื้นฐานของพวกเราที่อยากผลิตยาที่ดี มีคุณภาพ แล้วทำราคาให้คนไทยเข้าถึงยาได้
นี่คือความภาคภูมิใจของพวกเรา และการที่จะแข่งกับบริษัทยาข้ามชาติ หรือบริษัทต่างประเทศที่มีทุนวิจัยเยอะๆ เราเคยมองว่านั่นคือเกมที่เราไม่สามารถทำได้ เพราะยาที่มาจากต่างประเทศ ที่เป็นยาสิทธิบัตร เขาใช้มูลค่าเงินลงทุนในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาเป็นหลักพันล้านหรือหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมันเยอะมาก
การช่วยเหลือคนไทย ให้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพง่ายได้ขึ้น ต้องเจอกับความท้าทายอะไรบ้าง แล้วทาง T.MAN สู้กับความท้าทายเหล่านี้อย่างไร
ปัจจัยอีกอย่างคือเมื่อทำวิจัยออกมาได้ ก็จะมีในเรื่องของกฎหมายสิทธิบัตร ที่ให้มีการคุ้มครอง 20 ปี ก็ไม่สามารถจะไปทำเองได้ เราเลยมองว่า เกมนี้ไม่เอื้อกับการที่เราจะสามารถทำนวัตกรรมได้เหมือนอย่างของบริษัทข้ามชาติ เราก็เลยมองว่า ถ้าอย่างนั้นในประเทศของเรา เราควรจะใช้จุดแข็งที่สามารถจะไปแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติได้ ฉะนั้นเราก็มองว่าสมุนไพรน่าจะตอบโจทย์ เพราะว่าทางคุณแม่ ที่เป็นผู้บริหารก่อนหน้าผม ท่านชื่นชอบและจริงจังในเรื่องของประสิทธิภาพของสมุนไพร เพราะท่านเรียนเภสัชศาสตร์เหมือนกัน ท่านได้ศึกษาว่าจริงๆ มันมีประสิทธิภาพที่ดีนะ ถ้าเกิดทำในรูปของสารสกัด และต้องมาศึกษาว่ามันมี สารสำคัญอะไรที่อยู่ในสารสกัดตัวนั้นที่มีสรรพคุณทางยา แล้วนำมาผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานที่ดีที่เรามีอยู่ ซึ่งเราอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบันอยู่แล้ว ก็เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถเอามาต่อยอดในการทำนวัตกรรมทางสุขภาพได้
เราได้นำสิ่งนี้มาเป็น องค์ความรู้ (know-how) แล้วก็เอามาผสมกับในส่วนของเทคโนโลยีการผลิตยาแผนปัจจุบันที่เรามี นอกจากนี้ เรายังมีทีมที่ปรึกษา ซึ่งเป็นนักวิจัยไทยเก่งๆ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เราก็เอา 3 ส่วนนี้ เข้ามาผนวกด้วยกัน แล้วก็รังสรรค์มาเป็นนวัตกรรมทางสุขภาพไทยที่สามารถแข่งขันกับยาต่างประเทศได้ สิ่งนี้ทำให้เรามองว่า เรามั่นใจว่ามาถูกทางแล้วในตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ความท้าทายอีกด้านคือเรื่องของการวิจัยและพัฒนา ซึ่งต้องมีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีต่างๆ หรือ องค์ความรู้ (know-how) นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของบุคลากรที่ต้องมีความรู้ความสามารถ ซึ่งถ้าไม่ได้คิดว่ามีความตั้งใจที่จะทำจริงๆ ผมอาจจะถอดใจไปแล้ว เพราะการทำ R&D คือมีแค่ทำได้ หรือทำไม่ได้ไปเลย ซึ่งต้องใช้ passion ด้วย
โชคดีที่คุณแม่ในฐานะผู้บริหารรุ่นแรกนั้นมี passion สูงมากในเรื่องการทำนวัตกรรมทางสุขภาพ ท่านลงทุนในเรื่องของไลน์ผลิต ลงทุนในเรื่องเทคโนโลยี และในเรื่องการว่าจ้างที่ปรึกษาเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาตั้งแต่อดีต โดยที่ท่านก็ยังไม่รู้เลยว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งโชคดีที่ว่าตลาดก็ตอบรับด้วย ส่วนผมที่เป็น generation ที่สองก็ได้มาต่อยอดเรื่องการขาย การตลาด เราก็พยายามสื่อสารออกไปว่า สิ่งที่พวกเราทำจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างไรบ้าง
