“พี่ดีเจครับ วันนี้ผมโทรมาขอเพลง ฉันทนาที่รัก ฝากเปิดให้น้องพรคนสวย สาวโรงงานซีอิ๊วโรจนะ จากเต๋อ รปภ.คนเดิมที่เฝ้าเธอทุกเวลา”
ปฐมบทการส่งเพลงให้กันของไทยอาจไม่มีการจดบันทึกไว้แต่สำหรับคนที่เกิดยุคก่อนอินเทอร์เน็ตคงจะเคยชินกันดีกับการโทรไปหลังไมค์เพื่อขอเพลงตามคลื่นวิทยุ เพื่อส่งมอบเพลงถึงคนที่คิดถึงในคืนที่การติดต่อสื่อสารมีเพียงตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญที่วัยรุ่นพอจะมีเงินจ่าย ส่วนโทรศัพท์บ้านนั้นก็ค่าโทรก็แสนแพง และพ่อแม่เธอก็อาจดักฟังได้ทำให้การโทรจีบเป็นเรื่องลำบาก การโทรไปขอเพลงตามคลื่นวิทยุจึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการส่งเพลงแทนความรู้สึก ทำให้การฟังวิทยุในยุคนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนเฝ้ารอให้ความรู้สึกเปลี่ยนเป็นสัญญาณ
“เทปม้วนนี้โจ๊กอัดเพลงโปรดที่ชอบส่งมาให้กิ๊ฟ โจ๊กคิดว่ากิ๊ฟน่าจะชอบเหมือนกัน”
ในยุคเดียวกันกับวิทยุก็มีสิ่งที่เรียกว่ามิกซ์เทป (MIXTAPE) ที่นักฟังเพลงทั้งหลายอัดมาจากรายการวิทยุ (ที่สำคัญต้องวอนพี่ดีเจอย่าพูดแทรกตอนอินโทร) เพื่อรวบรวมบทเพลงที่ตัวเองชอบมาเป็นเพลย์ลิสต์เฉพาะของตน ไม่ว่าจะเก็บไว้ฟังเอง เอาไปขายหรือส่งให้คนที่คุณอยากบอกความรู้สึกพิเศษฟัง และในนั้นอาจจะบันทึกเสียงผู้ส่งไปด้วยก่อนเริ่มเพลง เป็นดังจดหมายเสียงที่รอคอยเขาเปิดฟัง
ตลับเทปม้วนหนึ่งก็อัดได้ 30-60 นาที ทำให้เวลามีจำกัดการเลือกเพลงจึงคัดเป็นพิเศษว่า จะสื่อความหมายได้กินใจ หรือรวมเพลงที่ชอบฟังด้วยกันแล้วใส่หูฟังคนละข้าง และก็มีหลายคนที่มาเริ่มเรียนดนตรี กำลังหัดกีตาร์ที่โรงเรียนดนตรียามาฮ่าใกล้ๆ บ้าน เขาอาจร้องเพลงรักอย่างขวยเขิน และร้องเพี้ยนหลายท่อน และกดคอร์ดบอดหลายคีย์ แต่ก็เป็นเพลงที่เพราะที่สุดถ้าคนรับเข้าใจความหมาย
“Now Playing รอรักสุดท้ายที่ปลายฟ้า-Sound Of Desolate”
ก่อนจะมี youtube และการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่ง เรายังมีเว็บฟังเพลง แบบ kapook, coolvoice, doo-dd และอีกหลายเว็บ รวมถึงการโหลด MP3 เพลงเถื่อนจากเว็บฝากไฟล์ รวมถึงซีดีรวมฮิตแวมไพร์ประเทือง
เทคโนโลยีเริ่มทำให้การส่งเพลงเป็นเรื่องง่ายขึ้นเพียงแค่ก๊อปปี้ลิงก์ส่งในช่องแชท MSN Messenger หากัน ยกตัวอย่างเพลงที่น่าส่ง เช่น เธอเป็นแฟนฉันแล้ว คิดถึงฉันไหมเวลาที่เธอ เจ้าหญิง หรือเพลงของค่ายเบเกอรี่มิวสิค ที่จะแสนหวานก็อาจทำให้คนฟังเคลิ้มเอาง่ายๆ จนอยากให้เราส่งเพลงให้ทุกวัน
