ในปีที่ผ่านมาสนามบินในการดูแลของ AOT ทั้ง 6 แห่ง ได้ให้บริการเที่ยวบินจำนวน 909,837 เที่ยวบิน รองรับผู้โดยสารทั้งสิ้น 142 ล้านคน ให้บริการขนถ่ายสินค้าทั้งสิ้น 1.47 ล้านตัน มีรายได้ทั้งสิ้น 62,783 ล้านบาท
คือตัวเลขที่ยืนยันถึงคุณภาพของการดำเนินงาน ในฐานะผู้บริหารท่าอากาศยานชั้นนำอย่าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ที่ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 42 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งถือเป็นระบบขนส่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
ถ้าหากลองวิเคราะห์แล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ AOT พัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง คือการบริการด้วย ‘หัวใจ’ บนมาตรฐานความปลอดภัยที่เป็นสากล ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศเติบโต สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มตัวเลขทางเศรษฐกิจ รวมถึงขับเคลื่อนประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
AOT ไม่ได้บริหารสายการบิน แต่บริหารสนามบินแบบครบวงจร
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ คือ 6 สนามบินที่อยู่ภายใต้การดูแลของ AOT ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสนามบินขนาดใหญ่ และเป็นศูนย์กลางการบินในแต่ละภูมิภาค โดยการทำงานของ AOT ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริการบนเครื่องบินหรือสายการบินต่างๆ แต่เป็นบริการหลังจากที่ผู้โดยสารก้าวลงจากเครื่องบิน นั่นหมายถึงการบริการทุกอย่างภายในสนามบินคือหน้าที่ของ AOT
ความท้าทายในการบริหารงานบริการของ AOT พิสูจน์ได้จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยออกมาตรการเข้มงวดตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเต็มกำลัง ดูแลเรื่องความสะอาดอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้โดยสารที่ใช้บริการทุกราย กำหนดให้ต้องสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งวางมาตรการเพื่อสร้างระยะห่าง สร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร
นอกจากการพัฒนาธุรกิจด้วยมาตรฐานความปลอดภัยแล้ว พันธกิจของ AOT คือ การเตรียมความพร้อมที่จะรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้บริการทุกรายได้รับความพึงพอใจสูงสุด ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ด้วยการการขยายพื้นที่อาคาร ลานจอดอากาศยาน เพื่อเพิ่มศักยภาพของสนามบินทั้ง 6 แห่งสู่การเป็น Smart Airports ด้วยการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการได้แบบครบวงจร
พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสร้างประสบการณ์ใหม่ของบริการ
การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการพัฒนาบริการ คือหนึ่งในปัจจัยของการพัฒนาที่ส่งเสริมการแข่งขันในตลาด จึงได้มีการพัฒนา AOT Airports Application ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ เปลี่ยนการเดินทางรูปแบบเดิมไปสู่การใช้บริการสนามบินที่มีชีวิต โดยเชื่อมโยงสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามบินให้เข้าถึงกันหมด โดยมีฟังก์ชันเด่นๆ คือตรวจสอบเวลาเดินทาง วางแผนการเดินทาง ติดตามสถานะการเดินทาง จองรถรับส่ง เรียกว่าครบทุกบริการในแอปฯ เดียว อีกทั้งยังออกแบบให้ผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดายด้วยตนเองได้
นอกจากนั้น AOT ยังใช้นวัตกรรมการบันทึกข้อมูล และประมวลผลโดย Web Based Application (AOT’s Level of Service Application: LoS APP) ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาความแออัดคับคั่ง และช่วยให้การให้บริการราบรื่นที่สุด ทั้งในส่วนของผู้โดยสารขาออกและขาเข้า ได้แก่ กระบวนการมาถึงชานชาลา (Curbside) การตรวจบัตรโดยสาร (Check-in) การตรวจค้นผู้โดยสารและสัมภาระ (Security Check Point) การตรวจหนังสือเดินทาง (Immigration Control) การรอขึ้นเครื่อง (Boarding Gate) การรับสัมภาระ (Baggage Claim) และการตรวจสิ่งของต้องสำแดง (Custom Control) เป็นต้น
