เชื่อเถิดว่าเกินกว่าครึ่งของคนที่ทำงานสายสร้างสรรค์และพัฒนา ต้องเคยพบกับภาวะ ‘สมองตัน’ คิดอะไรไม่ค่อยจะออก
แม้ว่าจะออกไปหาแรงบันดาลใจจากมากมายขนาดไหน ก็ดูเหมือนว่าไม่ค่อยจะเป็นผลนัก หากจะลองมองหาต้นตอของปัญหา ไม่ใช่ว่าคนคนนั้นด้อยประสิทธิภาพในการทำงานหรือความสามารถถดถอยแต่อย่างใด แต่กลับปรากฏภาพของคนคนนั้นกำลังนั่งคิดไอเดียอยู่หน้าแล็บท็อปตัวเดิม เบื้องหน้าเป็นพาร์ติชันเก่าๆ ที่เมื่อเหลือบขึ้นไป ก็จะเป็นเพื่อนร่วมงานกำลังคิ้วขมวดอยู่หน้าจอคอมพ์ หันไปทางซ้ายก็เห็นวิวตึกแถวสุดแออัด หันไปทางขวาก็เห็นแม่บ้านกำลังถูพื้นที่เปื้อนคราบดำๆ ที่ไม่รู้ว่าจะขาวขึ้นเมื่อไหร่
“The most creative ideas aren’t going to come while sitting in front of your monitor.” Scott Birnbaum ผู้บริหารของซัมซุงเคยกล่าวไว้อย่างนั้น แม้หน้าจอคอมพ์จะมีอินเทอร์เน็ตที่สามารถเข้าถึงได้ทุกสิ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไอเดียสุดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ถ้าหากสภาพแวดล้อมที่คุณกำลังนั่งอยู่นั้นไม่ได้เปิดกว้างเหมือนอินเทอร์เน็ต จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นองค์กรที่สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับโลกมีออฟฟิศสเปซที่สวยงาม เต็มไปด้วยฟังก์ชันสำหรับสร้างสรรค์ไอเดียอย่างเต็มที่ และที่สำคัญคือมีลักษณะไม่ตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามความต้องการ ยกตัวอย่างออฟฟิศสเปซของ Skullcandy แบรนดูหูฟังชื่อดังที่ตั้งอยู่เมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ มีโต๊ะทำงานที่ออกแบบมาคล้ายตัวต่อขนาดยักษ์สามารถเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการ สำนักงานใหญ่ของ LinkedIn ที่แคลิฟอร์เนีย ก็มีห้องซ้อมดนตรีขนาดใหญ่ไว้ให้พนักงานได้แจมดนตรีกันยามที่เครียดจากการทำงาน ซึ่งออฟฟิศสเปซที่ออกแบบมาเป็นอย่างดีก็สร้างผลลัพธ์เป็น productivity ที่เปลี่ยนโลกได้มานักต่อนักแล้ว
ในบ้านเราเองก็ไม่น้อยหน้า เพราะล่าสุด บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ก็ทุ่มงบประมาณกว่า 70 ล้านบาทสร้าง AP Academy Lab แล็บการเรียนรู้ครบวงจรด้านอสังหาริมทรัพย์แห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้คอนเซปต์ “Living Laboratory of the Future” ที่ออกมาเพื่อการเรียนรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์แบบไร้ข้อจำกัด บนพื้นที่กว่า 800 ตารางเมตร บนชั้น 31 ของอาคารเลครัชดา ถนนรัชดาภิเษก โดยฝีมือออกแบบของสถาปนิกชื่อดัง แจ๊ค – ปิตุพงษ์ เชาวกุล แห่ง Supermachine Studio สตูดิโอออกแบบไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ร่วมกับ ทีม AP Design Lab สเปซส่วนต่างๆ ถูกคิดและออกแบบเพื่อตอบโจทย์ด้านความคิดสร้างสรรค์แห่งอนาคต เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทิ้งรูปแบบการเรียนรู้แบบเดิมๆ ไปจนหมด
AP Academy Lab ประกอบไปด้วย 4 โซนสำคัญกับสเปซที่เอื้อต่อการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในทุกตารางนิ้ว ที่เราจะพาไปเยี่ยมชมต่อไปนี้
AP HOME LAB เปลี่ยนความซับซ้อนให้ง่ายขึ้น
