ถ้าบอกใครว่ากำลังเป็น ‘โรคติดต่อ’ อาจฟังดูรุนแรงและทำให้คนรอบข้างต้องกลัวการติดโรค ภาพชัดที่สุดคงจะเป็นโควิด-19 ที่ทำให้ทุกคนกลัวการออกนอกบ้าน แต่จริงๆ แล้ว โรคติดต่อบางโรคก็สามารถป้องกันได้ด้วยแนวทางต่างๆ เช่น การฉีดวัคซีน การรับยาแอนติบอดี หรืออื่นๆ ตามคำแนะนำของแพทย์
แต่สิ่งที่น่ากลัวไปกว่าโรคติดต่อ นั่นก็คือ ‘โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง’ หรือ NCDs (Non-Communicable Diseases) เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค และไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คนโดยการสัมผัสหรือการหายใจ แต่เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม หรือพฤติกรรมที่เคยชินอันเนื่องมาจากสภาพการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบในยุคปัจจุบัน ทำให้คนส่วนใหญ่นิยมรับประทานอาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูป ไม่มีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย จนนำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังชนิดต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง มะเร็ง ฯลฯ เรียกว่าเป็นภัยเงียบสุดร้ายลึกจากข้างในร่างกาย ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ และรอวันระเบิดออกมานั่นเอง
แม้ว่าอาการของโรคที่กล่าวมาข้างต้น หากอาการเลยไปถึงระดับวิกฤตจะมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็สามารถป้องกันได้ หากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต และเริ่มต้นดูแลสุขภาพของตนเองตั้งแต่วันนี้ ลองไปทำความรู้จักโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ให้มากขึ้นกัน
หากว่ากันด้วยตัวเลขแล้ว จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ในแต่ละปีมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั่วโลก สูงถึง 41 ล้านคน หรือคิดเป็น 74 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งที่น่าตกใจคือในจำนวนดังกล่าว มีประชากรถึง 17 ล้านคนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือเสียชีวิตขณะที่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คนกลุ่มนี้ส่วนมากอาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา แน่นอนว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น ทำให้องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมตั้งเป้าหมายในการลดอัตราผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2030
อย่างที่เกริ่นไปว่า NCDs ไม่ใช่เชื้อโรคที่จะติดต่อมาจากที่ไหน แต่อาจเป็นเชื้อร้ายจากตัวเราเองที่บ่มเพาะมันขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม จัดเต็มทุกมื้อ หรือจะเป็นของไม่มีประโยชน์เป็นประจำ อย่างเช่น ของทอด บุฟเฟต์ปิ้งย่าง ไปพร้อมๆ กับการไม่ออกกำลังกาย ทำงานหนัก นอนน้อย และแถมปาร์ตี้แอลกอฮอล์กันเป็นประจำทุกวันศุกร์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพฤติกรรมเต็มที่กับชีวิตทั้งหมดนี้ มักจะเกิดขึ้นในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่อายุยังไม่มากซะส่วนใหญ่
เมื่อพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านี้สะสมจนถึงขีดสุด โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) จึงปรากฏ ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคไตเรื้อรัง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโรคที่ถ้าเป็นแล้ว ใช้ชีวิตยากลำบากแน่นอน เพราะชื่อก็บอกแล้วว่าเรื้อรัง เป็นแล้วหายยาก และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยจากรายงานสถานการณ์โรค NCDs โดยกรมควบคุมโรค กองโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า โรคหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงที่สุดในไทย มากถึง 44.3 ราย ต่อประชากรแสนคน เรียกว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
โรค NCDs เมื่อเป็นแล้ว ก็ต้องรักษาไปตามกระบวนการของแต่ละโรค ซึ่งแตกต่างกันออกไป แต่ที่อยากให้ใส่ใจ คือแนวทางในการป้องกันก่อนการเกิดโรค ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนอย่างเพียงพอ งดเหล้าและบุหรี่ ที่ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่จริงๆ แล้วทำยาก เพราะเป็นเรื่องของระเบียบวินัยและใจล้วนๆ และที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพราะการตรวจคัดกรองเบื้องต้น สามารถทำให้เรารับรู้ได้ว่ากำลังมีความเสี่ยงจะเป็นโรคอะไรหรือไม่ ถ้าหากเป็นแล้วก็สามารถหาแนวทางรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หากรู้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งสามารถรักษาให้หายได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น
ด้วยความที่ NCDs เป็นโรคที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ และระเบียบวินัยในการดูแลตัวเอง รวมไปถึงการตรวจคัดกรองและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ จึงได้มุ่งมั่นในการนำวิทยาศาสตร์มาต่อยอดและพัฒนา เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทย มายาวนานกว่า 40 ปี โดยมุ่งเน้นที่ 4 กลุ่มโรคหลัก ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ไต และเมแทบอลิซึม กลุ่มโรคมะเร็งวิทยา กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน วัคซีน และภูมิคุ้มกันบำบัด และกลุ่มโรคหายาก รวมไปถึงการให้ความรู้ในการป้องกันด้านอื่นๆ ผ่านโครงการต่างๆ มากมาย
