แม้เราจะก้าวเข้าสู่ปี 2023 ได้เพียงไม่นาน แต่พวกเราในฐานะประชากรต่างก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่เพียงมุมมองทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังมีเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตของการพัฒนาในระดับประเทศและระดับภูมิภาค นี่คือสิ่งที่เราเชื่อว่าทุกคนกำลังจับตามอง
หลังจากที่เราได้เห็นความตื่นตัวกับอนาคตผ่านทางการประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ นั่นคือมุมในภาคส่วนของรัฐบาล แต่เศรษฐกิจและสังคมองค์รวมจะขาดอีกแรงสำคัญไปไม่ได้เลย นั่นก็คือความร่วมมือจากภาคเอกชน ผู้มาเติมพลวัตของการขับเคลื่อนให้เต็มวงจร ซึ่งวาระเดียวกันนี้เอง ประเทศไทยเราก็ได้จัดการประชุม APEC CEO Summit 2022 เวทีวิสัยทัศน์สำหรับภาคธุรกิจเอกชนของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยมี สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC 2022) เป็นผู้นำ ภายใต้แนวคิด ‘Embrace Engage Enable’
เราชวนคุณมาทำความรู้จักกับ ABAC 2022 กับบทบาทการประชุมครั้งที่ผ่านมาในข้อเสนอแนะ พร้อมกับสรุปประเด็นสำคัญบนเวที APEC CEO Summit 2022 ที่ภาคเอกชนกำลังบอกเราถึงทิศทางของเศรษฐกิจในอนาคต และการเตรียมตัวรับมือให้พร้อม กับ มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ ผู้แทนสำรอง สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค 2022 หรือ ABAC 2022
แนะนำ ABAC 2022 และ APEC CEO Summit 2022 : การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชน
“APEC เป็นกรอบความร่วมมือที่ภาครัฐ 21 เขตเศรษฐกิจผนึกกำลังและพูดคุยกันว่าเราจะทำเรื่องอะไรกันบ้าง หลังจากก่อตั้ง APEC สำเร็จ 5 ปีให้หลัง ก็มีการตั้งสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) เพื่อให้ภาคเอกชนได้นำเสนอในแต่ละหัวเรื่องที่สนใจให้กับภาครัฐ โดยจะจัดการประชุมคู่ขนานกันไปทั้งปีร่วมกับภาครัฐ จนกระทั่งการประชุมรอบสุดท้ายของปีซึ่งมักจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน จะมีการเชิญภาคเอกชนคือ ABAC มาพบกับภาครัฐคือ APEC หรือที่เรียกว่า ABAC Dialogue with Leaders” คุณมนตรีเริ่มต้นแนะนำให้เรารู้จักแต่ละองค์กรในแบบเข้าใจง่าย
“ภายใต้ ABAC จะมีงานการจัดงานพบปะในกลุ่มผู้นำภาคเอกชนที่เรียกว่า APEC CEO Summit เพราะเรามองว่าการตกผลึกกันในกลุ่มตัวแทนแต่ละประเทศอาจมีบางประเด็นที่ตกหล่น ยังไม่ได้คุยกัน โดยจะเชิญ CEO ทั่วทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ โดยผลการหารือจากแต่ละรอบการประชุมจะนำไปสู่การพัฒนาบทสรุปข้อเสนอแนะเพื่อยื่นต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคต่อไป ซึ่งในปีนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวทาง ‘Embrace, Engage, Enable’
บรรดาสมาชิก ABAC จะมีการประชุมจำนวน 4 ครั้งใน 1 ปี โดยครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เพื่อกำหนดแนวทางและประเด็นสำคัญของแต่ละปี ติดตามพัฒนาการการทำงาน จนกระทั่งตกผลึกเป็นรายงานสรุปเป็นหัวเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่างในปีที่ผ่านมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ออกมาเป็น 3 เรื่องเร่งด่วน 5 เรื่องหลัก และ 69 ข้อเสนอ แล้วปิดท้ายด้วยการประชุมสรุปเพื่อแจกจ่ายงานต่อไปยังปีถัดไป พร้อมกับการส่งรายงานต่อให้กับผู้นำภาครัฐใน 21 เขตเศรษฐกิจ
