การออกแบบพื้นที่สีเขียวให้อยู่ใจกลางเมือง คือหนึ่งในโจทย์ที่ท้าทายของผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่ต้องให้ความสำคัญกับความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพไม่ต่างกับพื้นที่ป่าจริงๆ เพราะการสร้างพื้นที่สีเขียว ไม่ใช่แค่การนำต้นไม้มาปลูก แต่เป็นการสร้างระบบนิเวศขนาดย่อมๆ เลยทีเดียว
แต่ด้วยพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดภายในเมือง ทำให้ AP หนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้สร้างสรรค์ ‘หย่อมป่า’ พื้นที่สีเขียวขนาดย่อมในโครงการที่พักอาศัย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ เชื่อมต่อพื้นที่เล็กๆ สีเขียวในเมืองเข้าด้วยกัน ที่สำคัญคือการสร้างระบบนิเวศให้กับพันธุ์นกอันหลากหลายได้อยู่อาศัย
ชวนไปพูดคุยกับ คุณวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการสายงาน Corporate Strategy and Creation บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) ถึงเบื้องหลังของนิทรรศการที่ยกเอาคอนเซปต์ ‘หย่อมป่า’ มาจัดแสดงในงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 หรือ Bangkok Design Week 2025 (BKKDW2025) ที่มาในธีม ‘Design Up+Rising : ออกแบบพร้อมบวก+’ ให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงแนวคิดใหม่ของการออกแบบพื้นที่สีเขียวในเมืองให้เกิดขึ้นจริง
ดีไซน์พร้อมบวกที่ตรงกัน
AP เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย ตั้งแต่เริ่มต้นเราให้ความสำคัญกับการออกแบบที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องของการออกแบบพื้นที่ (space design) และการปรับแต่งพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (space optimisation) ซึ่งเราได้ร่วมงานกับ CEA และ Bangkok Design Week มา 7 ปีแล้ว โดยในปีนี้ แนวคิดของงานนั้นสอดคล้องกับเรา โดยเฉพาะในเรื่องของการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ หรือดีไซน์พร้อมบวก ส่วนคอนเซปต์ของเรานั้นประกอบด้วยการออกแบบและการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยเน้นไปที่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองให้มีพื้นที่สีเขียว นี่คือเหตุผลที่เราได้เข้าร่วมงานกับทาง Bangkok Design Week มาอย่างต่อเนื่องในปีนี้
‘หย่อมป่า’ คอนเซปต์พื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง
เริ่มจากปีนี้ AP มีภารกิจในการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อสร้างชีวิตที่ดีให้กับทุกคน เราตระหนักว่าการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจะส่งผลดีต่อผู้คน ไม่ว่าจะในเรื่องของคุณภาพอากาศหรือความร่มรื่น นอกจากนี้การเพิ่มพื้นที่สีเขียวยังช่วยลดความร้อนที่เกิดขึ้นในเมืองอีกด้วย เราเชื่อว่าคอนเซปต์นี้ไม่เพียงแต่จะพัฒนาระบบนิเวศในเมืองให้กับคนเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ต่างๆ ด้วย ซึ่งทำให้สิ่งแวดล้อมในเมืองดีขึ้นโดยรวม ประกอบกับการที่ AP ต้องการเป็นผู้นำในการขยายพื้นที่สีเขียวในเมือง ดังนั้น คอนเซปต์ ‘หย่อมป่า’ จึงเกิดขึ้น มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยร่วมมือกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลในการออกแบบ มีการเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมและหลากหลาย ซึ่งจะช่วยดึงดูดสัตว์ต่างๆ ทั้งแมลงและนก ให้เข้ามาในเมืองได้
เจอนก Journey เชื่อมชีวิตให้ถึงกัน
สิ่งมีชีวิตที่สามารถเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือสัตว์ที่บินได้ เราจึงเริ่มต้นด้วยการพิจารณานกเป็นอันดับแรก เพราะพื้นที่สีเขียวของเราไม่ได้เชื่อมต่อกันอย่างต่อเนื่อง และมีระยะห่างหรือสถานีรถไฟฟ้าที่เป็น node ตั้งอยู่ห่างกัน สัตว์ที่สามารถเชื่อมต่อพื้นที่ได้ต้องเป็นสัตว์ที่บินได้ เช่น บินจากฝั่งบางนาไปยังฝั่งนนท์ เมื่อเราพัฒนาโครงการอย่างเช่นคอนโด จะพบว่านกมาทำรังในพื้นที่สีเขียวของเราด้วย นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งพันธมิตรของเรา บริษัท Mitsubishi Estate ในญี่ปุ่น ได้พัฒนาแนวคิดนี้ไปไกลกว่า คือสามารถเชื่อมพื้นที่กับสัตว์ที่เดินดินได้แล้ว แต่สำหรับเรา การเริ่มต้นจากนกถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ
พื้นที่หย่อมเล็กๆ แต่สร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่
