“ตอนนี้อายุ 62 ก็ยังไม่เคยคิดว่าเกษียณคืออะไร ยังเรียนรู้ได้อีกเรื่อยๆ”
คือสิ่งที่ เม-เมธาวี อ่างทอง เจ้าของแบรนด์ BLACK SUGAR ยืนยันหนักแน่นถึงการเรียนรู้ของเธอที่ไม่มีวันสิ้นสุด
จากข้าราชการที่ลาออกมาทำแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก โดยที่ไม่มีความรู้เรื่องแฟชั่นเลย ก่อนจะล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่หลายต่อหลายครั้ง จนมาปลุกปั้น BLACK SUGAR แบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าสีขาวดำอันเป็นเอกลักษณ์จนประสบความสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่เธอไม่เคยทิ้งตลอดชีวิตการทำงาน นั่นคือ ‘การเรียน’ ไม่ว่าจะเรียนจากประสบการณ์จริงหรือจะเรียนในห้องเรียน
โดยไม่สนว่าตัวเองจะอายุเท่
ลองไปสำรวจชีวิตของผู้หญิงคนนี้ที่เรียนแฟชั่นตอนอายุ 43 จบป.ตรีตอนอายุ 48 และจบป.โทตอนอายุ 55 ซึ่งดีไซเนอร์รุ่นใหม่ควรจะดำเนินรอยตาม
อยากให้เล่าชีวิตช่วงแรกว่าทำไมถึงสนใจเรื่องแฟชั่น
เราเป็นข้าราชการมาก่อน แต่ชีวิตกว่าจะเป็นข้าราชการก็ยากลำบากมาก ตอนเด็กๆ ครอบครัวแตกแยก ถูกส่งไปเรียนอยู่บ้านนอก ระหว่างนั้นคือชอบวาดรูปตุ๊กตา วาดเสื้อผ้าให้ตุ๊กตาใส่ เพราะว่าเป็นเด็กบ้านนอก ก็มีของเล่นแค่นั้น น่าจะเป็นความชอบส่วนตัวที่เรายังไม่รู้ตัว หลังจากนั้นก็ได้กลับเข้ามากรุงเทพฯ มาเรียนภาคค่ำ เพราะว่าจริงๆ อยากเรียนศิลปะ อยากเรียนเพาะช่าง อยากเรียนศิลปากร แต่ด้วยฐานะทางบ้านไม่เอื้ออำนวย ก็ต้องเรียนภาคค่ำ ทำงานไปด้วย แล้วถ้าเรียนศิลปะเราก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรที่มันมั่นคง ก็เลยเลือกไปเรียนเกี่ยวกับทางด้านบัญชี การเงิน การธนาคาร แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่ได้ชอบและเกลียดด้วย แต่สาเหตุที่เลือกก็เพราะว่าต้องหาทางรับราชการให้ได้ เพื่อที่จะให้ครอบครัวมั่นคง พ่อแม่เบิกสวัสดิการได้
แต่ลึกๆ ก็ยังชอบวาดรูปอยู่
ชอบวาดเสื้อผ้า ชอบแต่งตัว มันก็ไปตามสภาพนะ อย่างตอนที่เป็นเด็กถึงเราไม่มีสตางค์ แต่เราก็จะแต่งตัวไม่เหมือนชาวบ้าน ถ้าเพื่อนใส่เสื้อเชิ้ตปกติ เราก็ต้องหาอะไรมาติดเสื้อเชิ้ตให้ต่างสักนิดหนึ่ง ต้องมีอะไรที่มันพิเศษกว่าคนอื่น คงเป็นความชอบส่วนตัว
