เมื่อเอ่ยถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้ นับวันโลกของเรายิ่งถูกทำร้ายมากขึ้นทุกวันๆ วิกฤตที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ประเด็นที่ละเลยได้ ในฐานะที่เราเป็นผู้อยู่อาศัย การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเราทุกคน
การที่ทุกคนช่วยกันลงมือคนละเล็กละน้อย อย่างเช่น ลดปริมาณการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน การแยกขยะ การรีไซเคิล หรือการนำเสนอแนวคิดดีๆ ในการแก้ปัญหา ก็เป็นหนึ่งแรงสำคัญที่ช่วยให้โลกของเรากลับมาน่าอยู่เช่นเดิมได้แล้ว
อย่างเช่นเรื่องราวของ 3 นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมต่อไปนี้ ที่เชื่อว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สิ่งแวดล้อมของโลกเราดีขึ้นได้ ซึ่งตรงกับความเชื่อของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. Group) ที่ว่า ‘NO ONE IS TOO SMALL TO MAKE A CHANGE ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้’
Greta Thunberg
“How dare You.” คือวลีหนึ่งจากสุนทรพจน์ของสาวน้อย Greta Thunberg นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมวัย 17 ปี ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (UN Climate Action Summit 2019) ได้กลายเป็นวลีที่สั่นสะเทือนความรู้สึกของคนทั้งโลก ให้ทุกคนต้องหันกลับมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
Greta เป็นชาวสวีเดนโดยกำเนิด เธอสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อายุเพียง 8 ขวบ หลังจากที่เธอได้ยินปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นครั้งแรก ซึ่งนั่นทำให้การเคลื่อนไหวเล็กๆ ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งได้สร้างแรงกระเพื่อมอันยิ่งใหญ่ อย่างเช่นการประท้วงหยุดเรียนวันศุกร์ที่หน้ารัฐสภา เพื่อให้รัฐบาลสวีเดนหันมาสนใจแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจังมากขึ้น ผลลัพธ์จากความตั้งใจ ส่งผลให้ชื่อของ Greta Thunberg ไปปรากฏอยู่บนหน้านิตยสาร TIME เป็นหนึ่งในบุคคลแห่งปี 2019 และได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเกียรตินี้
แม้ว่าจะมีบางฝ่ายที่โจมตีเธอว่ามีอาการแอสเพอเกอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งของโรคออทิสติก ทำให้มีอาการหมกหมุ่นชอบทำอะไรซ้ำๆ และหนักไปกว่านั้นคือมีปัญหาในการเข้าสังคม แต่เธอกลับยอมรับอย่างตรงไปตรงมา และประกาศว่าจะใช้ความแตกต่างเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ได้
Boyan Slat
ปัญหาขยะในทะเล คือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่หลายคนอาจมองว่ายากเกินจะแก้ไข จึงต้องกลับมาที่ต้นทางอย่างการรณรงค์ลดใช้พลาสติกและไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ แต่สำหรับ Boyan Slat เด็กหนุ่มชาวดัตช์วัย 25 ปี กลับเลือกที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการลงมือทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น
The Ocean Cleanup บริษัทสตาร์ทอัพที่ Slat ก่อตั้งขึ้นเพื่อกำจัดขยะพลาสติกในทะเลให้หมดไป ด้วยการคิดค้นระบบทำความสะอาดกลางทะเล ผ่านการเก็บขยะตามการไหลของกระแสน้ำ จากแนวคิดดังกล่าวเขาสามารถระดมทุนได้ถึง 2 ล้านเหรียญและเงินบริจาคอีกกว่า 21.7 ล้านเหรียญ เพื่อปฏิบัติการนำเครื่องเก็บขยะที่ชื่อว่า System 001 นวัตกรรมที่ใช้ทุ่นยาว 2,000 ฟุต เพื่อดักจับขยะในท้องทะเลมหาสมุทรแปซิฟิก แม้ว่าในปฏิบัติการครั้งแรกจะสามารถเก็บขยะพลาสติกในทะเลได้เพียง 4,400 ปอนด์ แต่เชื่อว่าในปฏิบัติการครั้งต่อไป ขยะในทะเลจะต้องลดปริมาณลงอีกอย่างแน่นอน
จากแนวคิดที่ดูเหมือนบ้าบิ่นในตอนแรก จนมีกระแสกังวลจากนักวิทยาศาสตร์ว่าอาจเป็นการทำร้ายสัตว์ทะเล แต่เมื่อผลลัพธ์ได้เป็นที่ประจักษ์แล้ว ก็ไม่มีอะไรหยุดความตั้งใจของเขาได้
ลิลลี่ – ระริน สถิตธนาสาร
ภาพจำที่สังคมไทยนึกถึง ลิลลี่ – ระริน สถิตธนาสาร เด็กสาววัย 12 ปี ที่พยายามเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม คือการเป็น Greta Thunberg เมืองไทย แต่สิ่งที่เธอต้องการคืออยากให้ทุกคนจดจำเธอในชื่อลิลลี่มากกว่า
