ลูกชอบเล่นมือถือ เล่นคอมพิวเตอร์ คนเป็นพ่อแม่ก็กลัวลูกจะติดจอมากเกินไป เขาจะเอาแต่เล่นเกมหรือเปล่านะ หรือกำลังเข้าถึงข้อมูลที่ไม่เหมาะสม
ผู้ปกครองหลายท่านอาจคิดแบบนั้น แต่ในโลกของเทคโนโลยีของเด็กๆ ไม่ได้มีแค่เกม หรือความบันเทิงเสมอไป
เพราะเทคโนโลยีในวันนี้ไปจนถึงวันข้างหน้า ให้ความรู้ ทักษะ เป็นพื้นฐานการคิดให้พวกเขา มาตามเทคโนโลยีและลูกๆ ให้ทัน ด้วยความรู้และความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานอย่าง Coding ที่เริ่มมาเป็นหลักสูตรในการเรียนกันเถอะ
“การที่คุณเติบโตมากับเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณรู้เรื่องเทคโนโลยีดีกว่า แต่หมายความว่าคุณแค่ได้ใช้งานมันมาก่อน ดังนั้นคำถามว่าเด็กที่ได้โตมากับเทคโนโลยีเหล่านี้ ผู้ใหญ่หรือคนที่อายุมากกว่าจะสามารถสอนพวกใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้ไหม
คำตอบของผมคือ การได้โตมากับเทคโนโลยี กับ การเข้าใจเทคโนโลยีจริงๆ นั้น เป็นประเด็นที่แตกต่างกัน แน่นอนว่าผู้ใหญ่ที่ถึงแม้จะไม่ได้เติบโตมากับเทคโนโลยีสามารถสอนเด็กๆ ในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้ เพราะว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยียังไง แต่มันคือการทำความเข้าใจ การได้เข้าใจจริงๆ อย่างลึกซึ้งต่างหากว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นมีเอาไว้เพื่ออะไร”
แพท ยงค์ประดิษฐ์
ผู้บริหารฝ่ายวิชาการ ของ Code.org
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
Coding ไทยไปถึงไหน ในสายตาผู้เชี่ยวชาญ
https://thematter.co/brandedcontent/coding-education-14/104061
“คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำความเข้าใจถึงเทคโนโลยี ไม่ได้หมายความว่าเข้าใจเพื่อที่จะห้ามเขาได้ถูก แต่ทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้ใช้ไปพร้อมๆ กับเขา เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว มันก็มีด้านมืด ด้านที่มีปัญหาของมันเหมือนกัน นั่นก็คือเป็นด้านที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจ แล้วก็พูดคุยกับลูกๆ ด้วยความเข้าใจ มันไม่ใช่ยุคที่จะต้องมาห้าม จะต้องมาแบนกันอีกต่อไปแล้ว อย่างไรเสีย ลูกคุณก็จะต้องอยู่กับเทคโนโลยีไม่มากก็น้อย
ทักษะที่สำคัญที่เด็กๆ จะต้องมีก็คือทักษะการแก้ไขปัญหาที่มันซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อยๆ เขาโตมากับปัญหาขยะล้นโลก ปัญหาภาวะ Climate change ที่เป็นปัญหาในรุ่นเขา ปัญหาที่เขาเจอ ทั้งซับซ้อนและต้องการความร่วมมือเยอะมาก เขาจะต้องมีทักษะคิดที่นอกเหนือจากจะเป็นระบบแล้ว ยังต้องเชื่อมโยงภาคส่วนต่างๆ เชื่อมโยงวิชาต่างๆ เชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเพื่อมาแก้ปัญหา อย่างเป็นระบบระเบียบให้ได้
ไม่ว่าจะเป็น Systems Thinking หรือว่า Critical Thinking ที่เป็นทักษะเชิงวิพากษ์ และทักษะการแก้ไขปัญหา (Problem Solving) แล้วไม่ใช่ทักษะการแก้ปัญหาธรรมดา แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว พอพูดถึงการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งที่เด็กๆ จะต้องมีคือทักษะการปรับตัว เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาเร็ว เขาจะต้องเป็นคนที่ปรับตัวได้ เขาต้องไวต่อการปรับตัว เทคโนโลยีใหม่มาเขาต้องเข้าใจ บริบทใหม่มาเขาต้องรีบเข้าใจ อย่างหนึ่งที่เด็กๆ รุ่นนี้จะต้องมีก็คือทุกอย่างมันหมุนเร็วมาก”
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
นักวิชาการอิสระ ด้านการศึกษา
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
Coding in Worldwide Education มุมมองการศึกษา Coding จากทั่วโลก
https://thematter.co/brandedcontent/coding-education-05/96656
วันนี้ประสบกับตัวเองเลยว่าโมโหลูก เวลาที่เล่นโทรศัพท์แล้วไม่ปล่อย แต่เราต้องพยายามหาวิธีการที่จะทำให้เขาใช้มันให้เป็นประโยชน์ เพราะเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การไปเรียน Coding มันก็ไม่เกี่ยวกับมือถือหรือการเล่นเกมอย่างเดียว เป็นการเรียนรู้เพื่อให้เข้าใจใน Logic ในการทำงาน การเขียนระบบงานที่เป็นชุด ซึ่งเด็กสามารถเอาตรงนั้นไปประกอบใช้กับอย่างอื่นได้ ไม่จำเป็นจะต้องมานั่งทำงานเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว งานวิเคราะห์ก็อาจจะต้องใช้ตรงนี้ มันไม่ได้มีข้อจำกัดอยู่แค่การเป็นโปรแกรมเมอร์ ทุกอย่างมันสามารถต่อยอดออกไปได้ คิดว่าอันนี้เป็นพื้นฐานของเด็กๆ แต่อยู่ที่ว่าใครจะซึมซับได้มากกว่า
ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา หรือเรื่อง Coding คุณแม่กับคุณพ่อก็วางแผนว่า เราอยากจะสร้างทักษะให้เขาตอนนี้ เขาจะชอบไม่ชอบไม่เป็นไร แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่วันหนึ่งเขาอยากจะใช้ขึ้นมา เขาจะมีทักษะตัวนี้ติดตัว ถึงแม้จะไม่เก่ง แต่ก็สามารถปัดฝุ่นเอากลับขึ้นมาใช้ได้ เป็นการสร้างทางเลือกให้เขาในอนาคต เขาอาจจะยังมองไม่เห็นว่าเราสร้างไว้ให้เขา แต่ว่าถ้าอนาคตเขาจะได้ใช้ตรงนี้ เขาอาจจะนึกเราว่าโชคดีนะที่พ่อแม่ปูไว้ให้แล้ว
สุวิมล จงจิรวัชระ
คุณแม่ และพนักงานบริษัทด้านทรัพยากรมษุษย์
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
ครูพร้อมแค่ไหนในการสอน Coding?
https://thematter.co/brandedcontent/coding-education-11/99266