นับตั้งแต่การเกิดโควิด-19 เป็นต้นมา ทำให้ ‘วงการหนังสือ’ อยู่ในช่วงขาลง
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ต้องจัดในเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ต้องย้ายไปอยู่ในออนไลน์แทน ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ๆ ของนักอ่านที่หันมาซื้อหนังสือผ่านทางออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับในเชิงธุรกิจว่า เทียบไม่ได้เลยกับการซื้อขายออฟไลน์ในรูปแบบเดิม
แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มคลี่คลายลง เทศกาลหนังสือที่กำลังจะจัดขึ้นล่าสุดอย่าง ‘ABC Book Fest 2020 เทศกาลหนังสือเริ่มต้น’ จึงเหมือนเป็นความหวังใหม่ของทั้งสำนักพิมพ์ คนทำหนังสือ และนักอ่านเอง ที่จะได้สัมผัสกับบรรยากาศของงานหนังสืออีกครั้ง ซึ่งมาพร้อมกับการผสมผสานเอาศิลปะ วัฒนธรรม และความบันเทิง มากกว่าแค่การขายหนังสือแต่เพียงอย่างเดียว
ชวนไปพูดคุยกับ จรัญ หอมเทียนทอง อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว และ ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ P.S. Publishing หนึ่งในทีมผู้ริเริ่มจัดงานในครั้งนี้ ถึงสถานะของวงการหนังสือในตอนนี้ แนวคิดในการจัดงานที่สร้างประสบการณ์ใหม่ของนักอ่าน รวมถึงการผลักดันวงการหนังสือให้เดินหน้าต่อ
มองภาพรวมของวงการหนังสือในบ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไร
จรัญ: สภาพวงการหนังสือก็ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ในสภาวะขาลงตามวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ แต่ธุรกิจหนังสือยังถือว่าโชคดี เพราะกลุ่มลูกค้าคือกลุ่มคนอ่าน ซึ่งคนที่อ่านหนังสือนั้น เลิกอ่านยากมาก แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจ ก็ต้องยอมรับว่าถึงจะอ่านเหมือนเดิม แต่การซื้อน้อยลง
ปนิธิตา: ถ้ามองในแง่การสร้างสรรค์ผลงานวงการหนังสือบ้านเราตอนนี้น่าสนใจ มีความตื่นตัวในการสร้างสรรค์งานหนังสือ เน้นคุณภาพ และในอนาคตเราจะได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ มีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ ที่คัดสรรผลงานซึ่งมีความพิเศษเฉพาะตัวมาตีพิมพ์ รวมทั้งมีโมเดลธุรกิจ แผนการตลาด ช่องทางการขายรูปแบบใหม่ๆ เช่น สำนักพิมพ์ Bibli ที่เพิ่งแจ้งเกิด แต่ยึดชั้น Best Seller ของร้านหนังสือไปแล้ว 3 อันดับใน Top10 สำนักพิมพ์ ไจไจบุ๊คส์ ที่ผลิตหนังสือปีละหนึ่งถึงสองเล่ม แต่คนอ่านตั้งตารอ ยอดขายดี และทุกเล่มก็เป็นงานวรรณกรรมในคอนเซปต์และอรรถรสที่แปลกใหม่ อ่านแล้วว้าว แบบว่าอย่างนี้ก็ได้เหรอ เล่มใหม่ล่าสุดที่จะเปิดตัวในงานชื่อหนังสือ ‘จินตนาคาร’ เป็นวรรณกรรมไซไฟ ที่เขียนต่อยอดจากสถาปนิก 9 คน ที่มีแนวคิดเรื่องการพัฒนาเมืองและอาคารในฝัน หรือสำนักพิมพ์ illuminations Editions พิมพ์งานวิชาการเจ๋งๆ อ่านสนุก และสร้างฐานคนอ่านได้ไวมาก หนังสือ ‘ทำไมต้องตกหลุมรัก’ นี้สร้างปรากฏการณ์มาก คนฮือฮา เพราะว่าเอาเรื่องการตกหลุมรักมาผูกโยงกับระบบเศรษฐกิจและกลไกของรัฐได้สนุกมาก ที่ยกตัวอย่างมานี่ไม่ถึงหนึ่งในสิบของสำนักพิมพ์รุ่นใหม่ๆ ของวงการหนังสือ ในขณะที่สำนักพิมพ์ใหญ่ สำนักพิมพ์ขนาดกลาง ก่อตั้งมายาวนานก็เป็นสำนักพิมพ์ในการดูแลของทายาทรุ่นที่สอง และมีทีมงานคนรุ่นใหม่เช่นกัน
อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ วงการหนังสือดีขึ้นหรือว่าแย่ลง
จรัญ: ปัจจัยสำคัญของธุรกิจหนังสือนั้น ปัจจัยแรกคือเรื่องรายได้ประชาชน ปัจจัยที่สองเรื่องภาวะการอ่านของประเทศ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น นักอ่านก็เติบโตตาม แต่ก็ต้องได้รับการสนับสนุนด้านการอ่านจากภาครัฐด้วยเช่นกัน และการสนับสนุนดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมภาวะการอ่านของแต่ละสังคม แต่น่าเสียดายที่ในสังคมไทย ภาครัฐยังมองไม่เห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนด้านการอ่านมากนัก และหน้าที่หลักคือหน้าที่ของภาคเอกชนตลอดมา ไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรก็ตาม
การจัดงานหนังสือ สำคัญต่อวงการหนังสืออย่างไร
ปนิธิตา: การจัดงานหนังสือหรือเทศกาลหนังสือให้วงการมีความคึกคัก มีหนังสือใหม่ มีเงินหมุนเวียนเป็นรายได้หล่อเลี้ยงสำนักพิมพ์ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคืองานหนังสือมีกิจกรรมให้นักเขียนได้มาพบเจอคนอ่าน นักเขียนหลายคนบอกตรงกันว่า งานเขียนเป็นการงานอันโดดเดี่ยว การได้มาสบตาคนอ่าน ได้เห็นประกายตากันและกัน เห็นหน้าค่าตาคนอ่านของตัวเอง นักเขียนอยู่ในสายตาคนอ่าน และคนอ่านอยู่ในสายตานักเขียน ฟังดูโรแมนติกนะ แต่ก็ช่วยสร้างกำลังใจในการทำงาน ทำให้นักเขียนมีพลังในการสร้างสรรค์งานได้ รวมทั้งสำนักพิมพ์เองได้เห็นภาพของคนอ่านที่เป็นรูปธรรม เป็นใคร อายุเท่าไหร่ มีพฤติกรรมการซื้ออย่างไร หยิบเล่มนั้นแล้วหยิบเล่มนี้ด้วย อ่านปกหนังสือก่อนไหม ตัดสินใจเร็วทันทีที่เห็นปก หรือสอบถามข้อมูลอะไรบ้าง ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในการทำหนังสือเล่มต่อๆ ไปได้
จรัญ: การจัดงานหนังสือแบบออฟไลน์ เป็นงานที่ทำให้นักอ่าน นักเขียน สำนักพิมพ์ได้ใกล้ชิดกัน ได้เจอกันนอกโลกออนไลน์ ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน พูดคุยกัน หนังสือเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง ที่ต้องอาศัยการการสัมผัสกระดาษ การมองเห็นรูปเล่ม ปก และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นเสน่ห์ของหนังสือไม่แพ้เนื้อหา การจัดงานหนังสือจึงยังมีความสำคัญมากกับวงการหนังสือ ทั้งในแง่ของธุรกิจสำนักพิมพ์ และความรู้สึกของนักอ่าน นักเขียน
ธุรกิจหนังสือที่กำลังเติบโตในโลกออนไลน์ สะท้อนถึงอะไร
จรัญ: ในสภาวะปัจจุบันสิ่งที่สำนักพิมพ์ต่างๆ พยายามปรับตัวมากที่สุดก็คือ การหาช่องทางขาย เมื่อก่อนนี้สำนักพิมพ์อาจจะมีการขายออฟไลน์โดยตรง หรือสนใจออนไลน์น้อย ปัจจุบันทุกสำนักพิมพ์พยายามขายออนไลน์มากขึ้น สังเกตได้จากเมื่อก่อนนี้ใน Lazada Shopee สินค้าหมวดหนังสือมีน้อยมาก แต่ปัจจุบันเราสามารถซื้อหนังสือตามช่องทางที่กล่าวมาได้ นั่นคือวิธีการปรับตัว และหลายสำนักพิมพ์มีการปรับเนื้อหาของหนังสือให้น่าสนใจมากขึ้น ทำให้คนซื้อออนไลน์เขาอยากจะซื้อ ผมเรียนย้ำว่า คนซื้อยังซื้ออยู่ แต่สำนักพิมพ์ต้องพยายามปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนของคนยุคปัจจุบัน เพราะการขายออนไลน์ ช่วยทำให้สำนักพิมพ์เล็กๆ มีช่องทางการขายมากขึ้น แต่ก็ไม่มากเท่ากับการขายออฟไลน์ สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อร้านหนังสือมากกว่า เพราะว่าร้านหนังสือตามห้างสรรพสินค้าปิด ในขณะที่สำนักพิมพ์เองสามารถขายออนไลน์ได้บ้างแต่ก็ยากมากที่จะอยู่รอด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือพฤติกรรมซื้อหนังสือ นักอ่านซื้อหนังสือจากออนไลน์มากขึ้น นักอ่านต้องการหนังสือ สำนักพิมพ์ต้องการที่จะขายหนังสือ ออนไลน์จึงเป็นจุดเชื่อมที่ทำให้นักอ่านและสำนักพิมพ์มาพบกัน
จุดเริ่มต้นของงาน ABC Book Fest เกิดขึ้นได้อย่างไร
จรัญ: ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนเลย เป็นเรื่องที่เราอยากทำให้งานหนังสือเกิดขึ้นอีกครั้ง และคนทำหนังสือกลุ่มหนึ่งก็มาปรึกษากับผม ว่าสถานการณ์วงการหนังสือกำลังประสบปัญหาอย่างมาก ผมก็มองว่าเมื่อทำงานขนาดใหญ่ลำบาก ก็ลองทำงานขนาดเล็ก ซึ่งพอทำไปก็กลายเป็นงานขนาดกลางๆ สำนักพิมพ์ที่มาร่วม ก็เป็นทั้งสำนักพิมพ์เล็ก กลาง และใหญ่ รวม 76 สำนักพิมพ์ 147 บูธ บนพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร ณ มิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งต้องขอบคุณทุกท่านที่สนับสนุนอย่างดี ขณะนี้ทุกอย่างกำลังใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ เราก็เลยตัดสินใจจัดงานนี้ขึ้น
ทำไมถึงใช้ชื่อเทศกาลหนังสือเริ่มต้น
จรัญ: ขณะนี้ทุกคนกลับมาเริ่มต้นใช้ชีวิตกันใหม่ ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้นเราจึงคิดว่าเทศกาลหนังสือเริ่มต้น จึงเป็นชื่อที่เหมาะสม เพราะว่าหนังสือนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของสรรพสิ่ง ในความรู้ ในศิลปะ ในวัฒนธรรมต่างๆ เทศกาลหนังสือเริ่มต้นจึงมีความหมายว่า การเริ่มต้นใหม่ของชีวิต ของสายธารแห่งความรู้ที่แตกไปเป็นแม่น้ำสายต่างๆ ทางวัฒนธรรม เหมือนเรานับ A B C ซึ่งก็มีความหมายที่สำคัญด้วยไม่ใช่คำที่มาลอยๆ มีความหมายอยู่ คือ Art Book Culture ศิลปะคือชีวิต ความคิดจากหนังสือ และการอ่านเป็นวัฒนธรรม ABC Book Fest เป็นงานหนังสือที่มีอัตลักษณ์ มีเนื้อหาที่เป็นตัวของตัวเอง ข้อดีอย่างหนึ่งของงานนี้คือเป็นงานขนาดกลาง ทำให้สามารถสร้างธีมงานได้อย่างชัดเจน และไปเสริมกับงานหนังสือระดับชาติได้
อะไรเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้ ABC Book Fest แตกต่างจากงานหนังสืออื่นๆ ที่ผ่านมา
จรัญ: สำนักพิมพ์ที่มาร่วมงานล้วนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง งานนี้จึงเป็นเสน่ห์ของสิ่งเล็กๆ และนอกจากหนังสือแล้ว ยังมีงานศิลปะอื่นๆ ที่มานำเสนอ อาทิ กิจกรรม Workshop งานศิลปะ กับ 10 ศิลปิน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จะได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นเดียวในโลกกับศิลปินคนโปรด อาทิ คุณนักรบ มูลมานัส, Juli Baker and Summer, คุณจารุวัฒน์ น้อมรับพร, กิจกรรม DIY Book เลือกหนังสือที่ชอบ ปกที่ใช่ แล้วสร้างสรรค์หนังสือเล่มเดียวในโลกตามสไตล์ของตัวเอง