การลงทุนในด้านนวัตกรรม การวิจัย และเทคโนโลยีในยุคคุณแม่ ที่เป็นผู้บริหารยุคแรก มันผลิดอกออกผลมาถึง T.MAN ในตอนนี้อย่างไรบ้าง
ต้องยอมรับว่า หากเมื่อก่อนเราไม่ได้ลงทุนในส่วนนวัตกรรมมารองรับไว้ก่อน ปัจจุบันเราก็ยังเป็นบริษัทผลิตยา ที่รอให้บริษัทข้ามชาติหมดสิทธิบัตรในตัวยาเพียงอย่างเดียว จนทำให้เราก็ไม่มีความแตกต่างให้ผู้บริโภคจดจำ อย่างไรก็ดีปัจจุบัน เราสร้างมาตรฐานการสกัดสารสกัดจากธรรมชาติ ภายใต้แนวคิดมาตรฐาน NatureCeutical โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาการผลิตนวัตกรรมโดยใช้สมุนไพรซึ่งเป็นทรัพยากรในประเทศ ผสานกับความเชี่ยวชาญของเราและเทคโนโลยีการผลิตยาแผนปัจจุบันมาประยุกต์ใช้กับการสกัดสารสกัดจากธรรมชาติและสมุนไพร โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตและมาตรฐานการควบคุมคุณภาพเช่นเดียวกับการผลิตยาแผนปัจจุบัน เพื่อนำสารสกัดออกจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ มาอยู่ในรูปแบบสารสกัดให้มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ได้จริงตรงตามงานวิจัย มีคุณภาพ มีความคงตัวสูง และมีความปลอดภัย
อย่างแบรนด์โพรโพลิซ หรือแบรนด์ไอยรา ล้วนเป็นนวัตกรรมจากสมุนไพรที่เราพัฒนาขึ้นมาเอง สิ่งนี้ทำให้เห็นการเติบโตของแบรนด์ และมีการเติบโตด้านกำไรของบริษัท เราก็ได้ต่อยอดจากแบรนด์ ที่เราสำเร็จอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอย่างโพรโพลิซ จากเมื่อก่อนที่มีแค่ SKU เดียวคือสเปรย์สูตรเดียว ตอนนี้เรามีอยู่ 3 สูตร แล้วก็มีสูตรของเด็กที่เป็นสเปรย์ด้วย มีตัวเม็ดอมหลากรส แล้วก็มีขยายไปต่อ เพราะว่าโพรโพลิซมันไม่ได้มีแค่เรื่องของการฆ่าเชื้ออย่างเดียว นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยรองรับเรื่องลดอาการอักเสบด้วย เราต่อยอดโดยการนำสารสกัดที่เรามีมาพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ออกมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นยาสีฟันก็ดี หรือเป็นน้ำยาบ้วนปากก็ดี
เช่นเดียวกับตัวไอยรา เมื่อก่อนก็จะมีสูตรเดียว สีแดงที่เป็นตัวยาน้ำแก้ไอสมุนไพร แต่ตอนนี้เราออกมาอีก 4 สีด้วยซ้ำ มีของเด็กเพิ่มเข้ามาด้วย ล่าสุดมีเม็ดอม 4 รสชาติ ก็มาต่อยอดเพื่อมาขยาย segment ต่างๆ ให้หลากหลายมากขึ้น
เรามองว่าการที่เราอยากจะสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย มันต้องมาจากนวัตกรรม และเรื่องของการตลาด ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริโภคก็ได้ตอบรับในคอนเซปต์ตรงนี้มาเรื่อยๆ เราสามารถสร้างฐานลูกค้า สร้างฐานแฟนคลับขึ้นมาเรื่อยๆ จนทำให้เรายิ่งทำยิ่งมั่นใจ แล้วก็กล้าลงทุนกับการสร้างแบรนด์ผ่านสินค้าที่เป็นนวัตกรรมทางสุขภาพมาโดยตลอด
มองความสำเร็จของแบรนด์โพรโพลิซและแบรนด์ไอยรา อย่างไรบ้าง
