วินาทีนี้หากพูดเรื่องการศึกษาขึ้นในวงสนทนาใด ชื่อของครูจุ๊ย-กุลธิดา เรืองรุ่งเกียรติ ก็จะถูกเอ่ยขึ้นมาด้วยเสมอ
แม้ปัจจุบันครูจุ๊ยจะเป็นที่จดจำในบทบาทด้านการเมือง ด้วยตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่มากขึ้น แต่ความเป็นนักวิชาการอิสระที่วิจัยการศึกษาไทยและฟินแลนด์มาอย่างต่อเนื่องก็ยังคงมีอยู่ในตัวครูจุ๊ยอย่างเข้มข้น เราจึงชวนเธอมาเล่าให้ฟังว่าบ้านเขาทำให้ Coding เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในห้องเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยได้อย่างไร แล้วบ้านเราล่ะ!? พร้อมแค่ไหนสำหรับการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมให้อนาคตของชาติ
ตอนนี้วงการการศึกษาทั่วโลกเขาสนใจเรื่องอะไรกันบ้าง
ทักษะของการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี เพราะเรากำลังอยู่ในโลกที่ความแตกต่างหลากหลายมันกำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติมากๆ ไปแล้ว ทักษะที่เรียกว่าความเข้าอกเข้าใจคนอื่น (Empathy) คือการพยายามเข้าใจเขาในบริบทที่เขาเป็นเขา เริ่มเป็นเทรนด์ที่หลายประเทศอย่างเดนมาร์ก ก็เริ่มเอาเข้ามาสอนเด็กๆ แล้วนะคะ เรื่องต่อมาคือสิ่งแวดล้อม เด็กๆ ต้องเริ่มมีความเข้าใจต่อสิ่งแวดล้อมในสเกลของโลก ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมรอบตัวอีกต่อไปแล้ว
และแน่นอนว่า เทคโนโลยีต่างๆ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ยกตัวอย่างที่ฟินแลนด์ ลองย้อนกลับไปดูชื่อวิชาที่เขาใช้ก่อนนะคะ ฟินแลนด์ใช้คำว่า Ohjelmointi แปลตรงๆ หมายความว่า Algorithmic Thinking มันก็คือ Computational Thinking หรือการคิดเชิงระบบนั่นแหละค่ะ ฟินแลนด์มองว่า ‘ทักษะคิด’ สำคัญที่สุด เป็นเป้าหมายของการศึกษา โดยก่อนที่จะบรรจุให้อยู่ในหลักสูตรแกนกลาง ฟินแลนด์ใช้เวลาประมาณ 2 ปีในช่วงเปลี่ยนผ่านนะคะ โดยให้โรงเรียนอาสาสมัครค่อยๆ ทำตามความพร้อม
ในฟินแลนด์มองว่า Computational Thinking ไม่ใช่วิชาแยกที่เพิ่มขึ้นมาแต่ต้องเป็นวิชาที่บูรณาการเข้ากับวิชาอื่นๆ ได้ โดยชั้นเรียนประถมศึกษาปีที่ 1-6 คนสอนก็คือครูประจำชั้น หรือ Classroom Teacher ซึ่งมีทักษะที่สอนได้ทุกวิชาอยู่แล้ว หมายความว่าเขาก็จะสามารถค่อยๆ นำเสนอทักษะคิดให้เข้ากับเด็กๆ ในแต่ละวิชา ในแต่ละช่วงชั้นของตัวเองได้ เพราะเขาอยากให้เด็กๆ มองว่าทักษะทักษะการคิดอย่างเป็นระบบอยู่ในชีวิตประจำวันโดยหลักสูตรของฟินแลนด์บอกไว้ชัดเจน ว่าในระดับชั้นป.1 – ป.2 แค่ให้เด็กๆ มีประสบการณ์ในการใช้สื่อดิจิทัลต่างๆ แล้วก็ Programing เบื้องต้น
