สมัยเราเด็กๆ การจะขอพ่อแม่ออกไปเล่นนอกบ้านซักครั้งนี่ช่างยากเย็น วันไหนที่พ่อแม่เห็นเราเล่นอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็จะเอามือทาบอก แล้วอุทานในลำคอเบาๆ ว่า “กับการเรียนหนูจริงจังขนาดนี้มั้ยลูก”
มันก็ไม่แปลกที่เมื่อมองผ่านสายตาของผู้ใหญ่ การเล่นดูจะเป็นเรื่องไร้สาระชวนเสียเวลา เพราะเราอยู่ในสังคมที่มีค่านิยมที่ว่า การเรียนหนักจะนำมาซึ่งอนาคตที่ดีกว่า ประเทศไทยจึงอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศที่นักเรียนมีชั่วโมงเรียนสูงที่สุดในโลก แต่ในขณะเดียวกัน ในการจัดลำดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรากลับรั้งท้าย ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอยู่หลายก้าว ยังไม่รวมถึงทักษะการใช้ชีวิต ทักษะในการคิดแก้ปัญหา รวมถึงทักษะในการอยู่ร่วมกับสังคมโลก ที่เด็กไทยอาจจะยังไม่ได้รับการส่งเสริมด้านเหล่านี้มากพอ (ลองดูคอมเมนต์ของชาวเน็ตไทยในไลฟ์ปล่อยยานอวกาศของนาซาก็คงพอจะเห็นภาพ)
หรือว่าเรากำลังหลงทาง ให้น้ำหนักไปกับการเรียน จนลืมเผื่อเวลาเอาไว้ให้เด็กๆ ได้เคลื่อนไหว ได้สนุก ได้แบ่งปัน ได้ถกเถียง แก้ปัญหาเฉพาะหน้า สารพันเหตุการณ์ที่จะท้าทายให้เด็กๆ ได้เผชิญ เป็นการบริหารทั้งทักษะทางกาย และทักษะชีวิต ผ่านสิ่งที่ง่ายดายที่สุด นั่นคือการเล่น
เล่นเพื่อรู้: บริหารทักษะชีวิตผ่านการเล่น
ประเด็นหนึ่งที่ได้ถูกพูดคุย และได้รับความสนใจอย่างมากในการประชุม World Economic Forum ปีล่าสุด คือการพูดถึงความสำคัญของการเล่น ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการจัดการศึกษาสมัยใหม่ ในฐานะของเครื่องมือเพิ่มพูนทักษะชีวิต การฝึกคิดแก้ปัญหา และการปรับตัวให้ทันกับโลกในศตวรรษใหม่ ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้ทุกเวลา
แทนที่เด็กจะนั่งเท้าคางฟังคุณครูพูดอยู่ฝ่ายเดียว การเล่นกลายเป็นการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด การเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เล่นจะทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะความรู้ผ่านการลงมือทำ นอกจากนี้สมองยังได้ทำงานเต็มที่ ร่างกายเคลื่อนไหว และออกกำลังไปในตัว นี่จึงเป็นข้อดีของการใช้การเล่นในการเรียนรู้การจัดการเรียนรู้แบบใหม่ ที่สร้างกิจกรรม หรือเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เล่น จะทำให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะ และได้ความรู้ผ่านการลงมือทำ นอกจากสมองจะได้ทำงานเต็มที่ กล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็ก ก็จะได้ออกกำลังไปด้วยในขณะที่เด็กๆ เคลื่อนไหว ทุกระบบในร่างกายจะทำงานสอดประสาน นี่ล่ะคือความพิเศษของการเล่น
จะเล่นทั้งที ก็ต้องเล่นให้เหมาะสมกับช่วงวัย
เราคงเคยสังเกตเห็นตัวเลขบนกล่องของเล่นเด็ก ที่บอกอายุ ของเด็กที่เหมาะจะเล่นของเล่นชิ้นนั้น หากมองในมุมของผู้ใหญ่ เราคงคิดว่า ของเล่นแบบไหนก็เหมือนกันล่ะนะ แค่มีสีสันและดีไซน์น่ารัก เด็กๆ ก็น่าจะชอบแล้ว แต่อันที่จริง การได้เล่นของเล่นที่เหมาะสมกับวัยของเด็กนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากๆ
เพราะเด็กในแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการต่างกัน หากเด็กเล็กเล่นของเล่นสำหรับเด็กโตอาจจะทำให้เขารู้สึกเบื่อหน่าย เล่นไม่เป็นเพราะไม่เข้าใจกติกา และหากเขาทำไม่ได้ซ้ำๆ ก็อาจทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจ ในขณะเดียวกันหากเด็กโตเล่นของเล่นสำหรับเด็กเล็กอาจจะง่ายเกินไปจนไม่รู้สึกสนุก
