ไม่ต่างจากดวงดาวบนฟ้า ต่อให้ไม่เห็นกันทุกวันแต่ก็รู้ว่ามีอยู่
ฟันในปากของเราที่เรียงตัวกันไปตามแนวขากรรไกรนั้น แต่ละซี่มีหน้าตาไม่เหมือนกัน หน้าที่ของแต่ละซี่ก็แตกต่างกันตามไปด้วย การดูแลเอาใจใส่ฟันแต่ละซี่ของแต่ละคนก็ย่อมมีวิธีการไม่เหมือนกัน แต่ละวันที่เราใช้งานฟันในปาก ฉีกกัดบดเคี้ยวอาหารเราทำไปโดยสัญชาตญาณ เป็นไปโดยอัตโนมัติจนอาจไม่ทันสังเกตว่าเราใช้งานฟันแต่ละซี่อย่างไรบ้าง ซี่ไหนเสี่ยงที่จะแตกหักเสียหายจากการใช้งาน ซี่ใดเสี่ยงต่อการผุจนต้องคอยจับตาดูแลกันเป็นพิเศษ
อ้าปากกว้างๆ แล้วไปหาคำตอบกันเถอะ
ฟันหน้า
เวลาที่เราฉีกยิ้มอวดความสดใสเมื่ออยู่หน้ากล้อง ฟันหน้าก็จะอวดโฉมออกมาให้เห็นเป็นซี่แรก ฟันหน้านั้นเรียกว่า ฟันตัด (Incisor) แบ่งออกเป็น ฟันตัดซี่กลาง (Central incisor) และฟันตัดซี่ข้าง (Lateral incisor) สังเกตได้ว่ามีรูปร่างเหมือนจอบหรือสิ่ว ปลายฟันตัดแบนเรียบ หน้าที่หลักคือ ใช้ตัดและฉีกอาหาร มีผลต่อการออกเสียงเวลาพูด และเป็นจุดสนใจแรกๆ ของใบหน้า ด้วยความที่เป็นทัพหน้าจึงมีความเสี่ยงที่จะ แตก หัก บิ่นได้ง่าย จากการกัดแทะของแข็งต่างๆ
ฟันเขี้ยว
ใครๆ ก็ว่าคนมีเขี้ยวนั้นน่าสนใจ ยิ้มทีไรก็มีเสน่ห์ เพราะฟันเขี้ยวนั้นจะอยู่บริเวณมุมโค้งตามแนวของการเรียงตัวของฟันพอดี จึงเป็นจุดเด่นที่มองเห็นได้ง่าย เสริมสร้างความสวยงามสะดุดตาให้แก่ฟันโดยรวม ด้วยความที่ฟันเขี้ยว (Canine) ซึ่งมีปุ่มฟันแหลม มีความคมกว่าฟันซี่อื่นๆ มีหน้าที่ไม่ต่างจากเขี้ยวสัตว์กินเนื้อที่ใช้กัดฉีกแยกอาหารออกจากกัน แต่เมื่อมันเรียงตัวอยู่นอกสุด จึงมีผลทำให้สารเคลือบฟันหลุดออกไวกว่าฟันซี่อื่นๆ จึงทำให้มีสีเหลืองเข้มกว่าฟันซี่อื่นได้ง่าย รวมถึงมีโอกาส แตก บิ่น ได้ด้วยเช่นกัน
ฟันกราม
ฟันกรามเป็นฟันแท้ซี่แรกที่ขึ้นในปาก แบ่งออกเป็นฟันกรามน้อย (Premolar) จะมีปุ่มฟันเตี้ยกว่าฟันเขี้ยว มี 2-3 ปุ่ม มีหน้าที่ตัดและฉีกอาหาร ส่วนฟันกราม (Molar) มีปุ่มเตี้ยๆ 3-6 ปุ่ม ซึ่งต่างช่วยกันทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารเป็นหลัก จึงเป็นฟันส่วนที่มีความเสี่ยงที่จะแตกหักจากการบดเคี้ยวของแข็ง ด้วยความที่สัมผัสกับกรดจากอาหารมากที่สุด แถมยังขึ้นอยู่ด้านในมองไม่เห็นง่ายๆ ส่งผลให้ฟันกรามมีโอกาสผุได้ง่าย เพราะมีร่องหลืบที่ลับตาทำให้ทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง
ดูแลอย่างไรให้ทั่วถึง
ฟันแต่ละซี่มีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน จึงต้องการการดูแลที่แตกต่างกันไปด้วย การดูแลฟันแต่ละซี่อย่างทั่วถึงจึงเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนและเรียนรู้ เพื่อให้ฟันอยู่กับเราไปนานๆ