เท่กว่าเดิมด้วยการโหลด ‘Plugin MessengerAMP’ เอาไว้โชว์รสนิยมการฟังเพลง หรือการแสดงออกคล้ายกับการโพสต์ลงโซเชียลมีเดียให้ขึ้นตรงใต้ชื่อได้ให้ขึ้นว่า “Now Playing ตามด้วยชื่อเพลง” เพื่อแสดงความรู้สึก ณ เวลานั้นก็ได้เช่นกัน แต่ก็มีหลายคนเผลอเปิดคลิปวิดีโอ 18+ จนโดนเอาไปแซวกันทั้งโรงเรียนก็มี
“เธอๆ ฟังเพลงนี้ยัง เราฟังเพลงนี้แล้วคิดถึงเธอเลยส่งมาให้ฟัง”
ในยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นเครื่องมือการติดต่อสื่อสารหลัก การส่งเพลงเพื่อสื่อสารกันยิ่งกระจายวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะการโพสต์เพลงเพื่อบอกรสนิยม ส่งเพลงในแชทให้คนที่เราชอบได้บอกรักบอกชอบเขา แล้วเขาส่งเพลงกลับมาให้ฟังนั้น จะทำให้เราเผลอสุขใจอยู่บ่อยๆ เพราะการส่งเพลงให้กันนั้นคือการพูดโดยไม่ต้องพูดเอง และบอกความรู้สึกโดยที่เราไม่ต้องคอลล์ไปหา แค่การโพสต์เพลงบนหน้าวอลล์ของตัวเองก็อาจบอกความรู้สึกได้โดยไม่ต้องพิมพ์แคปชั่นสักคำเดียว
และตอนนี้โทรศัพท์มือถือใช้ฟังก์ชันถ่ายวิดีโอและอัดเสียงได้ง่ายขึ้นบางครั้งแค่การส่งเพลงอย่างเดียวอาจสื่อแทนความรู้สึกได้ ไม่หมด อัดวิดีโอส่งคลิปขณะที่คุณเล่นเพลงที่อยากให้เขาฟัง ดีดกีตาร์ เล่นเปียโน แล้วร้องเพลงนั้นไปด้วยทุกอย่างทำได้ง่ายดาย และไม่ได้ใช้ทุนสูงอะไรขนาดนั้น
ถ้าคุณยังเล่นดนตรีไม่เป็น หรือกำลังหัดอยู่ การฝึกเองจากการดูวิดีโอสอนใน Youtube อาจต้องใช้เวลาในการฝึกเพียงลำพัง แต่ถ้าสนใจมาเรียนดนตรีแบบจริงจัง ขอเข้าสู่ช่วงโฆษณาอย่างจริงจัง
โรงเรียนดนตรียามาฮ่า อยู่สอนดนตรีแก่หนุ่มสาวมาหลากหลายรุ่นยาวนานกว่า 50 ปี ทั้งสร้างคนในวงการดนตรี เรียนจบหลายคนก็มาเป็นครูสอนที่โรงเรียนดนตรียามาฮ่า และอีกหลายคนสมหวังในรักจากการเล่นดนตรีเพื่อส่งผ่านความรู้สึกให้แก่กัน
แม้หลายคนจะเคยส่งเพลงโพสต์เพลงจีบกันแล้วไม่ติด เพลงรักที่เคยส่งหาคนรักเก่าเมื่อครั้งก่อนจะกลายเป็นเพลงเศร้าที่ฟังกี่ครั้งภาพเก่าก็ย้อนมา หรือบทเพลงในวัยเรียนที่ร่วมกันร้องในวงเหล้าด้วยกีตาร์ตัวเดียวกับเพื่อนจะเริ่มเลือนหาย
แต่บทเพลงต่างๆ ก็อยู่กับเราในทุกช่วงเวลาและความรู้สึกของชีวิตที่ฟังกี่ครั้งก็ย้อนนึกถึงรอยยิ้มและน้ำตาที่เรานั้นเคยได้ผ่านมาให้ได้รู้จักความหมายของคำว่าคิดถึง