ขึ้นชื่อว่าคอร์รัปชัน หรือการทุจริตแล้ว เป็นเรื่องที่แค่ได้ยินก็รู้สึกได้ถึงความไม่ยุติธรรมและการเอารัดเอาเปรียบไม่สิ้นสุดก็ว่าได้
แต่สังคมไทยก็อยู่กับมันมานานมาก ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาระดับชาติ มีหลายรูปแบบ แต่หากพูดถึงการคอร์รัปชันระดับ ‘โครงสร้าง’ แน่นอนว่าภาครัฐก็เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในฐานะคนที่นำงบประมาณแผ่นดิน ที่เป็นภาษีของประชาชนไปจัดสรรใช้จ่าย
ในระยะหลังอาจจะด้วยโลกออนไลน์และข่าวสารที่รวดเร็ว ทำให้เรื่องการทุจริตหรือความไม่โปร่งใสต่างๆ ได้รับการพูดถึงและถกเถียงกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจว่าสิ่งเหล่านี้เกี่ยวพันกับอนาคตของพวกเขาอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นงบประมาณแผ่นดิน หรือเสาไฟกินรี ที่มีการนำข้อมูลออกมากางให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากล
The MATTER ชวนพูดคุยกับ ‘อ.มานะ นิมิตรมงคล’ เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และ ‘ณิก – ต่อภัสสร์ ยมนาค’ ผู้ร่วมก่อตั้ง HAND Social Enterprise องค์กรที่ขับเคลื่อนเพื่อสร้
โปรเจกต์ล่าสุดที่ทั้งสององค์กรร่วมมือกันจัดขึ้นเร็วๆ นี้คือ ACTkathon: Anti-Corruption VIRTUAL HACKATHON 2021 โครงการที่เปิดให้คนที่อยากร่วมเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและแก้ปัญหาทุจริต เข้ามาร่วมแข่งขันไอเดีย โดยมีปลายทางเพื่อนำไอเดียนั้นไปสร้างเครื่องมือที่ประชาชนสามารถใช้งานจริงได้ เครื่องมือที่จะช่วยจับตาภาครัฐ ป้องกัน-จับโกงเชิงระบบ ผ่านข้อมูลและเทคโนโลยี
ทั้งหมดทั้งมวลจะเป็นอย่างไร น่าตื่นเต้นแค่ไหน เลื่อนลงไปอ่านพร้อมกันเลยดีกว่า!
ประเทศไทยพันผูก วนเวียนกับปัญหาและคำว่า ‘คอร์รัปชัน’ มาหลายยุคหลายสมัยมาก อยากทราบว่าพวกคุณคิดเห็นอย่างไรกับคำๆ นี้ แล้วคอร์รัปชันเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างไรบ้าง
มานะ: สถานการณ์คอร์รัปชันในเมืองไทยเราทุกวันนี้ถือว่าแย่มาก ถามว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากน้อยแค่ไหน หรือเปลี่ยนแปลงยังไง เมื่อเราเอางานวิจัยมาเป็นตัววัด จะเห็นว่าคอร์รัปชันมันเปลี่ยนรูปแบบ
เรื่องคอร์รัปชันที่ไปรีดไถชาวบ้าน เวลาประชาชนไปติดต่อหน่วยงานราชการ ไปเขต ไปอำเภอ ไปโรงพัก ประชาชนโดนรีดไถ หรือที่ทางโบราณเขาใช้คำว่า ‘ฉ้อราษฎร์’ เราพบว่าปัจจุบันสถานการณ์มันดีขึ้น
ถามว่าทำไมเกิดอย่างนั้น น่าจะเป็นเพราะว่า หนึ่งคือคนสมัยนี้รู้เรื่องมากขึ้น เข้าใจมากขึ้นในสิทธิ หน้าที่ของเขา ว่าเขาควรได้รับประโยชน์ยังไง ข้าราชการไม่มีสิทธิมารีดไถเขา เรื่องที่สองก็คือว่า ยุคนี้ด้วยเทคโนโลยี กล้องในโทรศัพท์มือถือของทุกคน จะทำให้การเปิดโปงหรือการฟ้องร้องเรื่องนี้ให้สาธารณะชนได้รับรู้ทำได้ง่าย การจะเป็นหลักฐานไปดำเนินคดีก็มีความชัดเจน
