บางคนเรียก ‘ยีนส์’ บางคนก็เรียก ‘เดนิม’ แต่ไม่ว่าคุณจะเรียกตามประเภทผ้าหรือเครื่องแต่งกายที่ผ่านการตัดเย็บเป็นตัวๆ แล้วเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่ายีนส์ คือเครื่องแต่งกายแฟชั่นฮอตฮิต ที่เข้าถึงผู้คนมากที่สุดในโลก
จากจุดเริ่มต้นความแข็งแรงทนทานของผ้าเดนิม ที่เหมาะแก่การทำงานหนัก นำมาซึ่งการตัดเย็บกางเกงยีนส์ของเหล่าแรงงานสมัยก่อน ปัจจุบันเดนิมกลายเป็นแฟชั่นยิ่งใหญ่ที่สุด และแทรกเข้าไปในทุกวัฒนธรรม เราจึงจะเห็นคนใส่ยีนส์ ตั้งแต่คนไร้บ้านข้างถนน กระทั่งผู้บริหารระดับสูง ทั่วทุกมุมโลกจึงเต็มไปด้วยคนหลงรักเดนิมอย่างถวายหัวมากมาย จนบางคนอาจโกรธหากยีนส์ถูกเอาไปซัก!
กล่าวได้ว่าทุกคนอาจมียีนส์อย่างน้อยคนละหนึ่งตัว แต่สำหรับใครที่กรีดเลือดออกมาเป็นน้ำเงินเข้ม ลองค้นดูตู้เสื้อผ้าของเราว่ามียีนส์กี่ตัว
เพราะบางที… ยีนส์ชิ้นเดียวอาจไม่เคยพอ
ก้าวแรกของยีนส์ประวัติศาสตร์แรงงาน
ย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นกำเนิด เมืองท่าสำคัญของยีนส์อยู่ที่เมืองเจนัว (Genoa) ประเทศอิตาลี ซึ่งช่างทอผ้าชาวฝรั่งเศสเรียกเมืองนี้ว่า แชน (Genes) กลายเป็นรากศัพท์ขอคำว่า ‘ยีนส์’ ซึ่งที่เมืองเจนัวนั้น คนใส่ยีนส์คือเหล่ากุลีแบกหามหรือชนชั้นแรงงานนั่นเอง
ขณะที่ยีนส์ในรูปแบบปัจจุบันเกิดขึ้นจากลีวายสเตราส์ (Levi Strauss) ในยุคตื่นทองเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกาเขาได้นำสินค้ามาขายมากมาย หนึ่งในนั้นคือผ้าใบแคนวาสที่นำมาตัดเย็บเป็นกางเกงแรงงานเหมือง ต่อมาเปลี่ยนเป็นผ้าฝ้ายที่มีเนื้อนุ่มกว่า ก่อนจะพบหุ้นส่วนช่างตัดเสื้อ จาคอบ เดวิส (Jacob Davis) ที่ตอกหมุดทองแดงตามมุมเพิ่มความแข็งแรงไม่ให้ขาดง่าย พวกเขาจึงจดสิทธิบัตรถือกำเนิดแบรนด์ Levi’s ขึ้นมาเป็นสินค้ายีนส์แบรนด์แรกของโลก ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่กรรมาชีพ
ยีนส์ในช่วงแรกจึงเป็นสัญลักษณ์ของแรงงาน มิได้เป็นเครื่องแต่งกายของคนชั้นกลางหรือผู้ดีมีอันจะกินอย่างทุกวันนี้
Rebel Without a Cause และความเท่สุดใจขาดดิ้นของเจมส์ ดีน
ช่วงปี 1940-1950 มีกระแส “อยากนอกกรอบ” ของวัยรุ่นหนุ่มสาวจำนวนมาก คนรุ่นใหม่จึงหันมาใส่กางเกงยีนส์ เพื่อแสดงออกถึงความขบถ ไม่แยแสระเบียบสังคม และไม่ยอมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดิมๆ อีกต่อไป หนึ่งในผู้นำเทรนด์นี้มิใช่ใครอื่นนอกจาก เจมส์ ดีน ตัวพ่อแห่งความขบถหนุ่มกับบทบาทตัวละคร จิม สตาร์ค ที่เขาแสดงนำในภาพยนตร์ Rebel Without a Cause
ต้องยอมรับว่า ภาพยนตร์สมัยก่อนมีอิทธิพลต่อความคิดวัยรุ่นเป็นอย่างมาก ด้วยภาพลักษณ์สุดเท่ใส่กางเกงยีนส์เข้ารูปพอดีตัว เสื้อยืดขาว และแจ็กเก็ตสีแดงแรงฤทธิ์ กลายเป็นภาพจำอมตะของหนุ่มขบถที่สร้างทั้งมิตร และศัตรูเต็มไปทั่ว ความนิยมยีนส์ในเชิงขบถนั้น เคยลามเลยไปถึงขั้นบางโรงเรียนในสหรัฐฯ ประกาศห้ามวัยรุ่นใส่กางเกงยีนส์มาเรียนเลยทีเดียว ทำให้การใส่ยีนส์กลายเป็นความ “ไม่สุภาพ” มาถึงทุกวันนี้
น่าเสียดายที่ เจมส์ ดีน จากโลกนี้ก่อนวัยอันควร ทำให้เขาไม่รับรู้ว่าตัวเองทรงอิทธิพลต่อวัยรุ่นมากขนาดไหน เพราะถ้าถามหนุ่มสาวยุคนั้นว่าใส่กางเกงยีนส์เพราะอะไร คำตอบย่อมเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “อยากขบถเหมือน เจมส์ ดีน”
เดนิมผู้แฝงตัวอยู่ในทุกวัฒนธรรม
หลังยีนส์หลุดออกจากภาพลักษณ์กรรมาชีพโดยวงการฮอลลีวู้ด ยีนส์จึงได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ และเริ่มแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ มากขึ้น อาทิ ช่วงยุค 80 ที่กระแสฮิปฮอปเริ่มต้น จากปาร์ตี้ใต้ดินที่เหล่าวัยรุ่นไม่มีเสื้อผ้าราคาแพงใส่ มีเพียงชุดในชีวิตประจำวันอย่าง เสื้อยืด กางเกงยีนส์ กลายเป็นแฟชั่นสุดเบสิคจากปาร์ตี้เล็กๆ สู่สตรีทแฟชั่นสุดแมสตามท้องถนน
