‘เรียนจบแล้วหางานทำไม่ได้’
‘ทำงานได้ไม่นานก็ต้องลาออก’
เหล่านี้คือปัญหาของบัณฑิตไทยยุคนี้ที่เกิดขึ้นจริง เพราะจากข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีคนไทยว่างงานถึง 4.4 แสนคน ระดับการศึกษาที่ว่างงานที่สุดคือระดับอุดมศึกษาถึง 1.57 แสนคน และเหตุผลของการว่างงานส่วนใหญ่คือการลาออกจากงานด้วยตนเอง ได้เห็นข้อมูลแบบนี้ก็ชวนให้หวั่นใจถึงศักยภาพของแรงงานคนรุ่นใหม่ว่าสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้มากน้อยขนาดไหน
เมื่อมองย้อนกลับไปถึงต้นตอของปัญหา อาจต้องมองไปถึงความพร้อมและทักษะในการทำงานของเหล่านิสิตนักศึกษาทุกวันนี้ ที่ไม่ได้รับการบ่มเพาะมาตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้เมื่อถึงเวลาที่ต้องออกไปเผชิญโลกการทำงานจริงนอกห้องเรียนจึงต้องพบเจอกับอุปสรรครอบด้าน ทั้งการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร ความสามารถที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ รวมไปถึงทักษะการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ขาดประสบการณ์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่ต้องการแรงงานที่มีศักยภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ Mentorship Program ที่มีชื่อว่า ChAMP Engineering ที่เปิดโอกาสให้นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พบปะกับศิษย์เก่ารุ่นพี่ในฐานะของเมนเทอร์ที่จะมาช่วยชี้แนะแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกการทำงานจริง ลองไปดูกันว่าโครงการนี้จะช่วยเหลือนิสิตที่กำลังหลงทางกับเส้นทางชีวิตได้อย่างไร
ความต้องการของตลาดกับศักยภาพของแรงงานรุ่นใหม่
“ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลก็มีนโยบายชัดเจนที่จะก้าวไปสู่ยุคของเทคโนโลยี 4.0 ซึ่งตลาดแรงงานด้านวิศวกรรรมต้องมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือลักษณะงานที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับศักยภาพของนิสิตนักศึกษาที่จบออกไป ยังอยู่ในขั้นตอนที่อาจมีข้อสงสัยได้” คุณสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GC ในฐานะนายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นถึงปัญหาของบัณฑิตทุกวันนี้ที่มีศักยภาพไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
“ยอมรับว่าศาสตร์ความรู้ต่างๆ ด้านวิศวกรรมในสถานศึกษา เป็นสาขาจำเพาะจริงๆ แต่วันนี้ทั้งเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้ต้องการทักษะเพียงอย่างเดียว อย่างเช่นรถไฟฟ้า ต้องการวัสดุศาสตร์ เคมี เครื่องกลไฟฟ้า คือจะคิดแบบเดิมไม่ได้ แต่ไม่ได้บอกว่าสถานศึกษาไม่ปรับตัว อย่างวันนี้คณะวิศวฯ จุฬาฯ ก็ปรับตัวอยู่ แต่จะทำยังไงให้เร็ว และมีความพร้อมในทันที” ความต้องการขององค์กรต่างๆ ทุกวันนี้มีการเรียกร้องทักษะแบบ Multi-Skills ในตัวพนักงาน ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ที่มากกว่าการเรียนเฉพาะทางในหลักสูตรปกติ
แต่เดิม เราอาจเข้าใจว่าการจะพัฒนาทักษะต่างๆ ได้ต้องอาศัยทดลองเพื่อให้ได้มาซึ่งประสบการณ์และการเรียนรู้ แต่ด้วยปัจจุบันการแข่งขันที่มากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองถูกลดทอนเวลาไป วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการเรียนทางลัดผ่านประสบการณ์ของผู้อื่น