มะเร็งปอด คือหนึ่งในโรค NCDs ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย และสาเหตุสำคัญไม่ได้มาจากการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ แอสตร้าเซนเนก้าจึงได้จับมือกับภาคีพันธมิตรระดับนานาชาติ 4 องค์กร ใน 50 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เพื่อดูแลและป้องกันโรคมะเร็งปอด ในโครงการ The Lung Ambition Alliance Thailand เพื่อศึกษาทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของโรค พัฒนาเทคนิคระดับก้าวหน้าเพื่อการดูแลรักษาโรคมะเร็งปอด และส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
โดยที่ผ่านมา แอสตร้าเซนเนก้าได้ริเริ่มโครงการนำร่องเพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดเบื้องต้น (Pre-screening) ด้วยการใช้เทคโนโลยี AI เสริมกับภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอก โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเบื้องต้นไปแล้วกว่า 7,000 ราย และพบผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่สงสัยก้อนในปอดที่มีโอกาสความน่าจะเป็นในการเป็นโรคมะเร็งปอดสูง ถึงร้อยละ 0.3 โดยผู้ป่วยที่ตรวจพบรอยโรคของก้อนในปอดจะได้รับการยืนยันผลโดยรังสีแพทย์ และได้รับการนัดหมายพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลต่อไป
อีกหนึ่งโรค NCDs ที่จำเป็นต้องอาศัยการตรวจคัดกรอง เพื่อหาแนวทางป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ คือภาวะไตเสื่อม ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง แอสตร้าเซนเนก้าจึงได้ริเริ่มโครงการ SEARCH เป็นโครงการตรวจคัดกรองภาวะไตเสื่อมในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ภายใต้ความร่วมมือกับสมาคมวิชาชีพ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยบริการสุขภาพต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการตรวจพบภาวะไตเสื่อมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการดูแลรักษาเพื่อชะลอการเสื่อมของไตได้ทันท่วงที
นอกจากการตรวจคัดกรองโรคแล้ว สิ่งสำคัญไปกว่านั้น คือการที่ประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์มีความรู้และความเข้าใจในโรคอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของโครงการ Healthy Lung Thailand ซึ่งเกิดขึ้นมาจากความตั้งใจของแอสตร้าเซนเนก้า ในการสร้างความตระหนักรู้และสนับสนุนการเข้าถึงการวินิจฉัยโรค โดยเฉพาะการรักษาโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ให้กับทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านความร่วมมือกับองค์กรจากภาครัฐและเอกชน เพื่อเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาพปอดที่แข็งแรง
จากตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่อายุยังน้อย การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคและทราบถึงแนวทางป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในเด็กและเยาวชน (Young Health Program) ของแอสตร้าเซนเนก้า ร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ UNICEF จึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาผู้นำเยาวชนต้นแบบในชุมชนให้มีทักษะความรู้ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันปัญหาโรค NCDs ในระยะยาว โดยอาศัยพลังของการบอกต่อแบบเพื่อนบอกเพื่อนในการเผยแพร่องค์ความรู้ เพราะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คนรอบข้างจึงเป็นหัวใจสำคัญในการเตือนสติและให้คำแนะนำที่ดีที่สุด
ความน่ากลัวของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs คือการที่อาการของโรคไม่ได้แสดงผลในทันที แต่เป็นการค่อยๆ สะสมความรุนแรงไปเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดที่ร่างกายต่อสู้ไม่ไหว อาการของโรคก็จะแสดงออกมา ความยากในการป้องกันคือการที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวันให้อยู่ในทิศทางที่เหมาะสม ความตั้งใจของ แอสตร้าเซนเนก้า จึงเป็นการนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาดูแลสุขภาพของคนไทย ด้วยการคัดกรองป้องกันโรคตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อนำไปสู่กระบวนการรักษาที่ทันท่วงที และที่สำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันโรคอย่างเข้าใจ
อ้างอิงจาก
https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/noncommunicable-diseases
https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1035820201005073556.pdf
https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article-ncds1/test
https://www.hsri.or.th/sites/default/files/statgic_plan-2569.pdf
https://www.iccp-portal.org/system/files/plans/Thailand%20National%20NCD%20plan%202017-2021.pdf
Writer: Wichapol Polpitakchai
Graphic Designer: Suthawee Chotrattanasak