กลับมาใกล้ๆ อย่างสิงคโปร์เขามี Code for Fun พยายามทำให้มันเป็นเรื่องที่มันง่ายและใกล้ตัวเด็กเริ่มในบางโรงเรียนมาตั้งแต่ปี 2014 แต่จะเริ่มทุกโรงเรียนในปี 2020 เขาใช้เวลา 6 ปีเพื่อเรียนผิด เรียนถูก พัฒนา แก้ไข จัดการ ในโรงเรียนสเกลเล็ก แล้วก็ค่อยขยายสู่โรงเรียนทั้งประเทศ นี่ขนาดเรากำลังพูดถึงประเทศที่มีไซซ์ไซส์เล็กมาก อย่างสิงคโปร์นะคะ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ เป็นประเทศเล็กมาก ก็ยังใช้การดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป
คิดว่าเด็กในทศวรรษที่แล้วต่างจากเด็กในทุกวันนี้อย่างไรบ้าง
อัตราเร็วของการเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งหนึ่งที่คิดว่าแตกต่างกันมากที่สุด 10 ปีที่แล้วเราอาจจะไม่ได้เจอการเปลี่ยนแปลงที่มันหมุนเร็วเท่ากับเด็กในยุคปัจจุบัน เรื่องแรก ลองนึกง่ายๆ ว่าความเร็วของข้อมูลที่เดินทางจากจุด A ไปถึงจุด B หรือจาก1 คนไปถึง 100 คน 1,000 คนก็ต่างกันมาก ปัจจุบันแค่เสี้ยววินาทีข้อมูลก็เดินทางถึงกันแล้ว
เรื่องที่ 2 คือเราพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเด็กในยุคปัจจุบันเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี และมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเขาจริงๆ เด็กปัจจุบันอาจจะไม่ตั้งคำถามแล้วว่าอินเทอร์เน็ตมันต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง แต่เด็กจะถามว่าตกลงแล้วอินเทอร์เน็ตมันคือพื้นที่แบบไหน จับต้องได้ไหม หรือจับต้องไม่ได้กันแน่ ซึ่ง 2 สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นปัจจัยนำไปสู่การเรียนรู้ที่แตกต่างกันของเด็กในทุกวันนี้กับเด็กเมื่อ 10 ปีก่อน
ทุกวันนี้ทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้เหมือนกัน แต่การดูแลเด็กๆ ของผู้ปกครอง อาจจะไม่ได้ทั่วถึงเหมือนกันหมด รวมทั้งความรู้ความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์ก็ต่างกัน อย่างนี้ ผู้ปกครองเองก็ส่งผลกับพฤติกรรมการใช้ Gadget ของเด็กด้วยใช่ไหม?
ในกลุ่มที่พ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจกับในกลุ่มที่พ่อแม่ยังขาดความเข้าใจอยู่ซึ่งเราต้องมาดูก่อนว่า โครงสร้างต่างๆ มันเอื้อให้เขาทำแบบนั้นไหม ในเมื่อมีเด็กบางคนคุณแม่ต้องทำงาน ไม่มีเงินจ้างพี่เลี้ยงก็ต้องกระเตงลูกไปทำงานด้วย แล้วในเมื่อเครื่องมือมันอยู่ตรงนั้น เขาก็ใช้เครื่องมือนี้ช่วยเลี้ยงลูก โดยที่ไม่เข้าใจว่าผลลัพธ์ที่จะตามมาคืออะไร
เด็กๆ ได้รับการสนับสนุนในการใช้เครื่องมือด้วยความเข้าใจเอาไปใช้ทำสิ่งนี้ลองเล่นสิ่งนี้ได้ยังไงบ้าง กับเด็กที่ให้เครื่องมือไปไม่บอกอะไรเลย ผลลัพธ์มันย่อมต่างกันมากๆ แน่นอนว่าเราต้องปล่อยพื้นที่ให้เขาได้สำรวจ ให้เขาได้สนุกสนานกับอุปกรณ์ แต่ว่าหากปราศจากการชี้แนะโดยสิ้นเชิงเลย ก็จะเกิดปัญหาอีกแบบหนึ่ง ปัญหานี้ที่จุ๊ยกำลังพูดถึงก็คือ ถ้าเรามองถึงอัตราการเป็นเด็กสมาธิสั้นเทียม ซึ่งมาจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันมาจากการใช้จอตั้งแต่เด็กๆ เด็กตัวเล็กๆ อายุน้อยเกินไปแล้วก็ใช้จอตลอดเวลา มันกำลังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย
ใน 10 ปีข้างหน้าครูจุ๊ยมองว่าโลกจะเป็นไปแบบไหน
จุ๊ยมองว่ามันจะเร็วยิ่งกว่านี้อีก มองว่า ‘การเปลี่ยน’ จะเกิดขึ้นเร็วกว่านี้ มองว่าจะมีการที่จะอยู่ได้ คนๆ หนึ่งอาจจะต้องมีทักษะไม่เฉพาะทางมากๆ ไปเลย ก็จะต้องเป็นทักษะที่หลากหลายมากพอ คนที่อยู่ตรงกลางอาจจะลำบากพอสมควร ในแง่ของทักษะมันจะมีความ Extreme มากขึ้นในอนาคต เด็กๆ อาจจะต้องเหนื่อยมากขึ้น เพราะว่าอะไร เพราะว่าเขาจะต้องอยู่กับปัญหาที่มันเกิดขึ้นจากยุคก่อน และต้องพยายามแก้มันเพื่อการเอาตัวรอด พร้อมกับที่จะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่มันหมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆ
ผู้ใหญ่ในทุกวันนี้เตรียมพร้อมอะไรให้กับเด็กๆ ในวันข้างหน้าได้บ้าง
คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำความเข้าใจถึงเทคโนโลยีที่อยู่รอบๆ ตัวเด็ก ไม่ได้หมายความว่าเราทำความเข้าใจเพื่อที่จะห้ามเขาได้ถูก แต่ทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้ใช้ไปพร้อมๆ กับเขา อยู่ข้างๆ เขา พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเขาได้ว่า ถ้าเกิดสิ่งนี้ขึ้น เราจะแก้ปัญหามันอย่างไรดี เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่มันก็มีด้านมืดของมันเหมือนกัน เป็นด้านที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจ มันไม่ใช่ยุคที่จะต้องมาห้ามกันอีกต่อไปแล้ว เพราะมันเป็นไปไม่ได้ อย่างไรเสีย ลูกคุณก็จะต้องอยู่กับเทคโนโลยีไม่มากก็น้อย
อีกอย่างหนึ่งที่เราทำได้ในฐานะที่เราเป็นผู้ใหญ่ คือการมอบพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มีความคิดสร้างสรรค์ หรือการได้ล้มลุกคลุกคลานบ้าง ณ ปัจจุบัน เราไม่ได้มีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้มีความผิดหรือล้มลุกคลุกคลานมากเพียงพอ เรามีระบบการศึกษาที่มันแข็งทื่อมากๆ ทำให้เด็กๆ จำเป็นจะต้องทำแบบเดียว แล้วทำผิดไม่ได้ ถ้าผิดหมายถึงชีวิตคุณไม่มีโอกาสจะแก้ไขอีกครั้งหนึ่งซึ่งมันเป็นระบบที่ไม่สามารถช่วยให้เด็กๆ เติบโตมาเพื่อตอบโจทย์อนาคตได้อีกต่อไป
พื้นที่ที่เขาจะกล้าคิดกล้าลอง มันจำเป็นมากๆ เพราะมันเป็นพื้นฐานต่อไปที่เขาจะสามารถพัฒนาทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดต่อยอด ความคิดใดๆ ก็ตามให้เขาเอาไปใช้กับปัญหาที่ครูเอง ผู้ใหญ่เอง ก็ไม่มีวันรู้ ว่ามันจะเป็นอย่างไร ในอนาคต คุณตอบไม่ได้ 100% ว่าอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า จะเป็นแบบนี้แน่ๆ ไม่มีใครตอบได้ ดังนั้นสิ่งที่คุณทำให้เด็กๆ ได้คือเตรียมพร้อมให้เขากล้ารับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และมีทักษะที่จำเป็นเพื่อจะอยู่กับโลกในอนาคตของเขาได้
ทักษะของเด็กในวันนี้ที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในอนาคตข้างหน้าได้คืออะไรบ้าง
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขึ้นมันมาพร้อมกับความซับซ้อนของบริบทต่างๆ ทักษะสำคัญมากๆ ที่เด็กๆ จะต้องมีก็คือทักษะการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ทักษะคิดตรงนี้สำคัญมากๆ ไม่ว่าจะเป็น Systematic Thinking หรือว่า Critical Thinking ที่เป็นทักษะเชิงวิพากษ์
อีกอย่างหนึ่งที่เด็กๆ จะต้องมีคือทักษะการปรับตัว เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาเร็ว เขาจะต้องเป็นคนที่ไวต่อการปรับตัว เทคโนโลยีใหม่มาเขาต้องเข้าใจ บริบทใหม่มาเขาต้องรีบเข้าใจ เมื่อบริบทค่อนข้างที่จะ Intense ดูแล้วมันน่าลำบาก มันน่าอึดอัด เขาเองก็ต้องมีทักษะการจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง มีทักษะที่จะเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เพราะคุณต้องทำงานร่วมกัน ต้องเอาทักษะมารวมกัน เอาทรัพยากรมารวมกันให้ได้เพื่อที่จะแก้ปัญหาในสเกลที่เด็กๆ จะต้องเจอ สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่จำเป็นมากๆ มานานแล้ว เพียงแต่ว่าเราเพิ่งเห็นความสำคัญของมันมากขึ้นในปัจจุบัน ที่เราจำเป็นต้องมาร่วมแรงร่วมใจกันทำอะไรบางอย่างมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
แล้ว Coding ในเมืองไทยตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว
ถ้าในเมืองไทยตอนนี้มันจะเรียกว่า Coding หรือถ้าชื่อในหลักสูตรมันก็คือ ‘วิทยาการคำนวณ’ ซึ่งอยู่ในกลุ่มสาระสารสนเทศและเทคโนโลยี จริงๆ แล้วถ้าเราถามว่าวิทยาการคำนวณ เริ่มมาตั้งแต่ปีไหนอย่างจริงจัง ถ้าจุ๊ยจำไม่ผิดมันคือเริ่มเอาเข้ามาใช้พฤษภาคม พ.ศ. 2561 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราต้องอย่าลืมว่าโครงสร้างและอุปกรณ์ต่างๆ ของประเทศไทยมันไม่ได้พร้อม เหมือน 2 ประเทศที่จุ๊ยเล่าให้ฟัง โรงเรียนในสิงคโปร์และฟินแลนด์ ไม่มีปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ต ไม่มีปัญหาเรื่องคอมพิวเตอร์แต่บ้านเรายังมีปัญหานี้อยู่
สมมติว่าจะต้องเรียน Coding ในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งมันจะต้องซับซ้อนมากขึ้น บอกว่าเราอาจจะไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ แต่ทั้งนี้ ที่สุดแล้ว ก็ต้องไปดาวน์โหลดโปรแกรมเพื่อมาสอนหรือใดๆ ก็ตาม มันก็ยังจำเป็นอยู่ แล้ว พวกซอฟต์แวร์ต่างๆ มันอยู่ตรงไหนในงบของเรา องค์กรภาครัฐเองก็บอกว่าไม่เป็นไร เราให้หนังสือวิทยาการคำนวณฟรี โหลดเป็น PDF ได้ แต่นั่นหมายความว่าโรงเรียนต้องมีคอมพิวเตอร์ มีอินเทอร์เน็ต เด็กๆ ก็จะต้องมีอุปกรณ์ที่จะอ่าน PDF ได้ ซึ่งโรงเรียนไทยไม่ได้มีสภาพแบบนั้นทุกโรงเรียน
