เคยลองสำรวจตัวเองเล่นๆ ไหมว่า กว่าที่เราจะเป็นเราทุกวันนี้ ในแง่ทักษะและความถนัดที่มี (ยังไม่ต้องถึงขั้นเก่งหรือชำนาญ) อะไรเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ สำคัญที่ทำให้เรารู้ว่า เฮ้ย! นี่แหละทางของเรา
นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จก็เช่นกัน หากพวกเขาไม่ได้พบจุดเปลี่ยนชีวิตด้วยการเล่นกีฬา ชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร เหตุผลที่ยกตัวอย่างนักกีฬาก็เพราะเป็นอาชีพน่าจะวัดความสำเร็จได้ง่ายที่สุด จะด้วยแชมป์ การทำลายสถิติ หรือการได้ลงแข่งขันในมหกรรมกีฬาระดับโลกก็นับความเป็นสำเร็จไม่ต่างกัน
และตอนนี้เหล่าทัพนักกีฬาไทยกำลังสู้ศึกในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2017 ครั้งที่ 29 ณ กัวลาลัมเปอร์พอดี เราเลยอยากจะขอแฟลชแบ็คนักกีฬาระดับโลกและนักกีฬาไทย ที่ถ้าหากวันนั้นพวกเขาไม่สามารถค้นพบจุดเปลี่ยนในชีวิตจากกีฬาได้ วันนี้พวกเขาจะเป็นอย่างไร
คาร์ลอส บักก้า
“I picked myself up and carried on. The brave are not those who let themselves sink but those who rise up stronger.”
ในวัย 30 ปีอาจเป็นช่วงขาลงของอาชีพนักฟุตบอล แต่นั่นอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับก่อนหน้านั้นเขาเคยผ่านอะไรมาบ้าง คาร์ลอส บักก้า คือศูนย์หน้าชาวโคลอมเบียที่ปัจจุบันค้าแข้งอยู่กับเอซี มิลาน สโมสรยักษ์ใหญ่ในกัลโช เซเรีย อา ของอิตาลี ถ้าแฟลชแบ็คกันแบบเห็นภาพ ต้องย้อนกลับไปในวันที่เขาเริ่มค้าแข้งกับแอตเลติโก จูเนียร์ สโมสรในลีกบ้านเกิด โดยที่แบ่งเวลาจากการซ้อมส่วนหนึ่งไปทำงานเป็นกระเป๋ารถโดยสารและขายปลา เพื่อหารายได้เพิ่มเติมมาจุนเจือครอบครัวที่มีฐานะยากจน
บักก้าต้องใช้ความพยายามเป็นสองเท่าของนักฟุตบอลปกติ เพราะต้องทำงานควบสองอาชีพ ทำให้ช่วงแรกของการเป็นนักฟุตบอลอาชีพไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่เขาก็พิสูจน์ตัวเองได้ด้วยการพาทีมบ้านเกิดคว้าแชมป์ได้เป็นครั้งแรก ด้วยฟอร์มอันร้อนแรงทำให้เขาได้ไปค้าแข้งในยุโรป ก่อนจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เซบีญ่าสามารถคว้าแชมปยูโรป้าลีกได้ถึง 2 สมัย ถ้าวันนั้นเขายอมรับโชคชะตาชีวิต ไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว วันนี้ชื่อของ คาร์ลอส บักก้า อาจเป็นเพียงกระเป๋ารถธรรมดาๆ ก็เป็นได้
โมนีค ฟาน เดอร์ ฟอร์สท์
“I don’t believe you can sit back and wait for miracles. You have to believe in yourself.”