ในปัจจุบัน ทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าในชนบทหรือซื้อที่ดินเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ AP ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเมือง เรามองว่ากรุงเทพฯ เองก็ต้องการพื้นที่สีเขียวเช่นเดียวกัน การพัฒนาพื้นที่สีเขียวไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่เป็นสิบยี่สิบไร่ เพียงแค่เราเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ และช่วยกันพัฒนาหลายๆ จุด ก็สามารถรวมกันกลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ได้ เราจึงต้องการปลุกจิตสำนึกให้คนในเมืองช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ทีละเล็กทีละน้อย อย่างกรุงเทพมหานครเองก็มีการริเริ่มโครงการสวน 15 นาที ซึ่งคล้ายกับแนวคิดหย่อมป่าของเรา โดยการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่มีอยู่ นี่คือปัจจัยในการเชื่อมต่อจุดสีเขียวเล็กๆ ในเมืองให้มากขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในอนาคต แต่ทั้งนี้พื้นที่จะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของบริเวณนั้น โดยเริ่มต้นจากการปลูกต้นไม้ก่อน เมื่อมีพันธุ์ไม้ที่หลากหลายจะสามารถดึงดูดสัตว์หลากหลายชนิดเข้ามา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพได้ในที่สุด
คอนเซปต์ที่จับต้องได้
เราได้เชิญ Supermachine studio มาช่วยในการออกแบบครั้งนี้ นิทรรศการมีลักษณะเป็นการแสดงภาพเปรียบเทียบแทนที่จะนำเสนอของจริง เพราะเราคำนึงถึงความยั่งยืนและไม่ต้องการให้ธรรมชาติเสียหาย การนำเสนอจึงเป็นเพียงคอนเซปต์ให้ทุกคนได้ชม โดยภายในนิทรรศการจะมี station ต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของการสร้างหย่อมป่า โดยมีการจัดกิจกรรมสนุกสนานเพื่อเพิ่มความน่าจดจำ ผู้ชมสามารถเก็บแสตมป์เป็นที่ระลึกในแต่ละ station เมื่อเก็บครบแล้ว ในตอนท้ายจะมีการให้หมุนกาชาปองเป็นกิมมิค เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับนกชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในกาชาปอง นกบางชนิดเป็นนกหายาก แล้วก็มีตัวซีเคร็ตด้วย เพื่อให้กิจกรรมสนุกสนานและได้อะไรกลับไป
ต่อยอดสู่หย่อมป่าคอมมูนิตี้
เราอยากเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ให้กับคนทั่วไป แม้ในพื้นที่เล็กๆ ก็ตาม การฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวจะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ลดมลพิษ ร้อนน้อยลง ฝุ่นน้อยลง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ นกจะไม่สนใจว่าพื้นที่นั้นๆ เป็นของใคร ขอเพียงแค่เป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้และธรรมชาติ เราจึงอยากเชิญชวนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหรือโครงการไหน ลองเพิ่มพื้นที่สีเขียวในบริเวณบ้านของตัวเอง นำคอนเซปต์หย่อมป่าไปปรับใช้กับพื้นที่ แม้บ้านจะมีพื้นที่เล็กแค่ 20 ตารางวา ก็สามารถทำได้ ขอเพียงใช้ความคิดสร้างสรรค์และความครีเอทีฟในการสร้างพื้นที่สีเขียว ในภาพรวมจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น
งานออกแบบที่ยกระดับกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
งานออกแบบเป็นการผสมผสานระหว่างศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์และศิลปะ คอนเซปต์ในการออกแบบที่ดีเริ่มต้นจากการสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ซึ่งแต่ละเมืองมีบริบทที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแสง ลม หรือปัจจัยอื่นๆ การใช้ศิลปะจะช่วยเสริมสร้างความโดดเด่นและความสวยงามให้กับเมือง ทำให้เมืองดูน่าสนใจและสอดคล้องกับบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้นๆ แต่ทั้งนี้การออกแบบจะต้องคำนึงถึงการใช้งานที่เหมาะสม ตั้งแต่ออกแบบทางเท้า ไปจนถึงพื้นที่อยู่อาศัยต่างๆ องค์ประกอบเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ที่อยู่ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้อยู่อาศัยหรือนักท่องเที่ยว การออกแบบจึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้เมืองนั้นๆ น่าอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น
สามารถชมผลงานจาก AP ใน Bangkok Design Week 2025 ได้ที่ไปรษณีย์กลาง บางรัก
รวมถึงร่วมชมผลงานชิ้นอื่นๆ ได้ระหว่างวันที่ 8 – 23 กุมภาพันธ์ 2568
ช่วงที่ 1: วันที่ 8 – 16 กุมภาพันธ์ 2568 ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย, เยาวราช – ทรงวาด, ปากคลองตลาด และพื้นที่อื่นๆ
ช่วงที่ 2: วันที่ 15 – 23 กุมภาพันธ์ 2568 ย่านพระนคร, บางลำพู – ข้าวสาร และพื้นที่อื่นๆ