และตัวที่สามที่เราได้เห็น ว่าด้วยเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน ทำให้มีการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนมากขึ้น เมื่อมีความรวดเร็วขึ้นและคนไม่จำเป็นต้องไปเจอหน้าเจอตากับข้าราชการทุกครั้งไป การรีดไถ การเจรจาสินบนจึงลดน้อยลง
แต่ที่บอกว่าการรีดไถชาวบ้านมันลดน้อยลง ดูจะสวนทางอยู่กับความจริงที่ว่า พบว่าไม่ไถชาวบ้าน เพราะเงินมันจำนวนเล็กน้อยมาก แต่ไปรีดไถนักธุรกิจ หรือประชาชนที่ทำมาค้าขาย คนจะไปต่อเติมบ้าน จะไปยื่นเรื่องของจดทะเบียน คนจะทำธุรกิจใหญ่ๆ เปิดซูเปอร์มาร์เก็ต เปิดร้านค้า เปิดร้านอาหาร ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ ทำโรงงาน ทำเหมืองแร่ ทำไร่ ทำสวน อะไรที่ต้องเป็นสัมปทาน สิ่งเหล่านี้จะโดนรีดไถหนักมาก มีบางกรณีถ้าเป็นผลประโยชน์เยอะๆ เช่น เกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้า เรื่องพลังงาน เงินใต้โต๊ะอาจจะคุยที่หลักพันล้าน มีข้อมูลอันหนึ่งคือ มีโรงงานแปรรูปอาหารแช่แข็งที่ระยอง โรงงานเดียว ต้องมีใบอนุญาตทั้งหมด 5,000 ใบ ทุกใบเป็นเรื่องที่เสียเวลา มีต้นทุนมาก แล้วก็ต้องจ่ายตังค์ ถึงต้องบอกว่าวันนี้สถานการณ์มันจึงแย่ลง
อันนี้คือเรื่องฉ้อราษฎร์ และยังมีเรื่อง ‘บังหลวง’ หรือการคอร์รัปชันระดับโครงสร้างระบบอีกด้วย
อธิบายคำว่า ‘บังหลวง’ ให้ฟังหน่อย เพราะพอพูดว่าเป็นระดับโครงสร้าง คิดว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นส่วนได้ส่วนเสียของประชาชนทุกคนแล้ว
มานะ: คอร์รัปชันที่เป็นปัญหาใหญ่คือเรื่องบังหลวง เราเรียกกันว่าเป็นการโกงชาติเลย ระบบราชการของไทย มีการจัดซื้อจัดจ้างปีหนึ่งประมาณหนึ่งล้านล้านบาท แล้วถ้ารวมการจัดซื้อของรัฐวิสาหกิจเข้าไปด้วย จะบวกเงินเข้าไปอีกหลายแสนล้านบาท
จากข้อมูลที่มีงานวิจัยผ่านๆ มา แล้วก็การรับข้อมูลจากนักธุรกิจ คนทำมาค้าขาย เราพบว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมักจะมีการเรียกรับเงินใต้โต๊ะ เงินสินบน หรือเงินส่วนแบ่ง หรือจะเรียกเงิน Kickback ก็ได้ จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าย้อนไปสัก 7-8 ปีก่อนหน้านี้ เงินพวกนี้อาจจะมากถึง 25-30 เปอร์เซ็นต์ นั่นแปลว่าในแต่ละปีเราจะสูญเสียเงินใต้โต๊ะในการจัดซื้อจัดจ้างไปประมาณแสนห้าหมื่นล้านถึงสองแสนล้านบาท
นั่นหมายถึงความไม่เท่าเทียมในการทำธุรกิจ หมายถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ผลที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือการใช้งบประมาณภาครัฐมันสูญเปล่าไปเยอะ และภาคเอกชนก็ไม่ได้พัฒนาตัวเอง มุ่งคิดแต่ว่าฉันจะไปวิ่งเต้นยังไง จะไปจ่ายเงินจ่ายทองให้กับนักการเมืองยังไง จะล็อกสเป็ก จะฮั้วกันยังไง ตรงนี้เป็นความเสียหายระยะยาวของประเทศ
อันที่จริงแล้วประเทศไทยมีหลายภาคส่วนมากที่พยายามจะแก้ไขปัญหานี้มาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะจากรัฐ หรือการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่เท่าที่อาจารย์มานะเล่ามาดูจะยังไม่ประสบความสำเร็จนัก
