โควิด-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่มีอยู่เดิมยิ่งถ่างกว้างขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นักเรียนยากจนจำนวนมากต้องประสบกับภาวะยากจนเฉียบพลัน จากปัญหาการว่างงานของผู้ปกครองทำให้รายได้ลดลงสวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น
จากฐานข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ประเทศไทยมีนักเรียนยากจนพิเศษ กว่า 8 แสนคน โดยนักเรียนยากจนพิเศษ หมายถึง นักเรียนยากจนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Test: PMT) อยู่ในกลุ่มที่ค่าคะแนนความยากจนอยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษหรือครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ย 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน จากที่น้อยอยู่แล้ว ในระหว่างปีการศึกษา 2562-2563 รายได้เฉลี่ยครัวเรือนของพวกเขากลับลดลงไปอีก 11% เหลือเพียง 1,021 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 34 บาทต่อวันเท่านั้น คณะผู้วิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดในปัจจุบัน มีแนวโน้มส่งผลให้นักเรียนยากจนพิเศษยิ่งทวีจำนวนเพิ่มขึ้น 10% ในปีการศึกษา 2564
นอกจากในแง่ความเป็นอยู่แล้ว ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็เป็นผลพวงที่ตามมาจากมาตรการควบคุมโรคระบาดด้วยเช่นกัน จากผลการวิจัยทั่วโลก โควิด-19 ส่งผลให้เด็กจำนวนมากสูญเสียการเรียนรู้ไป 1.6 เดือน แต่สำหรับเด็กในครอบครัวที่อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (poverty line) ต้องสูญเสียการเรียนรู้ไปถึง 2.5 เดือน
ข้อมูลจากการสำรวจนักเรียนภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 พบว่ามีเด็กนักเรียนประสบปัญหาการเรียนในช่วงการระบาดของโควิด-19 มากกว่า 2.7 แสนคน โดยมีนักเรียนที่ไม่มีทั้งโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และไฟฟ้าจำนวนถึง 2,672 คน ในพื้นที่ 29 จังหวัดควบคุม นักเรียนยากจนพิเศษที่พอมีอุปกรณ์ก็ต้องดิ้นรนเรียนออนไลน์ในที่อยู่อาศัยที่ไม่อำนวยต่อการโฟกัสเนื้อหาบนหน้าจอเล็ก ๆ ของสมาร์ทโฟน ยังไม่นับรวมถึงอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ผู้ปกครองหลายคนไม่อาจควักกระเป๋าได้ไหว ทำให้เด็กหลายคนถอดใจล้มเลิกการเรียนในระบบ แล้วออกไปช่วยครอบครัวหารายได้แทน
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงจับมือกับดีแทค ช่วยกันหาวิธีการลดอุปสรรคในการเรียนออนไลน์ให้แก่เด็กยากจนพิเศษ นำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยซิมการ์ดที่มาพร้อมอินเทอร์เน็ต 2,000 ซิม ตามกลยุทธ์ Digital Inclusion ภายใต้นโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบของดีแทค ด้วยความเชื่อว่า “การศึกษาถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับทุกคนในสังคม จึงจะต้องดีทั่วถึง อย่างเท่าเทียม” โดยนายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้กล่าวย้ำไว้ว่า “ดีแทคเชื่อว่าการศึกษาถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับทุกคนในสังคมและจะต้องไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เทคโนโลยีการสื่อสารจะต้องทำหน้าที่ให้เด็กนักเรียนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีข้อจำกัดด้านต้นทุน เพื่อให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตโควิด-19 นี้ไปให้ได้”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มองเห็นความสำคัญและพยายามผลักดันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียนทุกคนในช่วงเวลานี้ เพื่อป้องกันปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของเด็กทุกคนได้อย่างเสมอภาค อินเทอร์เน็ตฟรีจึงถือเป็นหลักประกันสังคมที่สำคัญ การที่เอกชนเข้ามามีส่วนหนุนเสริม จึงไม่เพียงเปิดประตูสู่การเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังทำให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ และเข้าถึงความช่วยเหลือในภาวะวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น
ในภาวะวิกฤตเราได้เห็นหลากหลายความมหัศจรรย์ที่ทุกฝ่ายช่วยกันคนละไม้คนละมือคอยประคับประคองอนาคตของชาติทุกคนให้ก้าวเดินไปสู่อนาคตที่พวกเขาคาดหวังไว้ได้ แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ภาคเอกชนเข้ามาเติมช่องว่างเท่านั้น ก้าวต่อไปจึงเป็นการส่งไม้ผลัดให้หน่วยงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในประเทศไทย ดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของเด็กไทยอย่างยั่งยืน
เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ต่างจากไฟฟ้า น้ำสะอาด ความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งจะต้องส่งไปให้ถึงมือเด็กทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใดในประเทศไทย
อ้างอิงข้อมูลจาก
- https://www.eef.or.th/article-free-internet-for-all-school/
- https://www.eef.or.th/poor-opportunity-children/
- https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/897528
- https://thaipublica.org/2021/08/dtac-eff-csr-11-08-2564/