เช่นเดียวกับต้นยุค 90 ที่ศิลปินรุ่นใหม่ มีกระแสหันมาใส่กางเกงยีนส์ขาดๆ สร้างภาพลักษณ์เท่ ดุดันอย่างชาวร็อค โดยเฉพาะความโด่งดังของ เคิร์ต โคเบน นักร้องนำวง Nirvana ที่สวมใส่แต่กางเกงยีนส์ซีดๆ ขาดๆ เซอร์ๆ บ่งบอกถึงความไม่มีวันสมบูรณ์แบบตามสไตล์แนวดนตรีกรันจ์ร็อค ที่ไม่ต้องประณีตอะไรมากมาย กลายเป็นแฟชั่นยุค 90 ที่ยังมีชีวิตจนถึงทุกวันนี้
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมแบบไหน ยีนส์ก็อยู่คู่วัยรุ่นมานานจนเปรียบเสมือน #ของมันต้องมี จากวัยรุ่นยีนส์จึงเป็นเครื่องแต่งกายที่ทุกตู้เสื้อผ้าต้องมีแขวนประดับอย่างน้อยหนึ่งตัว
ศึกแข่งขันเจ้าแห่งยีนส์ในยุทธภพ
ว่ากันที่ตลาดยีนส์ในแฟชั่นสตรีทแวร์ ยีนส์ได้ยกระดับตัวเองกลายเป็นสินค้าที่หลายๆ แบรนด์ดังแย่งชิง และแข่งขันทางการตลาดกันอย่างดุเดือด ทำให้ราคากางเกงยีนส์บางตัวพุ่งไปกว่า 1 หมื่นบาท หรือบางตัวก็เหยียบหลักแสนมาแล้ว
แต่ก่อนเราอาจคุ้นชินเฉพาะแบรนด์ผู้ผลิตยีนส์เป็นสินค้าหลัก อาทิ Levi’s, Lee, Mc Jeans หรือ Wrangler ต่อมาเหล่าแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น ZARA, H&M, Uniqlo ก็เริ่มขยับมาเล่นตลาดยีนส์บ้าง พร้อมทั้งนำคำว่าแฟชั่นมาใส่กับสินค้ายีนส์ หรือพัฒนานวัตกรรมการผลิตล้ำๆ ยิ่งกระตุ้นให้ผู้บริโภคต้องการมากขึ้น และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกันก็มีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาตลอด บ้างเป็นแบรนด์โลคัลราคาไม่แพง หรือเป็นแบรนด์พรีเมี่ยมระดับไฮเอนด์ เช่น แบรนด์ยีนส์สัญชาติญี่ปุ่น Samurai Jeans,Momotaro Jeans หรือแบรนด์ไทย Indigoskin, Gasoline, Piger Works, Vanorn Bangkok ฯลฯ ซึ่งแบรนด์โลคัลเหล่านี้ ก็มีคุณภาพสามารถต่อกรแบรนด์ยีนส์ชื่อดังได้อย่างสมศักดิ์ศรี
DNA DENIM ยีนส์ชิ้นเดียวไม่เคยพอ
สำหรับใครที่กรีดเลือดออกมาเป็นสีน้ำเงินเข้ม เราขอแนะนำงาน “DNA DENIM ยีนส์ชิ้นเดียวไม่เคยพอ” เพราะยีนส์ คือแฟชั่นที่ไม่เคยตกยุค ใส่กับอะไรยังไงก็ดูดี และยังเหมาะกับคนทุกรุ่นทุกวัย
ภายในงานระดมยีนส์จากแบรนด์ชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์แบรนด์ หรือแบรนด์ไทย อาทิ Lee, Wrangler, รสนิยม , Mc Jeans, Levi’s, Topman, Topshop, Esprit, ESP Men, Vondutch, Rock Jeans, Blacksheep Jeans, Gasoline, Rakusho Jeans, และ Davie Jones เพื่อให้สายยีนส์ได้เลือกชมหรือช้อปได้อยากอิสระ พร้อมโปรโมชั่นพิเศษมากมาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดยีนส์สูงสุด 50% หรือความพิเศษขั้นสุด Top spender ที่สะสมยอดซื้อสูงสุดภายในงานรับใส่ยีนส์ฟรี 1 ปี!
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมภายในงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแปลงโฉมกางเกงยีนส์ของคุณให้เท่ไม่เหมือนใครกับ Denim Station เพื่อสร้างเอกลักษณ์ยีนส์ที่เป็นคุณ หรือ Denim Factory ให้สัมผัสขั้นตอนการผลิตยีนส์อย่างใกล้ชิด ฯลฯ
พบกันที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลทั้ง 5 สาขา ตั้งแต่ 11 กันยายน – 16 ตุลาคม 2561
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/CPNLife/
อ้างอิงข้อมูลจาก
- TheMatter
- BrandBuffet
- BBC
- วัฒนธรรมชุบแป้งทอด
- Icons of Men’s Style, Josh Sims
- Flickz Magazine Issue 26, 04 November 2015