คุณรู้มั้ยว่าการส่งภาพโป๊เปลือยเพียงภาพเดียวให้คนแปลกหน้าบนโลกออนไลน์สามารถสร้างบาดแผลและความอับอายให้กับเด็กคนหนึ่งได้มากจนถึงขั้นตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง
สิ่งที่เราพูดถึงคือ ‘Sextortion’ หรือภัยเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ ซึ่งในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไกล โลกออนไลน์ก็ได้กลายมาเป็นปัจจัยที่เร่งปัญหานี้ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าสมัยก่อน อย่างที่เราจะเห็นได้จากข่าวการขายฝันเด็กที่อยากเป็นดาราด้วยการหลอกขอภาพโป๊โดยอ้างว่าจะนำไปดูสัดส่วน หรือข่าวหนุ่มออกอุบายใช้อินสตาแกรมล่อลวงเด็กหญิงให้ถ่ายภาพลามกอนาจารส่งไปให้ ซึ่งเมื่อได้ภาพเหล่านั้นไปแล้ว คนร้ายจะนำไปแบล็กเมล ต่อรอง หรือข่มขู่ให้เด็กๆ ทำอะไรที่ต้องการก็ได้ โดยสิ่งที่เด็กๆ ได้รับกลับมานั้นมีเพียงความหวาดกลัวและความอับอาย จนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่ามันเป็นเรื่องสมควรแล้วหรือที่เด็กสักคนต้องเติบโตมาพร้อมกับบาดแผลที่จะคงอยู่ตลอดไป
ประเทศไทยเองก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงและเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงจากการเผยแพร่สื่อที่มีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ โดยมีข้อมูลชี้ว่าเด็กไทยเสี่ยงตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์หรือ ‘Online Child Exploitation’ สูงถึง 20% และมีสัดส่วนผู้กระทำผิดสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก หากดูจากสถิติที่ได้รับรายงานจาก National Center for Missing & Exploited Children (NCMEC) พบว่าตั้งแต่ปี 2562 ประเทศไทยได้รับรายงานการตรวจพบสื่อลามกอนาจารเด็กเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยในปี 2562 พบ 117,213 รายงาน ในปี 2563 พบ 396,049 รายงาน ในปี 2564 พบ 586,582 รายงาน และในปี 2565 พบ 523,169 รายงาน ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีการจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน และในขณะเดียวกันเว็บมืดซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กในไทยยังมีการเติบโตสูงถึง 5 เท่า
จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่าคนร้าย 1 คนสามารถสร้างความเสียหายต่อเหยื่อที่เป็นเด็กได้ถึง 1,000 คน โดยเด็กถึง 20% มีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ และเมื่อตกเป็นเหยื่อแล้ว เด็กกว่า 56% ก็ตัดสินใจเลือกที่จะไม่บอกใคร
วันนี้ The MATTER จะพาทุกคนทำความเข้าใจวงจรอุบาทว์ของภัยการแสวงหาประโยชน์และคุกคามทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ หรือ ‘Online Child Exploitation’ รวมถึงสำรวจกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันออนไลน์ให้กับเด็กๆ ด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (BMA) และ dtac Safe Internet
ไม่จำเป็นต้องเจอตัวก็เป็นอาชญากรรมทางเพศได้