การมีของเล่น หรือเครื่องเล่น ที่เหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงอายุ จึงเป็นตัวช่วยส่งเสริมความมั่นใจ ให้เด็กๆ อยากจะทดลองอีกนิด พัฒนาตัวเองอีกหน่อย เพื่อที่พวกเขาจะได้สนุกไปกับการเล่นนั้น
พาลูกเล่นนอกบ้าน เปิดรับประสบการณ์ผ่านทุกประสาทสัมผัส
มีสำนวนของชาวสแกนดิเนเวียนบอกไว้ว่า “There is no such thing as bad weather, only unsuitable clothes.” มันไม่มีหรอกอากาศเลวร้าย มีแต่เราที่ใส่เสื้อผ้าไม่เหมาะสมต่างหาก เพราะพวกเขาเชื่อแบบนี้ จึงทำให้ไม่ว่าวันนั้นอากาศจะแย่แค่ไหน ก็ไม่อาจขัดขวางให้พ่อแม่ชาวสแกนดิเนเวียไม่พาลูกออกไปเล่นนอกบ้านได้ อะไรจะแน่วแน่ขนาดนั้นแม่คุณเอ๊ย
ว่ากันว่า การเล่นนอกบ้าน และปล่อยให้ลูกเลอะเทอะอย่างเต็มที่ คือหนึ่งในเคล็ดลับที่ทำให้เด็กๆ สแกนดิเนเวียเติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแรงและมีความสุข (ดูจากตัวเลขดัชนีความสุขของคนแถบนั้นก็ได้) เพราะการออกไปนอกบ้านนั้นเป็นโอกาสที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านทุกประสาทสัมผัส (Sensory Play) พวกเขาได้มองเห็นกว้างและไกลกว่าวอลเปเปอร์บนผนังบ้าน ได้สูดอากาศและกลิ่นที่ต่างจากน้ำหอมปรับอากาศที่ห้องนั่งเล่น ได้ยินเสียงผู้คนจอแจ เสียงแตรรถ รู้จักเสียงสูง-ต่ำ ดัง-เบา ได้สัมผัสพื้นดิน สนามหญ้า เม็ดทราย และอาจจะเผลอเอาเข้าปากไปชิม ให้ได้เรียนรู้ว่า ถึงมันจะมีเนื้อสัมผัสน่าสนใจอยู่บ้าง แต่มันก็ไม่อร่อย และเราก็ไม่ควรจะกินมันแล้วล่ะนะ
นอกจากนั้น การได้ออกไปเล่นนอกบ้าน ยังช่วยเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ และสังคมให้กับเด็กๆ เพราะที่สนามเด็กเล่น จะเต็มไปด้วยเด็กหลากหลายเพศและวัย เด็กๆ จะได้เรียนรู้ถึงความแตกต่าง เรียนรู้ที่จะสร้างกติกาเพื่อเล่นร่วมกัน เรียนรู้ที่จะจัดการกับปัญหาและความขัดแย้ง ทั้งหมดนั้นคือประสบการณ์ที่เด็กๆ จะไม่ได้รับเลย หากพวกเขาอยู่อย่างเหงาๆ เล่นคนเดียวในบ้าน
คงจะดี ถ้าเราได้มีที่เล่นที่ดีอยู่ในบ้านของเราเอง
ในเมืองใหญ่อย่างกรุงโตเกียว เราจะพบสนามเด็กเล่นกระจายอยู่มากมาย หลายที่เดินทางถึงได้ง่ายด้วยรถไฟฟ้า นั่นเพราะรูปแบบการใช้ชีวิตของคนที่นั่น ที่แม้จะอาศัยอยู่ในตึกสูง พื้นที่น้อย แต่เพราะการขนส่งมวลชนที่สะดวกสบาย ทางเท้าเดินง่าย ทำให้มันเป็นเรื่องไม่ยาก ที่แม่ๆ จะจับเจ้าตัวเล็กใส่เป้อุ้ม ใส่รถเข็น แล้วพาไปเล่นที่สนามเด็กเล่นได้มาตรฐานที่อยู่ใกล้บ้าน
ตัดมาที่กรุงเทพฯ… เราไม่ได้มีที่เล่นสาธารณะสำหรับเด็กกระจายอยู่มากมายทั่วเมืองขนาดนั้น และด้วยความที่รูปแบบการอยู่อาศัยของเราคือมีบ้านอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร หรือคอนโดมิเนียม ทำให้ที่เล่นสำหรับเด็กๆ ที่ใกล้และไปง่ายที่สุด ก็คือสนามเด็กเล่นที่อยู่ในพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน ที่ส่วนใหญ่เราก็จะเห็นชิงช้า ม้าโยก และสไลเดอร์ตั้งไว้ใบไม้ปลิว พอให้สามารถเรียกได้ว่าตรงนี้เป็นพื้นที่เล่นของเด็ก
ซึ่งมันคงจะดีกว่าใช่มั้ย ถ้าจะมีใครใส่ใจให้พื้นที่เล่นของเด็กเป็นเรื่องจริงจังขึ้นมา