จากโรงพิมพ์ภาพพิมพ์, กิจกรรม 10 days to character ส่งจดหมายถึงตัวละคร จากร้านหนังสือฟาท่อม, การจำหน่ายโปสการ์ดผลงานของนักวาดชื่อดัง คือ คุณมุนินฺ, คุณศศิ, คุณโตโต้ – องอาจ ชัยชาญชีพ และ คุณทรงศีล ทิวสมบุญ เพื่อชวนนักอ่านมาร่วมเป็นหนึ่งในการส่งต่อหนังสือดีๆ ให้กับน้องๆ ในโรงเรียนที่ห่างไกล 5 โรงเรียน, บทเพลงจากนักดนตรีชื่อดังที่เป็นทั้งนักอ่านนักเขียน, การฉายภาพยนตร์ จากกลุ่ม Care ซึ่งหลายเรื่องก็เชื่อมโยงกับหนังสือด้วยครับ และยังมีหรีดหนังสือจากปันการดีที่จะมาแสดงในงานด้วย เป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจมากๆ และยังจัดในสถานที่ใหม่ซึ่งเป็นศูนย์ใจกลางกรุงเทพฯ คือ สามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งมีรถไฟฟ้าใต้ดินเดินทางมาถึงเลย เป็นการเดินทางที่สะดวกสบาย สถานที่ก็สะอาด โปร่ง เมื่อเราตัดสินใจจัดงาน ก็ได้รับการสนับสนุนเยอะมาก ซึ่งต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย นอกจากสำนักพิมพ์กว่า 76 สำนักพิมพ์ รวม 147 บูธที่ตัดสินใจมาร่วมงานนี้แล้วนั้น ต้องขอบคุณทางบันลือสาส์น มติชน และอมรินทร์ ที่สนับสนุนด้านสื่อ รวมถึง ห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์, บริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตโก๋แก่, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), KTC, Green Read, ไปรษณีย์ไทย, ค่ายเพลง Spicy Disc และกลุ่ม Care ที่ยินดีสนับสนุนวงการหนังสือในด้านต่างๆ และสนับสนุนการอ่านในสังคมไทยให้เติบโตอย่างงดงาม
ในด้านของมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น มีการดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หรือ social distancing มีการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่โดยพยาบาล เว้นระยะห่างแต่ละบูธ เพิ่มพื้นที่ทางเดิน มีบริการเจลแอลกอฮอล์ รณรงค์การจ่ายเงินด้วยระบบโอนผ่าน QR Code และหน้ากากอนามัย คือบัตรเข้างานที่สำคัญครับ
กิจกรรมอื่นๆ ที่เสริมเข้ามา นอกจากการขายหนังสือมีอะไรบ้าง
ปนิธิตา: ครั้งนี้เป็นงานหนังสือที่ยึดพื้นที่ใจกลางเมืองอย่างสามย่านมิตรทาวน์ ที่เดินทางสะดวกและเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นภาพของงานหนังสือขนาดกลางจากความร่วมมือร่วมใจกันของสำนักพิมพ์ เป็นงานรวมมิตร ที่หมายถึงความหลากหลาย ซึ่งจัดที่มิตรทาวน์ฮอลล์ บรรยากาศและทุกอย่างก็จะมีความเป็นมิตร ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ขาย คนทำหนังสือ และผู้อ่าน มีกิจกรรมอบอุ่นของนักเขียน เช่น การรับปรึกษาปัญหาหัวใจจากนักเขียน อาทิ วีรพร นิติประภา, นิ้วกลม,กิตติพล สรัคคานนท์, พงศกร, เบนซ์- ธนชาติ ศิริภัทราชัย และภาณุ ตรัยเวช