หลายคนอาจไม่คาดคิดว่าคนแปลกหน้าที่ไม่เคยเจอกันจะสามารถทำร้ายกันอย่างร้ายแรงได้ แต่นั่นเป็นสิ่งที่เกิดกับเหยื่อจำนวนมากในวันที่โลกออนไลน์กลายเป็นดาบสองคม ความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกันกลายเป็นความเสี่ยง รูปแบบของการล่วงละเมิดทางเพศได้เปลี่ยนไปจากเดิม จากที่ต้องนัดเจอเพื่อแอบถ่ายคลิปอนาจารไว้ข่มขู่หรือเรียกทรัพย์ กลายมาเป็นการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์ที่จะติดต่อและล่อลวงเหยื่อ ยิ่งกับเด็กที่ยังขาดวุฒิภาวะยิ่งสามารถสร้างความสนิทสนมและความไว้ใจกับคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ได้ไม่ยาก จนทำให้เกิดความรุนแรงที่คาดไม่ถึงอย่าง ‘Online Child Exploitation’ ตามมา
‘Sextortion’
เมื่อเหยื่อคนหนึ่งได้หลงกลส่งภาพหรือคลิปอนาจารไปให้คนร้าย สิ่งนั้นจะถูกนำมาใช้เป็นการข่มขู่เพื่อให้คนร้ายได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการทำตามคำสั่ง รีดทรัพย์ ไปจนถึงการนัดพบเพื่อกระทำอนาจาร สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เรียกว่า ‘Sextortion’ ซึ่งเกิดจากการรวมกันของคำว่า Sexual (เพศ) และ Extortion (การกรรโชกหรือบีบบังคับ) รวมกันแล้วจึงหมายถึงการข่มขู่กรรโชกทางเพศโดยที่อีกฝ่ายมีอำนาจเหนือกว่า โดยที่คนร้ายสามารถนำสิ่งที่ได้มาไปแสวงหาผลประโยชน์ต่อในรูปแบบของการส่งต่อ ซื้อขาย โดยปราศจากการยินยอมจากเหยื่อ ซึ่งเป็นอาชญากรรมทางเพศที่นำมาซึ่งความอับอายและความเจ็บปวดทางใจต่อเหยื่ออย่างรุนแรง
ขั้นตอนที่ 1: Cyber Stalking
‘ชอบทำอะไร’
‘เล่นเกมอะไร’
‘สนใจอะไร’
‘ชอบไปที่ไหน’
นี่ไม่ใช่คำถามของการเริ่มต้นเดตกับใครสักคน แต่เป็นชุดคำถามที่คนร้ายจะมองหาในการตามสะกดรอยเหยื่อในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการ ‘Sextortion’ ที่มีชื่อเรียกว่า ‘Cyber Stalking’ คนร้ายจะแอบตามส่องวิถีชีวิตและความชอบของเหยื่อผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อหาช่องทางการ ‘ตีสนิท’ ยิ่งไปกว่านั้นอาจมีการแอบตามเหยื่อไปตามจุดเช็กอินต่างๆ เพื่อทำทีเหมือนบังเอิญเจอ โดยมีจุดประสงค์คือพยายามเข้าไปเติมเต็มสิ่งที่เหยื่อต้องการ แล้วจึงเริ่มต้นขั้นตอนถัดไป
ขั้นตอนที่ 2: Online Grooming
คนร้าย: เธอเล่นเกม xxx มั้ย
เหยื่อ: เล่น เธอเล่นเหมือนกันเหรอ
คนร้าย: ใช่ มีไอเทม xx รึยัง
เหยื่อ: ยังไม่มีเลย เธอมีเหรอ
คนร้าย: เราส่งไอเทม xx ให้มั้ย อยากได้รึเปล่า
นี่เป็นตัวอย่างของขั้นตอนต่อมาที่เรียกว่า ‘Online Grooming’ หลังจากรู้ว่าเหยื่อมีความชอบ ความสนใจเรื่องอะไร คนร้ายจะเริ่มเข้ามาชวนคุยโดยมีวิธีแยบยลที่ทำให้เหยื่อไว้ใจ พยายามดึงเหยื่อออกจากสังคมปกติเข้าหาตัวเองเพื่อให้เข้าไปอยู่ในโลกของคนร้าย โดยมีวัตถุประสงค์ทางเพศซ่อนอยู่เบื้องหลัง เป็นการตั้งใจเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อเพื่ออำนวยความสะดวกให้ได้ในสิ่งที่คนร้ายต้องการ โดยในกระบวนการ ‘Online Grooming’ นี้ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ เหยื่อจะสามารถเรียกร้องความเสียหายได้ก็ต่อเมื่อเกิด ‘Sextortion’ ขึ้นแล้วเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 3: Sexting
