ปัญหาทางการเงินของคนไทย เป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน และยังไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลงได้ง่ายๆ ทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดี และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นอย่างหนัก
โดยเฉพาะหนี้ในกลุ่มสินเชื่อแบบที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโตสูงต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าสูงถึง 3.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด
ความน่าตกใจคืออายุของผู้สร้างหนี้เหล่านี้ลดน้อยลงเรื่อยๆ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า คนไทยเริ่มสร้างหนี้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา รวมไปถึงคนอายุ 25-29 ปี หรือวัยเริ่มต้นทำงานที่เป็นหนี้มากถึง 58% และมากกว่า 25% เป็นหนี้เสีย สะท้อนให้เห็นว่าคนเจน Z เหล่านี้กำลังตกอยู่ในหลุมพรางวังวนของการสร้างหนี้ และที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือการเกิดหนี้ในกลุ่มคนที่มีฐานะยากจน ทำให้มีโอกาสสร้างวงจรหนี้แบบไม่รู้จบ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบในระยะยาว ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแน่นอน
เรื่องของ Financial Literacy หรือการมีทักษะและความรู้ด้านการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนที่อายุยังน้อย โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เริ่มรู้จักการบริหารเงินด้วยตัวเอง เพราะยังมีโอกาสไม่สร้างหนี้ หรือแก้ไขปัญหาหนี้ที่เพิ่งเริ่มต้นของตัวเองได้ทัน มาร่วมถอดบทเรียนหาเหตุผลว่าทำไม วัยรุ่นไทยต้องเก่งการเงิน
เริ่มต้นไว มีชัยไปกว่าครึ่ง
‘ยังมีเวลา’ คือเหตุผลแรกๆ ที่กลุ่มคนเจน Z จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องการเงินให้ไวที่สุด เพราะช่วงเวลาของการเป็นวัยรุ่นยังเปิดโอกาสให้ได้ลองผิดลองถูกและมีเวลาเรียนรู้อยู่พอสมควร แม้ว่าในวัยเด็กจะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเรียนรู้เรื่องการออมเงินที่ได้จากพ่อแม่หรือที่ได้มาจากค่าขนมค่าขนม แต่ช่วงเวลาที่ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยทำงานตอนต้น ในวันที่เริ่มมีรายได้เป็นของตัวเองจากการทำงาน คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะได้เรียนรู้การบริหารจัดการเงินแบบเข้มข้น เพราะนอกจากเรื่องการเก็บออมแล้ว สำคัญที่สุดคือเรื่องของการลงทุน ที่ยังเปิดโอกาสให้ผิดพลาดได้หรือสามารถรับความเสี่ยงได้สูงอยู่นั่นเอง เนื่องจากยังไม่มีภาระอะไรให้ต้องแบกรับ และสำคัญมากไปกว่านั้น เราคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘มหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น’ ที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยกย่องให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ลำดับที่ 8 ของโลก อันเกิดจากปัจจัยอย่างจำนวนเงินลงทุน ระยะเวลา และอัตราดอกเบี้ย ที่ยิ่งเริ่มต้นลงทุนเร็วเท่าไร ก็ยิ่งสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าการเริ่มต้นช้า และสามารถต่อยอดวางแผนไปสู่การเกษียณได้อย่างราบรื่น
หลุดกับดักความยากจน ด้วยการสร้าง Financial Literacy ตั้งแต่วัยรุ่น
หากลองย้อนกลับไปสำรวจเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น คงไม่มีช่วงเวลาไหนจะดีไปกว่าช่วงเวลาวัยรุ่นอีกแล้ว สำหรับการสร้าง Financial Literacy หรือ การสร้างความรู้ทางการเงิน เพราะทั้งเรื่องของการยังมีเวลา และการเป็นวัยที่เริ่มต้นมีรายได้ ทำให้สามารถเรียนรู้ที่จะสร้างวินัยได้ตั้งแต่ยังเนิ่นๆ แต่ปัญหาสำคัญคือความรู้เหล่านี้กลับยังไม่มีอยู่ในระบบการศึกษาหรือสถาบันแห่งไหน แม้ว่าโลกออนไลน์ทุกวันนี้จะเต็มไปด้วยความรู้ทางการเงินมากมายก็ตาม แต่ลักษณะการเรียนรู้ในระยะยาวด้วยหลักสูตรที่ยั่งยืน ก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่มีพื้นฐานครอบครัวที่ยากจน การมีทักษะทางการเงินที่ดี สามารถหยุดวงจรยากจนเหล่านี้ได้