คงจะเป็นเรื่องราวธรรมดาๆ ถ้าหากจะบอกเล่าถึงเส้นทางชีวิตของนักกีฬาปั่นจักรยานคนหนึ่ง แต่จะเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ ถ้าจะบอกว่าเธอเคยเป็นคนพิการมาก่อน! แฟลชแบ็คกลับไปตั้งแต่เด็ก เธอประสบอุบัติเหตุจนเป็นอัมพาตที่ขาขวาตั้งแต่อายุเพียง 13 ปี ด้วยจิตวิญญาณนักกีฬาทำให้เธอพยายามฝึกฝน hand cycle หรือจักรยานที่ใช้มือปั่นจนสามารถคว้าแชมป์ในระดับยุโรปและนานาชาติมาครองได้ แต่แล้วโมนีคก็ต้องเผชิญกับอุบัติเหตุทางรถยนต์อีกครั้ง จนเกือบทำลายความฝันในฐานะนักกีฬาทีมชาติเนเธอร์แลนด์ที่จะได้ไปแข่งขันพาราลิกปิก 2008 ที่ปักกิ่งทั้งๆ ที่ทุ่มเทฝึกซ้อมมาตลอด แต่สุดท้ายเธอก็สามารถคว้ามาได้ถึง 2 เหรียญเงิน
ชีวิตในฐานะนักกีฬาคนพิการของโมนีคกำลังไปได้สวย ถ้าเกิดโชคชะตาไม่ได้หยิบยื่นสิ่งที่ดีกว่าให้ เธอประสบอุบัติหนักขณะที่กำลังฝึกซ้อมเพื่อเตรียมตัวไปแข่งขันพาราลิกปิก 2012 ที่ลอนดอน จู่ๆ เธอก็เกิดความรู้สึกที่เท้าสองข้าง ที่ก่อนจะกลับมาเดินได้อีกครั้ง แม้แต่หมอเองก็ไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ จนในที่สุดโมนีคก็ผันตัวเองไปสู่นักปั่นจักรยานในฐานะนักกีฬาที่มีร่างกายปกติ ถ้าหากวันนั้นโมนีคไม่ได้เริ่มต้นหัดปั่น hand cycle วันนี้เธออาจเป็นเพียงคนพิการทั่วไปเท่านั้น
ยูเซน โบลต์
“I stopped worrying about the start. The end is what’s important.”
การเป็นมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าวิ่งเร็วที่สุดในโลกของ ยูเซน โบลต์ ถ้าว่ากันตามความเชื่อในแต่ละศาสนาแล้ว อาจเป็นของขวัญที่พระเจ้ามอบให้ แต่หากลองลงในรายละเอียดแล้ว อาจพบว่ายังมีส่วนประกอบของความพยายามอยู่ไม่น้อย ลองแฟลชแบ็คกลับไปในอดีตของเขาดู โบลต์เติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในจาเมกา โดยมีป้าคอยทำอาหารสุดธรรมดาอย่างแป้งทอด มันเทศ และหมู ว่ากันว่านี่คือแหล่งพลังงานชั้นเลิศที่เขาได้รับในทุกๆ วัน บวกกับสรีระที่เหนือกว่ามนุษย์ทั่วไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าหากโบลต์ไม่ซ้อม ซ้อม และซ้อม ความพ่ายแพ้ ความเจ็บปวด ความกดดันทำให้เขาต้องซ้อมหนักขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ต้องหาเหตุผลเลยว่า สถิติโลกในระยะการวิ่ง 100 เมตรด้วยเวลา 9.69 วินาที ในโอลิมปิกปี 2008 ที่ปักกิ่งของโบลต์เกิดขึ้นได้อย่างไร ก่อนที่ในปีถัดมาการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก ที่ประเทศเยอรมนี เขาทำเวลาได้ 9.58 วินาที นับเป็นชัยชนะที่ไม่ได้เหนือใคร แต่เป็นชัยชนะที่เขาทำได้เหนือตัวเอง และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีนักวิ่งคนไหนวิ่งได้เร็วกว่าเขา แม้ล่าสุดในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก 2017 ที่ลอนดอน การอำลาลู่วิ่งของมนุษย์ที่เร็วที่สุดในโลกจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับวันนั้นที่เขาได้เคยพยายามถึงขีดสุดแล้ว ไม่อย่างนั้นโลกอาจจะรู้จักเขาในฐานะนักวิ่งโนเนมที่ไม่มีใครรู้จัก
สุรัตน์ คลายทุกข์