สิ่งที่ทำมาตลอด แก้มาตลอด คือแก้หลักสูตรมาตลอด แล้วมันก็เฟลมาตลอด หลายๆ ครั้ง เวลาเรามีวิชาต่างๆ เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้เข้าใจคนหน้างานเวลาเขาทำงาน เราไม่เข้าใจว่าหลักสูตรใหม่ๆ เหล่านี้ หนึ่งต้องการเวลา สองต้องการการสนับสนุนที่ต่อเนื่อง ในเมื่อมันเป็นทักษะใหม่ เขาต้องการพี่เลี้ยง เขาต้องการการดูแล เมื่อมันขาดไปมันก็ทำให้หลักสูตรต่างๆ ไม่ได้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างที่มันควรจะเป็น
จุ๊ยมองว่าวิชานี้ต้องทำเป็นลักษณะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็คือต้องมีสื่อต่างๆ ที่ครูจะใช้ได้ในห้องเรียน โดยเฉพาะระดับประถมฯ ให้เขาเอาไปปรับใช้ต่อเอง และต้องมีหน่วยงานพี่เลี้ยง ที่ไม่ได้มาอบรมทีเดียวแล้วจบ ต้องคอยช่วยสนับสนุนอยู่ตลอดส่วนเหล่านี้จำเป็นมากๆ ในการนำเสนอวิชาใหม่เข้าไปในหลักสูตร
ถ้าความไม่พร้อม ไม่ใช่ข้ออ้าง มีอะไรที่เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกๆ สำหรับการศึกษาของไทย
ก็ต้องทำให้มันพร้อมก่อน แต่การทำให้มันพร้อม มันจะต้องทำด้วยความเข้าใจว่าโรงเรียนไทยมีบริบทหลากหลายมากๆ ณ ตอนนี้วิธีที่เราใช้ก็คือทุกโรงเรียนทำเหมือนกันเป๊ะๆ เลย ซึ่งมันทำให้ความไม่พร้อมยิ่งไม่พร้อมหนักกว่าเดิม
บางโรงเรียนน้ำดื่มสะอาดยังไม่มีเลย หรือสายดินในโรงเรียนยังไม่ติดเลย เวลาเราบอกว่าไม่พร้อมมันขาดแคลนถึงขนาดนั้นเลย ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยขนาดต่ำกว่า 120 คนมีถึง 15,000-18,000 โรงเรียน จากจำนวนโรงเรียนทั้งหมด 28,000 กว่าโรงเรียน เกินครึ่งแล้วนะคะ ดังนั้นนี่คือนักเรียนจำนวนมาก ก็ต้องไปดูแลแก้ปัญหาในส่วนนี้ให้เขาก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะละเลยในส่วนที่เป็นโรงเรียนที่พร้อมจะเดินไปข้างหน้า โรงเรียนเหล่านี้ก็ต้องการหลักสูตรและการดำเนินหลักสูตรที่มีคุณภาพ ที่ช่วยให้เขาสามารถต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆ ได้
สิ่งที่สังคมนี้ต้องการจริงๆ ก็คือโรงเรียนในประเทศไทยที่มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน ค่อยๆ แก้ปัญหาทีละส่วน แต่ละส่วนก็ต้องเป็นวิธีที่ไม่เหมือนกัน แก้ด้วยความเข้าใจบริบท แก้ด้วยความเข้าใจปัญหาที่มีอยู่ในโรงเรียนแต่ละแบบ แก้ด้วยความเข้าใจว่านักเรียนก็มีความต้องการที่หลากหลาย
เรามีหน้าที่พยายามตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายนั้นให้กับนักเรียนในประเทศนี้ ให้เขาได้มีชีวิต ได้มีฝัน ในเวอร์ชันของตัวเขาเองให้ได้