ที่โครงการบ้านของแสนสิริ ได้นำเอาแนวคิดเรื่องการออกแบบพื้นที่เล่นให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก เข้ามาใช้ในการทำสนามเด็กเล่นแบบ Educational Playground ที่มีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กจากโรงพยาบาลสมิติเวช เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบและช่วยตรวจสอบความสะอาด รวมไปถึงความปลอดภัยของสนามเด็กเล่นในแต่ละโครงการทุกๆ ปี เพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นเพื่อเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับพัฒนาการของช่วงวัย ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และดีไซน์ที่เป็นมิตรกับสายตา
สนามเด็กเล่นในแนวคิดนี้ จึงไม่ได้เป็นลานที่เต็มไปด้วยสิ่งที่ผู้ใหญ่คิดว่ามันคือเครื่องเล่นสำหรับเด็กวางกระจัดกระจาย แต่มันได้ผ่านการคิดอย่างใส่ใจในทุกรายละเอียด ในขั้นตอนการออกแบบ ดีไซเนอร์ทำงานร่วมกับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก จากโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช เพื่อรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการเล่นที่เหมาะกับพัฒนาการ รวมถึงยังมีคุณหมอมาช่วยตรวจสอบด้านความสะอาด และความปลอดภัย ที่จะอัพเดตกันทุกปี
สนามเด็กเล่นที่ผ่านการคิดมาอย่างดี จึงไม่ได้มีหน้าตาเหมือนภาพสนามเด็กเล่นแห้งแล้งที่เราเคยเห็นมา เช่นที่โครงการบุราสิริ ราชพฤกษ์ – 345 ได้นำเอาบอร์ดเกมคลาสสิกที่เรารู้จักกันดี อย่าง “บันไดงู” มาทำให้มีชีวิต ให้เด็กๆ วัย 2-4 ปี ที่เริ่มเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว มองเห็นทุกสิ่งมีชีวิตไปหมด ได้สนุกกับการจินตนาการพาตัวเองวิ่ง กระโดด ไปตามช่องหลังทอยลูกเต๋า แถมได้ฝึกทักษะด้านการนับและอ่านตัวเลขไปพร้อมๆ กัน
หรือเด็กในช่วงวัย 4-6 ปี ที่กล้ามเนื้อมัดใหญ่แข็งแรงมากขึ้น ทำให้พวกเขามีความมั่นใจที่จะทดสอบขีดจำกัดในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น สนามเด็กเล่นแบบ “เขย่ง-ก้าว-กระโดด” ที่โครงการ เศรษฐสิริ ปิ่นเกล้า – กาญจนาฯ จึงเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของเด็กในวัยนี้ รูปทรงและสีของเครื่องเล่นจะโตขึ้น แต่มองไปแล้วก็ยังสนุกอยู่ และที่สำคัญของการเล่นที่มีการเคลื่อนไหวอย่างการกระโดดเยอะ จำเป็นต้องใช้พื้นยางนิ่มกันกระแทก ที่นอกจากจะช่วยให้เด็กๆ ล้มได้อย่างปลอดภัย ไม่มีแผลถลอกปอกเปิก พื้นชนิดนี้ยังช่วยเซฟข้อเข่าและข้อเท้าของเด็กๆ ให้ไม่เสื่อมไปก่อนวัยอันควร
และเมื่อโตขึ้น อายุ 5 – 10 ปี พวกเขาก็พร้อมที่จะบินเดี่ยว ทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยความมั่นใจในการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวด้วยตัวเอง สนามเด็กเล่นที่ ฮาบิเทีย บอนด์ ราชพฤกษ์ จึงออกแบบพื้นที่เป็นสนามหญ้าเปิดกว้างต่อการสร้างรูปแบบการเล่นอย่างอิสระโดยเด็กๆ เอง แถมมีลู่จักรยานคดเคี้ยว ที่เพิ่มลูกเล่นบนลู่ให้มีทั้งพื้นเรียบและพื้นคลื่นหลังเต่า พร้อมสอดแทรกสัญลักษณ์ เพื่อฝึกการสังเกตและเป็นพื้นฐานในการอ่านและทำความเข้าใจป้ายต่างๆ
ความสนุกของสนามเด็กเล่นแบบ Educational Playground ยังมีอีกมาก ทั้งสนามเด็กเล่นที่จำลองเอาเขาวงกต มาให้ได้ฝึกคิดแก้ปัญหาเพื่อหาทางออก หรือสนามเด็กเล่นคอนเซ็ปต์ Farmland ที่ยกเอาฟาร์มเพาะปลูกมาให้เด็กๆ ได้เล่นรู้เสริมจินตนาการ มีบ่อทรายให้ได้ลงไปคลุกไปกลิ้งไปเลอะให้เต็มที่ แค่คิดก็น่าสนุก
เข้าไปดูเพื่ออิจฉา “ที่เล่น” ของเด็กสมัยนี้เบาๆ กันได้ที่ https://www.sansiriblog.com/3-educational-playgrounds/
อ้างอิงข้อมูลจาก
Content by Phanidchanok Damnoentam
Illustration by Yanin Jomwong