แล้วมาเริ่มต้นทำงานเกี่ยวกับเสื้อผ้าเป็นอาชีพได้อย่างไร
หลังจากนั้นก็เข้ากรุงเทพฯ มา ก็ไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้าฟรี ของกทม.ที่สวนลุม ช่วงนั้นก็ไปซื้อจักรเย็บผ้ามาตัวหนึ่ง ซึ่งมันแพง เราก็คิดว่าต้องเอาตังค์คืนจากจักรตัวนี้ให้ได้ เลยเริ่มทำเสื้อผ้าเป็นอาชีพเสริม ไปรับตัดเสื้อผ้าให้เพื่อนๆ ที่วิทยาลัยเทคนิคใส่ ทั้งที่เราไม่ได้เรียนมา แต่คิดว่าเขาคงมองเห็นอะไรในตัวเรา เราแต่งตัวเป็น ก็เลยไปหาเรียนต่อ แต่ก็เรียนยังไม่ได้นานเท่าไหร่ เพื่อนก็ชวนไปทำเสื้อผ้าเด็ก เสาร์อาทิตย์เราก็ไปช่วยเพื่อนทำออกแบบ โดยที่ยังไม่ได้เรียนอะไรเลย พอจะวาดอะไรออกมาเป็นการ์ตูนได้แค่นั้น ซึ่งเพื่อนเขาทำอยู่แล้ว แล้วหุ้นส่วนเขาเลิกไป เราก็เข้าไปทำต่อจากหุ้นส่วนเดิมเขา
ตอนแรกเข้าไปทำอะไรบ้าง
เข้าไปแรกๆ คือมาเริ่มใหม่ทุกอย่างเลย สตางค์เราก็ไม่ค่อยมีนะ รับราชการเงินเดือนแค่พันกว่าบาท ก็เริ่มจากซื้อจักรอุตสาหกรรมสองตัว จักรโพ้งหนึ่งตัว เริ่มจากเล็กๆ ดูก่อน ไปเสนองานนั้นงานนี้ ปรากฏว่าถูกใจลูกค้าตะวันออกกลาง เหมือนจะดีขึ้น ก็เลยเริ่มจริงจัง เริ่มซื้อจักรเป็นห้าตัว ระหว่างที่รับราชการ ทุกเย็นวันศุกร์ก็กลับมาทำ ไม่ได้กลับบ้าน แต่เข้าโรงงานอยู่ยันดึกยันดื่นเลย คือตอนนั้นอายุ 30 มันยังใหม่ ไฟแรงมาก ไม่เหน็ดไม่เหนื่อย บางวันก็อยู่ได้จนถึงสว่าง ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ
ตอนนั้นคือเริ่มคิดไหม ว่าอยากจะทำตรงนี้แบบเต็มตัวแล้ว
เราคิดว่าเราต้องเลือกทางไหนทางหนึ่ง เพราะว่าสองอย่างชักไม่ไหวแล้ว เหนื่อยเกินไป มีอยู่สองทางคือให้แฟนลาออกหรือเราลาออก แฟนเขาทำงานธนาคาร ซึ่งธนาคารนี่เงินดีกว่าเราหลายเท่าตัว แต่เราคิดว่างานที่นี่น่าจะเหมาะกับเรามากกว่า แต่ก็คิดเยอะ เพราะว่าในบ้านมีเราคนเดียวที่รับราชการ เป็นความหวังให้พ่อแม่เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ทำให้กลัวเหมือนกันว่าถ้าเราไม่รอดล่ะ จะทำยังไง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจลาออก เราน่าจะไปทำในสิ่งที่ชอบมากกว่า
แล้วอะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้อยากเรียนแฟชั่นแบบจริงจัง
