ในทุกๆ ปีจะต้องมีข่าวหรือโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ว่าโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลนั้นมีครูเพียง 1-2 คน รับผิดชอบการสอนเด็กทั้งโรงเรียนในทุกรายวิชา เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น?
หากดูสถิติก็จะพบว่าในปี 2564 มีผู้สมัครสอบครูผู้ช่วยราว 170,000 คน เป็นตัวเลขที่น่าจะแสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากอยากเป็นครู ซึ่งดูเป็นองค์ประกอบที่สวนทางกับปัญหาขาดแคลนครู
เราจึงอยากชวนคุณร่วมแกะรอยหาคำตอบ ผ่านชีวิตคุณครูทรายและคุณครูนิค จากโรงเรียนบ้านพุเข็ม ที่ตั้งอยู่ริมสันเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ซึ่งห่างไกลจากโอกาสทางการศึกษาที่ดี
พื้นที่ห่างไกลเป็นแค่ทางผ่าน
เมื่อขึ้นชื่อว่าพื้นที่ห่างไกล ก็มักต่อท้ายด้วยคำว่าทุรกันดาร ทั้งในแง่การเดินทางในแต่ละวัน และแง่สิ่งอำนวยความสะดวก ที่มีไม่เพียบพร้อมเช่นโรงเรียนในเมือง
ทราย—ชนกนันท์ ก้อนทอง ศิษย์เก่าของโรงเรียนบ้านพุเข็มเล่าว่า สำหรับตนเองนั้น มีความสุขทุกวันที่ได้ไปโรงเรียน เพียง 10 นาทีเดินเท้า ก็ได้ไปพบเจอเพื่อนๆ และบทเรียนใหม่ที่น่าสนใจ
ในทางกลับกัน สิ่งหนึ่งที่เธอต้องพบเจอในทุกๆ ปีก็คือ คุณครูย้ายหรือลาออก บางครั้งก็จากไปพร้อมๆ กันหลายคน ด้วยสาเหตุอย่างความไม่คุ้นชินกับพื้นที่ จนทำให้ไม่สามารถปรับตัวและวิถีชีวิตเข้ากับโรงเรียนได้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องให้การเรียนการสอนของเด็กนักเรียนไม่ต่อเนื่อง พร้อมๆ กับเพิ่มปริมาณงานให้กับครูที่ยังประจำการอีกด้วย
ครูหนึ่งคน สอนทุกวิชา
การที่ครูคนหนึ่งมีภาระการสอนวันละ 3-4 คาบ ก็ถือว่าหนักไม่ใช่น้อย แต่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลนั้นหนักหนายิ่งกว่า เพราะครูหนึ่งคนอาจจะต้องสอนทุกวิชาที่มีอยู่ในโรงเรียน
อย่างโรงเรียนบ้านพุเข็ม มีคุณครูประจำการอยู่เพียง 3 คน จากนักเรียนทั้งหมด 36 คน หากมองในแง่สัดส่วนครู 1 คน ต่อนักเรียน 13 คน อาจจะพอดูแลกันไหว แต่เมื่อวิชามีมากกว่าจำนวนครู จึงเป็นการบังคับทางอ้อมให้คุณครูแต่ละท่านต้องสอนในวิชาที่ตนเองไม่ได้ถนัด
ครูนิค—ณัฐนันท์ นกแก้ว รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพุเข็ม ได้รับการบรรจุประจำการที่โรงเรียนแห่งนี้มาแล้วกว่า 5 ปี ไม่ยอมย้ายหรือลาออกไปไหน ซึ่งนอกจากจะต้องรับหน้าที่บริหารจัดการภายในโรงเรียน สอนวิชาคณิตศาสตร์ตามความถนัด ก็ยังต้องสอนวิชาอื่นๆ แทบทั้งหมดอีกด้วย
“ผมเป็นคนสอนที่ไหนก็ได้ที่มีนักเรียน ผมพร้อมสอนเสมอ” ครูนิคกล่าว
ปัญหาการศึกษาที่อยู่นอกห้องเรียน
นอกจากภาระงานภายในโรงเรียนแล้ว คุณครูในพื้นที่ห่างไกลแทบทุกโรงเรียนมักจะมีบทบาทที่มากกว่าการสอนหนังสือเสมอ
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 การเรียนการสอนจำเป็นต้องทำผ่านออนไลน์ สำหรับนักเรียนที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองคงไม่มีปัญหาอะไร แต่นักเรียนที่บ้านพุเข็มไม่มีกระทั่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต คุณครูนิคจึงตัดสินใจเดินทางไปสอนที่บ้านของนักเรียน แต่ก็พบว่าเด็กแต่ละคนอยู่ห่างกันเกินไป ใช้เวลาเดินทางไปกลับราว 4 ชั่วโมง
นั่นจึงทำให้ครูนิคตัดสินใจเดินเรื่อง เข้าไปคุยกับหัวหน้าชุมชน เพื่อประสานงานกับผู้ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้ามาติดตั้งเครื่องกระจายสัญญาณให้กับเด็กๆ เพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปได้ตามปกติ
จากปัญหาที่ยกตัวอย่างมานั้น อาจจะพอตอบข้อสงสัยที่ว่า แม้จะมีคนสมัครสอบครูและผู้ช่วยครูจำนวนมาก แต่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลยังคงขาดแคลนคุณครู เมื่อรวมกับปัญหาจากระบบที่จัดสรรจำนวนครูไม่สอดคล้องกับจำนวนนักเรียน จึงทำให้คุณครูที่ได้รับบรรจุในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลต้องเจอภาระหนักเกินกว่าจะแบกรับไหว
ในฐานะที่มองเห็นปัญหา ทรายจึงคิดมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียน ว่าอยากกลับมาเป็นครูบรรจุที่โรงเรียนบ้านพุเข็มแห่งนี้ เพราะเธอรู้จักพื้นที่ รู้จักวิถีชีวิตเป็นอย่างดี ดังนั้นเธอเชื่อว่าตัวเองจะไม่ย้ายไปสอนที่โรงเรียนอื่นแน่นอน
โชคดีที่ในความเป็นจริงก็มีนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากที่ตั้งใจกลับไปสอนในโรงเรียนประจำชุมชนของตนเองเช่นเดียวกับทราย เราจึงยังพอมีหวังว่า ปัญหาครูขาดแคลนจะคลี่คลายได้จริงสักวัน
สร้างนัก (อยาก) เรียนให้เป็นครูรัก(ษ์)ถิ่น:
โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นและแคมเปญ ‘นักอยากเรียน’ โดย I AM KRU. ซึ่งดำเนินการภายใต้ สำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป็นโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยจับคู่นัก(อยาก)เรียน กับทุนการศึกษาสำหรับการเรียนครู และเมื่อศึกษาจบก็สามารถกลับไปปฏิบัติงาน ณ โรงเรียนในภูมิลำเนาของตนได้ เพื่อแก้ไขปัญหาจำนวนครูในพื้นที่ห่างไกล
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กล่าวว่า ครูในระบบการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะครูคือผู้สร้างโอกาสและมอบการศึกษา โดยเฉพาะนักเรียนยากจนด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล ที่โรงเรียนส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมในการจัดการ ดังนั้นถ้าสามารถสร้างบุคลากรครูที่เป็นคนในชุมชน เข้าใจบริบทในพื้นที่เป็นอย่างดี ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ กล่าวอีกว่า การดำเนินงานโครงการนี้ต้องใช้ระยะเวลานาน 10-15 ปี และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีบันทึกข้อตกลงการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงศึกษาธิการ, สพฐ., กระทรวง อว., คุรุสภา และ กคศ.
หากทุกหน่วยงานร่วมมือกัน จนบรรลุผลตามเป้าหมาย โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลก็จะค่อยๆ เกิดความเข้มแข็งขึ้น ครูซึ่งทำหน้าที่ในโรงเรียนก็จะมีความมั่นคง ไม่ต้องแบกรับภาระการสอนเกินตัว อัตราการโยกย้าย (ออก) ของครูจะลดลงจนไม่เกิดเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนของนักเรียน
เพราะการศึกษาสำคัญต่อชีวิตและผู้คนในชุมชน การทำให้อัตราการย้ายออกของคุณครูน้อยลงก็จะช่วยให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่ได้คุณภาพ ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลใจกลางเมือง หรือยากดีมีจนแค่ไหนก็ตาม
และหนึ่งในหนทางที่จะลดการขาดแคลนครูประจำโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ก็คือการสานฝันให้เด็กที่อยากเรียนครู แล้วกลับไปสอนที่ชุมชนของตัวเองเป็นจริงได้นั่นเอง
รับชมวิดีโอเพื่อทำความรู้จักโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นได้ที่ https://fb.watch/cechUEqe4r/