ป้ายรถเมล์ ฟุตบาท ทางลาดขึ้นลิฟต์สำหรับผู้พิการ หรือห้องน้ำผู้พิการในบางแห่ง อาจเป็นสถานที่หรือสิ่งปลูกสร้างที่คนบางส่วนมองว่า ยังไม่ค่อยตอบโจทย์การใช้งานของผู้ใช้งานเท่าไหร่นัก
กลับกัน มีหลายสถานที่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บ้างเป็นพื้นที่สาธารณะ บ้างก็เป็นพื้นที่ส่วนตัวหรือของเอกชน ที่เพียงแค่เราเข้าไปในพื้นที่เหล่านั้น ก็รู้สึกได้ถึงการออกแบบที่เอาใจใส่ มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ถูกคิดมาอย่างดี และยังคิดต่อไปอีกว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่นี้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากกว่าฟังก์ชั่นหลัก
ต่อให้เราจะไม่เคยเข้าไปในพื้นที่การออกแบบนั้นมาก่อน แต่เราจะพบว่าสามารถใช้ชีวิตได้ทันทีโดยไม่ต้องปรับตัว มองหาสิ่งที่ต้องการได้ไม่ยาก หรือต่อให้เจอปัญหาการใช้งานในครั้งแรก เราก็มักจะพบว่านักออกแบบได้จัดวางตัวช่วยไว้ให้แล้วเหมือนอ่านใจเราได้ล่วงหน้า
การออกแบบที่นำหัวใจและเสียงความต้องการของผู้ใช้พื้นที่มาเป็นแกนกลางในการออกแบบมีชื่อเรียกว่า ‘Human-Centred Design’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับศาสตร์หลายๆ แขนง ตั้งแต่เจ้าของธุรกิจที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค นักการตลาดที่คิดแผนการตลาดจากพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือแม้แต่อาชีพครู ก็สามารถใช้แนวคิดนี้ในการออกแบบการเรียนการสอนให้เข้ากับความต้องการของผู้เรียนได้เช่นกัน
ดังนั้นเมื่อแกนกลางดังกล่าวมาจับกับศาสตร์การออกแบบสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายใน จึงเกิดเป็นกระบวนการการออกแบบที่เริ่มต้นจากการรับฟังปัญหาของผู้ใช้พื้นที่อย่างใกล้ชิด ใช้สายตาของนักออกแบบสังเกตพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น ค้นคว้าข้อมูลอย่างหนัก สร้างไอเดียและออกแบบจากข้อมูลที่ได้ จนสามารถส่งมอบพื้นที่ที่มาพร้อมกับทางออกของปัญหาให้กับผู้ใช้งาน
แนวคิด Human-Centred Design ใช้กระบวนการหลักๆ อยู่ 3 ข้อ ได้แก่ Hear, Create และ Deliver
Hear: หลายครั้งที่งานออกแบบพื้นที่ประสบความสำเร็จในแง่ของความสวยงาม ดึงดูดให้ผู้คนสนใจเข้าไปใช้พื้นที่ แต่ตกม้าตายเพราะฟังก์ชั่นการใช้งานไม่ตอบโจทย์ ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มาจากการออกแบบโดยคิดขึ้นจากมุมมองคนภายนอกพื้นที่ คิดเพียงว่าจะนำเสนออะไร แต่ไม่เคยพูดคุยกับคนในพื้นที่ว่าเขาต้องการอะไร บางครั้งจึงกลายเป็นว่านักออกแบบนำปัญหาไปให้เจ้าของพื้นที่มากขึ้นเสียอีก
ดังนั้นขั้นตอนแรก นักออกแบบต้องใช้หูและหัวใจเยอะๆ ออกไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ รองลงมาคือใช้สายตาสังเกตพฤติกรรมของคนในพื้นที่ เพื่อเก็บข้อมูลที่นอกเหนือจากคำบอกเล่า ใช้เวลากับขั้นตอนนี้ให้มากสักหน่อย เพื่อให้ข้อมูลตกผลึกกลายเป็นไอเดียที่แข็งแรง
Create: การลงพื้นที่เก็บข้อมูล อาจนำมาซึ่งไอเดียล้านแปดสิ่ง ขั้นตอนถัดมา นักออกแบบจึงต้องลิสต์ไอเดียที่มี ก่อนจะคัดกรองไอเดียที่มีความเป็นไปได้ สร้างผลกระทบที่ดีในวงกว้างหรือเป็นทางออกให้คนในพื้นที่ได้แก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ต่อไป