พอทำเต็มตัวก็ดีมากเลย ทุกอย่างพุ่งเร็วไปแรง แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีปัญหา เพราะว่าจากการที่เรายังไม่ได้เรียน ยังไม่ได้เรียนรู้อะไร แค่งูๆ ปลาๆ พอไปเจอช่างแพทเทิร์นทำแบบมา เราบอกว่ามันไม่สวยนะ มันไม่ใช่ แต่เขาก็รู้ว่าเราไม่เป็น เขาก็ถามว่าแบบไหนถึงจะสวย เราก็ตอบไม่ได้ว่าแบบไหนที่มันสวย คือตอบเขาไม่ได้ เขาใส่อารมณ์ เราก็ใส่อารมณ์ แต่ละอย่างมันก็ทำให้เกิดความเครียด แล้วเราก็ลาออกจากงานประจำมาแล้ว ช่างบอกว่าเขาจะลาออกสิ้นเดือน เราก็บอกไม่เป็นไร ให้ออกเลย พอเราพูดทุกอย่างปุ๊บ วันรุ่งขึ้น เราก็ไม่ได้แล้ว ต้องไปหาเรียนเพิ่มเติมเองหมด
รู้สึกว่าเริ่มเรียนช้าไปไหม
ตอนนั้นไม่รู้สึกว่ามันจะช้าไหม เพราะว่าเราเพิ่งจะเริ่มทำเสื้อผ้าเด็ก จะเรียนอะไรตอนไหนไม่เคยรู้สึกว่าแก่แล้ว อยากเรียนอะไรก็เรียน จากตอนแรกที่เราชอบแต่เราไม่มีตังค์เรียน ตอนนี้ก็พอจะมีทุนที่เรียนอะไรก็ได้ เราก็ไปเรียน คือตอนนั้นพุ่งมากเลย จนกระทั่งมาวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 อายุประมาณ 44 เหตุมันเกิดเพราะว่าไปจับลงทุนอสังหา เพราะเริ่มมีทุน พอเกิดวิกฤตปุ๊บ ทุกอย่างมันก็ล้ม ทุกอย่างถูกยึดหมด จากที่มีครบหมดทุกอย่าง ทั้งบ้าน ทั้งรถ แล้วก็พอดีเรากับหุ้นส่วนก็มีปัญหากัน ทุกอย่างก็เลิก เป็นศูนย์เลย ขายบ้านขายรถ มาเช่าตึกแถวอยู่
แล้วกลับมาได้ยังไง
ตอนนั้นเสื้อผ้าเด็ก คือยังมีลูกค้าติดต่ออยู่ เขาก็บอกให้ทำใหม่สิ สู้ใหม่ เราก็เริ่มใหม่อีกครั้ง จากเล็กๆ 2-3 ตัวมา 4-5 ตัว จากเช่าห้องหนึ่งแถว เป็นสองแถว สามแถว จนกระทั่งก็ฟื้นขึ้นมาได้ เป็นโรงงานขึ้นมาใหม่ แต่ก็ระมัดระวังตัวมากขึ้น มีคนงานประมาณ 120 คน มีส่งซับข้างนอกทำอีก ก็ดีมาระยะยาวเลย เสร็จแล้วมันก็เกิดวิกฤติอีกเมื่อปี 55 รัสเซีย ยูเครน อิรัก อิหร่าน ตะวันออกกลางรบกัน แล้วลูกค้าเราเป็นประเทศกลุ่มคู่ค้าพวกนี้ทั้งหมด พอมันเกิดปุ๊บก็ล้มเลย ลูกค้าติดเงินวุ่นวายไปหมด แล้วออเดอร์ที่วางกันไว้ล่วงหน้าเป็นปีก็ส่งไม่ได้ เพราะลูกค้าไม่จ่ายเงิน สต็อกของก็มหาศาล ซึ่งไม่ผลิตก็ไม่ได้เพราะคนงานเราเยอะ ก็ต้องทำสต็อกเลี้ยงคนงานไปเรื่อยๆ เป็นปี ต้องจ่ายค่าแรง โดยที่ไม่มีรายรับ จนกระทั่งสุดท้ายไม่ไหว เลยต้องบอกคนงานว่าต้องหยุด แล้วก็ไปรับงานนอกมาให้ทำ เพื่อที่จะพยุงเอาเลี้ยงคนงานไว้ แต่พอบอกไม่มีโอที เขาก็เริ่มทยอยออก จนกระทั่งเหลืออีกประมาณ 50-60 คนที่ไม่ออก ตรงนี้ก็เป็นเหตุที่ให้ต้องทำอะไรขึ้นมาใหม่