เริ่มจากการแปรงด้านนอกของฟันบนก่อน แล้วค่อยๆ ขยับแปรงไล่ไปด้านในของฟันบนแล้วจึงตามด้วยฟันล่างทั้งด้านนอกและด้านใน พยายามวางขนแปรงที่บริเวณคอฟันและขอบเหงือก ทำมุม 45 องศากับขอบเหงือก ให้รู้สึกถึงปลายของขนแปรงกำลังเข้าไปในร่องเหงือก ซึ่งเป็นจุดสะสมของคราบแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของกลิ่นปากและเหงือกอักเสบ จากนั้นจึงแปรงฟันกรามส่วนบดเคี้ยว โดยให้วางหัวแปรงในระนาบเดียวกับผิวฟัน และจุดสำคัญที่ลืมไม่ได้คือด้านหลังของฟันกรามที่มักจะเป็นจุดที่คนส่วนใหญ่ละเลยในการทำความสะอาด ทำให้ใครหลายๆ คนมีโรคฟันผุลุกลามจนถึงขั้นถอนทิ้ง การแปรงด้านหลังของฟันกรามก็ไม่ยาก ทำได้โดยการตั้งด้ามแปรงขึ้นเพื่อให้ขนแปรงสัมผัสกับพื้นที่ผิวด้านหลังอย่างเด็มที่ การเลือกแปรงสีฟันที่มีขนาดกระทัดรัด ไม่ยาวจนเกินไป ก็จะช่วยให้การแปรงในบริเวณนี้ง่ายขึ้นด้วยนะ พยายามให้เนื้อยาสีฟันสัมผัสผิวฟันทุกซอกมุม เพื่อให้ฟลูออไรด์เคลือบผิวฟันอย่างทั่วถึง
หยุดความเสี่ยง เลี่ยงฟันผุ
ต่อให้อ่านวิธีการแปรงฟันอย่างละเอียดแค่ไหน ก็ไม่เท่าได้ลองแปรงฟันเองดูจริงๆ ซึ่งจะพบว่ารูปแบบการเรียงตัวของฟันแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน จึงไม่มีวิธีใดที่จำเป็นต้องกำหนดตายตัวว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคน ผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดก็คือ ทันตแพทย์ที่เราไปพบอยู่เป็นประจำนั่นไง ที่จะทำหน้าที่เหมือน Personal Trainer แนะนำวิธีการทำความสะอาดที่เหมาะสมกับเราได้ดีที่สุด นอกจากไปพบทันตแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยทุกๆ 6 เดือนแล้ว ตัวเราเองนี่แหละมีหน้าที่ในการดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ควรหลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล และพฤติกรรมการกินจุบจิบ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคฟันผุ
เมื่อเข้าใจธรรมชาติของฟันแต่ละซี่ และวิธีการดูแลที่แตกต่างกันแล้ว ก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับตัวช่วยอย่างแปรงสีฟันที่ดีและยาสีฟันที่เหมาะสม ที่จะทำให้เราทำความสะอาดฟันและมีสุขภาพช่องปากที่ดีไปนานๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.si.mahidol.ac.th/th/division/dent/div_knowledgesdetail.asp?div_id=43&kl_id=16
http://www.dent.chula.ac.th/periodontology/knowledge.php
https://www.wikihow.com/Brush-Your-Teeth
https://www.webmd.com/oral-health/guide/9-risk-factors-tooth-loss#1
https://www.nidcr.nih.gov/research/data-statistics/dental-caries/adults
https://www.mouthhealthy.org/en/az-topics/d/decay
https://oralb.com/en-us/oral-health/conditions/cavities-tooth-decay/stages-tooth-decay-images
https://www.deardoctor.com/articles/tooth-decay-risk/
http://www.pathology.psu.ac.th/images/ToxicoDoc/book10_14.pdf