ปัญหาขยะล้นเมือง ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองไทยมานานหลายสิบปี แต่ยังไม่มีวี่แววจะแก้ไขได้มาจนปัจจุบัน เพราะไม่ได้วางระบบที่ถูกต้อง
ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษรายงานว่า ประเทศไทยมีขยะมากถึง 28 ล้านตันต่อปี แต่สามารถกำจัดได้ถูกกรรมวิธีที่ปลอดภัยเพียง 11 ล้านตันเท่านั้น
ยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา หลายคนต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้ปริมาณขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เวลาสั่งอาหารมารับประทานในบ้าน เพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมไปถึงการซื้อของออนไลน์ที่ตลาดเติบโตขึ้น ไปพร้อมๆ กับปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ซึ่งเชื่อในพลังแห่งความร่วมมือในการสร้างสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ได้ตระหนักถึงปัญหาขยะและปัญหาด้านทรัพยากร จึงได้ริเริ่มนำแนวคิด Circular Living มาใช้กับร้าน Café Amazon โดยนำนวัตกรรม Upcycling และการดีไซน์ นำวัสดุเหลือใช้ต่างๆ กลับมาทำให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง เรียกว่ากรีนตั้งแต่แก้วกาแฟยันเก้าอี้นั่ง
ลองไปพิสูจน์กันว่า Café Amazon ทั้ง 2 สาขาต่อไปนี้ ที่มีคอนเซปต์ Circular Living จะกรีนขนาดไหนและช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
Circular Living คืออะไร
อธิบายกันเบื้องต้นก่อนว่าคอนเซปต์ Circular Living คือแนวคิดในการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพ และรู้คุณค่าการบริหารจัดการทรัพยากรตามหลัก 5Rs ภายในองค์กร ประกอบไปด้วย Reduce การลดการใช้ Reuse การใช้ซ้ำ Recycle การแปรรูปมาใช้ใหม่ Renewable การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และ Refuse การปฏิเสธการใช้ บวกกับการนำนวัตกรรม Upcycling หรือการเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ด้วยการดีไซน์ใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการในการจัดการทรัพยากรที่นำมาปรับใช้กับร้าน Café Amazon นั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก (Bio Plastic) ที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยนำมาผลิตเป็นแก้วและบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในร้าน Café Amazon ถือเป็นพลาสติกทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบเดิม ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้อย่างเห็นผลชัดเจน ซึ่งตรงกับเป้าหมายของ โออาร์ ที่ผสานแนวคิดการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการดำเนินธุรกิจ
Café Amazon Circular Living Concept สาขาสามย่าน
หากใครที่เป็นคอกาแฟประจำของร้าน Café Amazon อยู่แล้ว น่าจะคุ้นเคยกันดีกับธีมความเป็น Taste of Nature ของแบรนด์นี้ บรรยากาศร้านอันแสนร่มรื่น ยิ่งเมื่อผสมผสานกับคอนเซปต์ Circular Living ที่ โออาร์ ตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อลดปัญหาขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม จนเกิดเป็น Café Amazon Circular Living Concept ณ สถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขา สามย่าน ที่เปิดให้บริการเมื่อกลางปี 2562 ได้กลายเป็นต้นแบบของร้านกาแฟสุดกรีนที่รับรองเลยว่า เมื่อรู้ถึงที่มาของวัสดุต่างๆ เหล่านี้ จะต้องว้าวแน่นอน
เริ่มต้นตั้งแต่จุดที่เด่นที่สุดในร้าน คือ Upcycling Decorative Wall ผนังรูปนกแก้วมาคอร์สีสดใส ที่นำแก้วกาแฟพลาสติกโพลีโพรพิลีนหรือ PP กว่า 5,000 ใบ มาบดเป็นชิ้นเล็กๆ ผ่านกระบวนการความร้อน แล้วนำไปขึ้นรูปต่อด้วยเครื่องขึ้นรูปแบบฉีด จนออกมาเป็นแผ่นรูปสามเหลี่ยม และนำมาจัดเรียงรูปนกแก้วมาคอร์สวยงาม