ระหว่างนี้ที่เกิดวิกฤต ยังเรียนแฟชั่นเพิ่มเติมอยู่ไหม
ช่วงที่ทำเสื้อผ้าเด็กแล้ว ก็ได้ยินข่าวว่า CIDI Chanapatana จะมาเปิดสอนหลักสูตรแฟชั่นอิ
ทำไมถึงอยากจะไปเรียนที่นี่ให้ได้
เพราะด้วยหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรจากอิตาลี เขามีชื่อเสียงทางเรื่องออกแบบอยู่แล้ว และมีอาจารย์จากอิตาลีมาสอน โรงเรียนเขาก็ดูดี ก็เลยอยากลองอยากรู้ ก่อนหน้านี้ที่ไปเรียนที่อยู่ ส่วนมากจะเป็นแนวให้วาดรูป แต่อันนี้ให้เหมือนไปคิดค้น ไปสร้างคอลเลคชัน อาจารย์ที่สอนก็ชอบทุกคนเลย สอนดีทุกคน สนุกมาก คือเราพูดไม่ได้ แต่เราซี้กับอาจารย์ทุกคนเลย คนที่เรียนด้วยกันเป็นเด็กๆ หมด มีเราแก่อยู่คนเดียว แต่ตอนที่เรียนก็ไม่ได้รู้สึกเลยว่าแตกต่าง อย่างประสบการณ์เรื่องแพทเทิร์น เราก็จะเข้าใจเร็ว แต่พอครูสอนประวัติศาสตร์เราก็งงๆ น้องๆ ก็จะช่วย ต่างคนต่างแลกเปลี่ยนกัน ไม่ได้รู้สึกว่ามีความแตกต่างเรื่องอายุน้อยกว่าหรือมากกว่าเลย
หลังจากที่เรียนจบที่นี่แล้ว ได้นำความรู้อะไรจากการเรียนมาใช้ทำงานจริงบ้าง
เขาสอนให้เราควบคุมไม่ให้ทำงานสะเปะสะปะ อย่างเมื่อก่อนที่จะเรียน เราไม่ได้คิดเป็นคอลเลคชันอะไรเลย หยิบผ้าอะไรมาได้ก็ทำไปเรื่อยเปื่อย ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ CIDI Chanapatana สอนให้เราคิดเป็นคอนเซปต์ อันนี้มันควรจะไปต่อเนื่องจากอันนั้น หรืออันนั้นมันควรจะมาโยงมาได้ถึงอันนี้ แต่ก็ไม่ได้บังคับให้ทำ จะเปิดกว้างมาก อย่างที่เล่าไป หลังจากเกิดวิกฤต ก็คิดว่าเราจะเลี้ยงคนงานที่เหลืออยู่ยังไง ถึงจะมีรายรับมาจุนเจือพอ ก็เลยบอกตัวเองว่า ขอให้เราทำในสิ่งที่ชอบแล้วกัน จะลองทำเสื้อผ้าสีขาวดำดู เพราะว่าชอบใส่ วันๆ หนึ่งใส่แต่เสื้อผ้าขาวๆ ดำๆ แฟนเราก็ติงว่ามันยากนะ ทำแต่ขาวดำ เดี๋ยวมันก็จะตัน เห็นแบรนด์อื่นเขาทำก็เลิกไปเป็นสีกันหมดแล้ว เราก็บอกว่ารูปแบบของเรามันจะไม่เหมือนคนอื่นนะ จะมีดีเทลแปลกๆ ตามที่เราชอบใส่ งั้นขอลองดูว่ามันจะเป็นไปได้ไหม จนออกมาเป็นแบรนด์ BLACK SUGAR ถามว่าเรากลัวไหม ก็กลัวนะ เพราะเราไม่เคยค้าขายกับประเทศไทยเลย ส่งออกทั้งหมด