“ประสบการณ์ของคนคนหนึ่งที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ อาจต้องอายุ 50 ปีเข้าไปแล้ว เขาต้องผ่านการทดลองมาเยอะมาก เราไม่อยากให้น้องรุ่นใหม่ๆ ต้องมาเสียเวลากับการทดลองเหล่านี้อีกแล้ว เพราะว่าวันนี้โลกของเทคโนโลยีมีแต่การแข่งขัน ไม่ได้เปิดโอกาสให้ใครมาลองอีกแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดคือคนที่ผ่านประสบการณ์ทั้งหลายจะมาช่วยกันแชร์ความรู้ เพื่อให้คนเรียนได้ตัดสินใจ ไม่ต้องเสียเวลามาลองผิดลองถูก จึงเป็นเหตุผลให้เราเปิดโครงการนี้ขึ้นมา” คุณสุพัฒนพงษ์ในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่งของคณะวิศวฯ จุฬาฯ เล่าถึงที่มาของโครงการ ChAMP Engineering ที่เกิดขึ้นเพราะต้องการให้รุ่นน้องได้เรียนรู้ประสบการณ์ทางลัดของศิษย์เก่ารุ่นพี่ ซึ่งถอดต้นแบบโครงการมาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว
ปัญหาของการเรียนรู้แค่ในห้องเรียน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ประเทศไทยเราจะเดินหน้าไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยที่บัณฑิตจะทำงานโดยมีแค่ความรู้เฉพาะทางอาจไม่เพียงพอ ยังต้องมีทักษะในด้านอื่นประกอบไปด้วย อย่างเช่นทักษะการศึกษาตลอดชีพ ทักษะการสื่อสาร หรือทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน
“ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เราสร้างกรอบขึ้นมาว่าต้องเรียนในห้องเรียน ซึ่งความจริงมันไม่เพียงพอ เพราะการศึกษาที่ดีที่สุดต้องเรียนรู้โดยไม่ถูกจำกัดกรอบว่ากำลังเรียนรู้อยู่ การที่นิสิตเรียนในห้องเรียนนั้นไม่พอกับการทำงานจริง แต่การได้มาพบกับพี่ๆ ที่มีประสบการณ์จริงๆ นอกห้องเรียน จะทำให้เขาเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว นี่คือเหตุผลที่ทางคณะกำลังปรับปรุงหลักสูตร เปิดช่องทางให้ศิษย์เก่าเข้ามามีส่วนร่วมกับระบบการศึกษาแบบนี้ เพราะฉะนั้นบัณฑิตของเราจะไม่ได้กินข้าวอย่างเดียว แต่จะได้กินกับ ได้กินวิตามินด้วย” รศ.ดร. ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล รองคณบดี (วิชาการ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงระบบการศึกษาของคณะที่กำลังพยายามปรับปรุงให้มีความหลากหลายมากขึ้น
“เด็กรุ่นใหม่เติบโตมาโดยที่มีสื่ออยู่ในมือ พวกเขาสามารถพูดคุยผ่านโลกในอินเทอร์เน็ตได้ เราก็มีการปรับปรุงหลักสูตรโดยนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น แต่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนก็ยังจำเป็นอยู่ รวมถึงทักษะเรื่องของความเป็นคนที่ต้องบูรณาการเข้าด้วยกัน จำเป็นต้องมีคนจากอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ”
ด้วยความที่ศิษย์เก่าของคณะวิศวฯ จุฬาฯ จบออกไปทำงานในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งในแวดวงสตาร์ทอัพ อสังหาริมทรัพย์ การขนส่ง สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ฯลฯ จึงเป็นโอกาสดีที่รุ่นน้องจะได้เรียนรู้ประสบการณ์อันหลากหลายจากรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง
เปิดมุมมองใหม่กับประสบการณ์ที่ไม่ต้องไปเผชิญเอง
“การที่นิสิตนักศึกษาใช้ชีวิตมาแค่ 20 ปี มุมมองที่เขามีต่อการทำงานอาจจะเป็นแค่มุมมองเดียว ยังไม่ได้มองถึงทางเลือกอื่นๆ สำรองไว้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เขาอาจยังไม่ได้มองแบบรอบด้าน การได้พบเจอกับพี่ๆ เหมือนเป็นการเรียนเร็วทางลัดและเรียนแบบถูกต้องจากประสบการณ์ เป็นการเปิดมุมมองให้กว้างขึ้น เห็นอะไรในชีวิตมากขึ้น ส่วนการตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับน้องๆ เอง ว่าอะไรเหมาะกับเขาที่สุด” คุณพิเชษฐ สิทธิอำนวย Managing Director จาก Bualuang Securities ที่ปรึกษาโครงการและเป็นตัวแทนจากเมนเทอร์รุ่นพี่กล่าวถึงสิ่งที่นิสิตจะได้รับจากโครงการ
