ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ โฟมล้างหน้า ครีมบำรุงผิวหน้า โลชั่นบำรุงผิวกาย เครื่องสำอาง น้ำยาระงับกลิ่นกาย น้ำหอม น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก สบู่ล้างมือ ครีมทามือ แชมพู ครีมนวด แม้จะรู้ดีกว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีส่วนผสมของสารเคมีที่อาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกายแต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็ยังคงต้องใช้งานผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่ดี แต่จะเลือกอย่างไรให้ปลอดภัยต่อตัวเรามากที่สุด
เริ่มแรกอาจจะต้องเริ่มจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารที่ทำให้เกิดฟองอย่าง SLS หรือ โซเดียม ลอริล ซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate) สารทำให้เกิดฟองที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมากที่สุด เพราะราคาถูกมาก ทำให้เกิดฟองซึ่งเชื่อมโยงความรู้สึกถึงความสะอาดของผู้ใช้งาน โดยที่จริงแล้วมันทำหน้าที่เป็นสารลดแรงตึงผิว เมื่อทำให้น้ำมีความตึงผิวลดลงก็สามารถแทรกซึมเข้าไปยังเนื้อผ้าหรือวัสดุที่ต้องการล้าง จึงชำระคราบสิ่งสกปรก คราบไขมันออกไปได้ ส่วนในผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องสำอาง นิยมนำ SLS มาใช้เป็นสารเพิ่มความชุ่มชื้น ทำให้น้ำมีแรงตึงผิวลดลง สัมผัสกับผิวหนังได้ดีขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่จะตกค้างในผิวและเมื่อใช้ไปนานจะทำให้ผิวแพ้และระคายเคืองได้ง่าย
ด้วยฤทธิ์ที่รุนแรงทำให้ SLS เป็นสารทำความสะอาดที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองได้มากที่สุดตัวหนึ่ง จนถูกนำมาใช้ในการทดสอบระดับการระคายเคืองของผิวหนัง (Skin irritation test) เพราะปริมาณเพียง 2% – 5% ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในคนจำนวนมาก The U.S. Food and Drug Administration (FDA) ให้คำยืนยันว่า SLS นั้น ปลอดภัยใช้งานได้หากควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมไม่เกิน 1% และใช้งานอย่างถูกวิธี ใช้ชำระล้างสิ่งสกปรกแล้วต้องใช้น้ำสะอาด ล้างออกให้สะอาดหมดจด หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราใช้งานภายนอก เช่น ครีมอาบน้ำ หรือยาสระผม ก็อาจเป็นอันตรายน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ต้องสัมผัสกับเนื้อเยื่อภายในร่างกาย
แต่ถ้าเป็นยาสีฟัน หลักการนี้ก็ค่อนข้างจะย้อนแย้งอยู่สักหน่อย เพราะหากเราบ้วนปากล้าง SLS ออกไป ฟลูออไรด์ที่จำเป็นต่อการดูแลรักษาฟันก็จะหายไปกับน้ำด้วยเช่นกัน แต่สารหลายชนิดที่เป็นส่วนผสมหลักของยาสีฟันก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นฟลูออไรด์ที่ถึงแม้จะจำเป็นแต่หากได้รับมากเกินไปก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน ไตรโคลซาน (Triclosan) สำหรับกำจัดแบคทีเรีย แต่มีผลวิจัยพบว่ามีผลทำให้การหลั่งฮอร์โมนผิดปกติได้ พาราเบน ช่วยยืดอายุให้ยาสีฟันอยู่ได้นานขึ้น ผงขัดฟัน (Abrasive) ที่เป็นตัวช่วยขจัดคราบบนผิวฟัน แต่หากมีขนาดที่หยาบจนเกินไปก็ทำลายผิวเคลือบฟันได้เช่นกัน
รู้อย่างนี้แล้วครั้งหน้าที่ต้องซื้อผลิตภัณฑ์ยาสีฟัน ก็ลองพิจารณายาสีฟันที่ปลอดภัย ปราศจากสารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกครั้งที่เราตั้งใจจะทำความสะอาดฟันนั้น เราไม่ได้กำลังทำร้ายตัวเองทางอ้อมอยู่
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.greenshopcafe.com/greennews838.html
https://www.livestrong.com/article/550580-allergic-reaction-to-hair-product-scaly-dry-rash-on-neck/
https://www.healthline.com/health/beauty-skin-care/what-is-sodium-lauryl-sulfate
https://www.zeroxeno.com/blog/sodium-lauryl-sulfate-hiding-your-food
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4651417/
http://www.thaidentalmag.com/web/page/398/thแนวทางการใช้ฟลูออไรด์สำหรับเด็ก-ทบทวน-พ.ศ.2559-.html