“กีฬาให้แสงสว่างในชีวิต”
นักกีฬาบางคนอาจไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ แต่กีฬากลับสร้างจุดเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น ชื่อของ สุรัตน์ คลายทุกข์ อาจไม่คุ้นหูในแวดวงกีฬานัก เพราะเขาคือรองผู้กำกับสืบสวนประจำอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ แต่ถ้าลองแฟลชแบ็คกลับไปจะพบว่ากีฬาทำให้เขาได้เป็นตำรวจอย่างทุกวันนี้ ในวัยเด็กสุรัตน์เป็นเด็กสนใจเล่นกีฬาปกติเหมือนเด็กทั่วไป จนได้รู้จักกับกีฬาพุ่งแหลนจากอาจารย์สอนวิชาพละในช่วงมัธยมปลาย ก่อนจะกลายเป็นกีฬาที่เขาถนัดที่สุด หลังจากจบมัธยมปลายก็มีโอกาสได้เรียนต่อที่วิทยาลัยพละศึกษาที่ศรีสะเกษ ความทุ่มเทในการซ้อมพุ่งแหลนทำให้สุรัตน์มีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่อินโดนีเซียและเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 ได้สำเร็จ เส้นทางชีวิตสุรัตน์ก็ต้องมาสะดุด เมื่อเขามีโอกาสเรียนต่อนายร้อยจากโควต้านักกีฬา ซึ่งไม่ใช่โอกาสที่จะหาได้ง่ายๆ แต่พ่อแม่กลับไม่อยากให้เรียนเพราะคนแถวบ้านไม่มีใครเรียนหนังสือ และอยากให้กลับมาช่วยทำนามากกว่า แต่นี่ไม่ใช่โอกาสที่จะหาได้ง่ายๆ เขาจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพื่อเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ
เวลาผ่านไป 4 ปี ที่บ้านของเขาไม่มีใครเชื่อว่าเด็กบ้านนอกคนนี้จะเรียนจบนายร้อยตำรวจ ทุกอย่างเกิดจากความพยายามที่เขาผลักดันให้เอาชนะด้วยตัวเองก่อนทั้งสิ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือแรงสนับสนุนจากอาจารย์ โค้ช และพี่น้องสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ที่ทำให้เขาได้สัมผัสกับกีฬาอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าหากวันนั้นไม่มีกีฬาเข้ามาในชีวิต สุรัตน์คงไม่ได้ก้าวมาเป็นตำรวจอย่างเช่นทุกวันนี้
โรซ่าขอเชิญชาวไทย ร่วมส่งมอบปณิธาน “กีฬาให้มากกว่าชัยชนะ เสียงเชียร์ให้มากกว่ากำลังใจ” โดยขอเปลี่ยนทุกๆ กำลังใจ จากการ Like, Comment หรือ Share (โดยทุกๆ 1 Like หรือ 1 Comment หรือ 1 Share = 1THB (สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท)) ที่ใต้คลิป (https://www.facebook.com/rozafood/videos/2060019424024274/) ส่งไปให้นักกีฬาไทยในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 29 เพื่อตอบแทนความมุ่งมั่นของสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ร่วมสร้างโอกาสให้นักกีฬากรีฑาและเป็นเบื้องหลังของทุกชัยชนะที่ผ่านมา เพื่อเป็นทุนในการพัฒนานักกีฬาไทยให้มีอนาคตที่ดีต่อไป
ติดตามเรื่องราวแรงบันดาลใจของนักกีฬากรีฑาไทยได้ใน www.facebook.com/rozafood
อ้างอิง
http://www.siamsport.co.th/column/detail/67502
http://www.moniquevandervorst.com/Monique_Van_Der_Vorst/Welcome.html
http://www.marca.com/2013/07/14/en/football/spanish_football/1373828751.html
https://www.fourfourtwo.com/th/features/khaarls-bakkaa-diitkraepaarth-naakhtdaawyingphriiemiiyrliik