ฤดูกาลแห่งความเขียวชอุ่ม ฉ่ำสายฝน ชีวิตคนในเมืองหลวงอาจไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่นักด้วยการเดินทางที่มักติดแหง็กบนท้องถนน ที่บางทีก็น้ำท่วมเป็นเวลาหลายชั่วโมงกว่าจะได้กลับบ้านในคืนวันศุกร์
เมื่อใดที่ฝนเทลงมาในวันเร่งรีบเราอาจเคยตั้งคำถามกับชีวิตและการทำงานของเราอยู่บ่อยๆ หรือสังเกตเห็นอาการหมดไฟในตัวเองเล็กน้อย เริ่มไม่อยากเดินหน้าต่อไป เริ่มเห็นอุปสรรคในที่ทำงานมากขึ้น และรู้สึกว่าเราก็ทุ่มเทเหมือนเดิมแต่ทำไมกลับได้ผลลัพธ์ไม่เป็นอย่างที่คาดไว้
จากที่ The MATTER เคยนำเสนอเรื่องการออกไปรับพลังแห่งป่าไว้อย่างหลากหลายเช่น รายงานจากมหาวิทยาลัย University of Exeter Medical School ที่พบว่าคนที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวมีความเครียดน้อยกว่า งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์เองก็พบว่ามีอัตราการเกิดโรคน้อยกว่าเช่นกัน หรือที่กำลังเป็นที่พูดถึงตอนนี้อย่างการอาบป่าซึ่งมาจากปรัชญาของญี่ปุ่น เพียงแค่นั่งพักใต้ต้นซากุระก็ถือเป็นช่วงเวลาที่จิตใจของเราได้รับการฟื้นฟูแล้ว
การมีธรรมชาติคอยฟื้นฟูเราแบบนี้ เราต้องไม่ลืมที่จะฟื้นฟูธรรมชาติกลับ จากที่เคยลดใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันเราจะก้าวไปอีกขั้นด้วยการลดพลาสติกตลอดการออกไปพักผ่อนและพักใจ เมื่อ Journey D ชวนเราไปสัมผัสการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่พวกเขาดูแลธรรมชาติไปพร้อมๆกับการใช้ชีวิตประจำวันที่มีความสุขในทุกๆวัน เราจึงไม่พลาดที่จะนำหลอดสเตนเลสที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ กระบอกน้ำที่ทำจากไบโอพลาสติกและกระเป๋าผ้าใบเก่งติดตัวไปด้วย
พรหมโลก คือ ตำบลที่มีจำนวน 200 หลังคาเรือน ในเขตอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เราอาจรู้จักจังหวัดจากหมู่บ้านอากาศดีชื่อคีรีวง ซึ่งชุมชนพรหมโลกอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกัน ชุมชนพรหมโลก ยังเป็นที่ตั้งของน้ำตกพรหมโลกและอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ซึ่งทำให้ที่นี่เต็มไปด้วยพืชพันธ์ุธรรมชาติ มีเฟิร์นจากยุคไดโนเสาร์ มีสวนสมรมที่ผสมระหว่างสวนผลไม้กับป่าต้นไม้ใหญ่ ในเขตชุมชนก็เต็มไปด้วยต้นไม้และพื้นที่สีเขียว
ก่อนที่จะพาทุกคนไปเข้าใจธรรมชาติสัมผัสการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่คนในชุมชนจะพาเราไปดู พาเราไปกิน พาเราไปทำ เราขอแนะนำญาติผู้ใหญ่ที่ดูแลเราอย่างอบอุ่นเริ่มต้นที่พี่หนูนีผู้นำการเที่ยวในครั้งนี้ ลุงชาญที่อาสาขับรถให้ ป้าตั้งที่หิ้วปิ่นโตปักษ์ใต้มาฝากทุกมื้อ ป้าเล็ก-ลุงชิดคู่สามีภรรยาอารมณ์ดี และน้าพรเจ้าบ้านที่เปิดห้องให้เรานอนพร้อมกับแมวสีส้มขี้บ่นชื่อการ์ฟิลด์