คือตั้งใจหากลุ่มลูกค้าเป็นคนไทยเลย
ใช่ เพราะว่าไม่รู้จะส่งออกไปไหน ยังไม่รู้จักตลาดเสื้อผ้าผู้ใหญ่ ที่เราติดต่ออยู่ก็คือทางตะวันออกกลาง ทางรัสเซีย ยูเครน ซึ่งตลาดอย่างนี้มันก็คงไม่เหมาะ อย่างนั้นขอลองขายประเทศไทยดู เราก็ยังเรื่องขาวดำอยู่ ก็เลยของลองสองแบรนด์พร้อมกัน อีกแบรนด์คือ BOTANIQUE ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ชอบนั่นก็คือเส้นใยธรรมชาติ สี earth tone คือคนละสไตล์เลย หลายคนก็บอกว่าทำไมเราเป็นคนสุดขั้วอย่างนี้ คือแบบอีกอันหนึ่งก็โหดร้าย แต่อีกแบบก็มานุ่มนวล สะอาดสะอ้าน เป็นธรรมชาติ แต่เราก็ชอบแบบนั้นจริงๆ อยากจะลองว่าอันไหนมันจะไปได้ อันไหนมันจะไปไม่ได้ ซึ่งเราไม่เคยสำรวจตลาดเลย ดูแต่ที่ตัวเองชอบ ไม่รู้ด้วยว่าเขาขายอะไรกัน ห้างก็ไม่เคยไปเดิน ทำที่ตัวเองชอบ ทำที่ตัวเองอยากทำจริงๆ ไม่รู้ถูกหรือผิด แต่ไม่อยากเขวตามตลาด
พอลองตลาดจริงแล้วผลตอบรับดีไหม
ครั้งแรกเราติดต่อไปทางห้าง Isetan เพราะคิดว่าเสื้อผ้าเราเหมือนจะเป็นสไตล์ญี่ปุ่น ใจหวังลึกๆ ว่า BLACK SUGAR มาแน่ๆ เพราะคิดว่ามันแรงกว่า เจ๋งกว่า ปรากฏว่าเขายังไม่เอา BLACK SUGAR แต่ยังดีเขายังสนใจ BOTANIQUE แล้วเขาก็ให้พื้นที่ทดลองขาย ยอดขายก็ใช้ได้ เขาก็ให้พื้นที่ประจำ แล้วให้เราลองขาย BLACK SUGAR ดู ปรากฏว่าลูกค้าต่างชาติสนใจมากกว่าคนไทย เพราะคนไทยบางทีเหมือนเขาไม่รู้จะใส่ไปไหน ทำให้ไม่ได้มีลูกค้ากลุ่มใหญ่ เป็นลูกค้ากลุ่มเล็ก แต่เป็นกลุ่มเล็กที่ใช่จริงๆ มีขาประจำอยู่
อยากให้เล่าถึงตอนที่ได้ไปโชว์งานที่ Vienna Fashion Week 2016 บ้าง เป็นอย่างไรบ้าง
เราไปเข้าโครงการของกรมการค้าระหว่างประเทศ แล้วได้ออกบูธแสดงผลงาน แล้วเจ้าของที่จัด Vienna Fashion Week เขาก็มาเดินสำรวจสินค้าไทย เพื่อเลือกแบรนด์ที่เด่นๆ ไปโชว์ที่งานเขา แล้วเราก็ได้ไป พอไปแล้ว เสียงตอบรับถือว่าดีมาก แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จขนาดที่ว่าจะมีออเดอร์เยอะขึ้น แต่ว่ามันเป็นเหมือนประตูด่านแรกที่ทำให้คนโซนยุโรปสนใจงานเรามากขึ้น
ในงาน Open House ของ CIDI Chanapatana ได้เอาประสบการณ์อะไรไปสอนรุ่นน้องบ้าง