3 เรื่องเร่งด่วน 5 เรื่องหลัก และ 69 แผนงาน: กลยุทธ์เพื่อทิศทางของการเติบโตร่วมกัน
3 เรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ได้แก่ เงินเฟ้อ, ความมั่นคงทางพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ กับ 5 เรื่องหลัก ได้แก่ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบพหุภาคี (Regional Economic Integration), ประเด็นดิจิทัล (Digital), ธุรกิจขนาดเล็กและบทบาทของความเท่าเทียม (MSMEs and Inclusiveness), ความยั่งยืน (Sustainability) รวมทั้งการเงินและเศรษฐกิจ (Finance & Economics)
“ทั้งหมดนี้ เราพยายามผลักดันเพื่อให้ MSMEs (Micro, Small and Medium Enterprise) เติบโตขึ้น เพราะหากมองจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจแล้ว MSME มีบทบาทช่วยขับเคลื่อน GDP ของประเทศถึงเกือบ 95% ในส่วนของการจ้างงานประชาชน ประเด็นในการทำงานครั้งนี้จึงต้องขับเคลื่อน MSME ให้อยู่ได้ภายในระบบและเชื่อมโยงกันเพื่อให้บริษัทเล็กได้มีส่วนร่วมด้วย”
อีกเรื่องหนึ่งที่ควบคู่กันคือ Inclusiveness หรือการรวบรวมความหลากหลายของกลุ่มคน “เราไม่ได้นับเพียงแค่เรื่องเพศ เรามองไปถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และกลุ่มคนท้องถิ่น หากเราอยากฟื้นฟูเรื่องนี้เรา แล้วเราต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง? เรามองในมุมการเงินเป็นหลัก ซึ่ง ABAC ได้ผลักดันหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อหมุนเวียนคู่ค้า โดยมองที่ความแข็งแรงของผู้ประกอบการและคู่ค้าแทนที่จะมองที่ทรัพย์สินในแบบเดิมๆ รวมทั้งสกุลเงินดิจิทัลที่ส่งเสริมทรัพยากรบุคคลให้สามารถสร้างผลิตภาพเพิ่มขึ้นอย่างดี”
แง่มุมของดิจิทัลจำเป็นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือ MSMEs โดยการกระตุ้นการลงทุนในระดับท้องถิ่น “ในการช่วย MSMEs ผมมองว่า ดิจิทัลที่เราควรคุยกันเรื่องมาตรฐานให้ชัดเจน พร้อมกับการให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์และความปลอดภัยในการทำธุรกรรม ในส่วนประเทศไทยเอง เราโดดเด่นเรื่องดิจิทัลและการเงินในระดับนานาชาติ และเรียกว่าล้ำหน้าประเทศอื่นไปมาก เราควรยกระดับเรื่องนี้ในระดับอาเซียนและ APEC ต่อไป”
บทบาทความมั่นคงทางพลังงาน และความยั่งยืน
ถัดไปในเรื่องความยั่งยืนซึ่งเป็นที่พูดถึงกันมากในช่วงหลายปีให้หลัง ในกลยุทธ์ครั้งนี้มีการเน้นย้ำหลายประเด็นสำคัญ ทั้งเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถของแนวคิดเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ, ความเป็นกลางทางคาร์บอน และคาร์บอนเป็นศูนย์
“วันนี้เรื่องคาร์บอนไปไกลมากในบางภูมิภาค อย่างตอนนี้ที่ยุโรปมีการจัดตั้ง CBAM EU หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้สินค้าที่จะนำเข้าไปยังประเทศในสหภาพยุโรปจะต้องชี้แจงปริมาณการปลดปล่อยและการชดเชยคาร์บอนให้ชัดเจน หักลบกันแล้วปริมาณคาร์บอนที่ไม่สามารถชดเชยได้จะต้องจ่ายเป็นภาษีกลับคืนให้กับประเทศเหล่านั้น ซึ่งหากในอนาคตมี CBAM ในแต่ละประเทศ การจัดมาตรฐานก็จะเป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละที่ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำต่อ คือแนวทางปฏิบัติอย่างคล่องตัว และมาตรฐานของ CBAM ที่จะต้องเป็นสากล”