การต้อนรับแรกของเราคือเจ้าผีเสื้อที่บินมาเล่นกับเรา แล้วไปเกาะที่มือลุงชิดอย่างคุ้นเคยระหว่างรอมื้ออาหารที่เราได้นั่งกินกลางป่าข้างลำธารจากน้ำตกพรหมโลก บนโต๊ะอาหารของเรามีปิ่นโตซึ่งเป็นฝีมือการทำอาหารโดยป้าตั้งคุณครูวัยเกษียณที่รสมือดีลงมือทำเองและชามจากกาบหมากต้นไม้พื้นถิ่นที่เมื่อแห้งแล้วสามารถนำมาทำสิ่งของได้นอกจากชามก็เป็นตะกร้า เป็นที่ตักน้ำในสมัยก่อนตามคำบอกเล่าของลุงชาญ
ธรรมเนียมปฏิบัติที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวงมีอยู่ว่าหากนำพลาสติกหรือก่อขยะขึ้นต้องนำกลับไปทิ้งด้านล่างทุกชิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ก็ทำกันเป็นปกติ ก่อนจะขึ้นไปน้ำตกต้องดูช่วงเวลาและต้องมีไกด์เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานไปด้วยทุกครั้งเพราะเส้นทางยังคงความธรรมชาติอยู่มากไม่ได้มีใครใช้ทางเดินสัญจรมากนักทั้ง ยังเป็นการไต่เนินเขาข้างธารน้ำตกอาจมีบริเวณสูงชัน ลื่นไถล รวมไปถึงเขตน้ำวนที่ห้ามลงไปเล่น เจ้าหน้าที่ที่อาสาเป็นพรานป่าให้กับเราในครั้งนี้คือ พี่ไทด์
พี่ไทด์เล่าว่าเขาเกิดและเติบโตที่นี่ เดินขึ้นภูเขาเล่นน้ำตกตั้งแต่เด็กและเขาไม่อยากให้ธรรมชาติตรงนี้หายไปจึงมาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำอุทยานแห่งชาตินี้ ปัจจุบันพี่ไทด์มีออกลาดตระเวนนอนกลางป่าบ้างสามถึงสี่คืน เจอแม่ลูกหมีหมาไปเมื่อสองเดือนก่อน ระหว่างทางพี่ไทด์บอกให้เราสังเกตสัตว์ที่เข้ามาทักทายตลอดแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม่ว่าจะเป็นน้องวรนุช กิ้งก่าบิน ผึ้งหลวงและร่องรอยของหมูป่า
ระหว่างทางลงเขาเราแวะหยุดดูสวนสมรมหรือที่ภาษากลางเรียกว่าสวนผสมผสานคือปลูกผลไม้หลายชนิดในบริเวณเดียวกัน ลุงชาญชี้ให้เราดูในขณะที่เรายืนอยู่จุดเดียวก็เห็นทั้งต้นสะตอ หมาก มังคุด ทุเรียน ตามเส้นทางเดินเท้าของเรายังเห็นลูกที่ไม่สมบูรณ์หล่นร่วงเรียงรายเต็มพื้น พี่หนูนีก็มีสวนสมรมอยู่เลยขึ้นไปบนเขานี้หากวันที่ไม่ได้ดูแลนักท่องเที่ยวพี่หนูนีก็มีอาชีพทำสวนและบอกเราอีกว่าหลายบ้านในชุมชนนี้ก็มีสวนบนเขาและเลือกทำสวนสมรมไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญของชุมชนที่ทุกคนช่วยกันดูแล
ธรรมชาติอันสมบูรณ์ของที่นี่ยังเห็นได้จากลำธารน้ำตกพรหมโลกที่ไหลไปหล่อเลี้ยงชุมชน มีท่อประปาต่อตรงจากบนเขาสู่หมู่บ้านพี่ไทด์บอกกับเราตอนเจอเข้ากับท่อประหลาดที่พาดผ่านทางเดินให้เราต้องหลบเลี่ยง ลำธารนี้ยังเป็นที่อาศัยของฝูงปลาที่เมื่อถึงฤดูวางไข่ต้องกระโดดขึ้นภูเขาสวนทางน้ำเหมือนกับปลาแซลมอนแต่ที่ต่างคือปลาชนิดนี้ไม่ตายและว่ายกลับมาใช้ชีวิตดังเดิม ทำให้เราเห็นปลาฝูงใหญ่แหวกว่ายในน้ำใสและเด็กๆในพื้นที่ก็เล่นน้ำไปกับปลาทุกวันที่ธารน้ำหน้าบ้านตัวเองหรือวังปลาแงะบริเวณที่ถนนตัดผ่านน้ำจนเกิดเป็นทางน้ำไหล