ก็ไปเล่าประสบการณ์ตรงๆ นี่แหละ ชีวิตของตัวเองที่มันเป็นมาแบบนี้ มีเด็กๆ มาบอกว่า ถ้าหนูอายุเยอะๆ หนูจะเป็นแบบพี่เม เราก็บอกไปว่า อะไรทุกอย่างที่คิดว่าทำไม่ได้ ถ้าเราตั้งใจแล้วทำซ้ำๆ มันจะทำได้จริงๆ อย่างเช่นการวาดรูป ลองวาดซ้ำๆ รูปที่ 1 ถึงรูปที่ 10 มันก็ไม่เหมือนกันแล้ว จาก 1-10 มันพัฒนาไปไกลเลยนะ นี่หมายถึงวาดเองนะ แต่ถ้ายิ่งมีครูสอน ก็จะรู้เทคนิคมากขึ้น ถึงบอกว่าคนเราถ้าตั้งใจจะทำอะไรแล้ว ทำจริง แล้วทำซ้ำๆ มันก็ทำได้
ได้เห็นผลงานของรุ่นน้องที่จบมาจาก CIDI Chanapatana แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง
ถือว่าน้องๆ เขาไปไกลแล้ว ไม่ต้องไปแนะนำอะไรเขาแล้ว ซึ่งมีหลายแบรนด์มาก เป็นสิ่งที่ CIDI Chanapatana ช่วยสร้างขึ้นมา นักเรียนในคลาสทำแบรนด์ได้จริง ผลงานคือเป็นแฟชั่นตามยุคสมัย แต่ก็มีความเป็นตัวของตัวเองพอสมควร ซึ่งจะตามกระแสหรือไม่ตามกระแส แต่ถ้าทำแล้วไม่ฝืน ทุกอย่างก็จะง่ายและสนุก ตอนนี้ได้ไปดูแฟชั่นโชว์ มีหลายๆ แบรนด์ที่ผลงานดีมากๆ เห็นเด็กรุ่นใหม่เรียนแล้วสนุก แอบคิดเล่นๆ วันหลังไปเรียนใหม่ดีมั้ย
คิดว่าอะไรที่ทำให้ตัวเองยังไม่ยอมหยุดนิ่งที่จะเรียนรู้ แม้ว่าจะอายุมากแล้ว
ทุกวันนี้เรายังไม่ได้หยุดนิ่งในเรื่องการเรียน เรียนแฟชั่นตอนอายุ 43 จบตรีตอนอายุ 48 จบโทตอนอายุ 55 มันเหมือนความฝันตอนเด็กที่อยากเรียนเพาะช่าง อยากเรียนศิลปากร มันยังอยู่ในใจ เพราะฉะนั้นพอมันมีโอกาสก็ต้องเอาเสียหน่อย เป็นเพราะได้เรียนรู้อะไรแปลกใหม่ มันยังสนุกอยู่ ไปเรียนก็มีกลุ่มเพื่อน มีคอนเนกชัน ถ้าเราไม่สังคม ไม่สมาคมกับใคร เราก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่ทำมันก็เฉื่อย เหมือนทำของขายไปวันๆ เพราะว่าเพื่อนที่ทำเสื้อผ้าเด็กด้วยกัน เขาเลิกกันไปหมดแล้ว เหลือเราที่ยังอยู่ในวงการ ตอนนี้อายุ 62 ก็ยังไม่เคยคิดว่าเกษียณคืออะไร ยังเรียนรู้ได้อีกเรื่อยๆ
CIDI Chanapatana Open House 2019 เปิดให้ผู้สนใจในด้านการออกแบบสามารถร่วมฟังประสบการณ์จากศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ พร้อมตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับสถาบันและหลักสูตรการสอน สามารถสมัครเรียน Fashion Design หรือ Interior & Product Design ได้ในงานพร้อมรับโปรโมชั่นมากมาย
ลงทะเบียนเข้าร่วมงานฟรี! http://bit.ly/2ObwGZW