สองแบรนด์นี้เป็นแบรนด์หลักของบริษัทอยู่แล้ว ตั่งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำนะครับ ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นไอเทมที่ได้รับการตอบรับที่ดีมาก เพราะว่าก็ตรงกับในเรื่องของการรักษา กับคนที่มีความจำเป็นในช่วงโควิด-19 อย่างโพรโพลิซก็คือในเรื่องของอาการเจ็บคอ แต่สิ่งนี้คือเป็นทางเลือกจากธรรมชาติ เป็นสเปรย์ที่สกัดมาจากสมุนไพรและธรรมชาติ รวมถึงไอยราก็เป็นแบรนด์ที่เกี่ยวกับเรื่องรักษาอาการไอ ซึ่งก็มาจากสมุนไพรเช่นเดียวกัน
การประสบความสำเร็จของสองแบรนด์นี้ สะท้อนการตอบโจทย์ของผู้บริโภค หรือตอบโจทย์ทางธุรกิจของ T.MAN อย่างไรบ้าง
สำหรับโพรโพลิซสเปรย์ สูตร Propoliz Plus Extherb ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพร จากทาง อย. แล้ว และสามารถยืนยันได้ว่าสามารถรักษาอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อได้ ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของทางบริษัทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยด้วย ที่เป็นแบรนด์ที่เราพัฒนาร่วมกับนักวิจัยไทยในมหาวิทยาลัยชั้นนำในเมืองไทย แล้วก็ยื่นขึ้นทะเบียนกับทาง อย. ได้ เราได้รับการตอบรับที่ดีในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้เราขึ้นแท่นเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในเรื่องของสเปรย์พ่นคอแล้ว (ยอดจำหน่ายแบรนด์ภายในประเทศไทยปี 2022 จัดอันดับโดยหน่วยงาน IQVIA) ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะยากในวงการ Healthcare ที่บริษัทในไทยสามารถทำในลักษณะนี้ได้
ส่วนแบรนด์ยาแก้ไอไอยรา ที่ทำในเรื่องของสารสกัดสมุนไพรที่ทำในรูปของยาน้ำแก้ไอ ที่เราใช้ในส่วนของสารสกัดสมุนไพร ถ้าเทียบกับในสมัยเมื่อหลายสิบปีก่อน ก่อนที่เราพัฒนาสิ่งนี้ขึ้นมา ต้องยอมรับว่ายาน้ำแก้ไอสมุนไพรเมื่อก่อน จะมีในเรื่อง กินแล้วรสชาติไม่ดี ก็เลยกินไม่หมดขวด
แต่เรามองเห็น โอกาสของปัญหาตรงนี้ เราเลยทำขึ้นมาเป็นตัวยาน้ำแก้ไอสมุนไพร ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมตัวแรกของบริษัทในเครือของเรา แล้วได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้แบรนด์ตัวนี้ถือว่าเป็นต้นแบบในยาน้ำแก้ไอสูตรสมุนไพรยุคใหม่ มีรสชาติทานง่าย จิบแล้วชุ่มคอซึ่งก็เป็นความภาคภูมิใจของเราที่เป็นการเปิดทางให้ตลาด
ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ทาง T.MAN มีกลยุทธ์แบบไหนที่จะไปต่อจากการเติบโตของตลาด
หลังจากวิกฤตการณ์โควิด-19 มาแล้ว ตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบัน จะโตแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่มีความมั่นคง อย่างไรก็ดีหากเป็น Healthcare อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ที่เป็นทางเลือกแทนยาแผนปัจจุบัน ก็ยังมีโอกาสเติบโตที่สูงกว่ายาแผนปัจจุบัน
เทรนด์ของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศ หรือในประเทศไทยก็ตาม ตอนนี้เทรนด์ของผู้บริโภคคือมีความใส่ใจตัวเองมากขึ้น อยากจะกินอะไรที่ช่วยป้องกันและดูแลตัวเองไม่ให้ร่างกายเจ็บป่วย