มานะ: การจับคนโกงในบ้านเรามันเพิ่งมาทำกันเป็นเรื่องเป็นราวในช่วงเวลาประมาณสัก 40 ปีนี้เอง ทั้งๆ ที่ระบบราชการของไทยมีการพัฒนาตัวมาเยอะ
เราได้ยินเรื่องของคอร์รัปชันมา 70-80 ปีแล้ว ย้อนหลังไปนาน นานมากเลย แต่เพิ่งมี ปปช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) แล้วก็เพิ่งมีกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทย ออกเป็น พรบ. เมื่อปี พ.ศ. 2560 นี่เอง ก่อนหน้านี้เป็นแค่ระเบียบ ซึ่งถ้าเป็นระเบียบแปลว่าถูกให้ความสำคัญน้อย จะเน้นเรื่องของการยืดหยุ่น หรือการใช้ดุลพินิจ ตรงนี้เลยกลายเป็นช่องว่างที่ทำให้มีปัญหามาก
แต่หน่วยงานเหล่านี้ทำงานโดยยึดติดกับกรอบของกฎหมาย แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะมีความเคยชิน ฉะนั้นทุกวันนี้เราจะได้ยินพวกนักการเมืองระดับประเทศและระดับท้องถิ่น พูดเหมือนกับก๊อปปี้กันมา ก็คือบอกว่า “ผมทำทุกอย่างโปร่งใส” ถามว่าแล้วท่านเปิดเผยเรื่องนี้หรือยัง
ง่ายๆ เลย เรื่องวัคซีน ท่านบอกว่าแจกเท่าเทียม ไหนไปเอาตัวเลขให้ดูหน่อยเถอะว่าในช่วงที่วิกฤต ย้อนหลังไปอีกหนึ่งเดือน ท่านแจกวัคซีนไปจังหวัดนี้ ไปคนกลุ่มนี้ออกมาเป็นตัวเลขเท่าไหร่ อย่ามาบอกมั่ว เพราะนี่คืออะไร? คือโปร่งใส แต่ไม่เปิดเผย อันนี้เป็นสิ่งที่เกิด
แล้วพวกคุณคิดว่าการแก้ปัญหา ‘คอร์รัปชัน’ แบบถอนรากถอนโคนควรจะทำอย่างไรบ้าง
ณิก: ถ้าจากที่อาจารย์มานะพูด ความโปร่งใสที่แท้จริง สิ่งที่สำคัญคือข้อมูลที่ประชาชนควรจะได้รับรู้ ประกอบกับงานวิจัยที่มีการทำมาแล้วบอกว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่นำไปสู่ความสำเร็จยั่งยืน คือ ‘คนจำนวนมาก’ ที่เข้ามาร่วมตรวจสอบอย่างเป็นระบบ
ผมไปไล่ดูว่าในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เขามีเครื่องมือ หรือตัวอย่างวิธีการอะไรบ้างที่ทำแล้วประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา ไปศึกษาดูว่าเครื่องมือแบบไหน นโยบายวิธีการแบบไหนที่ทั่วโลกใช้แล้วประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเชิงนโยบาย หรือคอร์รัปชันขนาดใหญ่ที่อาจารย์มานะพูดถึงบ้าง
คำตอบก็คือ ‘เอาข้อมูลไปติดอาวุธให้คนสิ’ นี่เลยเป็นแนวทางที่หลายๆ ประเทศทำแล้วประสบความสำเร็จมากเลย ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ อเมริกา เขาเอาฐานข้อมูล นักการเมือง พรรคการเมือง การตัดสินใจ มติต่างๆ เปิดเผยหมดเลย มีช่องทางให้คนสามารถร้องเรียน หรือส่งเรื่องอะไรต่างๆ เข้ามา และสามารถติดตามได้ว่าเรื่องราวไปถึงไหนแล้ว ได้รับการแก้ไขหรือยัง
เคสที่อยู่ใกล้ตัวเรา รอบๆ ประเทศเราก็มี – อินโดนีเซียที่แต่ก่อนเคยอยู่ในลำดับที่ความโปร่งใสน้อยกว่าเรา ตอนนี้แซงเราไปแล้ว อินโดนีเซียใช้ ‘LAPOR!’ เป็นเครื่องมือที่ประชาชนสามารถส่งเรื่องร้องเรียนโดยเปิดดูข้อมูลอะไรต่างๆ ได้ มีเจ้าหน้าที่รัฐคอยรับเรื่องร้องเรียนแล้วติดต่อกลับมาภายในเวลาที่กำหนด สมมติยังแก้ปัญหาไม่ได้ ก็บอกว่าตอนนี้เรื่องไปถึงไหนแล้ว เพราะฉะนั้นทำให้คนเริ่มรู้สึกมีส่วนร่วม แล้วเสียงของเขามีความหมาย ไม่ใช่โยนเข้าไปในหลุดดำ แล้วเรื่องหายไปไหนก็ไม่รู้