ขั้นตอนสุดท้ายก่อนกระบวนการ ‘Sextortion’ จะสำเร็จนั้นเรียกว่า ‘Sexting’ ซึ่งมาจากคำว่า Sex (เพศ) และ Text (ข้อความ) หลังจากทำให้เหยื่อไว้ใจได้แล้ว คนร้ายจะส่งข้อความไปชักชวนหรือกระตุ้นให้ฝ่ายตรงข้ามมีกิจกรรมในเชิงเพศหรือก็คือการส่งรูปหรือคลิปอนาจารให้คนร้าย โดยมีวิธีการหลอกล่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกว่าจะเอาไปตัดต่อใส่ไอเทมเสริมในเกม การหลอกว่าจะมีอะไรแลกเปลี่ยน หรือกระทั่งส่งรูปอนาจารของเหยื่อรายก่อนๆ มาเพื่อให้เหยื่อทำตาม ซึ่งวิธีเหล่านี้เป็นวิธีที่เหยื่ออย่างเด็กๆ อาจมองว่าไม่ได้เสียหายอะไร รวมถึงยังได้สิ่งที่ตัวเองต้องการด้วย อีกทั้งมีงานวิจัยพบว่าเนื้อหาอนาจารกว่า 88% ได้ถูกอัพโหลดและส่งต่อไปในโลกออนไลน์โดยที่เหยื่อนั้นไม่รู้ตัวแม้แต่น้อย
Sextortion
หลังจากได้ภาพหรือคลิปจากเหยื่อมาแล้วก็ถึงเวลาเข้าสู่กระบวนการ ‘Sextortion’ อย่างสมบูรณ์ คนร้ายจะใช้สิ่งที่ได้มาข่มขู่เหยื่อให้ทำตามคำสั่ง เรียกทรัพย์จำนวนมากจากเหยื่อที่แทบไม่มีความเป็นไปได้ที่จะหาเงินมาจ่ายได้ ไปจนถึงการนัดพบเพื่อกระทำอนาจาร คนร้ายหลายคนนำภาพเหล่านั้นไปส่งต่อ นำไปขาย หรือกระทั่งนำไปใช้สำหรับหลอกเหยื่อรายอื่นๆ ต่อไป โดยที่เหยื่อไม่สามารถมีอำนาจต่อรอง ‘Sextortion’ นับเป็นกระบวนการที่เลวร้ายและไร้มนุษยธรรมอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเหยื่อเหล่านั้นคือเด็กๆ ที่ยังไม่มีวุฒิภาวะมากเพียงพอ และแน่นอนว่าเมื่อคนร้ายมีอำนาจเหนือเหยื่อแล้วเขาไม่มีทางหยุดอยู่แค่ข้อต่อรองเดียว
บาดแผลที่เจ็บปวดของเด็กจากภัยล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์
แม้ ‘Sextortion’ จะไม่ได้เป็นการล่วงละเมิดแบบกระทำตัวต่อตัวในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ก็สามารถสร้างบาดแผลและความเจ็บปวดให้เด็กๆ ได้ไม่แพ้กัน ความเจ็บปวดในใจของเด็กที่เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้จะเป็นแผลในใจที่ซับซ้อน หรือเรียกว่า ‘Complex Trauma’ เป็นแผลในใจที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เพราะภาพอนาจารเหล่านั้นได้ถูกส่งต่อไปในโลกออนไลน์และจะอยู่ในนั้นตลอดไป แม้ว่าความจริงเหตุการณ์นั้นจะจบลงไปนานแล้ว แต่ผลกระทบหรือภาพเหล่านั้นยังคงอยู่ ทำให้เด็กรู้สึกอับอายอย่างรุนแรง นำไปสู่โรคซึมเศร้าและความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป
ภัยร้ายจากการถูกละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์นั้นค่อนข้างเฉพาะทาง เด็กอาจเกิดบาดแผลทางเพศที่กระทบกระเทือนจิตใจ และนำไปสู่ปัญหาพัฒนาการทางเพศที่มีปัญหา รวมถึงเด็กอาจรู้สึกเป็นกังวลที่จะโดนหักหลังและยากที่จะเชื่อใจใครได้อีก
เด็กหนุ่มวัย 17 ปีในรัฐแคลิฟอร์เนียตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงหลังจากถูก ‘Sextortion’ โดยคนร้ายที่แอบอ้างว่าเป็นเด็กผู้หญิง คนร้ายส่งรูปเปลือยของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมาและบอกให้เด็กหนุ่มส่งรูปของตัวเองกลับไป เด็กหนุ่มหลงเชื่อ และหลังจากส่งรูปเปลือยของตัวเองไปก็ถูกขู่ว่าถ้าไม่จ่ายเงินก้อนใหญ่ให้ คนร้ายจะนำภาพของเขาไปปล่อยในอินเทอร์เน็ตและส่งรูปไปให้ครอบครัวของเขา เด็กหนุ่มเสียเงินเก็บทั้งหมดที่เขามี แต่คนร้ายก็ยังเรียกเงินอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดเด็กหนุ่มวัย 17 ที่กำลังจะเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยก็ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงอย่างน่าสลดใจ