“ปัญหาอย่างหนึ่งที่นายจ้างเจอ คือพนักงานไม่รู้จักตัวเองดีพอ นายจ้างก็เสียเวลา เขาเองก็เสียเวลา บางทีทำงานปีสองปีแล้วก็ลาออก ถ้าเขาชอบจริงๆ ทุกๆ อุตสาหกรรมก็พร้อมจะพัฒนาบุคลากรอยู่แล้ว การที่คนทำงานเข้ามาทำงานแล้วรู้ว่าตัวเองจะไปทางไหน จึงเป็นผลดีกับทั้งสองฝ่าย” การค้นหาตัวตนคืออีกปัญหาหนึ่งของบัณฑิตในยุคนี้ ที่ไม่รู้ว่าเรียนจบมาแล้วจะเลือกทำงานสายไหน หรือไม่รู้ว่างานที่กำลังทำอยู่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเองได้เพียงใด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของตัวเลขการลาออกที่มากที่สุดในระดับปริญญาตรี
“การเข้าโครงการนี้ จะทำให้มีมุมมองที่กว้างไกลขึ้น มองเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น และเป็นการตรวจสอบตัวเองว่าจะไปต่ออย่างไร บางทีน้องๆ เรียนหนักมาก แต่ไม่เคยดูตัวเองเลยว่าอนาคตจะไปทางไหน ตรงนี้จะเป็นแบบฝึกหัดที่ดีที่ให้พี่ๆ มาช่วยกรองและให้คำแนะนำ เพราะฉะนั้นจึงคาดหวังว่าถ้าน้องๆ เรียนจบไป เขาจะเห็นชีวิตตัวเองที่ชัดเจนขึ้น”
การช่วยให้นิสิตนักศึกษาค้นหาตัวเองเจอตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ เป็นสิ่งที่ทุกสถาบันการศึกษาต่างต้องให้ความสำคัญ เปรียบได้กับการเตรียมความพร้อมก่อนการทำงานจริง ที่จำเป็นไม่น้อยไปกว่าการฝึกงานตามหลักสูตร การได้รุ่นพี่มาช่วยให้คำแนะนำก่อน จึงเป็นทางแก้ไขปัญหาที่ได้ผลดีที่สุด
ChAMP คือคำตอบ
ในการคัดเลือกนิสิตที่เข้าร่วมโครงการ ChAMP Engineering ต้องผ่านการคัดเลือกด้วยการส่งใบสมัคร ทำแบบสอบถาม และสัมภาษณ์กับคณะกรรมการ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการสมัครงานจริงๆ โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกจะไม่ได้ดูจากผลงานที่ผ่านมาหรือผลการเรียนเป็นหลัก แต่จะวัดจากทัศนคติและความมุ่งมั่นในการทำงาน รวมถึงการเปิดรับข้อคิดเห็นจากรุ่นพี่และนำมาปรับใช้ได้มากน้อยขนาดไหน
รูปแบบของการดำเนินโครงการจะเป็นการจับคู่ของรุ่นพี่เมนเทอร์ 2 คนกับนิสิต 4 คน โดยเงื่อนไขในการจับคู่จะขึ้นอยู่กับเป้าหมายระยะสั้นระยะยาว ว่าแต่ละคนมีความสนใจในสายอาชีพไหนแล้วจึงจับคู่กับรุ่นพี่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และมีการแบ่งช่วงวัยของเมนเทอร์ทั้งสองคนให้แตกต่างกันเพื่อมุมมองที่หลากหลาย รวมถึงมีการติดตามประเมินผลหลังจากจบโครงการ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายของคนทำงานด้านวิศวกรรมที่สามารถส่งต่อไปยังรุ่นต่อๆ ไปได้
“ตอนที่ผมเรียนจบใหม่ๆ ก็ยังไม่รู้ว่าอยากจะทำงานอะไร พอมีเมนเทอร์มาแนะนำก็ช่วยให้ผมมองเห็นทิศทางมากขึ้น ว่าต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ควรจะเริ่มอ่านหนังสือเล่มไหน และควรจะเตรียมตัวอย่างไร พอมีแรงบันดาลใจก็ทำให้วิธีคิดเปลี่ยนไปและการกระทำก็ตามมา ระยะเวลาสั้นๆ ที่ผมมีรุ่นพี่เมนเทอร์เข้ามา ชีวิตผมเปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมาก ผมมองว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่ทุกคนจะได้เรียนรู้ตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนอยู่” คุณสาโรช คุณวุฒิพร หัวหน้าทีม Apollo ผู้จัดงาน ที่เคยอยู่ในฐานะรุ่นน้องกล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อโครงการนี้
เรียกได้ว่า ChAMP Engineering คือต้นแบบของโครงการที่ไม่ว่ามหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาไหนก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ เพื่อให้บันฑิตรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาออกมา มีทักษะและศักยภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้อย่างแท้จริง
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.champengineering.org หรือ www.facebook.com/ChAMPEngCU/