เคยได้ยินไหมว่า “ดวงจันทร์” และ “เวลา” เป็นของคู่กัน
นับตั้งแต่มนุษย์เฝ้าสังเกตจันทราบนท้องฟ้า การเปลี่ยนแปลงด้านมืด-ด้านสว่างของดวงจันทร์ได้บ่งบอกเวลาข้างขึ้น-ข้างแรมมาโดยตลอด สิ่งนี้กลายเป็นรากฐานสำคัญทางดาราศาสตร์ในการสร้างปฏิทินแบบจันทรคติ หรือแม้กระทั่งคำว่า “เดือน” ในภาษาไทย ยังมีความหมายว่าดวงจันทร์เลย
นี่จึงเป็นเครื่องย้ำเตือนว่า “ดวงจันทร์” และ “เวลา” มีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งมากกว่าที่เราคิด
วงโคจรของดวงจันทร์จึงเป็นอีกหนึ่งศาสตร์การบอกเวลาที่อยู่คู่มนุษยชาติมาอย่างยาวนาน ก่อนที่ความรู้เหล่านั้นจะพัฒนาสู่เครื่องบอกเวลาอย่าง “นาฬิกา” ในฟังก์ชันที่เรียกว่า “Moon Phase” นั่นเอง
จากจุดเริ่มต้นมาถึงวันนี้ The MATTER จะพาสำรวจวงโคจรของ Moon Phase ว่า หน้าปัดดวงจันทร์อันแสนโรแมนติกนั้น มีวิวัฒนาการอย่างไรบ้าง?
จากจันทร์บนฟ้า สู่กลไกระบบเฟือง
การจำลองวงโคจรดวงจันทร์สู่กลไกระบบฟันเฟืองนั้น เพิ่งได้รับการค้นพบใน Antikythera Machine กลไกปริศนายุคกรีกโบราณที่มีอายุมานานกว่า 2,000 ประกอบด้วยชิ้นส่วนฟันเฟืองขนาดเล็กแสนซับซ้อน ด้านหน้าประกอบด้วยจานหมุนประดับเพชรพลอยแทนตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้า มีขอบหน้าปัดชี้ระยะต่างๆ ของดวงจันทร์ ทั้งเวลาขึ้นและเวลาตก พร้อมเข็มชี้ทิศทางจำนวนมาก ดูรวมๆ จึงคล้ายลักษณะหน้าปัดนาฬิกาในปัจจุบัน
ดวงเดือนและเรือนเวลาพลังน้ำ
ต่อมาในศตวรรษที่ 12 นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอิสลามนามว่า Al-Jazari ได้คิดค้นนาฬิกาปราสาทขนาดใหญ่ พร้อมกลไกที่ใช้น้ำและน้ำหนักในการขับเคลื่อน โดยฟังก์ชัน Moon Phase ประกอบด้วยหน้าปัดขนาดใหญ่ ภายในซ่อนแป้นหมุนวงกลม 360 องศาที่มีรูเว้นระยะห่างเท่ากัน 28 รู โดยรูที่ถูกเจาะยังทำหน้าที่ฉายแสงระยะของดวงจันทร์ และจะเห็นได้ชัดในเวลากลางคืนหรือมีแสงเทียนอยู่ข้างหลัง นับเป็นนวัตกรรมสุดล้ำที่ทำงานสอดคล้องกับดวงจันทร์จริงบนท้องฟ้าได้อย่างน่าทึ่ง
ต้นแบบ Moon Phase ที่เราคุ้นตา
ปี 1221 นักประดิษฐ์ Muhammad ibn Abi Bakr แห่งกรุง Isfahan ได้สร้างนาฬิกาดาว (Astrolabe) แบบพกพาที่สามารถจำลองการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และแผนที่ดวงดาวได้ครบครัน แต่สิ่งที่โดดเด่นกว่านาฬิกาดาวเรือนอื่น คือด้านหลังที่มีช่อง Moon Phase หน้าตาใกล้เคียงกับ Moon Phase ตามนาฬิกาข้อมือในปัจจุบัน คือมีแผ่นจานหมุนด้านมืด-ด้านสว่าง เพื่อแสดงข้างขึ้น-ข้างแรมนั่นเอง
และแน่นอน หน้าปัด Moon Phase แบบนี้นี่แหละ ที่เป็นต้นแบบ Moon Phase ของ Blancpain ด้วยเช่นกัน
กำเนิดหัวใจใหม่ที่แม่นยำ
รู้ไหมว่าสมัยก่อนยังขาดกลไกที่ควบคุมให้นาฬิกาเดินได้อย่างแม่นยำ ปี 1675 ชายที่มาเติมหัวใจให้นาฬิกาคือ Christiaan Huygens นักคณิตศาสตร์ชาวดัตช์ที่ประดิษฐ์วงล้อบาลานซ์ (Balance Wheel) ขึ้นมา และเป็นครั้งแรกที่วงล้อดังกล่าวได้ทำงานร่วมกับระบบ Escapement เพื่อกำกับเวลา, ระบบแสดงข้างขึ้น-ข้างแรม และระบบอื่นๆ ให้แม่นยำมากขึ้น
วงล้อบาลานซ์จึงเปรียบเสมือนหัวใจใหม่ของนาฬิกา และทำให้กลไกต่างๆ รวมไปถึง Moon Phase แสดงค่าได้เที่ยงตรงมากขึ้น
เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส สร้างเอกลักษณ์ให้ดวงจันทร์
ปี 1970s เกิดจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในวงการนาฬิกา เมื่อทุกแบรนด์ต้องเผชิญหน้ากับการปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยการคิดค้นนาฬิกาใส่ถ่านเป็นครั้งแรกของโลก หรือที่เรียกว่าวิกฤตนาฬิกาควอตซ์ (Quartz Crisis) ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตถูกกว่า บอกเวลาเที่ยงตรงกว่า และสามารถผลิตในจำนวนได้มากกว่า ทำให้ผู้ผลิตนาฬิกากลไกหลายแบรนด์ต้องทยอยปิดตัวลง