เมื่อเลือกได้แล้วจึงลงมือสร้าง Prototype ขึ้นมา เพื่อหาจุดอ่อน สิ่งที่ควรแก้ไขเพิ่ม ซึ่งในขั้นตอนนี้ นักออกแบบอาจจะต้องกลับไปพูดคุยขอความคิดเห็นจากเจ้าของพื้นที่อีกหลายครั้ง
Deliver: เมื่อผ่านการทดลองใช้งาน ปรับปรุง และแก้ไข ก็จะได้งานออกแบบที่เรามั่นใจว่ามันจะพร้อมแก้ไขปัญหาหรือมอบสิ่งดีๆ ให้กับชีวิตผู้ใช้งานแน่นอน เพราะจุดเริ่มต้นของไอเดียนั้น เราเอาใจของพวกเขามาใส่ไว้ในแกนกลางงานออกแบบของเราแล้ว
หากใช้กระบวนการออกแบบนี้อย่างต่อเนื่อง เราก็จะเป็นนักออกแบบที่ช่างสังเกต และสามารถสร้างชิ้นงานที่ส่งผลกระทบต่อกิจวัตรของผู้คนในวงกว้างในที่สุด
ในยุคที่ประชากรเพิ่มขึ้นทวีคูณ ผู้คนมีการขับเคลื่อนจากนอกเมืองสู่ใจกลางเมือง การออกแบบจึงต้องพิถีพิถันมากขึ้น บนฐานความคิดเรื่องอรรถประโยชน์สูงสุด พร้อมกับนำเสนอทางออกให้กับผู้ใช้งานซึ่งมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกด้วย
บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด และกลุ่มบริษัทนิปปอนเพนต์ทั่วเอเชีย ในฐานะของผู้จัดงานประกวด Asia Young Design Awards โครงการประกวดผลงานออกแบบในสาขาสถาปัตยกรรมและสาขาออกแบบตกแต่งภายในระดับมหาวิทยาลัยจาก 15 ประเทศทั่วเอเชียมาแล้ว 13 ปี เล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวคิด Human-Centred Design จึงเลือกให้แนวคิดนี้เป็นธีมการประกวดประจำปีนี้
สิ่งที่ AYDA คาดหวังจะได้เห็นจากผลงานในปีนี้ก็คือ การออกแบบพื้นที่ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของผู้ใช้ ทั้งด้านอารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจ อีกทั้งการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี นำมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และปรับเปลี่ยนพื้นที่นั้นๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้งานและคนในชุมชน มีความยั่งยืน และใช้งานได้จริง
นิปปอนเพนต์ จึงอยากเชิญชวนนักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรมชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป และนักศึกษาสาขาออกแบบตกแต่งภายในชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป ร่วมกรอกใบสมัคร ส่งผลงาน และ Design Statement ความยาวไม่เกิน 800 คำ ในธีม ‘FORWORD: HUMAN-CENTRED DESIGN’ พร้อมรูปถ่ายตนเอง มาที่เว็บไซต์ asiayoungdesignerawards-th.com ชิงเงินรางวัลหนึ่งแสนบาท และ Sketch Studio Education Software Subscription 1 ปี
โดยผู้ที่ชนะเลิศจะได้เป็นตัวแทนเดินทางไปแข่งขันกับตัวแทนอีก 15 ประเทศในรายการ Asia Young Design Summit เพื่อชิงโอกาสเข้าอบรมในหลักสูตรพิเศษที่ Harvard’s Graduate School of Design ประเทศสหรัฐอเมริกา 6 สัปดาห์เต็ม รวมมูลค่ากว่า 10,000 USD ต่อไป
หมดเขตส่งผลงานวันที่ 20 ตุลาคม 2563 สามารถดูกติกา รายละเอียดการส่งผลงาน และ Design Briefโดยละเอียด ได้ที่ www.asiayoungdesignerawards-th.com หรือเพจเฟซบุ๊ก Asia Young Designer Award Thailand