พี่หนูนีเป็นที่รู้จักของคนที่นี่ตลอดการเที่ยวของเราจะพบเจอผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาทักทายเป็นภาษาใต้พร้อมส่งรอยยิ้มพิมพ์ใจต้อนรับแขกอย่างเรา พี่หนูนีเล่าให้เราฟังว่าชมรมท่องเที่ยวโดยชุมชนพรหมโลกเกิดขึ้นมา 14 ปี แล้วเกิดจากการรวมตัวกันของคนในชุมชนที่มีใจอยากเปิดบ้านเป็นโฮมสเตย์ จนปัจจุบันนี้ก็มีกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้ามาเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งของชมรม เช่น การมาเป็นมัคคุเทศก์น้อย เปิดบ้านโฮมสเตย์ ช่วยงานเล็กๆ โดยมี Journey D เข้ามาสอนภาษาอังกฤษให้กับชมรมและคนในชุมชนที่สนใจ
ถึงแม้ว่าพี่หนูนีและคนอื่นๆในชมรมจะไม่ได้ยึดการบริการนักท่องเที่ยวเป็นอาชีพหลัก แต่พี่หนูนีก็ภูมิใจที่มีนักท่องเที่ยวสนใจในการท่องเที่ยวโดยชุมชนจากที่เคยดูแลบ้านและถนนให้สะอาดอยู่แล้วพอต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวยิ่งเพิ่มความสะอาดเข้าไปอีก ไม่ใช่แค่เรื่องความสะอาดแต่ที่นี่ยังจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเพราะถ้าเราเดินป่าทุกๆวันป่าก็จะทรุดโทรมเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดูแลธรรมชาติ พี่หนูนียังแอบกระซิบมาว่าถ้าเป็นหน้ามังคุดล่ะก็ที่พรหมโลกมีมังคุดสามรสที่เดียวที่อื่นไม่มีด้วย
ตอนทำกิจกรรมผ้าบาติกน้องที่มาสอนเราชื่อน้องใบพลู ยังเป็นนักศึกษาอยู่ น้องเล่าให้ฟังว่าจริงๆแล้วน้องก็ไม่ได้ทำผ้าบาติกเป็นประจำแต่เพราะอยากดูแลนักท่องเที่ยวน้องเลยไปเรียนรู้มาจากการจัดอบรม ใบพลูดีใจที่การทำโฮมสเตย์นี่เหมือนกับการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน คนรุ่นใหม่ไม่ต้องออกไปทำงานไกลบ้าน สามารถอยู่กับครอบครัวและต้อนรับนักท่องเที่ยวได้จะมีก็แต่ช่วงที่ไม่ใช่หน้าผลไม้ชุมชนก็จะเงียบลงแต่ใบพลูในฐานะคนรุ่นใหม่ก็ช่วยโปรโมทชุมชนผ่านทางโซเซียลมีเดีย ถึงชุมชนจะไม่ได้โด่งดังแต่ใบพลูก็ชอบที่ชุมชนเติบโตอย่างช้าๆโดยไม่ละทิ้งวิถีเดิมและธรรมชาติ
ก่อนมื้ออาหารเย็นเราเลือกปั่นจักรยานไปตลาดสำรวจดูว่าชาวบ้านซื้ออะไรขายอะไรกันบ้าง ตลาดนี้เป็นตลาดประจำตำบลเปิดทุกวันแต่จะมีพ่อค้าแม่ขายเข้ามาจับจองเต็มพื้นที่ในวันพุธและวันอาทิตย์ มีของทะเลอย่างหมึกกระดองเล็กหรือหมึกสายที่พี่หนูนีบอกกับเราว่ายังไม่เคยซื้อไปทำอะไรกินเหมือนกันวันนี้จึงลองซื้อไป ตรงจุดนี้เราสัมผัสได้ว่าไม่ใช่แค่คนที่มาเที่ยวหรอกที่ได้เรียนรู้ แต่คนในพื้นที่เองก็ได้ลองอะไรใหม่จากนักท่องเที่ยวเช่นกัน ในตลาดยังขายขนมไทยโบราณอย่างขนมโคที่คล้ายกับขนมต้มในภาคกลางต่างกันตรงไส้ ขนมรังผึ้งที่ยังใช้เตาถ่านและแม่พิมพ์โบราณ ไปจนถึงกล้วยหวานทอด
