ปัญหาสิ่งแวดล้อม คือปัญหาที่มีข้อถกเถียงกันอยู่ตลอด ว่าใครที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จได้ บ้างก็ว่าเป็นหน้าที่ของนักสิ่งแวดล้อม บ้างก็ว่าเป็นหน้าที่ของผู้ผลิต และบ้างก็ว่าเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคทุกคน
ในขณะที่คำว่า ‘Circular Economy’ หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ก็ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ว่าการแก้ไขปัญหาขยะล้นโลกและเยียวยาสิ่งแวดล้อมต้องแก้ไขกันทั้งระบบ ด้วยการนำวัสดุที่ผ่านการผลิตหรือใช้งานแล้ว มาเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ เพื่อให้เกิดวงจรของการใช้ซ้ำจนไม่เกิดขยะอีกต่อไป เรียกว่าต้องอาศัยการร่วมมือกันจากหลายฝ่าย แต่คำถามคือ ณ ช่วงเวลานี้จะมีใครให้ความสำคัญกับ Circular Economy อย่างจริงจังบ้าง
The MATTER มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประเด็นนี้กับ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกและดีไซเนอร์ที่เชี่ยวชาญในการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ถึงความสำคัญของ Circular Economy รวมไปถึงประเด็นเรื่องบทบาทในความเป็นดีไซเนอร์ของเขาเอง ที่ช่วยยืนยันว่าทุกอาชีพมีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ไม่ต่างกัน
ส่วนตัวมองว่า คนไทยรู้จักคำว่า Circular Economy มากน้อยขนาดไหน
ผมว่าเป็นคำใหม่ที่สังคมไทยอาจยังไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร มันคือ recycle หรือเปล่า จริงๆ แล้วมันคือโลกของเศรษฐกิจทั้งหมด ไม่ใช่แค่ประเทศไทยหรืออุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง เป็นการเน้นที่วงจรการใช้วัสดุหรือ material flow เป็นหลัก จากที่หนึ่งผลิตแล้วมีการเหลือ อีกที่หนึ่งก็มารับต่อ ทำให้กลับมาสู่กระบวนการผลิตอีกครั้งหนึ่งจนครบวงจร ที่สุดแล้วในระบบ Circular Economy ที่สมบูรณ์จะไม่มีขยะอีกเลย ประเด็นสำคัญคือไม่ใช่ว่าในแต่ละอุตสาหกรรมจะต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่เป็นการที่หลายอุตสาหกรรมร่วมกันแก้ปัญหา เพราะวัสดุแต่ละวัสดุมีที่ไปของมัน แต่ทุกวันนี้เรายังเชื่อมต่อได้ไม่ครบวงจร
แสดงว่ามันควรเป็นวิธีคิดที่มาตั้งแต่การผลิตต้นทางเลยรึเปล่า
ควรเป็นวิธีคิดที่ควรมาตั้งแต่แรก แต่มันเกิดขึ้นหลังจากที่ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว โลกนี้ไม่สามารถที่จะเยียวยาตัวเองได้ มันพังหนักไวกว่าที่จะรักษาตัวเองให้กลับมาได้ ถ้าเราสามารถทำได้โดยการวางแผนตั้งแต่เริ่มต้น ว่าวัสดุเหล่านี้จะเดินทางไปที่ไหนต่อได้บ้าง เป็นเหมือนอุดมคติที่ทำให้เรามองเห็นอนาคตมากขึ้น แต่ทุกวันนี้อาจยังมองไม่เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมของเราจะไปไหนได้
แล้วการจะทำให้ Circular Economy เกิดขึ้นจริงต้องทำอย่างไร