มานะ: องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเข้ามาสำรวจประชาชน ไปถามชาวบ้านในประเทศไทย แล้วก็อีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก มีสิบกว่าประเทศในเอเชียแปซิฟิก เขาจะสำรวจทุกๆ 3 ปี
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เขาสำรวจความคิดเห็นของคนไทย ณ ตอนนั้นสถานการณ์คอร์รัปชันในสายตาคนไทยถือว่าดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิก คะแนน 80-90% สูงกว่าทุกๆ ประเทศในภูมิภาค
แต่พอมาสำรวจครั้งล่าสุดปีนี้ ปรากฎว่าประเทศไทยบ๊วยที่สุด บ๊วยที่สุดในอาเซียน กลับหัวเลย แล้วก็มีคำถามในการสำรวจว่า ‘คุณคิดว่าเสียงของคุณหรือเสียงของประชาชนสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศได้ดีแค่ไหน?’ คะแนนเราก็ตกต่ำที่สุด
มันจะไปอยู่ตรงนี้แหละ ถ้าเราจะกลับมาแก้คอร์รัปชันให้ดี สิ่งที่ต้องทำให้ได้ก่อนก็คือดึงพลังของประชาชนขึ้นมา ทำให้ประชาชนกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้งหนึ่งว่าพวกเราสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศได้
การแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืน คือการที่รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียด และใช้พลังของคนกลุ่มมากอย่างประชาชนเข้าไปร่วมกันตรวจสอบ แล้วในประเทศไทยเคยเกิดเคสการตรวจสอบการโกงกินด้วยการใช้ข้อมูลให้ได้เห็นบ้างไหม?
ณิก: ที่ ประเทศไทยเราก็เริ่มมีการพัฒนาเครื่องมืออะไรต่างๆ ขึ้นมาเยอะแล้วเหมือนกัน อย่างเครื่องมือที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันที่อาจารย์มานะเป็นเลขาธิการ สร้างขึ้นมาชื่อว่า ‘ACTAi.co’ มาจากคอนเซปต์ที่ว่า ถ้าประชาชนจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ เราควรต้องไปลดต้นทุนในการต่อต้านคอร์รัปชันของคนลง ไปสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนมากขึ้น เพราะฉะนั้นลดต้นทุนในการต่อต้านคอร์รัปชัน คือเวลาประชาชนไปขอข้อมูลมา เขาจะไปฟ้องร้องเรื่องต่างๆ เขาต้องขอข้อมูลได้ง่าย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาขอข้อมูล (จากภาครัฐ) ยากมากเลย
เรามาคิดกันว่าจะแก้ได้อย่างไร เลยไปสร้างฐานข้อมูลที่ชื่อว่า ACTAi.co ซึ่งเอาข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างจากกรมบัญชีกลางมารวบรวมไว้ สร้างระบบการค้นหาข้อมูลให้ง่ายขึ้น เหมือนค้นใน Google แค่พิมพ์ชื่อโครงการไป
ถ้าเกิดเล่าคอนเซปต์เดี๋ยวจะนึกภาพไม่ออก ก็เลยจะยกตัวอย่าง กรณีที่น่าจะเห็นชัดที่สุดเลย คือกรณี ‘เสาไฟฟ้ากินรี’
เป็นเคสที่คนทั้งประเทศให้ความสนใจมากๆ เลย อยากรู้ว่า ACTAi.co มีส่วนร่วมกับข่าวการตรวจสอบที่มาที่ไปของเสาไฟฟ้ากินรียังไงบ้าง?