ตรงนี้เราก็เลยมองว่าเป็นจุดหนึ่งที่ T.MAN ทำทั้งสองอย่างได้เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือยาสมุนไพรที่รักษาโรคที่ปลายเหตุ และในเรื่องของ Healthcare ที่ป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้น เราทำทั้งสองส่วน ฉะนั้นทิศทางการเติบโตของบริษัท ก็จะโตไปทั้ง 2 direction นี้พร้อมกัน
ในส่วนที่เป็นยาแผนปัจจุบัน เราเน้นไปที่ยากลุ่มที่ตรงกับบริบทของสังคมไทยอยู่ เท่าที่เราวิเคราะห์คือจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุนะครับ เพราะตอนนี้สังคมเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็เลยมาทำในสินค้ากลุ่มยาแผนปัจจุบันที่เป็นพวกกลุ่ม เขาเรียกว่า NCDs drugs ก็คือเป็น non-communicable diseases ซึ่งเรียกง่ายๆ ก็คือยากลุ่มเบาหวาน ความดัน หัวใจ เราก็จะพยายามวิจัยและพัฒนายาเพื่อมาช่วยคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มโรคเหล่านี้ให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อยากชวนมองถึงเรื่องอนาคตตลาดยาจะเป็นอย่างไรต่อ แล้วคิดว่า T.MAN จะไปอยู่ตรงไหนของตลาด
ตลาดยาก็จะคงอยู่กับเราไปตลอด แต่ก็จะมีการเติบโตที่ไปเรื่อยๆ ทาง T.MAN เราก็มองเห็นเทรนด์นี้ว่าเป็นเทรนด์การเติบโตที่มีความมั่นคง เราก็เลยอยากตอกย้ำว่า เราจะเป็น Healthcare Company ซึ่งถ้าเทียบกับยาแล้วมันจะกว้างกว่า และหมายถึงโอกาสที่เราจะได้ในเรื่องของการเติบโตในธุรกิจภาพรวม มันก็จะกว้างกว่า และถ้าเรามาดูในเรื่องของการดูแลเชิงป้องกันมากขึ้น เราอาจจะลงทุนในธุรกิจนี้ในอนาคต มันทำให้โอกาสในการเติบโตของบริษัทเรากว้างขึ้น และมีการเติบโตที่ดีด้วย
ในอนาคตทาง T.MAN มีแผนการขยายตลาดไปยังต่างประเทศอย่างไรบ้าง
ผมยังมองเห็นอีกโอกาสหนึ่งที่ชัดๆ ก็คือโอกาสในต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ ที่ผ่านมาในบริษัทมีการเจาะตลาดในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว แต่ว่าสินค้าที่ไปขายอาจจะยังกระจายอยู่ แล้วแต่บริบทของแต่ละประเทศ ประเทศนี้อยากจะได้สินค้าตัวนี้ partner มาคุยเราก็ supply สินค้าตัวนี้ไปในแต่ละประเทศ แต่ไม่ได้มาโฟกัสว่าตัวที่เป็นตัวหลักของบริษัท ตัวที่เป็นแบรนด์ของบริษัท เป็นนวัตกรรมของบริษัทจริงๆ มันควรจะต้องไปสร้างชื่อให้กับประเทศ และบริษัทของเราด้วย
หลังจากนี้เราจะปรับรูปแบบการทำการตลาดร่วมกับ partner ใหม่ๆ โดยที่จะนำตัวพระเอกอย่างโพรโพลิซ เป็นตัวหลักไปทำตลาดในต่างประเทศให้ได้มากกว่าเดิมด้วย ขณะเดียวกัน เราก็เริ่มเจาะตลาดไปได้หลายประเทศมากขึ้น เช่น เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
ยกอย่างตัวแบรนด์โพรโพลิซ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พอเราเริ่มได้โฟกัสว่าแบรนด์นี้เป็นตัวที่คิดว่าเป็นตัวสร้างชื่อ แล้วก็ขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทเรา เริ่มทำมาได้ 2 ปีก็ค่อนข้างเห็นทิศทางที่ดีมากๆ เพราะเราไม่ได้แค่จะไปขายอย่างเดียว แต่เราต้องการจะไปสร้างตลาด ไปสร้างแบรนด์ให้ยั่งยืน ให้เหมือนกับที่เราทำได้ในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว