ใครจะไปคิดว่ามนุษย์จะสามารถเอื้อมมือไปสัมผัสเมฆได้ ในขณะที่เท้ายังเหยียบอยู่บนพื้นดิน
มนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงสัตว์สังคม แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยหยุดเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ ไม่ลดละความทะเยอทะยาน และไม่หยุดกระหายในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โลกทุกวันนี้จึงเต็มไปด้วยศิลปวิทยาการ เทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งต่างๆ ที่คอยทำให้เราตื่นตาตื่นใจอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน
Tetsuo Kondo ไม่ใช่นักบิน ไม่ใช่กัปตัน แต่เป็นสถาปนิกชาวญี่ปุ่นซึ่งพาผู้คนจำนวนมากไปสัมผัสเมฆ ที่มนุษย์สร้างผ่านผลงานอินสตอลเลชั่นของเขา ผลงานที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า Cloudscapes เป็นทางเดินเหล็กในพื้นที่นิทรรศการซึ่งให้ผู้เข้าชมเดินวนหายเข้าไปในกลุ่มเมฆสีขาว เพลิดเพลินกับการสัมผัสมวลอากาศก่อนจะเดินตามทางกลับลงมาสู่พื้นดิน
เมฆภายในพื้นที่จัดนิทรรศการเกิดจากการทำงานร่วมกับ Transsolar นักวิศวกรรมภูมิอากาศระดับโลก ด้วยวิธีอัดอากาศที่มีอุณหภูมิและความชื้นต่างๆ กันเข้าไป 3 ชั้น โดยชั้นล่างสุดเป็นอากาศที่เย็นและแห้งจัด ชั้นกลางเป็นอากาศที่ร้อนและมีความชื้น ส่วนอากาศร้อนแต่แห้งอยู่ด้านบนสุด
Cloudscapes ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกสำหรับงาน Venice Architecture Biennale ในปี 2010 และกลายเป็นผลงานที่ทำให้ Tetsuo เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จน Cloudscapes ได้ถูกนำมาจัดแสดงใหม่อีกครั้งที่ลานของ Museum of Contemporary Art Tokyo (MOT) ในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม คราวนี้ผู้ชมสามารถเข้าไปสัมผัสเมฆในกล่องใสทรงลูกเต๋าขนาดใหญ่ยักษ์ที่มีบันไดอยู่ตรงกลางให้ปีนขึ้นไปชมความหนาแน่นของเมฆด้านบน ราวกับค่อยๆ เดินขึ้นไปสำรวจกลุ่มเมฆบนท้องฟ้า
Tetsuo เป็นสถาปนิกที่มีความสนใจในตัวมนุษย์และสนใจที่จะเชื่อมโยงสถาปัตยกรรมเข้ากับหลายๆ สิ่ง ตั้งแต่ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงวัฒนธรรม เขาต้องการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่มีเส้นแบ่งของมิติต่างๆ ส่วนความกล้า บ้าบิ่น ที่จะใช้สถาปัตยกรรมในการท้าทายมนุษย์และธรรมชาติของเขาคาดว่าคงได้รับมาจากการทำงานร่วมกับ SANAA ซึ่งเป็นบริษัทสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 โดย Kazuyo Sejima และ Ryue Nishizawa เจ้าของรางวัล Pritzker Prize
A Path in the Forest เป็นอีกผลงานหนึ่งที่ตอกย้ำการเชื่อมโยงสถาปัตยกรรม มนุษย์ และธรรมชาติเข้าด้วยกัน Tetsuo สร้างทางเดินเหล็กในป่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน European Capital of Culture Tallinn 2011 โดยทางเดินระยะทางเกือบ 100 เมตรของเขาถูกออกแบบให้คดเคี้ยวไปตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ใหญ่ ปราศจากโครงสร้างเสาค้ำ แต่ใช้วิธีการยึดกับต้นไม้ด้วยสายรัดเท่านั้น ไม่มีการตัดหรือเจาะรูต้นไม้เลย เพราะเขาต้องการคงสภาพแวดล้อมไว้ และให้ผู้เข้าชมได้รับประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่แท้จริงมากที่สุด
ในปี 2019 นี้ Tetsuo Kondo ได้กลับมาร่วมงานกับ Transsolar อีกครั้ง เพื่อสร้างพาวิลเลี่ยนสำหรับงาน AP WORLD ครั้งแรกในประเทศไทย โดยมี Supermachine ดีไซน์เนอร์แนวหน้าของเมืองไทยมาร่วมด้วย พาวิลเลี่ยนถูกออกแบบเป็นเต็นท์โปร่งใส ภายในมีลูกบอลอลูมิเนียมขนาดใหญ่จำนวนมากลอยอยู่เพื่อให้ร่มเงาด้านล่าง เสมือนเงาจากต้นไม้ วัสดุอลูมิเนียมนี้จะช่วยป้องกันรังสีความร้อน แถมความเงาและโค้งมนยังสะท้อนภาพบรรยากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแสงและอากาศ เพื่อสื่อถึงแนวความคิดของการอยู่ร่วมกันระหว่างสิ่งแวดล้อมกับมนุษย์อย่างยั่งยืน
มาร่วมสัมผัส Experiential Architecture ผลงานล่าสุดจาก Tetsuo Kondo ในงาน AP WORLD ที่ AP ตั้งใจนำเสนอประสบการณ์ใหม่ของการใช้ชีวิต ตอบโจทย์ฟังก์ชั่นการใช้งาน นวัตกรรม และการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ระหว่างวันที่ 1-7 สิงหาคม 2019 ณ ลาน พาร์ค พารากอน ภายใต้พื้นที่พาวิลเลี่ยนแห่งนี้ AP และ HAY แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชั้นนำจากเดนมาร์ก ได้เนรมิตโซนปิกนิกใจกลางเมืองภายใต้คอนเซ็ปต์ Sharing Community ที่ทุกคนจะได้แบ่งปันความสุขกับคนรอบข้างผ่านงานดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของ HAY ได้อิ่มอร่อยกับของว่างสุดพิเศษ และสามารถสัมผัสนวัตกรรมของการอยู่อาศัย 6 โครงการใหม่จาก AP ที่เหมาะกับ DNA ของแต่ละคนได้อีกด้วย
นอกจากนี้ Tetsuo Kondo จะมาร่วมสนทนาถึงแนวความคิดในงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับสิ่งแวดล้อมให้ฟังกันสดๆ ผ่านไลฟ์ทอล์คในวันที่ 2 สิงหาคม 2019 เวลา 16.00 น. ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนจองสิทธิ์ได้ที่ TheAPWorld.com
มานิยามมาตรฐานใหม่ของคุณภาพชีวิต แล้วก้าวไปสู่โลกใบใหม่ของการสร้างสรรค์ที่งาน AP WORLD 1-7 สิงหาคมนี้ ณ ลานพาร์ค พารากอน