ทว่าแบรนด์ Blancpain ภายใต้การนำทัพของ Jean-Claude Biver และ Jacques Piguet ผู้บริหารของแบรนด์ในช่วงเวลาดังกล่าวยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย เผชิญหน้ากับวิกฤตครั้งนี้ด้วยการผลิตนาฬิกา ที่นำวงโคจรของดวงจันทร์มาพัฒนาเป็นกลไกอันซับซ้อน โดยรุ่นแรกที่ออกมาคือ Blancpain Complete Calendar Moon Phase ที่เปิดตัวในปี 1983 สามารถบ่งบอกได้ทั้งวัน วันที่ เดือน และข้างขึ้น-ข้างแรม ซึ่งถือว่าเป็นกลไกที่ซับซ้อนมาก ณ เวลานั้น
ต่อมามีการเพิ่มจุดเด่นของนาฬิการุ่นนี้คือหน้าปัด Moon Phase ที่มีรูปพระจันทร์เป็นหน้าคน มีคิ้ว ตา จมูก ปาก และคางชัดเจน เคียงคู่กับดวงดาวสุกสกาว ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของแบรนด์ Blancpain ตลอดมา
Moon Phase หน้าปัดดวงจันทร์ที่มากกว่าสวยงาม
ปัจจุบัน Moon Phase เป็นฟังก์ชันที่คนใส่เพื่อความสวยงามเป็นหลัก แต่สมัยก่อนหน้าปัดนี้มีความสำคัญต่อการเดินทางโดยเฉพาะการเดินเรือเป็นอย่างมาก เพราะ Moon Phase เป็นกลไกที่เชื่อมโยงกับหลักดาราศาสตร์ สามารถบ่งบอกวันที่พระจันทร์อยู่เต็มดวง ข้างขึ้น ข้างแรม หรือคืนเดือนดับ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสภาวะน้ำขึ้น-น้ำลงนั่นเอง
หลังจากวิกฤตนาฬิกาควอตซ์ Blancpain เองก็ได้พัฒนา Moon Phase ของตัวเองมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของ Blancpain โดยเป็นวงล้อ 59 ซี่ ประดับหน้าพระจันทร์สองดวงเต็ม และจะหมุนครบรอบภายใน 29.5 วัน โดยกลไกข้างขึ้น-ข้างแรมจะเปิดใช้งานวันละครั้ง ในตำแหน่ง 6 นาฬิกา พร้อม gear-train เฉพาะที่มีอยู่นาฬิกาหลากหลายรุ่นของ Blancpain
พระจันทร์กับไฝทรงเสน่ห์
แม้ว่าพระจันทร์หน้าคนจะเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นแล้ว แต่ Blancpain ยังไม่หยุดพัฒนาการดีไซน์ให้เข้ากับผู้ใช้หลากหลายสไตล์ หนึ่งในนั้นคือการปรับดีไซน์พระจันทร์หน้าคน ให้กลายเป็นพระจันทร์หน้าผู้หญิงในเรือนเวลาสำหรับสุภาพสตรี
แต่สิ่งที่เหนือไปกว่านั้น คือการเติมจุดไฝที่มุมปาก หรือเรียกว่า Beauty Spot ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 18 เพราะไฝของผู้หญิงสมัยนั้น แสดงถึงลักษณะการเป็นคนชนชั้นสูง นิสัยน่ารัก ขี้เล่น กระทั่งมีค่านิยมตัดผ้าไหมกำมะหยี่ มาติดแทนไฝบนใบหน้าเลย
ทำให้เวลาพูดถึงนาฬิกา Moon Phase ระดับไอคอนสำหรับผู้หญิง Blancpain จึงมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร
Blancpain รุ่นพิเศษกับระบบปฏิทินจีนโบราณ
การพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งของ Blancpain ทำให้แบรนด์มีนาฬิการุ่นพิเศษที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะ Blancpain รุ่น Traditional Chinese Calendar ที่ขับเคลื่อนตามระบบปฏิทินจีนโบราณ ซึ่งใช้เวลาคิดค้นและพัฒนานานกว่า 5 ปีจนทำให้ทำงานร่วมกับปฏิทินแบบสากลได้อย่างลงตัว
แม้หน้าปัดเวลาขอบนอกจะยังคงแสดงเวลาในเลขโรมัน และแสดงวันที่ในตัวเลขอารบิก แต่หน้าปัดย่อย 3 วงจะแสดงค่าปฏิทินแบบจีนด้วยอักษรจีนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการนับเวลาชั่วโมงยามแบบเป็น 12 นักกษัตร (2 ชั่วโมง = 1 ยาม) การนับวันแบบจีนที่เหมือนปฏิทินจีนกระดาษทั่วไป ควบคู่ไปกับธาตุทั้ง 5 ของจีน ได้แก่ ไม้ ไฟ ดิน ทอง และน้ำ รวมไปถึงหน้าปัดที่มีเข็มสองเข็มแสดงวันที่และเดือนของจีน
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิวัฒนาการของ Blancpain ในการพัฒนากลไกให้นับเดือนและตะวันได้ทุกวัฒนธรรม
ทั้งหมดนี้คือวิวัฒนาการ Moon Phase ของ Blancpain ที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จนกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในวงการนาฬิกาตลอดไป
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : @Blancpain
Instagram : @Blancpain1735