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ได้เห็นขยะพลาสติกริมชายหาดที่เก็บอย่างไรก็ไม่มีวันหมด เธอจึงตัดสินใจติดต่อไปยังบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ เพื่อพูดคุยกับผู้บริหารให้ลดการแจกถุงพลาสติก จนเกิดเป็นโปรเจกต์ Green Brand ที่รณรงค์ให้องค์กรต่างๆ ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก ซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นต้นทางในการแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด รวมไปถึงสร้างความเข้าใจตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการศึกษา ด้วยการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องให้เพิ่มวิชา Eco Education ซึ่งเป็นวิชาว่าด้วยสิ่งแวดล้อม เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรทุกระดับชั้น ก่อนจะได้รับรางวัล Yunus & Youth Ambassador 2019 ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติที่มอบโดย Professor Muhammad Yunus ชาวบังกลาเทศที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
สิ่งที่ลิลลี่พยายามทำมาตลอด ได้สะท้อนให้เห็นว่าการลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงแค่การป่าวประกาศ แต่เป็นการลงมือทำเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นจริง
จากเรื่องราวของ 3 นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมา ทุกคนล้วนแล้วแต่มีความพยายามอย่างมาก ด้วยพลังของความรักที่มีต่อโลกใบนี้ผสานเข้ากับความเชื่อที่ว่า ไม่ว่าใครก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้ได้ ทำให้พวกเขาลงมือทำอย่างเต็มที่โดยไม่สนใจว่าตัวเองจะอายุเท่าไหร่ และผลลัพธ์ก็คือความสำเร็จที่ช่วยให้โลกดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ
และแนวคิดนี้ก็ได้รับการบอกเล่าอยู่ในหนังโฆษณาชุดใหม่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์
ที่เล่าถึงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่พยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยสองมือเล็กๆ ที่สามารถทำได้ จากจุดเริ่มต้นที่เธอได้เห็นขยะริมชายหาดจำนวนมาก ก่อนจะพยายามลงมือจัดการกับขยะเหล่านั้นด้วยตัวเอง โดยมีสัญลักษณ์อย่างปลาวาฬที่เหมือนเป็นตัวแทนของสัตว์ในทะเล กำลังพยายามสื่อสารอะไรบางอย่างให้กับเธอ
หนังใช้พลังของภาพ การแสดง และเพลงพลังประกอบที่ทรงพลังตั้งแต่ต้นจนจบ โดยไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ แต่ใช้การปิดท้ายเพียงประโยคสั้นๆ ที่ว่า ‘NO ONE IS TOO SMALL TO MAKE A CHANGE ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้’ ซึ่งเชื่อว่าเป็นหนึ่งในหนังโฆษณาสร้างแรงบันดาลใจ ที่จะทำให้ทุกคนที่ได้ชมตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและร่วมกันลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง
เครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะองค์กรหนึ่ง ก็มุ่งมั่นที่จะเป็นหนึ่งแรงที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ภายใต้หน่วยงาน C.P. INNOVATION FOR SUSTAINABILITY โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ และเป็นไปตามเป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ต้องการเป็นองค์กร Zero Waste, Zero Carbon คือ องค์กรที่ลดขยะและของเสียเป็นศูนย์ และองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์จากการดำเนินธุรกิจภายในปี 2030
นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลาสติก นำกลับมาใช้ซ้ำ ใช้ใหม่และย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2025 ด้วยนโยบายบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ภายใต้หลักการ 5R ได้แก่ การสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคลดการสร้างของเสีย (Re-educate), ลดการใช้พลาสติก (Reduce), การรีไซเคิลพลาสติก (Recycle), การใช้วัสดุทดแทน (Replace) และ การค้นคว้าวิจัยและนวัตกรรม (Reinvent)
เราทุกคนร่วมกันสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ได้ อย่ารีรอที่จะเริ่มต้นลงมือทำ เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/CPGroupSustainability/videos/2336974203271860/
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Greta_Thunberg
https://thepotential.org/voice-of-new-gen/lilly-ralyn-satidtanasarn/
https://aboutmom.co/interview/interview-save-the-world-is-not-special/14247/
https://www.facebook.com/environman.th/photos/a.1757249537736819/2082737711854665/?type=3&theater