ผมไม่คิดว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่งสามารถคิดได้ครบทุกเส้นทางขนาดนั้น แต่ถ้าทำแบบนั้นได้จะดีมาก เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้เกิด Circular Economy แบบสมบูรณ์จึงต้องมีหลาย party เข้ามาร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐเอกชนทุกภาคส่วน ซึ่งยากมาก แค่ภาคส่วนเดียวยังยากเลย ผมว่าต้องมีความฉลาดของภาครัฐในการประสานงานข้ามองค์กรให้ได้ อย่างเช่นผมอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ผมก็เริ่มพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่เหลือให้กลายเป็นพื้นผนังหรือฝ้า เพื่อทำให้เกิด Circular System ถ้าเหลืออีก ผมก็ต้องคิดว่าที่เหลือจะไปที่ไหนต่อ
การ upcycling ที่กำลังเป็นกระแสตอนนี้ คิดว่าการรับรู้ของคนทั่วไปเป็นอย่างไร
ผมว่ามันเป็นศัพท์ใหม่ที่เราแทบจะยังไม่คุ้นเหมือนกัน จะรู้จักแต่แค่ recycle ซึ่งก็คือการนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ในกระบวนการนั้นอาจจะทำให้คุณภาพต่ำลงก็ได้ เพียงแต่ว่าการ upcycling เป็นความมุ่งมั่นหนึ่งในการนำเศษวัสดุที่มีมาเพิ่มศักยภาพใหม่ๆ ให้คนอยากใช้มากขึ้นและมีมูลค่าสูงขึ้น โดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ราคาก็ต้องสูงมากขึ้น สวยงามมากขึ้น ซึ่งการ upcycling ก็คือขาหนึ่งของการนำกลับมาใช้ใหม่หรือเป็นส่วนหนึ่งของการ recycle ด้วยซ้ำ การออกแบบสำคัญกับการ upcycling มากๆ เพราะนั่นคือวิธีการที่ง่ายที่สุดในการแปรรูปสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าไปสู่หัวใจของคนที่อยากจะใช้จริงๆ เพราะการ recycle ไม่ได้แคร์ความต้องการของคนที่อยากจะใช้ แต่จะแคร์แค่กระบวนการผลิตที่เร็ว ง่าย แมส แต่การ upcycling ต้องแคร์ไปหมดเลย ทั้งการใช้งาน ราคา ดีไซน์ การออกแบบจึงสำคัญมาก
พอสินค้า upcycling มีราคาแพง ส่งผลให้คนอยากจะใช้น้อยลงไหม
ผมตอบง่ายๆ ว่าการที่สินค้า upcycling จะแพงหรือถูกขึ้นอยู่กับกระบวนการ อย่างแรกคือดูว่ามีกระบวนการใช้มือทำเยอะไหม ยิ่งถ้ามีเยอะ ต้องแพงแน่ๆ ประเทศเราเป็นประเทศคราฟต์ เป็นงานทำมือ งานประดิดประดอย การคิดราคาสินค้าก็ต้องคูณตามที่เขาผลิตจริงๆ แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็น manufacturing process หรือ กระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้ ราคาจะถูกกว่าแน่นอน ยิ่งตอนนี้มีการผลิตโดยใช้ robotic หรือ AI จนเกิดเป็น mass production ทำให้การผลิตไม่ขึ้นอยู่กับเวลาของมือแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับความเร็วของเครื่องจักร นี่คือความแตกต่างว่าทำไมสินค้าจึงถูกหรือแพง มันขึ้นอยู่กับกระบวนการ จริงๆ แล้วดีไซเนอร์ที่เก่งเรื่องคราฟต์ก็จะไม่เก่งในเชิงอุตสาหกรรมหรือสายการผลิต และไม่ได้เจอกับโรงงานที่ผลิตเก่งๆ ถ้าสองกลุ่มนี้มาเจอกันได้ จะเกิดจุดที่คนต้องการจริงๆ คือการเปลี่ยนงานคราฟต์เป็นกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรม นี่คือสิ่งที่เราต้องเชื่อมต่อกันโดยที่ไม่ต้องพยายามมากเกินไป
ดูเหมือนว่า ประเด็นหลักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ เป็นเรื่องของการใช้จ่ายในราคาที่สูงขึ้น มองตรงนี้อย่างไร
ตลกมากตรงที่บอกว่าคนรายได้น้อย ต้องเลี้ยงปากท้องตัวเอง ทำให้ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้ จริงๆ แล้วคนรายได้น้อยทำลายสิ่งแวดล้อมโดยที่สิ้นเปลืองเงินตัวเองมากกว่า เช่น ดื่มน้ำก็ต้องใช้หลอด หรือเวลาไปนั่งกินข้าวตามร้านอาหาร ทำไมต้องใช้แก้วพลาสติก เป็นแก้วปกติไม่ได้เหรอ นี่คือความสิ้นเปลืองที่ถูกชาร์ตไปทุกวัน ต้องเสียเงินกับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา ผมว่ามันขึ้นอยู่กับความตั้งใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่า มันไม่ได้เปลืองขึ้น แต่จะประหยัดลงถ้าเราตั้งใจที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมกันทั้งระบบ พ่อค้าแม่ค้าก็ไม่ต้องให้หลอด แก้ว ถุงพลาสติก ประเด็นคือการใช้พลาสติกแบบ single used plastic หรือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เปรียบเหมือนเราเอาของที่อายุร้อยปีมาใช้แค่ 5 นาที
จะทำอย่างไรให้คนทั่วไปรู้สึกว่าปัญหาเหล่านี้ใกล้ตัวกว่าที่คิด
ถ้าเราบอกว่า อากาศที่เราสูดเข้าไปมีค่า PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ซึ่งเราต้องหายใจเข้าไปตลอดเวลา นี่ทำให้รู้สึกใกล้ขึ้นไหม ในอนาคตอันใกล้ 5-10 ปี อากาศบริสุทธิ์อัดกระป๋องขายต้องได้รับความนิยมมากแน่ๆ อย่างแต่ก่อนเราไม่เคยคิดว่าจะมีการเอาน้ำมาอัดขวดขายแบบนี้ รุ่นพ่อผมเคยบอกว่าใครจะมาซื้อน้ำขวดละ 10 บาท ทุกบ้านเปิดก๊อกต้มเอาก็ได้แล้ว แต่ตอนนี้การซื้อน้ำขวดเป็นเรื่องปกติ เราจะรอถึงตรงนั้นเหรอ นี่คือสิ่งที่ไม่ได้ไกลตัวเลย
การที่คนเพิ่งตระหนักรู้ตอนนี้ถือว่าสายไปไหม
ถือว่าสายไปมากเลย แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยตอนนี้เลยก็จะยิ่งเละ เพราะฉะนั้นถ้าเราตื่นตอนนี้ก็ทำตอนนี้ คนที่ยังไม่ตื่นก็ไปปลุกเขาหน่อย คนที่ตื่นนานแล้วก็ไปช่วยเหลือเขา ทุกอย่างจะไปได้เร็วขึ้น ต้องยอมรับสภาพแวดล้อมรอบตัว อากาศ และน้ำเปลี่ยนไป อาหารที่เรากินก็เต็มไปด้วยสารตกค้าง เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงมีคนป่วยเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น ทำไมถึงมีคนที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้เยอะขนาดนี้ ทำไมเราถึงได้มีคนที่เป็นโรคผิวหนังแปลกๆ มากมาย พวกเราตอนนี้ถือว่ากลายพันธุ์ไปแล้ว เราไม่มีทางรู้ว่ามีอะไรแปลกปลอมอยู่ในร่างกายเรา เรากลายพันธุ์ไปพร้อมๆ กันเลยไม่รู้ว่าเราเปลี่ยนไปแค่ไหนแล้ว อีกสักร้อยปีเราคงเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง เหมือนตอนนี้ร่างกายกำลังพยายามทำความเข้าใจอยู่
ทำไมทุกอาชีพถึงสำคัญและมีบทบาทต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ผมคิดเสมอว่า ทุกอาชีพมีบทบาทของตัวเองในการรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว ผมสงสัยว่าทำไมเวลามีปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคมถึงต้องคอยวิ่งไปหาคณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ไปหานักชีววิทยา นักเคมี ทำไมเขาไม่มาหานักออกแบบอย่างผมบ้าง ผมก็อยากจะแก้ปัญหา แต่เพราะไม่มีใครคิดว่าผมช่วยแก้ปัญหาได้ มีแต่คนมองว่านักออกแบบอย่างผมเป็นคนที่สร้างกิเลสให้เกิดการบริโภคมากขึ้นเกินความจำเป็น เขาไม่ได้มองเราในเชิงแก้ปัญหา แต่หาว่าเราเป็นคนสร้างปัญหาด้วยซ้ำ นี่คือจุดเริ่มต้นทำให้ผมหันมากำจัดปัญหาขยะก่อสร้างของตนเอง ผมออกแบบตึกก็จริง แต่ในไซต์ก่อสร้าง มันเต็มไปด้วยขยะที่ต้องขนไปทิ้งทุกวัน นั่นก็คือเงินทั้งนั้น ผมเลยเก็บสิ่งเหล่านี้มารีไซเคิล ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำวัสดุตกแต่งต่างๆ แต่ผมก็มาคิดว่าพอทำไปนานๆ เข้า ถ้าไม่มีนักสื่อสาร ไม่มีคนที่ทำข่าวต่างๆ ผมก็คงจะเก็บขยะจากไซต์ก่อสร้างไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีใครรู้ ซึ่งตอนนี้มีนักสื่อสารที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม มาช่วยเล่าเรื่องราวทำให้สังคมในวงกว้างเข้าใจขึ้นได้ แม้แต่ศิลปินเอง อย่างผลงานของศิลปินไต้หวันที่ชื่อว่า ‘Polluted Water Popsicles’ ที่เอาน้ำสกปรกจากที่ต่างๆ ในเมืองมาทำเป็นไอติมแท่ง ให้คนเห็นว่าความสกปรกมันเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นทุกอาชีพจึงมีบทบาทของตัวเองในการทำให้โลกนี้ดีขึ้น
การที่องค์กรใหญ่ๆ ที่เริ่มเข้ามาสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คิดว่าส่งผลต่อสังคมในวงกว้างอย่างไร
การที่เราเริ่มเห็นคนในระดับสูงมากๆ และมีกำลังที่จะพัฒนาอย่างองค์กรใหญ่ๆ หันมาสนใจเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมจริงจัง ผมมั่นใจว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้มหาศาลมาก อย่างพีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC เองก็มีโครงการอัพไซคลิ่ง เดอะ โอเชี่ยน ไทยแลนด์ (Upcycling the Oceans, Thailand) ที่ทำร่วมกับ ททท. และมูลนิธิอีโคอัลฟ์ ที่เก็บขยะพลาสติกจากทะเลแล้วนำมาทำเป็นเสื้อ สินค้าแฟชั่น เป็นหนึ่งในการทำงานตามหลัก Circular Economy โดยใช้หลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ซึ่งพอผ่านนักวิจัยแบบผม ก็ช่วยทำให้พลาสติกเหล่านั้นกลายเป็นวัสดุที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนเกิดเป็น Circular System ได้ นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นในอนาคต ถ้าองค์กรมองล่วงหน้า 20-30 ปี ปัญหาแก้ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เค้าพร้อมเข้ามาช่วยเหลือก่อน คนตัวเล็กตัวน้อยก็เป็นส่วนที่คอยซัพพอร์ต ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ
มองเทรนด์ของการรักษาสิ่งแวดล้อมในอนาคตไว้อย่างไร
ในอนาคตทุกคนจะกังวลเรื่อง well being หรือคุณภาพชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพราะว่ารักษ์โลก แต่เป็นเพราะความเห็นแก่ตัว เพราะฉันยังไม่อยากตาย ไม่อยากจะกลายเป็นพันธุ์เป็นอย่างอื่น ฉะนั้นถ้าใครที่ทำอยากอะไรเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้จะพัฒนาไปได้อย่างดีแน่นอน ช้อนก็มาจากการรีไซเคิล แก้วน้ำก็ปรับมาใช้แบบแก้วพลาสติกย่อยสลายได้ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ก็มาจากวัสดุธรรมชาติ อาหารออร์แกนิกก็จะรุ่งเรือง มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้วิถีชีวิตของเราดีขึ้นและสมดุลขึ้น