สเปซหลักของ AP Academy Lab ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นห้องทดลองเพื่อศึกษาส่วนต่างๆ ของบ้าน โดยจำลองบ้านทั้งหลังยกมาไว้ยังพื้นที่แห่งนี้เลยทีเดียว โดยที่ผู้เรียนรู้จะได้ศึกษามาตรฐานการสร้างบ้านของ AP ในแบบ interactive ผ่านโซนต่างๆ ในบ้าน ทั้งโซนโครงสร้างพื้นและผนัง โซนระบบไฟและระบบสัญญานต่างๆ โซนโครงสร้างฝ้า หลังคา และบันได โซนห้องครัว โซนระบบประปาและสุขาภิบาล และปิดท้ายที่โซนภายนอกบ้าน ซึ่งทุกโซนได้จำลองการทำงานของพื้นที่นั้นๆ ออกมาจริงๆ เปิดโอกาสในการลงมือทำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ นอกจากนั้นยังมีโซน Material Space ส่วนจัดแสดงวัสดุที่ใช้ในโครงการต่างๆ ของ AP เช่น พื้น ผนัง กระจก อลูมิเนียม และ UPVC โดยตั้งแสดงอยู่ในพื้นที่ที่รับแสงจากธรรมชาติได้ดีที่สุด เพื่อให้เห็นพื้นผิวและสีสันของวัสดุได้ชัดเจนที่สุด และยังมีการติดตั้งเทคโนโลยี QR Code เพื่อบอกรายละเอียดและคุณสมบัติของวัสดุชิ้นนั้นๆ แบบลงลึกอีกด้วย แม้กระบวนการสร้างบ้านที่จะแสนซับซ้อนอย่างไร สเปซนี้ก็สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจง่ายที่สุด
COLLABORATION SPACE สร้างสรรค์แบบไร้กรอบ
สเปซส่วนที่ออกแบบมาเพื่อให้ความคิดสร้างสรรค์ได้เปิดกว้างแบบไม่ตายตัว เช่นเดียวกับออฟฟิศสเปซของบริษัทระดับโลก ที่โต๊ะ เก้าอี้ และโซฟา สามารถปรับเปลี่ยนได้หลากหลายฟังก์ชันตามความต้องการและจำนวนของผู้ใช้งาน จะนั่งทำงานตรงไหนหรือจะประชุมกับใครก็ไม่มีข้อจำกัดใดๆ ไอเดียใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมก็มีกระดานกระจกบนผนังรองรับ นอกจากนั้นยังมีห้องกระจกพิเศษสำหรับการประชุมในบรรยากาศแบบส่วนตัว และที่สำคัญคือวิวบนตึกสูงนอกกระจกที่เปิดกว้างรอบทิศ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลุกเร้าไอเดียสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่
PLAY SPACE ผ่อนคลายให้จุดประกาย
ไอเดียที่ดีมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สมองผ่อนคลายมากที่สุด นั่นจึงทำให้สเปซเพื่อพักผ่อนนี้มีความสำคัญไม่แพ้โซนไหนๆ โดยมีอุปกรณ์สำหรับทำกิจกรรมผ่อนคลายอย่างเกมส์โต๊ะฟุตบอล หรือจะเป็นกีฬายอดฮิตของเหล่านักคิดนักสร้างสรรค์อย่างปิงปองก็มีโต๊ะปิงปองให้เล่น ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นโต๊ะประชุมได้ทันทีเพียงแค่ลากเก้าอี้มานั่ง ซึ่งนอกจากบรรยากาศผ่อนคลายเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์แล้ว หลายครั้งบรรยากาศเช่นนี้ยังช่วยให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างกันแบบเป็นกันเอง สร้างคอนเน็คชั่นเพื่อสานต่อโครงการในอนาคตร่วมกันได้อีกด้วย
AP AUDITORIUM ทดลองสู่ผลลัพธ์ใหม่
สเปซสำหรับการประชุมและสัมมนาที่ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของการทดลองเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ๆ คลุมโทนสีของห้องด้วยสีขาว เทา และดำ มีการเลือกใช้เก้าอี้และโต๊ะสีขาว แม้จะดูเรียบง่ายแต่มีการออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในทุกส่วน ทั้งการเก็บเสียงภายในห้อง ระบบที่รองรับการนำเสนอผลงานเต็มรูปแบบ ซึ่งปกติสามารถจุคนได้กว่า 250 คน ขณะเดียวกันก็สามารถแบ่งพื้นที่เป็นห้องประชุมขนาดเล็กได้ถึง 3 ห้อง ตอบโจทย์ทุกการใช้งานอย่างแท้จริง
AP Academy Lab โดย เอพี อะคาเดมี จึงนับเป็นการยกระดับสเปซแห่งการเรียนรู้ที่ออกแบบได้อย่างชาญฉลาด ไม่มีกฎตายตัวของพื้นที่ แต่กลับตอบสนองการเรียนรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรได้อย่างสร้างสรรค์กลมกลืนและลงตัว
อ้างอิง
https://hbr.org/2014/10/workspaces-that-move-people
http://www.creativebloq.com/design/design-offices-912828
https://www.fastcompany.com/3054804/8-top-office-design-trends-for-2016
https://blog.hubspot.com/marketing/innovative-companies-changing-workplace