วงจรอุบาทว์ของ Sextortion
วงจรอุบาทว์ของ ‘Sextortion’ เริ่มต้นจาก ‘Cyber Stalking’ — คนร้ายสะกดรอยเหยื่อในโลกออนไลน์ เพื่อสืบดูความชอบ ความสนใจ และพฤติกรรมของเหยื่อ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการ ‘Online Grooming’ — เข้าไปตีสนิทกับเหยื่อ ชวยคุยเรื่องเหยื่อที่ชอบหรือสนใจ เพื่อพยายามดึงเหยื่อให้เข้าสู่โลกของตัวเอง และในท้ายที่สุดคือ ‘Sexting’ — หลังจากได้ความไว้ใจจากเหยื่อ ก็จะส่งข้อความไปชักชวนหรือกระตุ้นให้มีกิจกรรมทางเพศโดยการหลอกล่อให้เหยื่อส่งรูปหรือคลิปโป๊เปลือยมาให้ จากนั้นจึงใช้สิ่งที่ได้มาข่มขู่และแบล็กเมลเหยื่อเพื่อจะได้ในสิ่งที่ตนต้องการ ซึ่งคนร้ายมักจะใช้วิธีการลักษณะนี้กระทำอาชญากรรมทางเพศต่อเหยื่อจำนวนมากในรูปแบบเดียวกัน ทำให้เหยื่อจำนวนมากต้องจมอยู่กับความอับอายและความเจ็บปวดที่พวกเขาไม่สมควรจะได้รับ
dtac Safe Internet x Online Child Exploitation
เมื่อภัยเหล่านี้เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ดีแทค ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมนั้นตระหนักถึงภัยออนไลน์ที่เกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ (Online Child Exploitation) ภายใต้โครงการ dtac Safe Internet จึงมุ่งส่งเสริมศักยภาพในการเข้าถึงทรัพยากรการศึกษา การให้ความรู้แก่เด็กและครูเกี่ยวกับการความปลอดภัยและการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างมีความรับผิดชอบ โดยในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ดีแทคได้ร่วมมือกับสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เปิดคาบเรียน BMA x dtac Safe Internet School Tour ที่ใช้อบรมเด็กนักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครอายุระหว่าง 11-15 ปี (ป.5-6) จำนวน 50 โรงเรียน กว่า 10,000 คน ให้มีองค์ความรู้และภูมิคุ้มกันต่อภัยการแสวงหาประโยชน์ทางเพศออนไลน์ เข้าใจถึงกระบวนการและสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที
ในทางกฎหมายความรุนแรงของภั
มันเป็นเรื่องสมควรแล้วหรือที่เด็กสักคนต้องเติบโตมาพร้อมกับความเจ็บปวดที่จะคงอยู่ตลอดไป?
มันเป็นเรื่องสมควรแล้วหรือที่เราจะนิ่งเฉยกับภัยร้ายที่เกิดขึ้นกับเหล่าเด็กๆ?
เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ดีแทคอยากเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนในสังคมหันมาให้ความสำคัญกับความรุนแรงทางโลกออนไลน์กับเด็ก ช่วยกันเป็นหูเป็นตา และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันออนไลน์ให้กับเด็กๆ เพื่อเป็นการป้องกันและสนับสนุนให้เด็กในวันนี้ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตโดยปราศจากบาดแผลใด