เวลาตำรวจอยากสืบเรื่องอะไร โดยมากถ้าไม่แวะไปร้านเหล้า อีกร้านหนึ่งที่เป็นแหล่งรวมนักเล่า ก็คือ สภากาแฟ
กล่าวคือ ร้านกาแฟหลายแห่งไม่ใช่แค่ร้านขายกาแฟ แต่เป็นสถานที่ที่คนมารวมตัวกันเพื่อเข้าสังคม พูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องราวทั้งดีทั้งคาวให้กันและกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “ร้านกาแฟ” นั้นมีบทบาทกับชุมชนอย่างแยกไม่ออก
ซึ่งบทบาทของร้านกาแฟที่มีต่อชุมชนนั้นมีมานานและกระจายอยู่ในวัฒนธรรมต่างๆ เริ่มมาตั้งแต่ยุคแรกในดินแดนอาหรับ ช่วงศตวรรษที่ 15 ที่ชาวมุสลิมนำกาแฟมาปลูกกันอย่างแพร่หลาย จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมดื่มกาแฟในช่วงเทศกาลรอมดอน เพราะกาแฟช่วยคลายง่วงทำให้ผู้คนสามารถทำพิธีในตอนกลางคืนได้
จากนั้นก็พัฒนาจนเกิดเป็นร้านกาแฟ (Coffee house) ในดินแดนของชาวมุสลิม ซึ่งก็น่าจะพอเดาออกว่า เมื่อผู้คนมารวมตัวกันที่ร้านกาแฟ ร้านกาแฟในยุคนั้นก็กลายเป็นชุมชนไม่ต่างจากยุคนี้เลย คือเป็นพื้นที่ที่คนมาแลกเปลี่ยนข่าวสาร ฟังดนตรี ดูการละเล่นการแสดงต่างๆ และยังเป็นชุมชนของปัญญาชนที่มาถกเถียงและคิดลงมือทำอะไรร่วมกัน
ต่อมาในต้นศตวรรษที่ 17 กาแฟก็เป็นอีกหนึ่งพืชพรรณที่ชาวยุโรปเดินทางไปสำรวจดินแดนนู่นนี่พกติดกลับมาที่บ้านตัวเอง เพียงแต่ในช่วงแรกคนยุโรปไม่เข้าใจเจ้าเมล็ดสีน้ำตาลดำๆ นี่นัก ก็เลยพากันเข้าใจไปว่าเป็นเครื่องดื่มของปีศาจ จนวันหนึ่งอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ในยุคนั้น คือพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 8 (Clement VIII) ยอมดื่มกาแฟที่พ่อค้าชาวเวนิสนำมาให้จากนั้นผู้คนก็เปิดใจดื่มกาแฟตามพระสันตะปาปามากขึ้นกาแฟเลยเปลี่ยนโฉมจากเครื่องดื่มซาตานมาเป็นเครื่องดื่มของชนชั้นสูงในยุโรป
ต่อมาในช่วงปี 1645 ก็เกิดร้านกาแฟขึ้นในยุโรปคือเริ่มจากที่อิตาลี จากนั้นกระจายเกิดขึ้นไปทั่วในตัวเมืองของฝรั่งเศส อังกฤษ ออสเตรีย เยอรมัน โดยร้านกาแฟถือเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยใหม่ และเป็นแหล่งที่ผู้คนแวะเวียนมาสังคม มาแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ จนมีคำพูดในอังกฤษเรียกร้านกาแฟว่า “มหาวิทยาลัยเพนนี” (Penny Universities) คือมีเงินเพนนีไว้จ่ายค่ากาแฟนั่นกินในร้าน ก็จะได้ความรู้กลับไปมหาศาลเหมือนลงเรียนวิชาในมหาวิทยาลัย หรือคำว่า KaffeeKlatsch ในภาษาเยอรมันซึ่งแปลว่าวงเม้าท์ซุบซิบนินทาของสาวๆ ซึ่งคงพอเดาได้ว่าคนยุคนั้นก็ใช้ร้านกาแฟเป็นแหล่งเม้าท์มอยชาวบ้านไม่ต่างจากคนยุคนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ ร้านกาแฟยังเป็นแหล่งรวมตัวของผู้คนในวงการต่างๆ เช่น ร้านกาแฟในอังกฤษอย่างร้าน Llyod ที่ตั้งใกล้แม่น้ำเทมส์ในกรุงลอนดอน เป็นร้านกาแฟสุดฮิตของบรรดาพ่อค้า เจ้าของเรือ เจ้าของสินค้า นายธนาคาร นายหน้าซื้อขายสินค้า ที่แวะเวียนมาดื่มกาแฟและพูดคุยเรื่องธุระต่างๆ ดังนั้นบรรดาดีลต่างๆ จึงเกิดขึ้นในร้านกาแฟแห่งนี้ ทางด้านเจ้าของร้านอย่างเอ็ดเวิร์ด ลอยด์ (Edward Lloyd) ขายกาแฟไปเรื่อยๆ ก็ชักจะไม่ได้ขายแค่กาแฟ แต่ต้องคอยเป็นธุระคอยจัดหาข่าวการเดินเรือให้คนโน่นคนนี้ และคอยช่วยเรื่องสัญญาประกันภัยให้ลูกค้าชาวเรือต่างๆ สุดท้ายก็จับพลัดจับผลูก่อตั้งบริษัทประกันภัยทางทะเลขึ้นมา ซึ่งต่อมาเป็นบริษัทประกันที่มีชื่อเสียงมาก เพราะถือเป็นต้นแบบธุรกิจประกันภัยขนาดใหญ่
หรืออีกร้านหนึ่งในฝรั่งเศส คือ Cafe Le Procope ซึ่งทุกวันนี้ถือเป็นร้านกาแฟที่เก่าแก่ที่สุดในปารีส โดยร้านนี้มีชื่อเสียงเนื่องจากตั้งอยู่ใกล้โรงละคร Comedie-Francaise ดังนั้นลูกค้าร้านกาแฟนี้ส่วนใหญ่จึงเป็นนักแสดง คนในวงการศิลปะ นักปรัชญา นักเขียน นักคิดมากมาย แวะเวียนมาพบปะกันที่นี่เช่นรุสโซ่บัลซัคฮูโกวอลแตร์ อีกทั้งร้านนี้ยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งพบปะที่ใช้ในการพูดคุยเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส
และในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันคือ ศตวรรษที่ 17 กาแฟก็เริ่มเข้าไปอเมริกา โดยข้ามไปในฐานะเมืองอาณานิคมของอังกฤษ ทว่าช่วงแรกคนในอเมริกายังนิยมดื่มชาตามอังกฤษ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่ชาวอาณานิคมลุกขึ้นต่อต้านการบีบบังคับให้ซื้อชาของบริษัทบริติชอินเดียเท่านั้น หรือที่เรียกกันว่า Boston Tea Party ชาวอเมริกาเลยเปลี่ยนจากดื่มชามาเป็นกาแฟแทน เนื่องจากกาแฟมีราคาถูกกว่า เพียงแต่คนในอเมริกาจะนิยมดื่มกาแฟในบ้าน มากกว่าจะเป็นร้านกาแฟเหมือนในยุโรป
ทว่าอเมริกา คือจุดพลิกผันที่ทำให้กาแฟกลายเป็นสิ่งของชินตาในปัจจุบัน เพราะอเมริกานั้นมีอาณาเขตที่กว้างใหญ่มาก ฉะนั้นคนที่นี่จึงพยายามเอาชนะอุปสรรคในการเก็บรักษาอาหารต่างๆ ในการขนส่งไกลๆ เทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามาเปลี่ยนกาแฟคือ บรรจุภัณฑ์หรือกระป๋องสุญญากาศที่ทำให้กาแฟคั่วยังคงรสชาติและกลิ่นไว้ได้ จากจุดนี้เลยทำให้กาแฟยกระดับกลายมาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมและสร้างความต้องการในตลาดมากขึ้น จนทำให้เกิดขยายแหล่งปลูกกาแฟมากมายในเวลาต่อมา
ปัจจุบัน คงไม่ต้องบอกว่า วัฒนธรรมการดื่มกาแฟนั้นเกิดขึ้นในหลากหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากยุคอาณานิคมที่ชาวยุโรปนำกาแฟมาเผยแพร่ในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก และในยุคร่วมสมัยที่วัฒนธรรมร้านกาแฟ คาเฟ่ฮิปๆ ได้แทรกซึมเข้ามาผ่านรูปแบบไลฟ์สไตล์ความเป็นเมือง อย่างบ้านเราในยุค ก็คือร้านกาแฟ “โกปี๊เตี่ยม” ทางภาคใต้ที่มักเป็นจุดรวมตัวของชาวบ้านหรือที่เรียกว่า สภากาแฟ ถ้าอยากรู้ข่าวสารหรือสัพเพเหระก็ให้ไปที่สภากาแฟเหล่านี้
ตัดภาพมาในเมืองหรือหัวเมืองต่างๆ ร้านกาแฟทุกวันนี้ก็มีบทบาทเป็นแหล่งชุมชนไม่ต่างจากร้านกาแฟในอดีต เช่น ยังเป็นจุดเม้าท์มอยนัดเจอของเหล่าสาวๆ ยังเป็นพื้นที่ไว้คุยงานคุยธุรกิจ ยังเป็นแหล่งนัดพบของคนในหลากหลายวงการ
แน่นอนว่าอ่านมาถึงตรงนี้ ก็มีร้านกาแฟที่อยากมาแนะนำคือ Class Café เพราะเป็นร้านกาแฟที่ไม่ได้แค่ขายกาแฟ แต่วางให้เป็นแหล่งรวมตัวของผู้คนทั้งในย่านออฟฟิศ มหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ แต่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ทางอีสานอีกด้วย เช่น โคราช (นครราชสีมา) บุรีรัมย์ ขอนแก่น อุดรธานี โดย Class Café เปิดบริการ 24 ชั่วโมง และออกแบบเพื่อให้เป็นพื้นที่ที่คนมาใช้เวลาร่วมกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.silpa-mag.com/history/article_8263
https://espressocoffee.quora.com/The-worlds-most-historic-coffee-houses
http://www.ncausa.org/about-coffee/history-of-coffee
http://www.oic.or.th/th/education/insurance/about/starting-point
http://www.travelsignposts.com/Paris/food/le-procope#forward