จากคำแนะนำของน้าพรเรามีอีกจุดหมายเป็นร้านข้าวยำที่ใส่น้ำบูดู ซอยสมุนไพร กลีบดาหลาสีชมพูชวนให้เราลิ้มลอง เมื่อเราพูดคุยกับคุณป้าเจ้าของร้านก็รู้ว่าร้านนี้เป็นร้านที่คงสูตรเดิมตั้งแต่คุณแม่ของคุณป้าและลูกของคุณป้าก็มองอนาคตเอาไว้ว่าจะเปิดร้านข้าวยำแบบนี้นอกตลาดกับแม่เพื่อรักษาสูตรของแม่เอาไว้ เราซื้อข้าวยำของคุณป้าพร้อมบอกว่าไม่รับถุงแล้วหยอนถุงข้าวยำลงกระเป๋าผ้าทันทีถึงแม้จะลดพลาสติกไม่ได้ทั้งหมดแต่ก็ลดได้อีกหนึ่งชิ้น นอกจากร้านข้าวยำยังมีร้านน้ำปั่นให้เราเลือกดับร้อน เราเล็งน้ำผลไม้ที่คิดว่าคงหากินที่อื่นไม่ได้ง่ายๆอย่างน้ำสละปั่น เรายื่นแก้วและหลอดที่เตรียมมาจากกรุงเทพให้เจ้าของร้านซึ่งเจ้าของร้านน้ำเองก็ยินดีรับแก้วและหลอดที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่
ป้าตั้งชวนเราไปกินข้าวเย็นที่บ้านก่อนเดินทางกลับซึ่งบ้านป้าตั้งเองก็เปิดเป็นโฮมสเตย์เหมือนกัน ก่อนเราจะเริ่มบทสนทนาป้าตั้งชวนไปเดินสวนผลไม้หลังบ้านพร้อมบอกอีกว่าเสียดายมากถ้ามาเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมผลไม้จะสุกพร้อมให้เด็ดจากต้นพอดี ในช่วงที่เราไปนั้นก็เห็นได้แล้วว่ามังคุดอวบอ้วนออกลูกดกขนาดไหน วิวจากสวนป้าตั้งยังมองเห็นยอดเขาหลวงที่กลุ่มเมฆเคลื่อนคล้อยตามยอดเขาพร้อมอากาศบริสุทธิ์ที่ป้าตั้งบอกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหลายคนชอบอากาศและบรรยากาศของที่นี่รวมถึงเราด้วย
ป้าตั้งในวัยเกษียณมีความสุขกับงานบริการจากที่ตอนแรกเข้าร่วมกลุ่มจากคำชักชวนของป้าเจียดหัวหน้าชมรมท่องเที่ยวพรหมโลกที่เห็นว่าบ้านป้าตั้งมีห้องเยอะและอยู่บ้านว่างๆกันสองสามีภรรยาจึงชวนให้เปิดบ้านรับนักท่องเที่ยว ถ้าป้าตั้งไม่ได้เปิดบ้านก็จะอาสาทำกับข้าวใส่ปิ่นโตหรือสานกาบหมากทำถ้วยชามให้กับแขกของบ้านอื่นๆ กับข้าวในปิ่นโตของป้าตั้งมีผักและผลไม้ที่เก็บจากสวนของป้าเองดูแลแบบไม่ใช้สารเคมี และเครื่องจักรขนาดใหญ่ ไม่ใช่แค่สวนของคุณป้าแต่ทุกคนในชุมชนต่างช่วยกันลดสิ่งที่ทำร้ายธรรมชาติทำให้ความเขียวชอุ่มยังคงอยู่ ไม่มีภูเขาหัวโล้นซึ่งเป็นจุดเด่นของที่นี่ป้าตั้งบอกอย่างนั้นและทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า “วันหลังหนูมาทานผลไม้ป้าอีกนะ”
ขอบคุณ Journey D ที่ทำให้เรามีโอกาสได้เจอกับพี่หนูนี ลุงชาญ ป้าตั้ง น้าพร ลุงชิด ป้าเล็ก พี่ไทด์ น้องใบพลูและอีกหลายคนที่เราพบเจอตลอดการเดินทาง
Journey D จาก AirAsia เป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสสัมผัสการใช้ชีวิตของคนในชุมชน กิน นอน ทำอาหาร ย้อมผ้า ทอผ้า ฯลฯ เพื่อสร้างจิตสำนึก ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเอกลักษณ์ที่ดีงามของวัฒนธรรมท้องถิ่น
นอกจากนี้ Journey D ยังทำงานร่วมกับชุมชนโคกเมืองในการออกแบบลายผ้าทอมือและจำหน่ายบนเครื่องบิน AirAsia โดยจะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป
นอกจากชุมชนพรหมโลก Journey D ยังมีทริปชุมชนอื่นๆ อีกได้แก่ ชุมชนผาหมี ชุมชนเกาะกลาง และชุมชนบ้านโคกเมือง จองตั๋วและดูรายละเอียดได้ที่ www.Journey-D.com