การเขียนเรื่องสั้นในกิจกรรม ‘เรื่องสั้นเริ่มต้น’ ให้คนได้ลองเป็นนักเขียนบ้าง แต่โจทย์ก็คือต้องเขียนร่วมกันนะ คนละหนึ่งประโยค ต่อกันจนเป็นเรื่องราว ซึ่งเราก็อาจจะได้เทคนิคการเขียนเรื่องสั้นแบบใหม่ๆ มีจินตนาการ มีความเซอร์เรียล และบางทีอาจจะเป็นเรื่องสั้นที่อ่านสนุกมาก ภายในงานนอกจากบูธขายหนังสือของสำนักพิมพ์ ยังมีโซนอาร์ต แอนด์ คราฟต์ ซึ่งเป็นส่วนที่ศิลปิน นักวาด นักทำภาพประกอบ เป็นคนที่ทำงานภาพประกอบ ออกแบบปกหนังสือให้สำนักพิมพ์ต่างๆ อยู่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของแวดวงหนังสือ มารวมตัวกันเพื่อจัดแสดงผลงานและสินค้า เช่น กระเป๋าผ้าจากปกหนังสือ เสื้อยืด หนังสือทำมือ สมุดภาพ สมุดบันทึก โปสการ์ด สติ๊กเกอร์ เครื่องประดับ รวมทั้งมีการเวิร์กช็อปกับศิลปิน เพื่อให้คนอ่านได้ทดลองทำงานศิลปะในแบบต่างๆ สร้างความเข้าใจว่า กว่าจะมาเป็นปกหนังสือหนึ่งปกทำยังไง เข้าใจวิธีคิดของการทำงาน ทำให้การอ่านหนังสือแต่ละเล่มมีมิติมากขึ้น ในส่วนของวัฒนธรรม นั้นเรามีการฉายหนัง และเวทีเสวนา ถ้าเป็นงานหนังสือปกติเวทีเสวนาจะต้องคุยเรื่องหนังสือหรือเปิดตัวหนังสือกัน แต่ครั้งนี้เราเปิดพื้นที่ให้การพูดคุยขยายวงกว้างขึ้น เช่นว่ามีการชวนมาคุยกันเรื่องทีมฟุตบอล เพราะเรามองว่าฟุตบอลก็เป็นวัฒนธรรมหนึ่ง มีเสวนาเรื่องไลฟ์โค้ชคนแรกของโลก มีกตัญญูคาเฟ่ เป็นป๊อปอัพคาเฟ่ยกมาไว้ในงาน เสิร์ฟกาแฟหอมๆ และมาแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องกาแฟ กาแฟก็เป็นวัฒนธรรม รวมทั้งกิจกรรมดนตรี มีทั้งวงดนตรีวงอินดี้ที่มีฐานคนฟังเหนียวแน่น มีดนตรีจากหนังสือโดยคุณเขียนไขและวานิช คุณออมสิน -สุทธินันท์ ทางธรรมอีกด้วย
มองอนาคตของวงการหนังสือและธุรกิจสิ่งพิมพ์ต่อไปอย่างไร
ปนิธิตา: เราจะได้เห็นบรรยากาศระหว่างคนทำหนังสือกับคนอ่านในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม คึกคักกว่าเดิม สนุกกว่าเดิม เห็นได้จากงาน LIT FEST เทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ ทั้งสองปีที่เคยจัดมา บรรยากาศจะคนละแบบกับงานบุ๊กแฟร์ใหญ่สองครั้ง ซึ่ง ABC Book Fest ก็ตั้งใจว่าจะทำเทศกาลหนังสือที่มีสาระความบันเทิง ความรื่นรมย์ มีความสะดวกสบายในการเดินทาง และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดหนังสือบ้านเราได้อย่างดีและแน่นอนว่าอนาคตของวงการหนังสือจะเคลื่อนไปพร้อมๆ กับกระแสต่างๆ รวมทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งตรงนี้เราพร้อมปรับตัวกันอยู่แล้ว ในระหว่างที่เราต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งนี้ เราก็ต้องหาวิธีและแนวทางในการใช้ชีวิตให้ได้ ให้สอดคล้องกับการป้องกันตัว เราต้องเอาชีวิตรอดในทุกๆ มิติ ทั้งความปลอดภัยด้านสาธารณสุข เอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจ และในแง่ของสภาพจิตใจ เรายังต้องการความรื่นรมย์ในชีวิต ความบันเทิง การพบปะสังสรรค์กับผู้คน โจทย์ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายของคนทำหนังสือ
จรัญ: อนาคตวงการหนังสือเป็นอนาคตที่ฝากไว้กับคนอ่าน เราไม่สามารถฝากสิ่งนี้กับภาครัฐเหมือนหลายๆ ประเทศรอบข้างเราได้ แต่อย่างไรก็ตามหนังสือและสิ่งพิมพ์ยังอยู่ได้ อยู่แบบที่เราพยายามอยู่ ทำแบบที่เราพยายามทำ ซึ่งเป็นอนาคตที่ฝากไว้กับคนอ่านจริงๆ
ABC Book Fest 2020 เทศกาลหนังสือเริ่มต้น
จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม – 2 สิงหาคมนี้
เวลา 10.30 – 21.00 น. ณ สามย่านมิตรทาวน์
อัปเดตทุกความฮอตได้ที่ www.facebook.com/ABCbookfest