“ในส่วนของประเทศไทยเอง เราเล็กเกินกว่าที่จะสร้าง CBAM Thailand คำถามต่อมาจึงอยู่ที่ว่า เราจะสามารถสร้าง CBAM ASEAN ได้ไหม? เราไม่ได้ต้องการสร้าง CBAM ASEAN ในแบบไม่เป็นตัวเงิน (Non-Monetary) เพื่อเป็นข้อต่อกรกับนานาชาติ แต่เราต้องการสร้างเพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้ EU ได้เห็นว่า เรื่องคาร์บอนสำคัญ แต่มีวิธีการทำโดยไม่ต้องเก็บภาษี และเป็นมาตรฐานที่สอดคล้องกันไปกับ CBAM ของทั่วโลก ทั้งหมดมีวัตถุประสงค์อันเดียวคือ ทำให้แพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของเราเกิด แล้วเป็นมาตรฐานในอาเซียน หรือจะขยายเป็น APEC ก็ได้ด้วย”
ความมั่นคงทางพลังงาน เป็นหัวข้อเรื่องที่เดินทางพร้อมกันกับความยั่งยืน เดิมประเทศไทยเองเน้นการทำวิจัย จำเป็นจะต้องดำเนินไปในสายการปฏิบัติให้มากขึ้น โดยเปิดกว้างกับภาคเอกชนและประชาชนให้สามารถมีส่วนร่วมกับการผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง อย่างการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินกลับคืนให้กับภาครัฐได้ รวมทั้งประเด็นด้านพลังงานนิวเคลียร์กับต้นทุนพลังงาน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีไกด์ไลน์อย่างชัดเจน
เช่นเดียวกันกับประเด็นด้านความมั่นคงทางอาหารที่กำลังการผลิตมีแต่จะไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงประชาชนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน รวมทั้งประเด็นของอาหารแห่งอนาคตและผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช ซึ่งปลดปล่อยก๊าซมีเทนสู่อากาศน้อยกว่า พร้อมกันนั้นพืชยังช่วยดักจับคาร์บอน ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อเรื่องความยั่งยืนทั้งสิ้น
“ในโมเดล BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศไทย การทำพลาสติกจากไบโอพลาสติกกำลังมาแรง ยกตัวอย่างธุรกิจน้ำตาลที่ทำ Non-sugar Operation ควบคู่กันไป ด้วยการผลิตไบโอพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์ Bio-based จากน้ำตาล นับเป็นนวัตกรรมในภาคธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานได้อย่างยั่งยืน และเป็นด้านที่บ้านเราได้เปรียบ เพราะเราเก่งเรื่องอาหารและการแปรรูป แต่อีกส่วนที่เราจะต้องยกระดับขึ้นอีกคือนวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร จากแต่เดิมที่เราเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบทางการเกษตร ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เพื่อให้เขาแปรรูปกลับมาขายที่บ้านเราสำหรับเป็นสารสกัดหรือวัตถุดิบตั้งต้นชนิดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร นวัตกรรมอาหารจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเพื่อให้ห่วงโซ่เหล่านี้อยู่ภายในประเทศ และเพิ่มรายได้ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์”
“โดยเป้าหมายแล้ว ผมอยากเสนอทุกเรื่องให้กับรัฐบาล” คุณมนตรีทิ้งท้าย “ไม่เอาแค่ 1 เรื่อง แต่ทั้ง 69 เรื่องต้องทำให้ได้ เพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งและการเติบโตของประชาชนและสังคมในเอเชียแปซิฟิกสู่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนการแบ่งปันแง่มุมทางนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างการเติบโตร่วมกัน”