ส่วน โต๊ะ ตู้ และชั้นวางของ ที่ดูแข็งแรงเหมือนไม้จริง ก็ทำมาจากเยื่อกาแฟที่เป็นของเสียจากโรงคั่วกาแฟ Café Amazon ที่นำมาอบและบดเพื่อไล่ความชื้น และขึ้นรูปโดยใช้เทคนิคคอมโพสิทบน Fiberglass เรียกว่ามีส่วนผสมของวัตถุดิบตั้งต้นจากธรรมชาติที่เปลี่ยนเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรงและทนทานไม่ต่างจากไม้จริงเลยทีเดียว รวมไปถึง ชุดเก้าอี้และโซฟาสวยงาม ภายในร้าน ก็ทำมาจากขยะขวดน้ำดื่ม PET จำนวนกว่า 1,200 ขวด ที่นำไปบดเป็นชิ้นเล็กๆ ใช้ความร้อนที่อุณหภูมิ 180-220 องศาเซลเซียส และดึงออกมาเป็นเส้นใย ก่อนจะส่งให้โรงงานทอออกมาเป็นผืนผ้าหุ้มเบาะสวยงามนั่นเอง
ผนังสวนแนวตั้ง ที่เขียวขจีสบายตา ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในสวน ก็ทำมาจากแกลลอนนมพลาสติกกว่า 6,300 ขวด ที่นำมาบดและนำไปผ่านความร้อน จนออกมาเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ก่อนจะนำมาขึ้นรูปเป็นกระถางต้นไม้ รวมไปถึง เพดานของร้าน ก็ทำมาจากถาดพลาสติกชนิด Polystylene ที่ใช้ในร้านกว่า 75,000 ชิ้น นำมาผ่านกระบวนการเดียวกัน และที่สำคัญคือ Eco-Board ผนังตกแต่งหลังเคาน์เตอร์สีสันสวยงามที่เห็นทุกครั้งเวลาสั่งกาแฟ ก็ทำมาจากถุงบรรจุเมล็ดกาแฟที่ใช้แล้วกว่า 7,200 ถุง นำมาบดและให้ความร้อนแล้วอัดขึ้นรูปเป็นแผ่น หล่อเย็นด้วยน้ำเพื่อให้พลาสติกแข็งตัวอีกครั้ง ก่อนจะนำมาตกแต่งให้สวยงาม
ถ้าใครได้เห็นตัวเลขและกระบวนการ Upcycling แล้วสนใจอยากจะศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม บริเวณเฟอร์นิเจอร์และวัสดุตกแต่งภายในร้านดังกล่าวก็มี QR code ไว้สแกนให้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกกันต่ออีกด้วย
Café Amazon Concept Store สาขาเจริญราษฎร์
เพื่อเดินหน้าต่อในการสร้างสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคม โออาร์ ได้พัฒนา Café Amazon Concept Store แนวคิด Green Concept with Eco Solution ที่สาขาเจริญราษฎร์ ถือเป็นอีกสาขาที่ยังคงคอนเซปต์ Circular Living โดยนำวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ยางพารา เศษไม้ เยื่อกาแฟ แกลบ และฟางข้าว มาผสมกับพลาสติกรีไซเคิลเพื่อสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์และวัสดุตกแต่งที่สวยงาม สร้างบรรยากาศรื่นรมย์ภายในร้าน เช่น แผ่นปูพื้น เก้าอี้ และกระถางต้นไม้
เริ่มต้นจาก กระถางต้นไม้ทั้งแบบวางบนโต๊ะและติดผนัง รวมถึงโคมไฟที่ใช้ตกแต่งภายในร้าน ผลิตจากผลิตภัณฑ์ POLIMAXX Bio-Maxx L – Cement ของ IRPC ที่ใช้นวัตกรรมในการนำยางธรรมชาติผสมกับซีเมนต์ในสัดส่วน 30/70 เพื่อให้มีความแข็งแรง ทนทาน ให้สัมผัสของความรู้สึกเป็นซีเมนต์ แต่มีสีสันที่สวยงาม และยังมีกระถางต้นไม้บางส่วนที่ผลิตจากผลิตภัณฑ์ POLIMAXX Green ABS พลาสติกที่มีส่วนประกอบของยางธรรมชาติ ใช้ทดแทนยางสังเคราะห์มีคุณสมบัติการรับแรงกระแทกได้ดีเยี่ยม ช่วยลดค่าใช้จ่ายการนำเข้ายางสังเคราะห์ และช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอีกด้วย
นอกจากนั้น เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ในร้านอย่าง เก้าอี้ ตู้เก็บของ งานผนัง ชั้นวางของ เคาน์เตอร์บาร์ ถังขยะ ไปจนถึงผนังและเสาหน้าร้านก็ผลิตจาก POLIMAXX Wood Plastics Composite พลาสติก Recycle 100% ที่นำมาผสมเศษไม้ที่เหลือจากอุตสาหกรรมจนออกมาเป็นวัสดุพลาสติกชนิดใหม่ที่มีความทนทาน ทดแทนการใช้ไม้จริงได้อย่างเห็นผล และยังช่วยลดการเกิดขยะพลาสติกในกระบวนการผลิต ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เรียกว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด
จะเห็นได้ว่า ขยะและวัสดุไร้ค่าจำนวนมากได้ถูกนำมาผ่านกระบวนการ Upcycling และ Recycle อย่างถูกวิธีจนกลับมามีมูลค่า เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาขยะให้เบาบางลง
Café Amazon จึงเป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่นำโมเดลธุรกิจ Circular Living มาปรับใช้จริงได้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยความเชื่อและความมุ่งมั่นของ โออาร์ ในการสร้าง ‘พลังแห่งความร่วมมือ’ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สังคมชุมชนอย่างแท้จริง