ณิก: เรื่องราวเกิดมาจากตอนแรกที่ก็มีคนในพื้นที่นี่ เขาเห็นว่ามีเสาไฟฟ้ากินรีสวยงามแต่ว่าไปอยู่ในดงไม้ซึ่งไม่มีคนเดิน ถ่ายรูปแล้วส่งไปที่เพจ ‘ต้องแฉ’ เป็นเพจทำเรื่องการสร้าง รวบรวมข่าว รับเรื่องร้องเรียนอะไรต่างๆ
ทีมของเพจนั้นเขาก็สงสัยว่ามีเคสแบบนี้อีกบ้างหรือเปล่า แล้วโครงการมีรายละเอียดยังไง เขาก็เลยเข้า ACTAi.co แล้วก็ไปเสิร์ชดู ปรากฎว่าอันนี้ไม่ใช่กรณีเดียวที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาในพื้นที่นี้มีอยู่แล้ว 7 โครงการ มีเสาเป็นพันๆ ต้น งบประมาณหลักร้อยล้าน ชัดเจนว่าพอมีข้อมูลเข้าไปสนับสนุนจะเห็นว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ที่สำคัญในฐานข้อมูลที่เราดึงมา เราก็ไปดูด้วยว่าคนที่เป็นคนชนะประมูลหรือบริษัทที่รับเหมาเป็นใคร บริษัทนี้ชนะราคาเท่าไหร่ ตอนแข่งขันมีคนแข่งขันกี่คน แล้วราคาอะไรต่างๆ มันเป็นยังไง มีความสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตไหม คือไม่ได้ไปฟันธงบอกว่าคนนี้โกงนะ แต่อย่างน้อยที่สุดประชาชนได้รับรู้ว่าข้อมูลเป็นยังไง แล้วไปตัดสินกันเอง นี่ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่า การเพิ่มศักยภาพ ติดอาวุธประชาชนด้วยข้อมูล นำพาไปสู่การตรวจสอบความสุ่มเสี่ยง แล้วก็ให้ได้ถกเถียงกันบนข้อเท็จจริง แล้วนี่ก็คือหลักประชาธิปไตย การที่ให้คนได้ถกเถียงกัน ได้คุยกันอย่างเต็มที่
มานะ: ในอดีตที่ผ่านมา พูดเรื่องคอร์รัปชัน คนไม่อยากยุ่ง ไม่รู้จะเอาข้อมูลจากไหน พูดแล้วเปลืองตัว พูดแล้วอันตราย คนโกงเลยได้ใจ วันนี้เราถึงต้องมาพูดกันอย่างนี้ ว่าทำยังไงเราจะเอาความจริงมาพูดกันได้ด้วยระบบข้อมูล
ซึ่งข้อมูลที่อยู่ในมือภาครัฐมีมากมายมหาศาล แต่ถูกปิดบังเอาไว้ ต้องเปิดออกมาแล้วให้คนเข้ามาใช้ข้อมูลเหล่านี้ ให้จะเกิดประโยชน์กับประเทศ กับประชาชนมากมาย
ณิก: ที่จริงการเปิดเผยข้อมูลก็เป็นประโยชน์กับข้าราชการที่ตั้งใจจะทำประโยชน์เพื่อประชาชนและเพื่อประเทศชาติด้วย บางอย่างที่เขาโดนสั่งมาจากหัวหน้าเขา หรือโดนทางการสั่งมาให้ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ถ้าข้อมูลมันเปิดเผยอยู่แล้ว เขาบอกเขาทำไม่ได้ เพราะข้อมูลมันเป็นแบบนี้ เขาก็เห็น ประชาชนก็เห็น เป็นการป้องกันข้าราชการในระดับปฏิบัติการไม่ให้ต้องติดคุกแทนนักการเมืองด้วย
‘ข้อมูล’ มันเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับยุคสมัยดิจิทัลแบบนี้ เพราะมันคือการเอาความจริงมากางกันให้ดูจะๆ ซึ่งจะดีมากเลยถ้ามีเครื่องมือและเทคโนโลยีจำนวนมากๆ ที่เอาข้อมูลมาประมวลให้เข้าใจง่าย ให้ผู้คนได้หยิบไปใช้ เพื่อแก้ปัญหาทุจริต หรือกระทั่งเอาไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย
มานะ: นั่นคือจุดประสงค์ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นองค์กรของภาคประชาชนที่เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยการรวมตัวของภาคธุรกิจ แกนนำหลักเลยก็คือสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร หลังจากนั้นก็มีภาคธุรกิจเข้ามาร่วมไม้ร่วมมือกันมากขึ้น
เราจะสร้างจุดเปลี่ยนประเทศไทย ในการต่อต้านคอร์รัปชันที่เป็นตัวบ่อนทำลายทุกอย่าง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ด้านหนึ่งอาจจะเห็นว่าเรามาพูด มาเปิดโปงคดีคอร์รัปชัน แต่มากกว่านั้นก็คือการที่เราจะพยายามเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบราชการ เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานของราชการ เพราะฉะนั้นในวันนี้สิ่งที่เราจะทำมากที่สุดก็คือการรวบรวมองค์ความรู้มาบอกกล่าวกับประชาชนให้เข้าใจ ขณะเดียวกันเราก็พยายามที่จะสร้างเครื่องมือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน ด้วยตัวเขาเองให้มากที่สุด
ณิก: แล้วก็มีแนวทางที่อยากจะเชิญประชาชนทุกคนที่ ‘ทนไม่ไหวแล้ว’ ซึ่งปกติเราก็นั่งคุยกันแล้วบ่นว่าทำไมคนนี้โกงจัง แย่จัง สถานการณ์สังคมไทย ทำไมเป็นแบบนู้นแบบนี้ มาเปลี่ยนแรงบ่น แรงโกรธ มาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ผ่านโครงการ ‘ACTkathon’
‘ACTkathon’ ชื่อฟังดูน่าสนใจ ขยายความหน่อยว่าเป็นโครงการยังไง แล้วประชาชนจะมาเข้าร่วมยังไงได้บ้าง
ณิก: ACTkathon มาจาก ‘ACT’ บวกกับ ‘Hackathon’ ที่เป็นความหมายของงานที่ระดมคนมาช่วยกันคิด แก้ไข นำแนวทางใหม่ๆ มาใช้ โดยเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนประกอบด้วยในการแก้ไขปัญหานั้นๆ
งานนี้ชัดเจนว่าคือการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ด้วยวิธีการสร้างรัฐเปิดเผย เราใช้คำว่า ‘พลิกเกมโกงให้อยู่หมัด สร้างรัฐเปิดเผย’ จะทำอย่างไร เอาข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย หรือข้อมูลเบื้องต้นที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันไปรวบรวมมาให้ในแพลตฟอร์มต่างๆ เอามาสร้างเป็น ‘เครื่องมือต่างๆ’ แนวทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเชิงโครงสร้างได้
ตัวอาจารย์มานะเอง หรือผมเอง เราก็อาจจะรู้ว่าคอร์รัปชันในวงการแบบนี้มีอยู่เท่านี้ แต่ว่าเมื่อมีคนจำนวนมากมาร่วมกัน ก็จะเห็นว่าคอร์รัปชันแบบนี้ก็มี แบบนี้ก็มี เพราะฉะนั้นเราใช้เครื่องมือแบบนี้แก้ได้ไหม เราใช้แบบนี้แก้ได้ไหม มันก็จะเกิดความ แนวทางที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การป้องกันคอร์รัปชันในเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ PM 2.5
มานะ: งานนี้เราจะเริ่มโดยการใช้ข้อมูลสร้างความโปร่งใสในภาครัฐก่อน เราไปรวบรวมข้อมูลมาตรการในภาครัฐทั้งหมดเอาไว้ เพื่อให้คนร่วมงานมาประชันแข่งขันไอเดียกันสร้างเครื่องมือจับโกงรัฐเพื่อความโปร่งใส แล้วให้ประชาชนนำไปใช้เพื่อช่วยกันจับโกงได้ง่ายๆ ด้วยปลายนิ้ว
ACTkathon คืองานที่ให้คนมาร่วมประชันไอเดียแข่งกันเพื่อนำไปสร้างเครื่องมือแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งก็ดูจะเป็นงานที่ผสมทั้งเรื่องข้อมูลและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน เหมือนจะเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างและเรื่องการทุจริต ที่อยากเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยการเทค แอ็กชัน
ณิก: การขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ที่ออกมา ผมว่าน่าสนใจมาก เพราะมันคือการตั้งคำถาม ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ก็ออกมาถามคำถามต่อสังคมแล้วแต่บางทีก็ไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งเมื่อพวกเขาออกมาตั้งคำถามแล้ว แสดงพลังแล้ว ทำไมเราจะไม่นำพลังนี้ไปพัฒนาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง งาน ACTkathon รอบนี้ก็จะมุ่งไปที่คนรุ่นใหม่ด้วยว่าเขามีความคิดอะไร สิ่งที่เขาไม่พอใจ และอยากจะเปลี่ยนแปลง
ซึ่งคนแต่ละรุ่นก็จะมีความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันแตกต่างกันไป ผมขอเสริมด้วยงานวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ – คนกลุ่มที่อายุ 35 ปี ขึ้นไปส่วนใหญ่เขาจะมองว่าคอร์รัปชันคือการโกงของนักการเมือง แต่พอถามกับคนอายุ 32 ปีลงมา คำตอบคือเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง
จะเห็นว่าคำว่าคอร์รัปชันมันกว้างมากขึ้นสำหรับคนรุ่นใหม่ ดังนั้นการสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์คำว่าคอร์รัปชันของคนรุ่นใหม่ ก็ควรจะเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันคิดและแก้ไขปัญหา และเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่มากที่จะได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
มานะ: การต่อต้านคอร์รัปชันด้วยกฎหมายหรือองค์กรอิสระเราทำกันมานานกว่า 40-50 ปีแล้ว ไม่ได้มีอะไรดีขึ้นเลย พวกคนโกงปรับตัวเพื่อหลุดรอดการจับกุมได้ แต่วันนี้คนรุ่นใหม่ได้เห็นสังคมใหม่ สังคมนานาชาติ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมปฏิบัติ เทคโนโยยีทั้งจากในและนอกประเทศ เราจึงเชื่อมั่นมากว่าความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่พวกเขาได้เห็นจากทั่วโลก จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงได้
เป็นโครงการที่ฟังแล้วน่าสนใจไม่น้อย อยากทราบว่าการสมัคร ACTkathon ในท้ายที่สุด นอกจากการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ผู้สมัครจะได้รับอะไรกลับไปอีกบ้าง
ณิก: ก็จะเข้ามาเรียนรู้กับเมนเทอร์ที่เชี่ยวชาญด้านปัญหาคอร์รัปชัน ด้านเทคโนโลยี ได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกับเมนเทอร์และกรรมการต่างๆ แน่นอนว่าเครื่องมือที่พัฒนาออกมาก็จะได้นำมาใช้งานจริงด้วย และอาจจะได้นำไปใช้ในต่างประเทศด้วย
ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องมีประวัติการศึกษาหรือการทำงาน ที่เกี่ยวข้องด้านไอทีแต่อย่างใด จะเป็นนักเรียน ข้าราชการ พนักงานเอกชน ขอแค่สนใจ และมีแพสชันกับปัญหานี้ เข้าร่วมได้ทุกคน และไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่เราให้ความสนใจ แต่คนรุ่นเก๋า คนรุ่นก่อน ก็มาร่วมกันได้ อายุไม่ใช่ข้อจำกัดอะไรทั้งสิ้น
โครงการ ACTkathon: Anti-Corruption VIRTUAL HACKATHON 2021 เปิดรับสมัครถึงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ผ่านทาง https://ACTkathon.ACTAi.co โดยในปีนี้จัดงานผ่านทางระบบออนไลน์ทั้งหมด