‘UOB Money 101: Teen Edition วัยรุ่นเก่งการเงิน’ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของธนาคาร UOB และโครงการร้อยพลังการศึกษา ที่ร่วมกันออกแบบหลักสูตรการเงินออนไลน์ เพื่อปลูกฝังทักษะทางการเงินที่ดีให้กับวัยรุ่นหรือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นให้มีความรู้เรื่องการเงินตั้งแต่วิธีคิดจนถึงการลงมือปฏิบัติอย่างเข้มข้น ผ่านกิจกรรมและการสื่อสารออนไลน์กว่า 6 บทเรียน ทั้งประเด็นจิตวิทยาการเงิน การหารายได้ การเก็บออม การลงทุน การบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และการตั้งเป้าหมายทางการเงิน ซึ่งจัดต่อเนื่องมากว่า 3 ปีแล้ว มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้นมากกว่า 4,000 คน จาก 45 โรงเรียนทั่วประเทศ ความเปลี่ยนแปลงที่สร้างผลลัพธ์อย่างชัดเจนคือ นักเรียนที่ได้เข้าร่วมโครงการมีพฤติกรรมใช้จ่ายน้อยลง เก็บออมมากขึ้น และรู้จักวางแผนการเงินเพื่อไปสู่เป้าหมาย
การบ่มเพาะความรู้ในโครงการ ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างแนวคิดในการใช้เงินในชีวิตประจำวัน สร้างความมั่นคงด้านการเงินให้กับตนเองในอนาคต แต่ยังช่วยขยายไปสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับครอบครัวได้อีกด้วย เพราะนี่คือสิ่งสำคัญที่สุดในการลดความเหลื่อมล้ำ ตัดวงจรการสร้างหนี้ ลดปัญหาความยากจน ด้วยการวางรากฐานความรู้ทางการเงินนั่นเอง
ยิ่งรู้มาก ยิ่งหยุดวงจรหนี้ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อถึงช่วงวัยที่เริ่มมีรายได้ เรื่องของสินเชื่อหรือการใช้บัตรเครดิต คืออีกหนึ่งหลุมพรางทางการเงินขนาดใหญ่ เพราะแทนที่จะมองเป็นการสร้างโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปต่อยอด หรือเพิ่มความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน กลับกลายเป็นการนำเงินที่ได้จากสินเชื่อหรือบัตรเครดิตไปใช้อย่างไร้ประโยชน์ หรือการสร้างหนี้บริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อย่างไม่รู้เท่าทัน
กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดก็คือกลุ่มคนเจน Z ที่เพิ่งมีบัตรเครดิตใบแรก จากที่เคยเป็นช่วงวัยที่ไม่มีภาระตามที่กล่าวไป คือช่วงวัยที่มีโอกาสสร้างหนี้เสียมากที่สุด เพียงเพราะติดกับดักของการจ่ายค่าบัตรเครดิตแบบขั้นต่ำ เพราะรู้สึกว่าเป็นจำนวนเงินจ่ายต่องวดที่น้อย เลือกจ่ายสบายๆ ไปก่อน แม้ว่าจะมีการปรับการจ่ายขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% ในปีนี้แล้วก็ตาม โดยหารู้ไม่ว่าดอกเบี้ยถูกนับตั้งแต่วันแรกที่ใช้จ่าย สูงถึง 16% ทันทีที่จ่ายขั้นต่ำนั่นเอง หากโลกนี้มีประโยคที่ว่า ‘มหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น’ ก็มี ‘หายนะของดอกเบี้ยบัตรเครดิต’ เช่นเดียวกัน ก่อนจะสะสมเป็นนิสัยชอบใช้จ่ายเกินตัว เพราะฉะนั้น หากรู้เท่าทันและ เข้าใจการทำงานของดอกเบี้ยบัตรเครดิต รู้จักการใช้สินเชื่ออย่างถูกต้อง รวมไปถึงช่องทางการลงทุนใหม่ๆ เพื่อให้ดอกเบี้ยเติบโต อย่างมีวินัยทางการเงิน ก็สามารถหยุดวงจรหนี้และความยากจนได้
เพราะการที่วัยรุ่นไทยมีทักษะทางการเงิน รู้จักเก็บออม ไม่สร้างหนี้อย่างผิดๆ และรู้จักต่อยอดการลงทุนอย่างถูกต้อง คือการสร้างผลกระทบในเชิงบวกที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิงจาก