ปัญหาอย่างหนึ่งของคนที่รักในการวิ่งมาราธอน คือการไม่มีเวลาออกไปวิ่งตามงานต่างๆ พร้อมกับคนอื่นเขา จนแอบอิจฉาคนที่โชว์เหรียญอวดเพื่อนในโซเชี่ยลฯ กันทุกอาทิตย์ ส่วนตัวเองก็ได้แต่วิ่งเหงาๆ คนเดียวตอนเลิกงาน
แต่เมื่อเทคโนโลยีอย่าง Virtual Run หรือการวิ่งเสมือน เกิดขึ้นมา ก็ช่วยให้นักวิ่งที่ไม่มีเวลา แต่มีใจ สามารถวิ่งสะสมระยะทางจากที่ไหนหรือเมื่อไรก็ได้ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถจัดแคมเปญการวิ่งจนประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย พร้อมทั้งยังช่วยปลุกกระแสการวิ่งที่ส่งต่อผ่านโลกโซเชียลฯ ได้อย่างเห็นผล
ลองเปิดใจไปทำความรู้จักกับ Virtual Run ว่าจะช่วยให้คนที่เวลาไม่ตรงกับงานวิ่ง ได้วิ่งสำเร็จตามเป้าหมาย จนคว้าเหรียญมาคล้องคอได้อย่างไร
Virtual Run คืออะไร
เทคโนโลยี VirtualReality คือการสวมแว่นเพื่อพาตนเองเข้าไปสำรวจโลกเสมือนที่สร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ต่างๆ ซึ่งตอนนี้ นอกจากการวงการเกมและภาพยนตร์ที่ VR เป็นหนึ่งในความบันเทิงสุดล้ำแล้ว VR ยังก้าวล้ำไปสู่วงการอื่นๆ อย่างวงการอสังหาฯ ที่ให้ลูกบ้านได้เห็นงานออกแบบบ้านจริงๆ ก่อนจะสร้างเสร็จ หรือวงการวิศวกรรม VR ก็ช่วยทำ Simulation จำลองการใช้เครื่องจักรหรือยานพาหนะได้อย่างน่าทึ่ง แต่สำหรับVirtual Runก็คือการสร้างโลกเสมือนของการวิ่งขึ้นมาไม่ต่างกัน เพียงแต่โลกเสมือนนั้นถูกจำลองด้วยระยะทางการวิ่งที่ตั้งเป้าไว้ เช่นเดียวกับการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่ระยะทางเป็นตัวกำหนดเส้นชัย
หลักการง่ายๆ ของ Virtual Run คือการสะสมระยะทางการวิ่งผ่านแอปพลิเคชัน โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกิจกรรมการวิ่งมาราธอนที่จัดขึ้น เช่น หากรายการวิ่งนั้นๆ กำหนดระยะทางไว้ที่ 10 กิโลเมตร โดยต้องเก็บระยะทางให้ครบภายใน 7 วัน นั่นหมายความว่า เราก็สามารถวิ่งที่ไหน เวลาไหนก็ได้ วิ่งวันละนิด วันละหน่อย สะสมให้ครบ 10 กิโลเมตร ภายใน 7 วันนี้ แล้วข้อมูลการวิ่งที่เก็บอยู่ในแอปฯ ก็จะเป็นหลักฐานยืนยันว่าเราสามารถวิ่งได้สำเร็จตามระยะทางเป้าหมายเรียบร้อย เพียงเท่านี้เราก็รอรับเหรียญรางวัลอยู่ที่บ้านได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลว่า เสียค่าสมัครไปแล้ว จะว่างไปวิ่งไหม
วิ่งเสมือน แล้วสำเร็จจริงไหม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ มีน้อยคนนักที่จะซ้อมวิ่งเปล่าๆ โดยไม่มีอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันใดๆ มาช่วยจับ gpsวัดระยะทาง เพราะจะใส่รองเท้าออกไปวิ่งทั้งที อย่างน้อยๆ ก็น่าจะมีอะไรมาบันทึกเก็บไว้เป็นสถิติของตัวเองสักหน่อย หรืออย่างมากก็เอาไว้อวดเพื่อนในกลุ่มนักวิ่งด้วยกัน ว่าวันนี้ทำเพซได้ยอด ทำระยะทางได้เยี่ยม เพราะในความเป็นคอมมูนิตี้ของนักวิ่ง การแชร์สถิติการวิ่งให้เพื่อนเห็นอยู่เสมอ คือแรงกดดันชั้นดีที่ช่วยสร้างแรงผลักดันให้ตัวเองอยากจะทำลายสถิติให้ดียิ่งขึ้นไปอีก การวิ่งแบบ Virtual Run จึงเหมือนเป็นการขยายข้อดีตรงนี้ ไปสู่ระดับการแข่งขันที่ใหญ่ขึ้น
ถึงแม้ว่าข้อเสียของการวิ่งVirtual Run แบบนี้ คือการไม่ได้สัมผัสบรรยากาศของงานวิ่งมาราธอนที่เต็มไปด้วยนักวิ่งนับพันนับหมื่นที่รวมตัวกันออกวิ่งไปพร้อมๆ กัน แต่หากย้อนกลับมาที่จุดประสงค์ของการวิ่งที่แท้จริงแล้ว นั่นคือการได้บรรลุเป้าหมายในเรื่องของระยะทาง รวมถึงการได้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิ่งนั้นๆ ที่จัดขึ้น การวิ่งแบบ Virtual Run ก็ถือว่าช่วยทำให้บรรลุจุดประสงค์นั้นอย่างครบถ้วนแล้วเช่นกัน ข้อดีจึงเป็นอะไรไม่ได้ นอกจากเรื่องของแรงกดดันในการแข่งขัน ที่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูก cut off วิ่งไม่ทัน แถมยังช่วยจัดการเรื่องช่วงเวลาของตนเองได้อย่างสะดวก จะวิ่งเช้า สาย บ่าย เย็น บนลู่วิ่งที่บ้าน ในสวนสาธารณะ หรือกระทั่งในอวกาศ! ก็ยังได้ เพราะในปี 2016 มีการบันทึกไว้ว่า Tim Peakeนักบินอวกาศชาวอังกฤษแห่ง International Space Station ได้ทำลายสถิติการวิ่งมาราธอนที่เร็วที่สุดในอวกาศ ซึ่งเป็นครั้งแรกของรายการวิ่ง Virgin Money London Marathon ที่มีการใช้เทคโนโลยี VR ถ่ายทอดบรรยากาศจริงของเมืองลอนดอน เพื่อให้ Tim Peake ที่อยู่บนลู่วิ่งในสถานีอวกาศเป็นส่วนหนึ่งของการวิ่งรายการนี้ได้แบบล้ำๆ เลยทีเดียว
อนาคตของ Virtual Run
อย่างที่ทราบๆ กันว่า ทุกวันนี้กว่าจะสมัครงานวิ่งได้สักงานนั้นยากเย็นแสนเข็ญขนาดไหน โดยในปีนี้มีการบันทึกไว้ว่า รายการวิ่ง Virgin Money London Marathon2018 มีผู้สมัครวิ่งกว่า 386,050คนซึ่งถือว่าเป็นสถิติโลกที่มีคนสมัครมากที่สุด แต่งานกลับรองรับคนได้เพียงแค่ 50,000 เท่านั้น หรืองานวิ่งระดับ World Major อย่าง Tokyo Marathon และ BerlinMarathon ก็มีผู้สมัครเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี ระบบสุ่มผู้โชคดีหรือระบบ lotto จึงถูกนำมาใช้ เพื่อหาผู้โชคดีที่ได้ไปวิ่ง ซึ่งบอกเลยว่ายากไม่น้อยไปว่าการสุ่มได้รูป SSR ของวงไอดอลชื่อดังเลย ขณะเดียวกันงานวิ่งในบ้านเราที่ได้รับความนิยมมากๆ ก็มีการนำระบบสุ่มเข้ามาใช้บ้างแล้วเช่นกัน การวิ่ง Virtual Run จึงเป็นการตอบโจทย์คนที่ไม่ค่อยมีโชคด้านการสุ่มให้มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของรายการวิ่งบ้าง
การวิ่ง Virtual Run จึงถือได้ว่าเป็นเทรนด์กำลังได้รับความนิยมและคาดว่าจะเกิดรายการวิ่งรูปแบบนี้ในอนาคตอีกจำนวนมากแน่นอน เพราะนอกจากจะประหยัดงบการจัดอีเวนต์วิ่งแล้ว ยังเปิดโอกาสทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญรณรงค์ต่างๆ ที่ใช้การวิ่งเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมแรงร่วมใจ แบบไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมอีกด้วย จึงทำให้แคมเปญวิ่งที่ใช้ Virtual Run ประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย
และหนึ่งในรายการวิ่งที่อยากให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม คือรายการวิ่ง Thamluang Cave Run 2018 ที่ใช้การวิ่งแบบ Virtual Run พร้อมกับนักวิ่งชาติอื่นๆ ในประเทศกลุ่มอาเซียน โดยร่วมกับ ACASIA Communication กลุ่มผู้ประกอบการสื่อสารโทรคมนาคมหลักใน 7 ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศไทยซึ่งเป็นโปรเจกต์พิเศษสร้างพลังความยิ่งใหญ่ของการร่วมแรงร่วมใจกันอีกครั้ง ด้วยการวิ่งแบบ Virtual Run ผ่านแอปพลิเคชัน SOFEARun โดย 10% ของรายได้ทั้งหมดจะนำไปจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ เพื่อบูรณะวนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำ-นางนอน ให้กลับสู่ความสมบูรณ์ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SOFEA Run ได้ทั้งระบบ iOS และ Android
download (iOS): https://goo.gl/ZuP7Bv
download (android): https://goo.gl/AJCGxj#Sofearun
เพื่อสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2561
เริ่มวิ่งพร้อมกันทั่วอาเซียนในวันที่ 7 –15 ธันวาคม 2561
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง
https://www.facebook.com/cattelecom/
https://www.facebook.com/thaidotrun/
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.contoursrun.co.uk/blog/2017/12/virtual-races-growing-trend/
https://www.theguardian.com/lifeandstyle/the-running-blog/2016/jul/14/the-rise-of-virtual-races
https://www.wareable.com/running/future-of-virtual-running-vr-ar-540
https://www.thenewstribune.com/outdoors/article26264233.html