ในส่วนของการให้บริการภายในสนามบิน นอกจากการบริการของเจ้าหน้าที่ที่ให้ข้อมูลแล้ว ยังมีการนำ Information Kiosk มาติดตั้งภายในอาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบิน เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้โดยสารที่ใช้งานง่ายผ่านหน้าจอระบบสัมผัสขนาดใหญ่บอกข้อมูลครบ ทั้งตารางแสดงเที่ยวบิน แผนผังภายในอาคาร ข้อมูลร้านค้า ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมระบบนำทาง (Navigator) และยังมีตู้เช็กอินอัตโนมัติ CUSS KIOSK (Common Use Self Service Check-in) สามารถเช็กอินได้ด้วยตัวเอง ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ไม่ต้องต่อคิวหน้าเคาน์เตอร์ รวมไปถึงระบบการรักษาความปลอดภัยที่นำเครื่อง Body Scanner และ Walk through Metal Detector มาใช้ มีประสิทธิภาพในการตรวจผู้โดยสารได้มากขึ้นถึง 3,600 คนต่อชั่วโมงเลยทีเดียว
เชื่อมระบบขนส่งสาธารณะ ต่อยอดธุรกิจขนส่งแบบไร้รอยต่อ
การเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะจากสนามบินเพื่อเดินทางไปยังจุดอื่นๆ ในเมือง คือปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด AOT จึงได้นำระบบแท็กซี่ คีออส (TAXI KIOSK) ตู้กดบัตรคิวบริการแท็กซี่ลงทะเบียนอย่างเป็นระบบ ที่สะดวกรวดเร็วลดระยะเวลาในการรอคิว ช่วยให้การเดินทางเข้าเมืองง่ายขึ้น และยังใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยการเปิดบริการ EV Taxi VIP หรือแท็กซี่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อเป็นทางเลือกในการลดมลพิษรวมถึงในอนาคต ท่าอากาศยานดอนเมืองกำลังพัฒนาการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต สถานีดอนเมือง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารในการเดินทางมายังสนามบินดอนเมืองได้อย่างมาก
ด้านการสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจผ่านกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน AOT ได้ต่อยอดธุรกิจการขนส่งด้วยการตั้งศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Certify Hub) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อสร้างมาตรฐาน และกระบวนการส่งออกสินค้าเกษตรแบบเพิ่มมูลค่า และในปลายปีนี้ AOT จะจัดตั้งช่องทางจัดการสินค้าเกษตรแบบพิเศษ (Perishable Premium Lane : PPL) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Certify Hub เป็นช่องทางพิเศษที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ที่ช่วยลดต้นทุนและช่วยลดเวลาการจัดการสินค้าที่เน่าเสียง่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารสดมีทางเลือกมากขึ้น
รับผิดชอบต่อสังคม พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
การรับผิดชอบต่อสังคม คือหนึ่งในเป้าหมายของ AOT ที่พัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านธุรกิจ ด้วยแนวคิด ‘การเป็นสนามบินที่เป็นพลเมืองดีของสังคม และเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของชุมชน’ เพื่อดูแลเจ้าของสนามบินที่แท้จริง นั่นคือประชาชนไทยในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่สนามบินของ AOT ตั้งอยู่ โดยคงวิถีชุมชนดั้งเดิมไว้ ทั้งเอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามของไทยในเทศกาลของแต่ละท้องถิ่น เพราะสิ่งสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโต คือการที่วิถีชุมชนเข้มแข็ง สามารถสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยว โดยมีสนามบินเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือน
ปีที่ผ่านมา AOT ได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคมไปแล้วกว่า 278 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 30.95 ล้านบาท และคิดเป็น 28,568 ชั่วโมง การทำงานของพนักงาน AOT ที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ และสิ่งสำคัญในการบริหารสนามบินของ AOT นั่นคือการบริหารสนามบินที่เป็นของคนไทย ให้มีส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนวิถีชุมชนโดยรอบให้แข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืนไปพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
กว่า 40 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า AOT ไม่เคยหยุดที่จะส่งมอบประสบการณ์การบริการที่ดีให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งมาตรฐานความปลอดภัย การใส่ใจสิ่งแวดล้อมรวมถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน และสังคมให้ดีขึ้น เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้ดำเนินการและจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก พร้อมทั้งสร้างผลประกอบการที่ดี ตามเป้าหมายของแผนวิสาหกิจภายในปี 2564 ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น และเพื่อให้ระบบการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคง ไปพร้อมๆ กับส่งมอบคุณค่าให้กับสังคมอย่างยั่งยืน